โรคเลือกกินอาหาร (ARFID) ความผิดปกติทางการกินที่ต้องได้รับการรักษา

ARFID (Avoidant Restrictive Food Intake Disorder) หรือโรคเลือกกินอาหาร คือความผิดปกติทางการกินอย่างหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยเลือกกินอาหารเฉพาะบางชนิดและกินได้น้อยกว่าคนทั่วไป โดยที่การเลือกกินไม่ได้เกิดจากการกังวลเรื่องรูปร่างและน้ำหนักตัว แต่อาจเกิดจากโรคประจำตัว ประสบการณ์ฝังใจเกี่ยวกับการกิน และสาเหตุอื่น ๆ

อาการของ ARFID มักเกิดขึ้นตั้งแต่ยังเด็ก ซึ่งอาจส่งผลให้เด็กมีน้ำหนักตัวและความสูงต่ำกว่าเกณฑ์ และเจ็บป่วยง่าย เนื่องจากได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ส่วนผู้ป่วย ARFID ที่เป็นผู้ใหญ่อาจส่งผลให้น้ำหนักตัวน้อยผิดปกติ และทำให้ระบบต่าง ๆ ของร่างกายทำงานแย่ลง ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา

โรคเลือกกินอาหาร (ARFID) ความผิดปกติทางการกินที่ต้องได้รับการรักษา

อาการของ ARFID

อาการของ ARFID แตกต่างจากการเลือกกินทั่วไป เด็กอาจมีพฤติกรรมเลือกกินอาหารหรือไม่ยอมกินอาหารที่ไม่ชอบเพียงบางชนิด เช่น ผักใบเขียวและแครอท เพราะไม่ชอบกลิ่นหรือรสชาติ การเลือกกินลักษณะนี้จะไม่รุนแรงจนส่งผลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็ก และเมื่อโตขึ้นอาจเปลี่ยนใจกลับมากินอาหารที่ไม่ชอบในตอนเด็กได้ ทั้งนี้ โรคเลือกกินอาหารอาจทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ดังนี้

อาการด้านร่างกาย

อาการทางร่างกายของผู้ที่เป็น ARFID เช่น

  • น้ำหนักตัวลดลงผิดปกติ เติบโตช้ากว่าเกณฑ์ เข้าสู่วัยรุ่นช้า แต่บางคนอาจมีน้ำหนักตัวปกติหรือมากกว่าเกณฑ์ เพราะกินแต่อาหารขยะ (Junk Food)
  • ปวดท้อง ท้องผูก มีอาการกรดไหลย้อน
  • ประจำเดือนมาไม่ปกติ ประจำเดือนไม่มา หรือหมดประจำเดือน
  • อ่อนเพลีย เซื่องซึม กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • หัวใจเต้นช้ากว่าปกติ 
  • ตัวเย็น ตัวซีด มือเท้าเย็น เท้าบวม
  • เวียนศีรษะ เป็นลม
  • ผิวแห้ง เล็บเปราะ ผมบาง มีขนอ่อน (Laguno) ขึ้นตามร่างกาย
  • แผลหายช้า ระบบภูมิคุ้มกันแย่ลง

อาการด้านพฤติกรรม

ผู้ที่เป็น ARFID อาจมีพฤติกรรมต่าง ๆ เช่น

  • รังเกียจอาหารบางอย่าง และเลือกกินอาหารเป็นบางชนิด 
  • ไม่อยากอาหาร กินช้า กินอาหารไม่หมด รู้สึกอิ่มแม้กินอาหารน้อย
  • ไม่มีสมาธิ มีปัญหาด้านการนอนหลับ
  • หลีกเลี่ยงการเข้าสังคม เช่น ที่โรงเรียน และที่ทำงาน เพราะไม่อยากกินอาหารกับคนอื่น หรือกังวลเกี่ยวกับอาหารที่จะต้องกิน

อาการด้านจิตใจ

ผู้ที่เป็น ARFID อาจอาการด้านจิตใจ เช่น

  • กลัวการลองกินอาหารที่ไม่เคยกิน
  • กลัวว่าจะปวดท้อง สำลัก หรืออาเจียนหลังกินอาหาร
  • กังวลว่าอาหารจะปรุงมาไม่ดี และมีบรรจุภัณฑ์เปลี่ยนไปจากเดิม
  • ไม่ชอบการเห็นหรือได้ยินเสียงคนอื่นกินอาหาร
  • รู้สึกไม่สบายใจที่จะกินอาหารในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย
  • มีโรคทางจิตเวช เช่น โรควิตกกังวล และโรคซึมเศร้าในเด็กและวัยรุ่น

หากปล่อยให้มีอาการของโรคนี้โดยไม่ได้รักษา อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ขาดสารอาหาร ภาวะขาดน้ำ แร่ธาตุในร่างกายไม่สมดุล โลหิตจาง โรคกระดูกพรุน ความดันโลหิตต่ำ และหัวใจหยุดเต้น (Cardiac Arrest) ซึ่งอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้

ปัจจัยที่ทำให้เกิด ARFID

ในปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดว่า ARFID เกิดจากสาเหตุใด โดยผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าอาจเป็นผลจากกรรมพันธุ์ นิสัยส่วนตัวของผู้ป่วย การทำงานของสมองเปลี่ยนแปลงไป และปัจจัยอื่น ๆ เช่น

  • ประสบการณ์เลวร้ายเกี่ยวกับการกิน เช่น การสำลักอาหาร และการถูกบังคับให้กินอาหารในวัยเด็ก
  • โรคที่ส่งผลต่อการทำงานของระบบประสาทและพัฒนาการ เช่น โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า โรคออทิสติก และโรคสมาธิสั้น (ADHD)
  • มีประวัติของโรคที่เกี่ยวข้องกับการกิน เช่น โรคระบบทางเดินอาหาร กรดไหลย้อน และอาเจียน
  • มีโรคกลัวและวิตกกังวล เช่น เกลียดผิวสัมผัสของอาหารบางอย่าง และกลัวว่าการกินอาหารบางชนิดจะเป็นอันตรายต่อร่างกาย
  • ครอบครัวมีประวัติของความผิดปกติทางการกิน

แนวทางการรักษา AFRID

AFRID ยังไม่มีวิธีรักษาโดยตรง เป้าหมายของการรักษาโรคคือการทำให้ผู้ป่วยกินอาหารได้ดีขึ้น กินอาหารได้หลากหลาย ไม่กลัวการอาเจียนหรือเจ็บป่วยจากกินอาหารบางชนิด และมีน้ำหนักตัวตามเกณฑ์ ซึ่งวิธีการรักษาจะแตกต่างกันตามความรุนแรงของอาการที่ผู้ป่วยแต่ละคนมี เช่น

การดูแลตัวเองที่บ้าน

หากแพทย์วินิจฉัยว่ามีอาการของโรคเลือกกินอาหาร แพทย์และนักโภชนาการจะวางแผนการกินอาหารที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละคน โดยพิจารณาจากปัจจัยด้านสุขภาพและอาการ และอาจให้กินอาหารเสริม เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับสารอาหารที่จำเป็นอย่างเพียงพอ 

คนรอบข้าง เช่น คนในครอบครัวหรือเพื่อนสนิท มีบทบาทในการช่วยดูแลไม่ให้ผู้ป่วยสำลักอาหาร ซึ่งอาจทำให้กลัวการกินอาหารมากขึ้น และคอยเป็นกำลังใจให้ผู้ป่วยในการปรับพฤติกรรมการกิน ผู้ปกครองควรดูแลเด็กให้กินอาหารที่มีประโยชน์อย่างครบถ้วน โดยเป็นแบบอย่างในการกินอาหารที่มีประโยชน์หลากหลาย ไม่ดุด่าหรือบังคับให้เด็กกินอาหารที่ไม่ชอบ และชื่นชมหรือให้รางวัลหากเด็กกินอาหารได้ดี

การกินยา

แพทย์อาจให้ผู้ป่วยกินยาที่ช่วยเพิ่มความอยากอาหาร เช่น ยาไซโปรเฮปตาดีน (Cyproheptadine) และยาเมอร์เทซาปีน (Mirtazapine) รวมทั้งยาที่ช่วยบรรเทาอาการวิตกกังวล เช่น ยาลอราซีแพม (Lorazepam) และยาโอแลนซาปีน (Olanzapine) 

การรักษาโดยแพทย์

นอกเหนือจากการดูแลตนเองและการกินยาตามที่แพทย์สั่ง ผู้ป่วยอาจต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น

  • การบำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy) เพื่อวิเคราะห์สาเหตุของการเลือกกินอาหาร เพื่อหาแนวทางในการปรับความคิดและพฤติกรรมการกิน
  • ครอบครัวบำบัด (Family Therapy) ซึ่งเหมาะกับผู้ป่วยเด็กและวัยรุ่น การให้ผู้ปกครองและเด็กเข้าร่วมการบำบัด จะช่วยให้เด็กกินอาหารได้ดีขึ้น
  • อรรถบำบัด (Speech Therapy) ซึ่งอาจช่วยแก้ปัญหาเกี่ยวกับการกลืนอาหาร
  • การรักษาโรคทางจิตเวชที่ส่งผลให้เกิดโรค AFRID เช่น โรคซึมเศร้า ออทิสติก สมาธิสั้น และโรคบกพร่องทางการเรียนรู้ (Learning Disorder)
  • การให้อาหารทางสายยาง กรณีที่ไม่สามารถกินอาหารทางปาก โดยจะให้อาหารเหลวผ่านทางจมูก กระเพาะอาหาร หรือลำไส้เล็กโดยตรง เพื่อให้ได้รับสารอาหาร วิตามิน และแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกายอย่างครบถ้วน
  • การรักษาตัวที่โรงพยาบาล กรณีที่ผู้ป่วยมีน้ำหนักตัวลดลงมาก ขาดสารอาหารรุนแรง หรือมีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ จากโรคเลือกกินอาหาร

การรักษา ARFID ต้องใช้ระยะเวลา ซึ่งไม่สามารถระบุได้ว่าผู้ป่วยจะอาการดีขึ้นเมื่อไร เนื่องจากผู้ป่วยแต่ละคนมีอาการและความรุนแรงของโรคแตกต่างกัน ผู้ป่วยบางคนอาจต้องรับการรักษาต่อเนื่องตลอดชีวิต เพื่อติดตามอาการและเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น

หากคุณหรือคนใกล้ชิดมีพฤติกรรมการกินที่ผิดไปจากปกติ และมีอาการเข้าข่าย ARFID ควรไปพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษาเกี่ยวกับการปรับพฤติกรรมการกิน และรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ต่อไป และหากมีอาการวิตกกังวลขณะรับประทานอาหาร ไม่อยากหรือสามารถกินอาหารและดื่มเครื่องดื่มได้เลย และน้ำหนักตัวลดลงมากผิดปกติ ควรไปพบแพทย์ทันที