ไมเกรนและอาการปวดหัว ความแตกต่างและวิธีการรับมือ

ไมเกรนเป็นอาการปวดหัวที่หลายคนเข้าใจว่าเป็นคำที่ใช้เรียกอาการปวดหัวข้างเดียว แม้ว่าในความเป็นจริง ไมเกรนมักจะเกิดกับศีรษะข้างใดข้างหนึ่งจริง แต่ก็ยังมีลักษณะการปวดอื่น ๆ ที่ค่อนข้างแตกต่างจากการปวดหัวทั่วไปหรืออาการปวดหัวแบบกล้ามเนื้อเกร็งตัว (Tension Headache) ซึ่งเป็นอาการปวดหัวที่พบได้บ่อย ดังนั้น การเข้าใจผิดหรือสับสนอาการปวดหัวก็อาจส่งผลต่อการรักษาได้

ไมเกรนเป็นอาการปวดหัวรูปแบบหนึ่ง ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตุบ ๆ เป็นจังหวะภายในศีรษะอย่างรุนแรง มักเกิดกับศีรษะซีกใดซีกหนึ่งและมีอาการอื่น ๆ เกิดขึ้นร่วมด้วย ซึ่งอาการปวดหัวไมเกรนนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นความเครียด การอดนอน อากาศร้อน แสงจ้า การจ้องคอมพิวเตอร์หรือเล่นโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานาน การดื่มแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีน ไปจนถึงเป็นอาการช่วงก่อนหรือหลังมีประจำเดือน

ไมเกรน

ความแตกต่างระหว่างไมเกรนและอาการปวดหัวชนิดอื่น

แม้ว่าอาการปวดจะเกิดขึ้นบริเวณศีรษะเหมือนกัน แต่ลักษณะการปวดและรูปแบบของอาการนั้นค่อนข้างมีความแตกต่างกัน ดังนี้

ลักษณะการปวด

อาการปวดมเกรนจะทำให้เกิดความรู้สึกปวดตุบ ๆ เป็นจังหวะภายในศีรษะข้างใดข้างหนึ่ง แต่หากเป็นอาการปวดหัวชนิดอื่นอาจทำให้รู้สึกตื้อหรือหน่วงบริเวณหน้าผากไปจนถึงศีรษะด้านหลัง

ระยะเวลา

อาการปวดหัวไมเกรนอาจเป็นปวดต่อเนื่องได้ตั้งแต่หลายชั่วโมงไปจนถึงหลายวัน แต่อาการปวดหัวชนิดอื่นอาจหายไปเองโดยใช้เวลาไม่นานเท่ากับไมเกรน เช่น ปวดหัวแบบคลัสเตอร์ (Cluster Headaches)มักมีอาการปวดเกิดขึ้นประมาณ 15-180 นาที

อาการอื่นที่เกิดขึ้นร่วมด้วย

โดยส่วนใหญ่ไมเกรนมักมีอาการอื่น ๆ เกิดขึ้นร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ดวงตาไวต่อแสง และไวต่อการได้ยินเสียงมากกว่าปกติ เป็นต้น 

อาการปวดหัวชนิดอื่น

ในทางการแพทย์แล้ว อาการปวดหัวสามารถแบ่งออกได้หลายชนิด เช่น หากเป็นอาการปวดแบบแสบร้อนหรือปวดจี๊ดบริเวณกระบอกตา แพทย์อาจวินิจฉัยว่าเป็นอาการปวดแบบคลัสเตอร์ แต่หากเกิดอาการปวดจมูก มีน้ำมูก หายใจมีกลิ่น ก็อาจมาจากอาการปวดหัวจากโรคไซนัสอักเสบ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีอาการปวดหัวจากฮอร์โมน อาการปวดหัวจากการบาดเจ็บ หรืออาการปวดหัวชนิดอื่น ๆ โดยแต่ละชนิดอาจมีตำแหน่งและลักษณะของอาการปวดแตกต่างกันไปตามความผิดปกติที่เกิดขึ้น อย่างโรคหรือการบาดเจ็บ

ในเบื้องต้นอาการปวดไมเกรนและอาการปวดหัวชนิดอื่น ๆ อาจบรรเทาได้โดยการพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ผ่อนคลายความเครียด ใช้ยาแก้ปวดและแก้อักเสบชนิดไม่มีสเตียรอยด์ ซึ่งเภสัชกรจะเป็นผู้แนะนำวิธีใช้ที่ปลอดภัย แต่หากอาการปวดหัวที่เกิดขึ้นค่อนข้างถี่ ปวดอย่างต่อเนื่อง หรือรุนแรงขึ้นจนกระทบการใช้ชีวิต รวมทั้งมีอาการที่อาจเป็นสัญญาณอันตราย อย่างเป็นไข้ คอแข็งเกร็ง อาเจียน เกิดจุดแดงในตา มีปัญหาในการมองเห็น พูดไม่ชัด เสียการทรงตัว หรือเคลื่อนไหวแขนขาไม่ได้ ควรไปพบแพทย์ทันที