จุกนมทารก เลือกให้ถูก ทำความสะอาดให้เป็น

จุกนมเป็นอุปกรณ์สำคัญสำหรับทารกแรกเกิด พ่อแม่ควรเลือกใช้จุกนมที่เหมาะสม เพื่อให้ลูกรักได้ดื่มนมหรือน้ำจากขวดนมได้อย่างสะดวก รวมถึงควรศึกษาวิธีทำความสะอาดและเก็บรักษาจุกนมให้อยู่ในสภาพดีพร้อมใช้งาน เพื่อความปลอดภัยในสุขภาพของลูกน้อย

จุกนม

เลือกจุกนมให้ถูก เพื่อสุขภาพลูกรัก

เด็กแรกเกิดมักยังเคยชินกับการดื่มนมจากอกแม่ ดังนั้น ควรพิถีพิถันในการเลือกจุกนมที่เหมาะสมกับทารกมากที่สุด เพื่อช่วยให้เด็กดื่มนมหรือน้ำได้ดี ไม่มีปัญหาเด็กงอแงไม่ยอมดื่มจากขวดหรือสำลักนมขณะดื่ม และไม่เกิดอาการแพ้หรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมา

ปัจจุบันในท้องตลาดมีจุกนมวางขายอย่างหลากหลาย ซึ่งสามารถพิจารณาเลือกใช้จุกนมได้จากองค์ประกอบต่าง ๆ ดังนี้

วัสดุที่ใช้ทำจุกนม

  • ซิลิโคน จุกนมที่ทำจากซิลิโคนจะมีเนื้อแน่นและคงรูปเดิมได้นาน
  • ยาง จุกนมยางจะนิ่มและยืดหยุ่นมากกว่าซิลิโคน แต่อายุการใช้งานสั้นกว่า และเด็กบางคนอาจแพ้ยางจากการใช้จุกนมชนิดนี้ได้

รูปร่างของจุกนม

  • จุกนมปลายกลมมน เป็นจุกนมทั่วไปที่มีปลายจุกกลมมนรูปทรงคล้ายระฆัง
  • จุกนมปลายแบนเรียบ เป็นจุกนมที่มีฐานกว้าง โดยมีปลายจุกแบนราบให้ความรู้สึกคล้ายดูดนมจากอกแม่ เป็นชนิดที่อาจเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการเปลี่ยนให้เด็กดื่มนมผงหรือนมที่ปั๊มไว้แทนการดื่มนมจากอกแม่
  • จุกนมปลายแหลมแบน เป็นชนิดที่ถูกออกแบบมาให้รองรับเพดานปาก เหงือก และลิ้นของเด็ก โดยปลายที่แบนออกจะวางตัวพอดีบนลิ้นขณะเด็กดูดนม

ขนาดและการใช้งาน

จุกนมมีหลายขนาดตามการใช้งาน โดยทั่วไปจะมีการระบุไว้ในบรรจุภัณฑ์จุกนมว่าจุกแต่ละขนาดเหมาะกับเด็กอายุเฉลี่ยในวัยใด

โดยคำแนะนำสำหรับการเลือกใช้ขนาดจุกนมให้เหมาะสมกับลูกรัก มีดังนี้

  • เด็กแรกเกิดที่อายุน้อยควรดื่มจากจุกนมขนาดเล็กที่สุดซึ่งนมหรือน้ำจะไหลออกมาจากจุกได้ช้าที่สุด
  • เมื่อเด็กเริ่มโตขึ้น ควรเลือกใช้จุกนมที่มีขนาดใหญ่ขึ้นและจุกที่ทำให้นมไหลเร็วขึ้น เพื่อให้เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็ก
  • ในบางกรณี เด็กอาจดื่มจากจุกนมไม่สะดวกแม้เลือกใช้จุกนมตามวัยที่แนะนำ ซึ่งพ่อแม่ควรเปลี่ยนขนาดจุกนมใหม่ให้พอดีกับเด็ก จนกว่าเด็กจะสามารถใช้จุกนั้นดื่มนมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • เฝ้าสังเกตอาการขณะที่เด็กดื่มจากจุกนม หากเด็กสำลักหรือคายนมออกมาแสดงว่าจุกนั้นทำให้นมไหลออกมาเร็วเกินไป และควรเปลี่ยนไปใช้จุกนมใหม่เช่นกัน

วิธีการทำความสะอาดจุกนม

เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดกับลูกรัก ควรใส่ใจทำความสะอาดอุปกรณ์ทุกชนิดที่ใช้กับทารกรวมทั้งจุกนม โดยมีวิธีล้างและเก็บรักษาจุกนม ดังนี้

  • หลังซื้อจุกนมมาใหม่ ๆ ให้ฆ่าเชื้อจุกนมโดยนำไปต้มทิ้งไว้ในหม้อประมาณ 5 นาที จากนั้นล้างจุกนมด้วยสบู่และน้ำอุ่นแล้วผึ่งทิ้งไว้ให้แห้ง
  • หลังการใช้งานให้ล้างจุกนมด้วยสบู่และน้ำอุ่นทันที โดยใช้แปรงล้างจุกนมเพื่อให้สามารถทำความสะอาดในบริเวณที่เข้าถึงได้ยาก และต้องระมัดระวังไม่ใช้แปรงนี้ทำความสะอาดผลิตภัณฑ์ชนิดอื่น
  • หลังล้างจุกนมแล้ว ให้ผึ่งจุกนมจนแห้งสนิทก่อนนำไปใช้งานอีกครั้ง
  • หากเป็นจุกนมชนิดที่สามารถล้างในเครื่องล้างจานได้ ให้วางจุกนมไว้ที่ชั้นบนสุดในเครื่องล้างจาน
  • ห้ามใช้จุกนมที่มีสภาพบุบสลายหรือปลายจุกมีรอยแตก โดยทิ้งจุกนมนั้นทันทีหากพบปัญหาดังกล่าว
  • เมื่อต้องนำจุกนมไปใช้งาน ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนหยิบจับจุกนมและขวดนม

คำแนะนำอื่น ๆ เกี่ยวกับการเลือกใช้จุกนม

นอกจากจุกนมทั่วไป ยังมีจุกนมแบบใช้แล้วทิ้งที่ถูกห่ออยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่ฆ่าเชื้อแล้ว โดยสามารถโยนจุกนมทิ้งไปหลังใช้งานแล้วได้ทันทีและไม่ต้องนำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งสะดวกต่อการใช้งานแบบเร่งด่วนหรือเมื่อครอบครัวต้องเดินทางไกล ๆ

นอกจากนี้ หากพ่อแม่ผู้ปกครองมีข้อสงสัยหรือพบปัญหาใด ๆ เกี่ยวกับการเลือกใช้และการทำความสะอาดจุกนม รวมถึงการป้อนนมผ่านจุกนม ควรไปปรึกษากุมารแพทย์เพื่อรับคำแนะนำที่เหมาะสมในการดูแลลูกน้อยต่อไป