โควิด-19 (COVID-19) และไข้หวัด ความแตกต่างที่ควรรู้

ท่ามกลางความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้ผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย อย่างมีไข้ ไอหรือจาม เกิดความสับสนไม่น้อย เนื่องจากโรคโควิด-19 เป็นการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจที่คล้ายกับไข้หวัด แต่มักมีความรุนแรงมากกว่า แล้วอะไรคือความแตกต่างระหว่างอาการของสองโรคนี้

การติดเชื้อไข้หวัดและโควิด-19 เกิดจากการที่เชื้อไวรัสเข้าโจมตีระบบทางเดินหายใจในร่างกาย โดยไข้หวัดมีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัสได้หลายชนิด รวมถึงไวรัสโคโรนาบางสายพันธุ์ แต่ที่พบได้บ่อยคือการติดเชื้อไรโนไวรัส (Rhinoviruses) ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนต้น ได้แก่ จมูกและลำคอ

2538-COVID-19-and-common-flu

ส่วนเชื้อโควิด-19 เป็นโรคติดต่อทางระบบทางเดินหายใจที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 และเกิดการกลายพันธุ์ของเชื้อ เช่น สายพันธุ์อัลฟ่า เบต้า เดลตา และโอมิครอน ซึ่งแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วและอาจทำให้เกิดอาการต่างจากสายพันธุ์เดิม โดยผู้ติดเชื้ออาจไม่มีอาการ หรือมีอาการในระบบทางเดินหายใจได้คล้ายไข้หวัดไป ไปจนถึงอาการรุนแรงที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

ความแตกต่างระหว่างไข้หวัดและโควิด-19

ไข้หวัดและโควิด-19 อาจมีความคล้ายกันในแง่ของการได้รับเชื้อไวรัส แต่อาจมีความแตกต่างของอาการและการแพร่กระจายที่พอจะสังเกตได้ดังนี้

ไข้หวัด

ไข้หวัด ส่วนใหญ่พบในเด็กเล็ก แต่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย โดยมักเกิดในช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง อย่างฤดูฝนหรือฤดูหนาว หากเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดไข้หวัดเข้าสู่ร่างกายจะทำให้ผู้ป่วยแสดงอาการออกมาในช่วง 1-3 วัน หลังได้รับเชื้อ ดังนี้

  • คัดจมูก น้ำมูกไหล และมีน้ำมูกอุดตันภายในจมูก 
  • เจ็บคอ
  • ไอและจาม
  • ปวดเมื่อยตามร่างกาย
  • ปวดศีรษะ

ในบางกรณีอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น อ่อนเพลีย เคืองตา หูอื้อ ปวดหู สูญเสียการได้กลิ่นและการรับรส หรืออาจมีไข้ในผู้ป่วยบางราย โดยทั่วไป อาการของไข้หวัดมักดีขึ้นเองภายใน 7-10 วัน แต่ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแออาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น อย่างหลอดลมอักเสบหรือปอดบวม

ทั้งนี้ การแพร่กระจายของไวรัสที่ทำให้เกิดไข้หวัดมักเป็นการแพร่จากผู้ที่มีอาการป่วยไปยังผู้อื่นผ่านสารคัดหลั่งในอากาศ และการติดต่อสัมผัสอย่างใกล้ชิดกับผู้ที่มีเชื้อไข้หวัด เช่น ไอ จาม พูดคุย หรืออาจได้รับเชื้อไวรัสจากการสัมผัสมือหรือสิ่งของที่ผู้ป่วยได้สัมผัสแล้วนำมาสัมผัสบริเวณดวงตา จมูกหรือปากของตนเอง เช่น ลูกบิดประตู โทรศัพท์มือถือ หรือของใช้ต่าง ๆ จึงทำให้เชื้อไวรัสนั้นสามารถเข้าสู่ร่างกาย

โควิด-19

เชื้อโควิด-19 อาจทำให้เกิดอาการในระบบทางเดินหายใจได้หลายระดับ ตั้งแต่ระดับที่ไม่รุนแรงไปจนถึงมีอาการรุนแรง และอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ โรคโควิด-19 สามารถเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่บุคคลบางกลุ่มอาจมีความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 ได้สูงกว่าคนทั่วไป ได้แก่ ผู้สูงอายุที่อายุ 60 ปีขึ้นไป หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพเรื้อรัง อย่างโรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคปอด โรคมะเร็ง และความดันโลหิตสูง

ผู้ป่วยบางรายที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้ก็อาจไม่มีอาการแสดงใด ๆ ได้เช่นกัน โดยปกติแล้ว ผู้ป่วยโควิด-19 จะมีอาการจะแสดงออกมาในช่วง 2–14 วัน หลังการได้รับเชื้อ ซึ่งอาการที่พบได้บ่อย ได้แก่ มีไข้ ไอแห้ง ๆ และอ่อนแรง

นอกจากนี้ ยังมีอาการอื่น ๆ ที่อาจเกิดร่วมกัน เช่น

  • สูญเสียการได้กลิ่นและการรับรส 
  • คัดจมูก น้ำมูกไหล และเจ็บคอ 
  • ตาแดง 
  • ปวดศีรษะ และปวดเมื่อยกล้ามเนื้อหรือข้อต่อ 
  • มีผื่นขึ้นตามตัว 
  • คลื่นไส้อาเจียน 
  • ท้องเสีย 
  • เวียนศีรษะ 

ดังนั้น หากมีอาการผิดปกติที่เป็นสัญญาณของโรคโควิด-19 และมีประวัติติดต่อใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่สงสัยว่าติดเชื้อโควิด-19 ควรกักตัวที่บ้านเพื่อสังเกตอาการ รวมทั้งผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศให้กักตัวในสถานที่ที่ทางราชการกำหนดตามเงื่อนไขประกาศของรัฐบาลไทย หากมีอาการรุนแรง เช่น มีไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส หายใจหอบเหนื่อย แน่นหน้าอก เบื่ออาหาร และสับสน ควรรีบติดต่อโรงพยาบาลทันที

สำหรับการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เกิดขึ้นคล้ายกับการแพร่กระจายของไข้หวัด โดยสามารถแพร่จากคนสู่คนผ่านสารคัดหลั่งที่ผู้ติดเชื้อไอหรือจามออกมา อีกทั้งสารคัดหลั่งเหล่านี้อาจติดอยู่บนสิ่งของหรือพื้นผิวต่าง ๆ เมื่อสัมผัสโดนสิ่งของหรือพื้นผิวนั้นแล้วใช้มือสัมผัสบริเวณดวงตา จมูกหรือปาก จึงทำให้เกิดการติดเชื้อโควิด-19 ได้ 

นอกจากนี้ การแพร่กระจายของโควิด-19 ยังได้เกิดจากสูดเอาสารคัดหลั่งจากผู้ติดเชื้อเข้าสู่ร่างกายได้อีกด้วย ดังนั้น กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขจึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนจำนวนมาก หรือหลีกเลี่ยงการรวมกลุ่มกันเพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ และควรอยู่ห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 1–2 เมตร เพื่อช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ

corona CHATBOT Thai 2

การรักษาไข้หวัดและโควิด-19

การรักษาไข้หวัดและโควิด-19 ไม่สามารถจะเปรียบเทียบกันได้ เนื่องจากโรคทั้งสองมีความแตกต่างกัน โดยแนวทางในการรักษาทั่วไปมีดังนี้

  1. การรักษาไข้หวัด

ไข้หวัดเป็นโรคที่ไม่จำเป็นต้องได้รับยาฆ่าเชื้อไวรัส เนื่องจากภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยจะกำจัดเชื้อได้ด้วยตัวเอง และจะมีอาการดีขึ้นภายใน 7–10 วัน โดยในระหว่างนี้สามารถบรรเทาอาการได้ด้วยการพักผ่อนมาก ๆ ดื่มน้ำให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และอาจรับประทานยาต่อไปนี้

ยาแก้ปวด 

ยาแก้ปวด อย่างยาพาราเซตามอลหรืออะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) ที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย สามารถหาซื้อได้ทั่วไป ตัวยามีคุณสมบัติช่วยลดไข้ บรรเทาอาการปวดศีรษะและปวดเมื่อยตัวจากไข้หวัด โดยพาราเซตามอลในรูปแบบรับประทาน มีทั้งยาเม็ดและยาน้ำสำหรับเด็ก โดยขนาดยาที่แนะนำให้รับประทานจะคำนวณตามน้ำหนักตัว เช่น 

  • ยาเม็ดที่มีตัวยาพาราเซตามอล 500 มิลลิกรัม/เม็ด คำนวณตามน้ำหนักตัว โดยให้ 10–15 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักตัว 50 กิโลกรัมขึ้นไปให้รับประทานยาพาราเซตามอล 500 มิลลิกรัม ครั้งละไม่เกิน 2 เม็ด (1,000 มิลลิกรัม) แต่ไม่เกินวันละ 8 เม็ด (4,000 มิลลิกรัม) ทุก 4–6 ชั่วโมง
  • ยาน้ำสำหรับเด็ก มีทั้งรูปแบบยาหยด มีตัวยาพาราเซตามอล 80 มิลลิกรัม/0.8 มิลลิตร เหมาะกับเด็กที่น้ำหนักตัวไม่เกิน 10 กิโลกรัม และยาน้ำเชื่อมที่มีตัวยาพาราเซตามอล 160 มิลลิกรัม/ช้อนชา เหมาะกับเด็กน้ำหนักตัว 16–24 กิโลกรัม 

การออกฤทธิ์แก้ปวดและลดไข้ของยาพาราเซตามอลขึ้นกับรูปแบบยา เช่น ยาเม็ดทั่วไปใช้เวลาออกฤทธิ์ประมาณ 30–45 นาทีหลังรับประทานยา ทั้งนี้ เด็กไม่ควรรับประทานยาติดต่อกันเกิน 5 วัน และผู้ใหญ่ไม่ควรรับประทานติดต่อกันเกิน 10 วัน แต่หากเป็นไข้ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ไม่ควรรับประทานทานติดต่อกันเกิน 3 วัน

ยาลดน้ำมูกและยาแก้คัดจมูก 

ยากลุ่มนี้ใช้เพื่อบรรเทาอาการหวัดและช่วยให้หายใจได้สะดวกขึ้น ได้แก่ กลุ่มยาแก้แพ้ เช่น ยาเซทิริซีน (Cetirizine) ยาลอราทาดีน (Loratadine) หรือยาซูโดเอฟีดรีน (Pseudoephedrine)  

ยาแก้ไอและยาขับเสมหะ

หากมีอาการไอ อาจรับประทานยาแก้ไอหรือยาขับเสมหะ เพื่อช่วยบรรเทาอาการไอและช่วยให้ขับเสมหะออกได้ง่ายขึ้น

  1. การรักษาโควิด-19

การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เป็นวิธีที่ลดการแพร่ระบาด ลดความรุนแรงของอาการ และลดการเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 ได้ดีที่สุด จึงแนะนำให้ผู้ที่ไม่เคยเข้ารับวัคซีนเข้ารับวัคซีนให้ครบโดยเร็วที่สุด เพื่อช่วยสร้างภูมิต้านทานแก่ร่างกาย สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้

การรักษาผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่มีอาการรุนแรงอาจใช้วิธีรักษาตัวที่บ้าน (Home Isolation) โดยกักตัวแยกจากคนในบ้านและสังเกตอาการ แต่ในกรณีที่มีอาการรุนแรงขึ้น เช่น มีไข้สูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียส หายใจหอบเหนื่อย วัดค่าออกซิเจนปลายนิ้วได้น้อยกว่า 94% หรือไม่สามารถทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ให้รีบโทรติดต่อโรงพยาบาลที่รักษาอยู่ทันที

ดังนั้น หากรู้สึกไม่สบายหรือมีอาการผิดปกติที่สงสัยว่าเป็นอาการของโควิด-19 ควรปฏิบัติตัวตามคำแนะนำ ดังนี้

  • ผู้ป่วยควรกักตนเองอยู่ที่บ้านแยกจากผู้อื่น และหลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของต่าง ๆ ร่วมกัน โดยเฉพาะบุคคลในครอบครัวและสัตว์เลี้ยง หากเป็นไปได้ควรแยกใช้ห้องน้ำหรือพื้นที่อยู่อาศัยออกจากคนในครอบครัว เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส 
  • ทำความสะอาดบ้านและสิ่งของต่าง ๆ ในบ้านให้สะอาด เนื่องจากเชื้อไวรัสอาจเกาะอยู่บนพื้นผิวของสิ่งของได้ นอกจากนี้ ควรสวมหน้ากากอนามัยเมื่อต้องทำความสะอาดบริเวณที่ผู้ป่วยใช้กักตนเอง 
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ชุมชนหรือสถานที่ที่มีผู้คนจำนวนมาก และไม่ควรเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ 
  • สวมหน้ากากอนามัยเมื่อต้องอยู่ในสถานที่สาธารณะหรือติดต่อกับผู้อื่น
  • ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่และน้ำให้สะอาดอย่างน้อย 20 วินาที ในกรณีที่ไม่สะดวกในการล้างด้วยน้ำและสบู่ สามารถทำความสะอาดมือด้วยเจลล้างมือที่มีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์อย่างน้อย 60% โดยเฉพาะหลังจากการไอหรือจาม หลังการเข้าห้องน้ำ ก่อนการเตรียมอาหารและรับประทานอาหาร

วิธีการป้องกันและลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายหรือรับเชื้อโควิด-19 อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด คือหมั่นล้างมือให้สะอาดบ่อย ๆ หากต้องการไอหรือจามควรใช้กระดาษทิชชู่ปิดจมูกและปาก หากไม่มีกระดาษทิชชู่ควรไอหรือจามใส่ข้อศอกด้านในตนเอง และหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนจำนวนมาก หรือหลีกเลี่ยงการรวมกลุ่มกันเพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ และหากเป็นไปได้ ควรอยู่ห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 1–2 เมตร

ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรหมั่นสังเกตอาการของตนเอง หากมีอาการหายใจลำบากหรือหายใจหอบถี่ รู้สึกเจ็บหรือแน่นหน้าอกอย่างต่อเนือง มีอาการสับสน เซื่องซึม สีของใบหน้าและปากเปลี่ยนเป็นสีคล้ำลง ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เนื่องจากอาจเป็นสัญญาณของอาการขั้นรุนแรงที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยเร็วที่สุด