ขั้นตอนและการดูแลหลังครอบฟัน

ครอบฟัน คือการครอบหรือคลุมฟันที่เกิดความเสียหายให้กลับมาแข็งแรง คืนรูปร่าง ขนาด และลักษณะภายนอกให้ดีขึ้น

ครอบฟัน

วัสดุที่ใช้ในการครอบฟันมีอะไรบ้าง ?

วัสดุที่ใช้ในการครอบฟันแบบถาวร ได้แก่ โลหะผสม (สแตนเลส โคบอลต์โครเมียม หรือนิกเกิลโครเมียม) โลหะผสม (ทองคำหรือทองคำขาว) พอร์เซเลน เซรามิก หรือทองผสม เป็นต้น ในส่วนของวัสดุที่ใช้ครอบฟันแบบชั่วคราว ได้แก่ พลาสติกและโลหะ

ทำไมการครอบฟันจึงมีความจำเป็น ?

การครอบฟันมีประโยชน์มากมาย ดังต่อไปนี้

  • เพื่อป้องกันไม่ให้ฟันที่อ่อนแอแตกหักหรือถูกทำลาย
  • มีการรักษารากฟันและมีความจำเป็นต้องครอบฟัน
  • เพื่อครอบและช่วยเพิ่มความแข็งแรงของฟันที่มีการอุดขนาดใหญ่
  • เพื่อยึดสะพานฟัน
  • เพื่อปกปิดสภาพฟันที่ดูไม่ดีหรือมีสีฟันที่ไม่ปกติ
  • เพื่อครอบรากฟันเทียม
  • เพื่อความสวยงามของฟัน

สำหรับเด็กเล็กจะมีการครอบฟันเพื่อรักษาฟันที่ถูกทำลายจากฟันผุที่ไม่สามารถอุดฟันได้ ช่วยป้องกันสำหรับเด็กที่มีแนวโน้มจะมีฟันผุได้ง่าย โดยเฉพาะเด็กที่มีการรักษาสุขอนามัยของช่องปากและฟันไม่ดี

ข้อควรระวังในการครอบฟัน

แม้วัสดุที่ใช้ในการครอบฟันจะเป็นวัสดุที่มีความปลอดภัยกับว่าที่คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ แต่หญิงตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการครอบฟันและรอทำการครอบฟันหลังการคลอด เพื่อลดความเครียดที่อาจเกิดขึ้นกับแม่และเด็กในครรภ์ระหว่างขั้นตอนทันตกรรม

ขั้นตอนการครอบฟัน

ควรพบทันตแพทย์เพื่อการตรวจวินิจฉัยฟันในเบื้องต้นและเตรียมฟันให้พร้อมก่อนการครอบฟัน ในการพบทันตแพทย์ครั้งแรกเพื่อการเตรียมพร้อม ทันตแพทย์อาจทำการเอกซเรย์เพื่อตรวจดูสภาพของรากฟันและกระดูกบริเวณที่จะครอบฟัน หากฟันผุ เสี่ยงต่อการติดเชื้อ หรือมีการบาดเจ็บที่เนื้อเยื้อในโพรงฟัน อาจต้องมีการรักษารากฟัน และหากฟันมีการแตกหักเสียหายหรือมีการรักษารากฟันมาก่อน ก็อาจต้องทำการเตรียมฟันให้พร้อมรวมไปถึงการทำความสะอาดฟันก่อนการครอบฟัน

ก่อนที่จะเริ่มขั้นตอนของการครอบฟัน ทันตแพทย์จะฉีดยาชาบริเวณฟันที่จะทำการครอบฟัน หลังจากนั้นทันตแพทย์จะกรอฟันเพื่อให้มีเนื้อที่สำหรับที่ครอบ และพิมพ์ฟัน ทันตแพทย์จะเลือกสีฟันโดยการใช้ไกด์สีหรือการถ่ายภาพเพื่อช่วยให้สามารถเลือกสีฟันที่เหมาะสมและเข้ากับสีฟันซี่อื่น ๆ และทำการใส่ที่ครอบฟันชั่วคราว ซึ่งอาจทำจากเรซิ่นหรืออคริลิกและติดด้วยกาวที่ใช้ในทางทันตกรรมแบบชั่วคราวเพื่อให้สามารถเอาออกได้ง่าย

เมื่อที่ครอบฟันถาวรเสร็จสมบูรณ์ในเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ ผู้เข้ารับการรักษาสามารถมาพบกับทันตแพทย์เพื่อใส่ที่ครอบฟันแบบถาวร ซึ่งครั้งนี้อาจใช้หรือไม่ใช้ยาชาก็ได้ ขึ้นกับดุลยพินิจของทันตแพทย์ จากนั้นจึงเอาที่ครอบฟันชั่วคราวออกและใส่ที่ครอบฟันแบบถาวรแทน พร้อมทั้งตรวจสอบความพอดี การขบเคี้ยวและระยะของฟัน หลังจากที่ปรับแก้ต่าง ๆ เสร็จเรียบร้อย ทันตแพทย์ก็จะทำการยึดด้วยปูนหรือกาวสำหรับทันตกรรมเพื่อยึดที่ครอบฟัน เป็นอันเสร็จสิ้นขั้นตอน

การดูแลหลังการครอบฟัน

หลังจากการครอบฟัน ผู้เข้ารับการรักษาสามารถใช้ฟันได้เป็นปกติ แต่การครอบฟันนั้นไม่ได้หมายความว่าฟันจะถูกปกป้องจากฟันผุและโรคเหงือก ดังนั้น ยังคงต้องรักษาสุขอนามัยของช่องปากให้ดีอยู่เสมอ โดยการแปรงฟันวันละ 2 ครั้ง และใช้ไหมขัดฟันโดยเฉพาะบริเวณที่มีการครอบฟัน รวมไปถึงการบ้วนปากด้วยน้ำยาบ้วนปากที่ต่อต้านแบคทีเรียอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง

นอกจากนั้น อายุการใช้งานของฟันที่ครอบนั้นจะอยู่ระหว่าง 5-15 ปี แล้วแต่การปฏิบัติตัวของผู้ที่ได้รับการครอบฟัน ไม่ว่าจะเป็นการรักษาสุขอนามัยของช่องปากและนิสัยการบดเคี้ยว เช่น การเคี้ยวน้ำแข็ง หรือใช้ฟันเปิดหรือฉีกผลิตภัณฑ์อาหาร เป็นต้น

การครอบฟันทำให้เกิดปัญหาใดได้บ้าง ?

การครอบฟันอาจทำให้เกิดอุปสรรคในการใช้ชีวิตประจำวันและเกิดปัญหาบางประการ ดังนี้

  • รู้สีกไม่สบายฟันหรือเสียวฟัน ฟันที่ทำการครอบใหม่ ๆ อาจมีความรู้สึกที่ไวกว่าปกติหรือมีอาการเสียวฟันเมื่อฤทธิ์ของยาชาหมดลง หากฟันที่ครอบยังคงมีประสาทฟันอยู่ก็อาจทำให้รู้สึกถึงความร้อนหรือเย็นได้ ซึ่งทันตแพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาสีฟันสำหรับผู้ที่มีอาการเสียวฟัน
  • ที่ครอบฟันหลวม ในบางครั้งสิ่งที่ใช้สำหรับยึดเกาะที่ครอบฟันอาจถูกล้างออกมาทำให้ที่ครอบฟันหลวม นอกจากนั้นยังทำให้แบคทีเรียสามารถเข้าไปและทำให้เกิดฟันผุได้ในที่สุด หากมีความรู้สึกว่าที่ครอบฟันกำลังหลวม ควรติดต่อทันตแพทย์
  • ที่ครอบฟันหลุด บางครั้งที่ครอบฟันอาจหลุดได้ โดยส่วนใหญ่จะเกิดจากการที่ที่ครอบฟันไม่พอดีกับฟัน สิ่งยึดที่ครอบฟันกับฟันไม่เพียงพอ หรือรูปร่างของฟันเล็กเกินไป ทำให้ที่ครอบฟันไม่สามารถยึดเกาะได้
  • ที่ครอบฟันแตกหรือกระเทาะ เมื่อใช้พอร์สเลนในการครอบฟัน สามารถกระเทาะหรือแตกได้ หากที่ครอบฟันแตกเพียงเล็กน้อยก็ยังอาจสามารถใช้คอมโพสิตเรซิ่นในการซ่อมแซมได้ แต่หากแตกกระเทาะมากอาจจำเป็นต้องทำใหม่
  • มีอาการแพ้ วัสดุที่ใช้ในการครอบฟันส่วนใหญ่จะมีส่วนผสมของโลหะ ซึ่งอาจทำให้เกิดการแพ้ได้ ปฏิกริยาแพ้ต่อโลหะหรือพอร์สเลนที่ใช้ครอบฟันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้แต่พบได้น้อยมาก