โรค Hypertrichosis (โรคมนุษย์หมาป่า)

ความหมาย โรค Hypertrichosis (โรคมนุษย์หมาป่า)

โรค Hypertrichosis หรือที่เรียกว่าโรคมนุษย์หมาป่า (Werewolf Syndrome) คือ โรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของการเกิดขนบนร่างกายมนุษย์ โดยมีขนเกิดขึ้นจำนวนมากและหนาเกินกว่าปกติ โดยปกคลุมทั่วทั้งร่างกาย รวมถึงบริเวณใบหน้า และอาจขึ้นเป็นจุดเล็ก ๆ บนร่างกาย สามารถพบได้ในทั้งเพศหญิงและเพศชาย และอาจพบโรคได้ตั้งแต่เกิดและเกิดโรคขึ้นในตอนโต

โรค Hypertrichosis เป็นโรคหายาก อีกทั้งการเกิดโรคมนุษย์หมาป่าก็ยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่ชัดเจนได้ แต่อาจเกิดได้จากพันธุกรรม ผลข้างเคียงจากยาหรือโรคบางชนิด โดยในปัจจุบันก็ยังไม่พบวิธีการรักษาให้หายขาด แต่อาจบรรเทาได้ด้วยการกำจัดขน เช่น การโกน การแว๊กซ์ขน การทำเลเซอร์ 

โรค Hypertrichosis (โรคมนุษย์หมาป่า)

อาการของโรค Hypertrichosis

โรค Hypertrichosis หรือที่หลายคนรู้จักกันในชื่อว่าโรคมนุษย์หมาป่า มีอาการที่เห็นได้ชัดคือการมีขนดกและหนากว่าปกติ โดยสามารถจำแนกอาการได้ดังนี้

  • ขนเทอร์มินอลเยอะผิดปกติ (Hypertrichosis terminalis) เป็นลักษณะที่พบบ่อยมากที่สุด ซึ่งขนเทอร์มินอลเป็นขนมีลักษณะยาว สีเข้ม และหนากว่าขนประเภทอื่น ๆ โดยผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีขนเทอร์มินอลปกคลุมทั่วร่างกายในจำนวนที่มากผิดปกติ
  • ขนลานูโกเยอะผิดปกติ (Hypertrichosis lanuginosa) ขนลานูโกคือขนอ่อนที่ปกคลุมอยู่ทั่วร่างกายของเด็กแรกเกิด มักจะหลุดไปภายใน 1 สัปดาห์หลังคลอด โดยในเด็กแรกเกิดที่มีอาการของโรคมนุษย์หมาป่า ขนนี้จะไม่หลุดไปแต่จะยาวขึ้นเรื่อย ๆ
  • ขนดกบางจุด (Nevoid hypertrichosis) โดยขนจะเกิดขึ้นเยอะเฉพาะบริเวณใดบริเวณหนึ่งของร่างกาย ส่วนใหญ่มักพบตั้งแต่เกิด แต่ในบางรายก็อาจพบอาการนี้ในภายหลังได้เช่นกัน

นอกจากอาการดังกล่าวแล้ว อีกอาการที่พบได้บ่อยในโรค Hypertrichosis คือปัญหาเกี่ยวกับช่องปาก เช่น ภาวะเหงือกบวมโต การที่ฟันบางซี่หลุดออกไปหรือไม่งอก

สำหรับในผู้หญิงที่มีอาการของโรค Hypertrichosis อาจพบว่าอาการมีความคล้ายคลึงกับโรค Hirsutism ซึ่งเป็นภาวะที่ขนเกิดขึ้นเยอะผิดปกติเช่นเดียวกับโรค Hypertrichosis แต่โรค Hirsutism นั้นเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น ฮอร์โมนแอนโดรเจนเยอะกว่าปกติจากโรคกลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ (PCOS) ทำให้เกิดขนในบริเวณต่าง ๆ เช่น หนวด เครา กลางหน้าอก หลัง ไหล่ หน้าท้องและต้นขา ในขณะที่โรค Hypertrichosis เกิดจากสาเหตุอื่น

สาเหตุของโรค Hypertrichosis

ในปัจจุบันยังไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจนว่าโรค Hypertrichosis เกิดจากสาเหตุใด แต่สำหรับผู้ที่พบโรคตั้งแต่แรกเกิด อาจสันนิษฐานได้ว่าเกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของยีน ทำให้เกิดกระบวนการสร้างขนที่ผิดปกติ เนื่องจากมักเคยมีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคนี้มาก่อน 

สำหรับโรค Hypertrichosis ที่อาการที่เกิดขึ้นภายหลังอาจเป็นผลของโรคและยาบางชนิด จึงทำให้มีขนเกิดขึ้นเยอะกว่าปกติ เช่น 

การวินิจฉัยโรค Hypertrichosis

อาการของโรค Hypertrichosis ในบางรายอาจง่ายต่อการวินิจฉัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรค Hypertrichosis ที่มีอาการรุนแรงตั้งแต่เกิดและมีสมาชิกครอบครัวที่เป็นโรคนี้มาก่อน จึงสามารถวินิจฉัยด้วยการซักประวัติได้ นอกจากนี้ อาจตรวจสอบด้วยการนำตัวอย่างเส้นขนไปตรวจหาความผิดปกติว่ามีความเกี่ยวข้องกับโรค Hypertrichosis หรือไม่ เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการวินิจฉัย

หากตรวจพบโรค Hypertrichosis ในตอนโต อาจต้องหาสาเหตุเพิ่มเติมว่าเป็นเพราะอาการของโรคหรือยาชนิดอื่นหรือไม่ เพื่อวางแผนการรักษาให้เหมาะสมต่อไป

การรักษาโรค Hypertrichosis

หากสาเหตุของอาการขนดกของโรค Hypertrichosis หรือโรคมนุษย์หมาป่ามาจากโรคหรือยา ควรรักษาที่สาเหตุ เช่น การรักษาโรคนั้นโดยตรงหรือการปรับลดขนาดยา อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาโรค Hypertrichosis ให้หายขาดได้ เนื่องจากเป็นโรคทางพันธุกรรม ดังนั้น การรักษาจึงมุ่งไปที่การกำจัดขนด้วยวิธีการต่าง ๆ 

การรักษาในระยะสั้น

การรักษาในระยะสั้นมักเป็นการรักษาที่ใช้เวลาน้อยและขนยังสามารถยาวขึ้นได้อีกเมื่อผ่านเวลาไปสักพัก เช่น การโกนขน การแว็กซ์ขน การถอนขน หรือการใช้ครีมกำจัดขน แต่วิธีการเหล่านี้อาจทำให้เกิดความเจ็บปวดและส่งผลเสียต่อผิวหนัง เช่น ทำให้ผิวหนังเกิดการระคายเคืองได้

การรักษาในระยะยาว

การรักษาโรค Hypertrichosis ในระยะยาวมีโอกาสในการกำจัดขนอย่างถาวรได้มากกว่า แต่อาจใช้เวลานานกว่าจะเห็นผล เช่น 

  • การรักษาด้วยเลเซอร์กำจัดขน โดยความร้อนจากแสงจากการทำเลเซอร์จะเข้าไปทำลายรากขนแต่วิธีนี้อาจไม่ได้ผลสำหรับขนบางชนิด 
  • การรักษาด้วยวิธีอิเล็กโทรไลซิส (Electrolysis) ซึ่งเป็นการรักษาที่จะสอดเข็มเพื่อปล่อยกระแสไฟฟ้าเข้าไปในรากขนเพื่อทำลายรากขน อย่างไรก็ตาม เป็นวิธีที่ทำให้ผู้เข้ารับการรักษารู้สึกเจ็บปวดและมีค่าใช้จ่ายสูง

ภาวะแทรกซ้อนของโรคมนุษย์หมาป่า

โรค Hypertrichosis  ไม่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่อร่างกาย แต่อาจก่อให้เกิดปัญหาทางสุขภาพจิต เช่น ความเครียด ความไม่มั่นใจในตนเอง เนื่องจากอาการของโรคที่ทำให้มีขนเยอะและหนากว่าปกติ 

การป้องกัน

โรคมนุษย์หมาป่าชนิดที่พบตั้งแต่แรกเกิดนั้นมีสาเหตุมาจากการทำงานที่ผิดปกติของยีน จึงไม่สามารถป้องกันได้ แต่โรคมนุษย์หมาป่าชนิดที่เกิดขึ้นในภายหลังอาจป้องกันได้ โดยเริ่มจากการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และออกกำลังกายเป็นประจำ หมั่นตรวจเช็กสุขภาพของตนเองสม่ำเสมอเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคที่อาจส่งผลให้เกิดขนเยอะผิดปกติ รวมทั้งควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งก่อนใช้ยาใด ๆ