การใช้ยาปฏิชีวนะในช่วงให้นม ใช้อย่างไรให้ปลอดภัย

การใช้ยาปฏิชีวนะในช่วงของการให้นมบุตรอาจสร้างความกังวลใจให้กับหลายครอบครัวอยู่ไม่น้อย เนื่องจากตัวยาบางชนิดที่คุณแม่ใช้อาจปนเปื้อนเข้าไปสู่น้ำนมที่เป็นสารอาหารหลักของทารก รวมทั้งตัวคุณแม่เองก็อาจไม่สามารถหลีกเลี่ยงการใช้ยาปฏิชีวนะได้ เพราะมีความจำเป็นต้องรักษาอาการเจ็บป่วยบางอย่าง

แม้ว่ายาปฏิชีวนะส่วนใหญ่จะปลอดภัยต่อการใช้ในช่วงให้นม แต่ยาปฏิชีวนะบางชนิดอาจเป็นอันตรายหากปนเปื้อนอยู่ในน้ำนมแม่แม้เพียงเล็กน้อย โดยอาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพและกระทบต่อการเจริญเติบโตของเด็กได้มากกว่าที่คิด คุณแม่ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตรจึงจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะอย่างระมัดระวัง เพื่อให้ปลอดภัยต่อสุขภาพของทั้งคุณแม่และเด็กมากที่สุด

ยาปฏิชีวนะจำเป็นอย่างไร 

คุณแม่ที่กำลังให้นมบางคนอาจจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อรักษาอาการติดเชื้อจากแบคทีเรีย เช่น แผลพุพองตามผิวหนัง ภาวะคออักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโทค็อคคัส (Streptococcus) ภาวะหูชั้นกลางอักเสบ โรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ หรือโรคปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย โดยยาปฏิชีวนะจะช่วยกำจัดแบคทีเรียและป้องกันการติดเชื้อซ้ำในร่างกาย 

อย่างไรก็ตาม แพทย์และเภสัชกรจะเป็นผู้จ่ายยาปฏิชีวนะให้คุณแม่ใช้ตามความเหมาะสมและในปริมาณที่ปลอดภัย ซึ่งแพทย์จะต้องประเมินแล้วว่าการใช้ยาปฏิชีวนะเป็นวิธีการรักษาภาวะติดเชื้อแบคทีเรียได้ดีที่สุดแม้คุณแม่จะอยู่ในช่วงของการให้นมบุตรก็ตาม

ยาปฏิชีวนะที่คุณแม่มักได้รับในช่วงให้นมบุตร

ชนิดของยาปฏิชีวนะและปริมาณที่ใช้อาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับอายุของทารกในช่วงที่แม่กำลังให้นมและสุขภาพร่างกายโดยรวมของตัวผู้ป่วย โดยตัวอย่างยาปฏิชีวนะที่คุณแม่มักได้รับในช่วงให้นมบุตร เช่น 

ยาปฏิชีวนะกลุ่มเพนิซิลลิน (Penicillin)

เพนิซิลลินเป็นกลุ่มยาปฏิชีวนะที่รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียหลายชนิด เช่น การติดเชื้อในหู การติดเชื้อบนผิวหนัง การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ โรคไข้รูมาติก (Rheumatic Fever) โรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ โรคหนองใน หรือโรคติดเชื้อแบคทีเรียอื่น ๆ โดยการศึกษาพบว่าตัวยาชนิดนี้จะปนเข้าไปในน้ำนมแม่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น 

แม้ว่าคุณแม่จะสามารถรับประทานยาชนิดนี้ได้อย่างปลอดภัยในช่วงให้นมบุตร แต่ยาปฏิชีวนะกลุ่มเพนิซิลลินอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ปวดหัว ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน แสบกลางอก ผิวช้ำง่าย มึนงง นอนไม่หลับ ท้องเสียติดต่อกันหลายวัน คันหรือมีอาการของโรคลมพิษ ซึ่งหากมีอาการดังกล่าวหลังการใช้ยาควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบ

ยาปฏิชีวนะกลุ่มเซฟาโลสปอริน (Cephalosporins)

เซฟาโลสปอรินเป็นกลุ่มยาปฏิชีวนะอีกกลุ่มที่แพทย์ใช้รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียเช่นกัน เช่น การติดเชื้อบริเวณผิวหนัง หู ลำคอ ไต กระดูก หรือใช้รักษาผู้ป่วยโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis) โรคปอดอักเสบ หรือโรคติดเชื้อแบคทีเรียอื่น ๆ โดยตัวยาจะรบกวนการทำงานของเซลล์แบคทีเรียและทำลายแบคทีเรียเหล่านั้น

ยาปฏิชีวนะกลุ่มเซฟาโลสปอรินอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงในระหว่างการใช้ยา เช่น เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องหรือรู้สึกไม่สบายท้อง ท้องเสีย ติดเชื้อราในปากหรือในบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย 

ยาอิริโทรมัยซิน (Erythromycin)

อิริโทรมัยซินเป็นยาปฏิชีวนะที่ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียในร่างกาย  โดยแพทย์จะใช้รักษาการติดเชื้อในหู ผิวหนัง ทางเดินปัสสาวะ ลำไส้ และระบบสืบพันธุ์เพศหญิง รักษาโรคคอตีบ โรคไข้รูมาติก โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Sexually Transmitted Diseases: STDs) โรคหลอดลมอักเสบ โรคลีเจียนแนร์ (Legionellosis) โรคไอกรน (Pertussis) หรือโรคปอดอักเสบ 

ยาอิริโทรมัยซินอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น เบื่ออาหาร อาเจียน อาหารไม่ย่อย ท้องอืด ท้องเสีย ปวดท้องหรือเกิดตะคริวที่ท้อง หากคุณแม่ที่กำลังใช้ยามีอาการดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างรุนแรงหรือหรือมีอาการติดต่อกันหลายวันโดยไม่ดีขึ้น คุณแม่ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ

ยาฟลูโคนาโซล (Fluconazole)

ฟลูโคนาโซลเป็นยาที่ใช้รักษาและป้องกันการติดเชื้อราในร่างกาย เช่น การติดเชื้อราในช่องปากหรือลำคอ ภาวะปลายอวัยวะเพศชายอักเสบ โรคเชื้อราในช่องคลอด โรคหลอดอาหารติดเชื้อรา โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อรา (Fungal Meningitis) ทั้งนี้ ยาปฏิชีวนะชนิดนี้อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ผื่น ผมร่วง เวียนหัว ปวดหัว ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย 

อย่างไรก็ตาม ยาปฏิชีวนะบางชนิดอาจเป็นอันตรายต่อคุณแม่และทารกในช่วงตั้งครรภ์หรือช่วงให้นมบุตร ได้แก่ กลุ่มยาซัลฟา (Sulfonamides) หรือยาเตตราไซคลีน (Tetracyclines) ที่อาจส่งผลต่อพัฒนาการด้านกระดูกและฟันของตัวอ่อนในครรภ์ ทำให้ทารกมีสีฟันผิดปกติ และยาปฏิชีวนะในกลุ่มควิโนโลน (Quinolone) ที่อาจกระทบต่อการเจริญเติบโตในบริเวณข้อต่อส่วนต่าง ๆ ของทารกได้

คุณแม่ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะในระหว่างการตั้งครรภ์หรือในช่วงให้นมบุตร รวมทั้งหากสังเกตเห็นว่าทารกมีอาการผิดปกติหลังรับประทานนมแม่ในช่วงที่คุณแม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น มีไข้ ผื่น ระคายเคือง อาเจียน ท้องเสีย ให้ผู้ปกครองพาทารกไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุดเพื่อความปลอดภัย