โรคข้ออักเสบรีแอคทีฟ (Reactive Arthritis)

ความหมาย โรคข้ออักเสบรีแอคทีฟ (Reactive Arthritis)

Reactive Arthritis หรือโรคข้ออักเสบรีแอคทีฟ เป็นโรคข้ออักเสบชนิดหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นจากการตอบสนองของร่างกายต่อการติดเชื้อที่จุดอื่น เช่น การติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะหรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติจนไปกระตุ้นให้เกิดอาการบวมหรือปวดในบริเวณหัวเข่า ข้อเท้า เท้า หรืออาจมีความผิดปกติในบริเวณทางเดินปัสสาวะ ลำไส้ หรืออวัยวะเพศร่วมด้วย

โรค Reactive Arthritis เป็นโรคที่พบได้ยาก มักพบในผู้ที่มีอายุประมาณ 20–40 ปี และผู้ที่ร่างกายมีภูมิคุ้มกันบกพร่องอย่างผู้ป่วยโรคเอชไอวี (HIV) อย่างไรก็ตาม โรคนี้เป็นโรคที่สามารถรักษาและบรรเทาอาการได้ และส่วนมากผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นภายในเวลาประมาณ 1 ปี

โรคข้ออักเสบรีแอคทีฟ (Reactive Arthritis)

อาการของ Reactive Arthritis

ผู้ที่ป่วยด้วยโรค Reactive Arthritis อาจมีอาการดังต่อไปนี้

  • ข้อต่อในบริเวณต่าง ๆ เช่น หัวเข่าหรือข้อเท้ามีอาการบวม แดง ปวด หรือข้อติด
  • มีไข้
  • เกิดแผลในช่องปาก ฝ่ามือ ผิวหนังหรืออวัยวะเพศ
  • ตามัวหรือตาแดง
  • ปวดท้อง ท้องเสีย
  • ปวดเอว เข่า ส้นเท้าหรือเอ็นร้อยหวาย
  • มีอาการผิดปกติในระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น รู้สึกเจ็บหรือแสบเมื่อปัสสาวะ ปัสสาวะไหลผิดปกติ หรือปวดปัสสาวะบ่อย
  • มีสารคัดหลั่งไหลออกมาจากอวัยวะเพศ

อย่างไรก็ตาม หากพบว่าตนเองมีอาการคล้ายภาวะติดเชื้อหรือมีอาการของของโรค Reactive Arthritis ที่กล่าวไปข้างต้น ควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษาทันที

สาเหตุของ Reactive Arthritis

ในปัจจุบันยังไม่สามารถระบุสาเหตุของการเกิดโรค Reactive Arthritis ได้อย่างแน่ชัด แต่อาจเกิดจากการติดเชื้อในร่างกายแต่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานบกพร่องในระหว่างการกำจัดแบคทีเรียดังกล่าว ทำให้เนื้อเยื่อดีในร่างกายได้รับความเสียหายจนแสดงออกมาเป็นอาการต่าง ๆ ของโรค 

ตัวอย่างของการติดเชื้อที่ก่อให้เกิดอาการ ได้แก่ การติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร เช่น เชื้อซาลโมเนลล่า (Salmonella) เชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ (Campylobacter) เชื้อเยอร์ซีเนีย (Yersinia) เชื้อชิเจลลา (Shigella) หรืออาจเกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น เชื้อคลาไมเดีย (Chlamydia) เชื้อยูเรียพลาสม่า ยูเรียไลติคุ่ม (Ureaplasma Urealyticum) 

นอกจากนี้ ผู้ที่มียีน HLA B27 อาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคดังกล่าวมากกว่าคนทั่วไป โดยจากการตรวจเลือดของผู้ป่วย Reactive Arthritis ส่วนใหญ่จะพบยีนชนิดนี้ปรากฏขึ้นในผลตรวจ

การวินิจฉัย Reactive Arthritis

แพทย์จะวินิจฉัย Reactive Arthritis ด้วยการสอบถามประวัติทางการแพทย์ อาการที่เกิดขึ้น ตรวจร่างกายเพื่อหาความผิดปกติโดยเฉพาะในบริเวณดวงตา ผิว กระดูกสันหลัง หรือข้อต่อส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือด เพื่อตรวจหายีน HLA-B27 ซึ่งเป็นยีนที่สามารถกลายพันธุ์จนก่อให้เกิดอาการของโรค Reactive Arthritis และเพื่อตรวจหาการอับเสบในร่างกาย 

รวมถึงแพทย์อาจสั่งให้มีการตรวจปัสสาวะหรืออุจจาระเพื่อตรวจหาการติดเชื้อ การตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือการเจาะข้อเพื่อนำของเหลวตัวอย่างจากในข้อไปตรวจหาความผิดปกติในห้องปฏิบัติการด้วยเช่นกัน

การรักษา Reactive Arthritis

เนื่องจากในปัจจุบัน Reactive Arthritis เป็นโรคที่ยังไม่มีวิธีรักษาเฉพาะทาง แพทย์จึงมุ่งการรักษาไปที่การบรรเทาอาการที่เกิดขึ้นของผู้ป่วยแต่ละคน 

การใช้ยา

แพทย์จะจ่ายยาชนิดต่าง ๆ ตามอาการของผู้ป่วย เช่น ยาปฏิชีวนะเพื่อกำจัดแบคทีเรียในร่างกายหรือเพื่อรักษาโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ที่เป็นสาเหตุของ Reactive Arthritis ยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-Steroidal Anti-Inflammatory Drugs: NSAIDs) เพื่อบรรเทาการอักเสบและอาการปวดตามข้อ ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) เพื่อลดการอักเสบในร่างกาย หรือยาหยอดตาในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการม่านตาอักเสบ (Iritis) ร่วมกับอาการอื่น ๆ ของ Reactive Arthritis

การดูแลตนเอง

ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ในปริมาณที่เหมาะสม สร้างความผ่อนคลายให้แก่ร่างกายด้วยการฝึกหายใจหรือฟังเพลงที่ชอบ ประคบเย็นหรือประคบร้อนเพื่อบรรเทาอาหารปวด รวมทั้งควรพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอเพื่อแจ้งให้ทราบถึงอาการและความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการรักษา

นอกจากนี้ ผู้ป่วย Reactive Arthritis ยังควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับข้อต่อส่วนต่าง ๆ และเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับร่างกาย โดยอาจเลือกการออกกำลังกายประเภทที่ไม่ต้องใช้แรงมาก เช่น การเดิน การว่ายน้ำ การปั่นจักรยานอยู่กับที่ การรำมวยไท่เก๊ก หรือการเล่นโยคะ 

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์เพื่อความปลอดภัยในการออกกำลังกายและไม่ควรหักโหมจนเกินไปในการออกกำลังกายแต่ละครั้ง

ภาวะแทรกซ้อนของ Reactive Arthritis

อาการของ Reactive Arthritis อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้แก่ ภาวะข้อต่อกระดูกเชิงกรานอักเสบ (Sacroiliitis) โรคท่อปัสสาวะตีบ (Stricture Urethra) โรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบยึดติด (Ankylosing Spondylitis) กระดูกสันหลังติด เกิดการอักเสบในบริเวณกล้ามเนื้อหัวใจ เกิดโรคต้อหินหรือเริ่มสูญเสียการมองเห็น

การป้องกัน Reactive Arthritis

การป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรค Reactive Arthritis สามารถทำได้โดยการสวมถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และควรป้องกันภาวะอาหารเป็นพิษด้วยการเก็บวัตถุดิบด้วยวิธีที่สะอาดและเหมาะสม ปรุงอาหารให้สุกทุกครั้งก่อนรับประทาน รวมทั้งทำความสะอาดเครื่องครัวและอุปกรณ์ภายในครัว