อุดฟัน ขั้นตอนง่ายๆ เพื่อฟันสวยสุขภาพดี

อุดฟัน (Dental Filling) เป็นวิธีที่ใช้รักษาฟันที่ถูกทำลายจากฟันผุจนเป็นโพรงหรือรู ซึ่งการอุดฟันจะช่วยป้องกันไม่ให้มีฟันผุเพิ่มขึ้นด้วยการปิดช่องทางไม่ให้แบคทีเรียเข้าไปได้อีก  

โดยวัสดุที่นำมาใช้ในการอุดฟันมีหลายประเภท เช่น ทอง อมัลกัม (Amalgam) หรือวัสดุอุดฟันทำจากโลหะปรอท เงิน ทองแดง และสังกะสี คอมโพสิตเรซิ่น (Composite Resin) หรือการอุดฟันด้วยวัสดุสีเหมือนฟัน ซึ่งการเลือกใช้วัสดุใดนั้นจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ที่จะเลือกให้เหมาะสมกับผู้ป่วย

อุดฟัน

ขั้นตอนการอุดฟัน

การอุดฟันเป็นเรื่องที่ง่ายไม่ซับซ้อน โดยฟันผุในเบื้องต้นจะยังไม่ปรากฏให้เห็นทางกายภาพมากนัก ซึ่งในบางครั้งฟันยังดูปกติดี แต่ทันตแพทย์สามารถจะดูได้จากการเอกซเรย์ว่ามีฟันผุที่บริเวณเนื้อฟันใต้เคลือบฟัน (Enamel) หรือมีการติดเชื้อที่รากฟันหรือไม่ รวมไปถึงดูว่ามีการสึกกร่อนของกระดูกในบริเวณรอบ ๆ ฟันหรือไม่

เมื่อทราบสภาพของฟันผุนั้น ๆ แล้ว ทันตแพทย์จะเริ่มจากการใช้ยาชาบริเวณฟันที่จะอุด และจะกรอฟันในส่วนที่ผุออกไปด้วยการใช้เครื่องมือหรือเลเซอร์ ซึ่งการเลือกใช้เครื่องมือจะขึ้นอยู่กับความถนัดของทันตแพทย์ รวมไปถึงตำแหน่งและขนาดของฟันผุ หลังจากนั้นจะมีการทำความสะอาดฟันให้เหลือแต่เนื้อฟันที่แข็งแรงเพื่อให้พร้อมต่อการอุดฟัน

จากนั้นจะเป็นขั้นตอนการอุดฟัน ซึ่งก็คือการเติมเต็มหรือแทนที่ด้วยวัสดุที่ใช้อุดฟัน โดยทันตแพทย์จะเลือกให้เหมาะสมและตามความต้องการของคนไข้ เวลาที่ใช้ในการอุดฟันจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสภาพฟันของผู้ป่วย

วัสดุที่นำมาใช้อุดฟัน ได้แก่

อมัลกัม (Amalgam)
เป็นวัสดุที่นิยมนำใช้มากที่สุดและใช้ง่ายที่สุดสำหรับทันตแพทย์ ทั้งรวดเร็วและราคาที่ไมแพง อมัลกัมเป็นการผสมกันของปรอท เงิน ดีบุก หรือโลหะอื่น ๆ มีอายุการใช้งานที่ยาวนานอย่างน้อย 10–15 ปี มักจะทนทานกว่าแบบคอมโพสิตเรซิ่น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากวัสดุนี้มีสีเข้ม จึงมองเห็นได้เด่นชัดกว่าพอซเลนหรือคอมโพสิต และไม่ถูกเลือกใช้กับบริเวณที่เห็นได้ง่าย เช่น ฟันหน้า

คอมโพสิตเรซิ่น (Composite Resin)
เป็นวัสดุที่มีสีเหมือนสีฟัน สำหรับทันตแพทย์แล้วการใช้คอมโพสิตเรซิ่น เป็นวิธีที่ง่ายกว่าการใช้ทอง และมีราคาที่ถูกกว่าทอง เหมาะกับผู้ป่วยที่ฟันผุบริเวณฟันหน้า แต่วัสดุชนิดนี้ไม่คงทนเท่ากับวัสดุอื่น ๆ โดยสามารถอยู่ได้ประมาณ 10 ปี นอกจากนี้ยังเป็นคราบจากชา กาแฟ หรือยาสูบได้

ทอง
เป็นวัสดุที่มีราคาแพงและใช้ได้ยากสำหรับทันตแพทย์ ซึ่งทำให้ขั้นตอนการอุดฟันยาวนานและยังมีราคาสูงกว่าวิธีอื่น ๆ ข้างต้น ข้อดีของทองคือมีความทนทาน มีอายุการใช้งานอย่างน้อย 20 ปี และไม่เป็นสนิม มีความแข็งแรง สามารถทนต่อการบดเคี้ยวได้มาก หรือเรื่องความสวยงาม เพราะผู้ป่วยบางรายจะชื่นชอบมากกว่าการอุดที่ใช้อมัลกัม

เนื่องจากทันตแพทย์จะมีการใช้ยาชาในขั้นตอนการอุดฟัน ซึ่งผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ และความดันโลหิต ทันตแพทย์จะพิจารณาตามความเหมาะสมในแต่ละบุคคล ในคนไข้ที่กำลังตังครรภ์ อาจมีความกังวลว่าการใช้ยาชาในขั้นตอนของการอุดฟันจะปลอดภัยต่อตนเองและลูกในครรภ์หรือไม่ ซึ่งการใช้ยาชาของทันตแพทย์ในขั้นตอนการอุดฟันนั้นมีความปลอดภัยต่อกับทั้งตัวคุณแม่เล็กเด็กในครรภ์ เป็นเรื่องที่ไม่ต้องกังวล

การเตรียมตัวก่อนอุดฟัน

ควรอุดฟันเมื่อฟันผุจนทำให้เกิดเป็นช่องหรือรูที่เนื้อฟัน หากไม่ได้รับการอุดฟันโดยเร็วก็อาจจะทำให้ลุกลามมากกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ปวดฟันและอาจนำไปสู่ปัญหาที่รุนแรงขึ้น เช่น ทำให้สูญเสียกระดูก ดังนั้นหากรู้ตัวว่ามีฟันผุ ควรติดต่อทันตแพทย์เพื่ออุดฟันทันที

การเตรียมตัวก่อนการอุดฟัน ทันตแพทย์จะพิจารณว่าผู้ป่วยสามารถทำการรักษาได้หรือไม่ โดยทำการตรวจสภาพฟันและเหงือก ซึ่งฟันซี่ที่จะอุดต้องเป็นฟันผุที่ไม่ลามไปจนถึงโพรงประสาทฟันและต้องมีเนื้อฟันเหลือพอให้วัสดุที่ใช้อุดฟันยึดเกาะได้ และยังพิจารณาถึงโรคประจำตัวและยาที่ใช้เป็นประจำของผู้ป่วยด้วย

การดูแลตัวเองหลังการอุดฟัน

หลังจากการอุดฟัน ไม่ควรใช้ฟันซี่ที่อุดมาเคี้ยวอาหารใน 24 ชั่วโมง อาการปวดฟันหรือเสียวฟันหลังเป็นเรื่องปกติที่พบบ่อย ซึ่งฟันอาจมีความรู้สึกไวต่อแรงกด อาหารรสหวาน  อากาศ หรืออุณหภูมิ 

โดยปกติแล้วอาการเสียวฟันจะหายไปได้เองภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ ซึ่งในช่วงเวลานี้ควรหลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้เสียวฟันดังที่กล่าวข้างต้น และอาจเกิดอาการปวดบริเวณรอบ ๆ ฟันที่อุด โดยเฉพาะเวลากัดหรือเคี้ยว เนื่องจากวัสดุที่ใช้อุดฟันไปรบกวนการกัดหรือขบเคี้ยว โดยแนะนำให้กลับไปพบทันตแพทย์เพื่อทำการแก้ไข

เพื่อเป็นการรักษาสภาพฟันหลังจากการอุดฟันให้ดี ควรปฏิบัติตนเพื่อดูแลสุขอนามัยของช่องปากให้สะอาดอยู่เสมอ ทั้งการแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟัน  พบทันตแพทย์เพื่อทำความสะอาดเป็นประจำ หรือใช้น้ำยาบ้วนปากต่อต้านแบคทีเรียอย่างน้อยวันละครั้ง

ผลข้างเคียงและความเสี่ยงในการอุดฟัน

การอุดฟันแทบจะไม่มีความเสี่ยงใด ๆ สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ ทันตแพทย์อาจให้ยาปฏิชีวนะตามใบสั่งแพทย์ก่อนจะเริ่มขั้นตอนการอุดฟัน เนื่องจากบางขั้นตอนสามารถทำให้แบคทีเรียในช่องปากเข้าสู่กระแสเลือดได้และทำให้เกิดการติดเชื้อในร่างกายได้ เข่น เยื่อบุหัวใจอักเสบ ซึ่งการให้ยาปฏิชีวนะก่อนขั้นตอนการรักษาจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดเยื่อบุหัวใจอักเสบโดยเฉพาะที่ลิ้นหัวใจได้