โรคลำไส้กลืนกัน (Intussusception)

ความหมาย โรคลำไส้กลืนกัน (Intussusception)

Intussusception หรือโรคลำไส้กลืนกัน เป็นความผิดปกติของลำไส้อย่างรุนแรง โดยลำไส้ส่วนต้นเคลื่อนตัวมุดเข้าไปสู่โพรงลำไส้ส่วนที่อยู่ถัดไปทางด้านปลาย ทำให้ลำไส้อุดตัน ส่วนใหญ่เกิดขึ้นบริเวณที่ลำไส้ใหญ่เชื่อมต่อกับลำไส้เล็ก ผู้ป่วยมักมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือเจ็บบริเวณช่วงท้องอย่างรุนแรง

ส่วนมากจะพบโรคนี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี โดยพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง แต่ช่วงวัยอื่นมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน โรคดังกล่าวเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและรวดเร็ว เพราะหากลำไส้กลืนกันเป็นเวลานาน อาจส่งผลให้ลำไส้ขาดเลือดจนเกิดการเน่า ลำไส้แตกทะลุ และเยื่อบุช่องท้องอักเสบ รวมทั้งติดเชื้อในกระแสเลือดและอาจเสียชีวิตได้

intussusception

อาการของ Intussusception

โรค Intussusception สามารถแบ่งกลุ่มอาการออกได้ตามช่วงวัย ดังนี้

วัยเด็ก

เด็กจะมีอาการปวดท้องเฉียบพลัน กระสับกระส่าย มือเท้าเกร็ง ท้องเป็นตะคริวเป็นพัก ๆ โดยในช่วงแรกจะเกิดขึ้นครั้งละประมาณ 10-15 นาทีแล้วหายไป และเว้นช่วงประมาณ 20-30 นาทีก่อนที่อาการจะกลับมาอีกครั้ง อาการดังกล่าวจึงมักทำให้เด็กร้องไห้เสียงดังและงอเข่าเข้ามาบริเวณหน้าอกขณะมีอาการ

หลังจากมีอาการเหล่านี้เกิดขึ้น เด็กจะง่วงซึมเนื่องจากความเหนื่อยล้า และอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น อุจจาระมีเลือดคล้ำ ๆ ปนเมือก อาเจียน คลำพบก้อนในท้อง มีไข้ ท้องผูกหรือท้องร่วง โดยอาการจะแตกต่างกันไปในแต่คน เด็กบางรายอาจไม่แสดงความเจ็บปวดอย่างชัดเจน ไม่มีก้อนบริเวณท้องหรือเลือดปนในอุจจาระ โดยอาจมีเพียงอาการปวดแต่ไม่มีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย

วัยผู้ใหญ่

ผู้ป่วยจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องเป็นพัก ๆ โดยอาจมีอาการติดต่อกันนาน 2-3 อาทิตย์ ซึ่งในวัยผู้ใหญ่อาจจะระบุอาการยากกว่าในวัยเด็ก เพราะอาการที่เกิดขึ้นอาจใกล้เคียงกับโรคอื่น ๆ

สาเหตุของ Intussusception

ทางการแพทย์ยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิด Intussuception ได้ แต่การเกิดโรคลำไส้กลืนกันในเด็กอาจมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส ลำไส้อักเสบ การผ่าตัดลำไส้ มีติ่งเนื้อหรือก้อนเนื้องอกในลำไส้ที่ส่งผลให้ลำไส้เคลื่อนตัวผิดปกติ ในกรณีของเด็กโตและผู้ใหญ่อาจมีสาเหตุมาจากพังผืดในลำไส้ การผ่าตัดเพื่อลดน้ำหนักหรือการผ่าตัดที่เกี่ยวข้องกับลำไส้ การติดเชื้อจากโรคต่าง ๆ อย่างโรคโครห์น

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคลำไส้กลืนร่วมกันได้มากขึ้น คือ เป็นเพศชาย อายุตั้งแต่ 6 เดือน-3 ปี มีภาวะลำไส้หมุนตัวผิดปกติ มีประวัติสมาชิกในครอบครัวเป็นผู้ป่วยโรคนี้ หรือเคยมีอาการในตอนเด็กก็อาจมีความเสี่ยงที่จะกลับมาเป็นซ้ำเมื่อโตขึ้น

การวินิจฉัย Intussusception

แพทย์จะวินิจฉัยอย่างละเอียดโดยเริ่มจากการสอบถามประวัติอาการของเด็กและตรวจร่างกาย แพทย์อาจคลำพบก้อนรูปทรงคล้ายไส้กรอกบริเวณท้อง หลังจากนั้นแพทย์อาจตรวจเพิ่มเติมเพื่อยืนยันผลการวินิจฉัยด้วย ดังนี้ 

  • การเอกซเรย์เพื่อตรวจดูการทำงานที่ผิดปกติของลำไส้
  • การทำอัลตราซาวด์โดยใช้คลื่นเสียงจับภาพลำไส้ ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถเห็นบริเวณที่ลำไส้มีความผิดปกติ
  • การตรวจลำไส้ด้วยการสวนแป้งแบเรียม (Air Enema, Barium Enema) เพื่อช่วยให้มองเห็นภาพลำไส้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยแพทย์จะสอดท่อเข้าไปในลำไส้ใหญ่และปล่อยอากาศหรือของเหลวอย่างแป้งแบเรียมผ่านท่อดังกล่าวเข้าไปในลำไส้บริเวณที่ตรวจพบการอุดตัน ซึ่งวิธีนี้สามารถรักษาอาการลำไส้อุดตันได้อย่างดี และอาจไม่ต้องรับการรักษาอื่น ๆ เพิ่มเติม 

การรักษา Intussusception

Intussuception ในบางรายอาจเกิดขึ้นชั่วคราว จึงอาจไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา แต่ในกรณีที่ต้องรับการรักษา แพทย์จะสวนแป้งแบเรียมและลมเข้าทางทวารหนัก เพื่อช่วยดันลำไส้ส่วนที่เคลื่อนตัวเข้าไปให้ออกมาจากลำไส้ส่วนที่กลืนกันอยู่ ทำให้ลำไส้อยู่ในลักษณะที่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม วิธีการรักษานี้มีโอกาสที่จะทำให้ลำไส้ฉีกขาดได้

ในผู้ป่วยที่มีภาวะลำไส้ฉีกขาดหรือรักษาด้วยวิธีข้างต้นไม่ได้ผล แพทย์จำเป็นต้องซ่อมแซมการอุดตันในลำไส้ด้วยการผ่าตัดแบบเปิดช่องท้องหรือการผ่าตัดผ่านกล้อง หากลำไส้มีความเสียหายอย่างรุนแรง อย่าง สำไส้เน่าหรือลำไส้แตกทะลุ แพทย์จำเป็นจะต้องตัดลำไส้บริเวณที่ได้รับผลกระทบออก เพื่อช่วยในการรักษา ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาด้วยวิธีนี้จะต้องพักฟื้นในโรงพยาบาลจนกว่าจะรับประทานอาหารเองได้และลำไส้กลับมาทำงานเป็นปกติ ทั้งนี้ วิธีการผ่าตัดจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งและความรุนแรงของการอุดตัน

ภาวะแทรกซ้อนของ Intussusception

การอุดตันของลำไส้ที่เกิดขึ้นใน Intussuception อาจก่อให้เกิดภาวะลำไส้ขาดเลือด ส่งผลให้เนื้อเยื่อหรือผนังบริเวณลำไส้บางส่วนเสียหายและเกิดลำไส้เน่า หากไม่ได้รับการรักษาจะนำไปสู่การทะลุและฉีกขาดของผนังลำไส้จนกลายเป็นภาวะเยื่อบุช่องท้องอักเสบ ผู้ที่มีภาวะดังกล่าวจะปวดท้อง ช่วงท้องบวม และมีไข้

หากเกิดในเด็กอาจทำให้ช็อก โดยจะมีอาการตัวเย็น ผิวซีดแตกลอก การหายใจผิดปกติ ชีพจรแผ่ว กระสับกระส่าย หงุดหงิด และอาจหมดสติ หากเด็กมีอาการดังกล่าว ผู้ปกครองควรนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจติดเชื้อในกระแสเลือดหรืออาจมีการกระจายของก้อนเนื้อที่เป็นภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดรักษา

การป้องกัน Intussusception

โรคลำไส้กลืนรวมกันเป็นโรคที่มีความรุนแรงจนอาจเกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตและยังไม่มีวิธีป้องกัน เนื่องจากไม่สามารถระบุถึงสาเหตุของการเกิดได้อย่างชัดเจน ผู้ปกครองจำเป็นจะต้องเฝ้าระวัง หากบุตรหลานมีอาการผิดปกติ ควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อทำการรักษาโดยด่วน และในผู้ที่เคยมีอาการของโรคลำไส้กลืนกันในวัยเด็ก ก็ควรเฝ้าระวังความผิดปกติและหมั่นดูแลสุขภาพร่างกายของตนเองด้วยเช่นกัน