แว่นกันแดด ตัวช่วยปกป้องดวงตาและวิธีเลือกให้เหมาะสม

การสวมแว่นกันแดดเป็นวิธีที่จะช่วยปกป้องสายตาจากรังสี UV ในแสงแดดซึ่งอาจทำอันตรายต่อดวงตาได้ดี แว่นกันแดดที่วางขายในปัจจุบันมีหลายรูปแบบและมีประสิทธิภาพในการปกป้องดวงตาแตกต่างกัน การเลือกแว่นกันแดดที่มีคุณภาพจึงสำคัญต่อการปกป้องดวงตาจากแสงแดดในทุก ๆ วัน

รังสี UV หรืออัลตราไวโอเลต (Ultraviolet) คือพลังงานรูปแบบหนึ่งซึ่งมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า โดยมีแหล่งกำเนิดหลักมาจากแสงอาทิตย์ รังสี UVแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ซึ่งรังสี UVC จะถูกดูดซับด้วยโอโซนในชั้นบรรยากาศไม่สามารถผ่านเข้ามายังโลกได้ จึงมีเพียงรังสี UVA และ UVB สามารถเดินทางมาถึงชั้นโลกและมีผลกระทบต่อผิวและดวงตา

แว่นกันแดด ตัวช่วยปกป้องดวงตาและวิธีเลือกให้เหมาะสม

หากได้รับรังสี UV ติดต่อกันเป็นเวลานานอาจส่งผลกระทบผิวหนังและส่วนต่าง ๆ ภายในดวงตา เช่น ม่านตา (Iris) จอตา (Retina) เลนส์ตา และกระจกตา โดยบทความนี้จะชวนผู้อ่านมารู้จักกับประโยชน์ของแว่นกันแดดและวิธีเลือกสวมใส่อย่างเหมาะสม

ความสำคัญของแว่นกันแดด

การสวมแว่นกันแดดจะช่วยปกป้องผิวรอบดวงตาและสุขภาพดวงตา ดังนี้

ปกป้องผิวหนังบริเวณรอบดวงตา

ผิวบริเวณเปลือกตาเป็นบริเวณที่บางที่สุดในร่างกาย การสวมแว่นตาจะช่วยป้องกันรังสี UVA ที่สามารถทะลุไปถึงเซลล์ผิวชั้นหนังแท้ (Dermis) และทำให้ผิวแห้งกร้าน สูญเสียความยืดหยุ่น หย่อนคล้อย เกิดริ้วรอยก่อนวัย ฝ้าwww.pobpad.com/ฝ้า-melasma จุดด่างดำ และอาจทำให้เกิดมะเร็งผิวหนังบางชนิด

นอกจากนี้ รังสี UVB ทำให้เกิดความเสียหายต่อหนังกำพร้า ทำให้ผิวไหม้แดด เกิดตุ่มพอง (Blister) ซึ่งเป็นโรคผิวหนังทำให้เกิดการสร้างของเหลวระหว่างชั้นผิวและทำให้รู้สึกเจ็บปวด และอาจเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งผิวหนังชนิดสเควมัสเซลล์ (Squamous Cell Carcinoma) มะเร็งผิวหนังชนิดเบเซลเซลล์ (Basal Cell Carcinoma) และมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา (Melanoma)

ป้องกันความเสียหายต่อดวงตา

รังสี UVA และ UVB อาจทำลายส่วนประกอบภายในดวงตาได้หลายส่วนหากไม่ได้สวมแว่นกันแดด และอาจทำให้เกิดโรคตาที่อาจส่งผลกระทบต่อการมองเห็น ดังนี้

  • กระจกตาดำอักเสบ (Photokeratitis) เกิดจากการได้รับรังสี UV จากการมองแสงแดดที่สะท้อนจากน้ำ หิมะ และน้ำแข็ง ทำให้เกิดอาการเจ็บตา ตาแดง ตาไวต่อแสงมาก และน้ำตาไหลมากผิดปกติ โดยทั่วไปจะเกิดอาการในช่วงสั้น ๆ และจะหายไปได้เอง
  • ต้อกระจก (Cataracts) คือภาวะเลนส์ตาขุ่นมัวจากการสัมผัสแสงแดดจัดเป็นเวลานาน เนื่องจากรังสี UV ทำลายโปรตีน ซึ่งเป็นองค์ประกอบของเลนส์ตา ผู้ป่วยต้อกระจกจะมีอาการตาพร่า เห็นภาพซ้อนเห็นสีสันต่าง ๆ ลดลง หากปล่อยไว้อาจทำให้สูญเสียการมองเห็นได้
  • จอประสาทตาเสื่อม (Age Related Macular Degeneration: AMD) พบมากในผู้สูงอายุ การได้รับรังสี UV สะสมเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดโรคนี้ได้ โดยอาจทำให้การมองเห็นผิดไปจากเดิม เช่น ตาพร่า และมองเห็นจุดดำตรงกลางภาพ
  • ต้อลม (Pinguecula) เกิดจากการสัมผัสรังสี UV เป็นเวลานนาน ทำให้เกิดการสะสมของไขมันและโปรตีนที่บริเวณตาขาว เกิดเป็นก้อนนูนเล็ก ๆ  สีเหลืองใสอยู่ที่ตาขาว อาจทำให้เกิดอาการเจ็บหรือเคืองตา และน้ำตาไหล
  • ต้อเนื้อ (Pterygium) เกิดจากการการสัมผัสรังสี UV เป็นเวลานานเช่นเดียวกัน มีลักษณะคล้ายต้อลม แต่ก้อนนูนบริเวณตาขาวจะลุกลามเข้าไปถึงบริเวณตาดำ ซึ่งอาจบดบังการมองเห็นได้
  • มะเร็งผิวหนังชนิดสเควมัสเซลล์ ซึ่งเกิดขึ้นจากการได้รับรังสี UV เป็นเวลานานอาจเกิดขึ้นที่เยื่อบุตาได้ โดยอาจทำให้กระจกตาและโครงสร้างภายในดวงตาเกิดความเสียหาย

เคล็ดลับเลือกแว่นกันแดดเพื่อปกป้องดวงตา

รังสี UV มีอยู่ทุกที่และทุกสภาพอากาศ เราจึงควรสวมแว่นกันแดดทุกครั้งเมื่อออกจากบ้าน โดยเฉพาะในช่วงกลางวันของฤดูร้อนที่ค่ารังสี UV ในแสงแดดเข้มข้นกว่าช่วงเวลาอื่นหลายเท่าตัว โดยข้อแนะนำในการเลือกแว่นกันแดดที่มีประสิทธิภาพในการปกป้องดวงตา มีดังนี้

  • เลือกแว่นกันแดดที่ป้องกันรังสี UVA และ UVB ได้ 99–100% หรือแว่นที่ระบุว่า UV400 ซึ่งหมายถึงช่วงความยาวคลื่น 400 นาโนเมตร และสามารถป้องกันครอบคลุมทั้ง UVA และ UVB โดยไม่จำเป็นต้องเลือกแว่นที่มีราคาแพง
  • เลือกกรอบแว่นกันแดดที่สวมใส่สบายและกระชับพอดีกับใบหน้า มีเลนส์ขนาดใหญ่ปกคลุมผิวรอบดวงตา หากทำกิจกรรมกลางแจ้งที่มีแดดจัดหรือมีฝุ่นละออง ควรเลือกแว่นกันแดดที่โค้งปิดไปถึงขมับ ซึ่งจะช่วยป้องกันแสงแดดที่ลอดเข้ามาด้านข้างของแว่น และป้องกันฝุ่นละออง
  • เลือกแว่นกันแดดที่ทำจากเลนส์โพลาไรซ์ (Polarized Lenses) ซึ่งจะช่วยตัดแสงสะท้อนจากผิวถนนและผิวน้ำได้ ผู้ที่ทำศัลยกรรมดวงตา เช่น การทำเลสิก ควรเลือกแว่นกันแดดที่ทำจากเลนส์นี้
  • เลือกสีของเลนส์ตามกิจกรรมที่ทำ เช่น เลนส์สีเทาเหมาะกับการขับรถ เลนส์สีน้ำตาลเหมาะกับการทำกิจกรรมในวันที่มีเมฆมาก และกีฬากลางแจ้ง เช่น ตีกอล์ฟ ตกปลา และขี่จักรยาน เลนส์สีเหลืองหรือส้มเหมาะกับการขับรถในวันที่มีหมอกหนา และการทำกิจกรรมตอนกลางคืน

ทั้งนี้ เด็กอายุมากกว่า 6 เดือนก็ควรสวมแว่นกันแดดเช่นกัน เพราะเด็กมักทำกิจกรรมกลางแจ้งบ่อย และผิวรอบดวงตาของเด็กบอบบางกว่าผู้ใหญ่ ผู้ปกครองควรให้เด็กสวมแว่นกันแดดที่มีประสิทธิภาพป้องกันรังสียูวี เลนส์ กรอบและขาแว่นทำจากวัสดุที่ทนต่อรอยขีดข่วนและไม่แตกหักง่าย และมีขนาดพอดีกับใบหน้าของเด็ก

นอกจากการสวมแว่นกันแดดเพื่อป้องกันแสงแดด ควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งในช่วงระหว่าง 10.00–16.00 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่แดดแรงที่สุดของวัน สวมหมวกปีกกว้างและทาครีมกันแดดก่อนออกจากบ้าน และหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคจอประสาทตาเสื่อม ต้อหิน และต้อกระจก