แฝดสาม กับเรื่องที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรรู้

การอุ้มท้องลูกเพียงคนเดียวสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ร่างกายและชีวิตได้มากมาย แต่หากลองจินตนาการถึงการตั้งครรภ์แฝดสามก็น่าจะเป็นเรื่องตื่นเต้นผสมกับความกังวลใจอยู่ไม่น้อย เพราะคุณแม่อาจเผชิญการเปลี่ยนแปลงมากกว่าการตั้งครรภ์เดี่ยว แล้วเรื่องใดบ้างที่คุณพ่อคุณแม่ควรเรียนรู้เกี่ยวกับการตั้งครรภ์แฝดสาม เพื่อดูแลสุขภาพครรภ์ให้สมบูรณ์และให้สมาชิกตัวน้อย ๆ ทั้ง 3 คนได้มีสุขภาพดีจนครบกำหนดคลอด ศึกษาได้จากบทความต่อไปนี้

1534 แฝดสาม Resized

การตั้งครรภ์แฝดสามเกิดขึ้นได้อย่างไร ?

ตามธรรมชาติคนเราจะตั้งครรภ์และมีลูกในท้องทีละ 1 คน แต่แฝดสามเป็นการตั้งครรภ์ทารก 3 คนพร้อมกันในครั้งเดียว โดยการตั้งครรภ์แฝดสามเกิดขึ้นได้ใน 2 ลักษณะ ได้แก่

  • แฝดแท้ เกิดจากไข่ 1 ใบ ผสมกับอสุจิ 1 ตัว แต่ไข่ที่รับการผสมได้แบ่งออกเป็น 3 ใบก่อนฝังตัวลงในมดลูก ทำให้ทารกในครรภ์มีลักษณะทางพันธุกรรมและกายภาพเหมือนกัน เช่น เพศ กรุ๊ปเลือด สีผม ดวงตา สีผิว เป็นต้น แต่ยกเว้นลายนิ้วมือ
  • แฝดเทียม ผู้หญิงบางคนมีไข่ตกมากกว่า 1 ใบต่อรอบ ทำให้ไข่แต่ละใบมีโอกาสผสมกับอสุจิหลายตัวจนเกิดเป็นแฝดเทียม ทารกในครรภ์ส่วนใหญ่จึงมีลักษณะทางพันธุกรรมต่างกัน เช่น คนละเพศ คนละกรุ๊ปเลือด ยีนส์ต่างกัน หน้าตาอาจดูไม่เหมือนกัน เป็นต้น แต่บางกรณีเด็กแฝดสามก็อาจมีความคล้ายคลึงกันได้

ปัจจุบันจำนวนการตั้งครรภ์แฝดสามเพิ่มสูงมากกว่าเดิม เพราะเทคโนโลยีด้านการแพทย์ที่นำมาแก้ไขปัญหาภาวะมีบุตรยาก เช่น เด็กหลอดแก้ว ทำกิฟท์ (Gamete Intra Fallopian Transfer: GIFT) และซิฟท์ (Zygote Intra Fallopian Transfer: ZIFT) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การตั้งครรภ์แฝดสามก็สามารถเกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติ โดยมีบางปัจจัยที่ทำให้คุณแม่มีแนวโน้มตั้งครรภ์แฝดสามมากขึ้น เช่น ตั้งครรภ์ขณะอายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไป มีประวัติครอบครัวฝั่งมารดาเคยตั้งครรภ์ลูกแฝด ตนเองเคยมีลูกแฝดมาก่อน เพิ่งหยุดใช้ยาคุมกำเนิด ใช้ยาบางชนิด เป็นต้น

การตั้งครรภ์แฝดสามทำให้คุณแม่มีอาการต่างจากตั้งครรภ์ปกติหรือไม่ ?

โดยทั่วไป คุณแม่ที่ตั้งครรภ์แฝดสามอาจมีอาการแตกต่างจากการตั้งครรภ์ปกติบ้าง โดยบางรายอาจมีอาการแพ้ท้องหรืออาการคนท้องอื่น ๆ ที่รุนแรงมากกว่าการตั้งครรภ์ลูกคนเดียว เช่น รู้สึกเจ็บหรือคัดเต้านมอย่างมาก น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ มดลูกขยายตัวเร็วกว่าปกติ คลื่นไส้และอาเจียนหนักมาก หรือระดับฮอร์โมน hCG ในระหว่างตั้งครรภ์เพิ่มสูงขึ้น เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม อาการดังกล่าวเป็นเพียงสัญญาณบ่งบอกของแฝดสามเท่านั้น แต่คุณแม่ต้องเข้ารับการตรวจอัลตราซาวด์เช่นเดียวกับการตรวจครรภ์ปกติเพื่อยืนยันผลการตั้งครรภ์ที่แน่นอน บางกรณีแพทย์อาจใช้เครื่องฟังเสียงหัวใจทารกในครรภ์ด้วย เพื่อช่วยตรวจในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ แต่วิธีการนี้ก็ยังไม่แน่นอนเมื่อเทียบกับการตรวจอัลตราซาวด์ เพราะเสียงหัวใจทารกอาจฟังได้จากหลายตำแหน่งของครรภ์ อีกทั้งยังต้องอาศัยแพทย์ที่ชำนาญและมีประสบการณ์เป็นผู้ตรวจ

ความเสี่ยงของการตั้งครรภ์แฝดสาม

แม้การตั้งครรภ์แฝดสามมักเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนได้สูงกว่าการตั้งครรภ์เดี่ยวหรือตั้งครรภ์แฝด แต่คุณแม่ก็ไม่ควรวิตกกังวลมากเกินไป เพราะควรเตรียมความพร้อมและเข้าใจสถานการณ์ในเบื้องต้น เพื่อการดูแลสุขภาพของตนเองได้อย่างถูกต้อง

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้กับการตั้งครรภ์แฝดสาม เช่น

  • แท้งบุตร คุณแม่อาจเสี่ยงต่อการแท้งบุตรคนใดคนหนึ่งหรือหลายคน
  • ครรภ์เป็นพิษ เป็นภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้เป็น 2 เท่าของการตั้งครรภ์ปกติและอาการมักรุนแรงกว่าปกติ โดยคุณแม่มักมีภาวะความดันโลหิตสูงและอาการอื่น ๆ ตามมา
  • เบาหวานขณะตั้งครรภ์ การตั้งครรภ์ปกติอาจทำให้คุณแม่เสี่ยงต่อโรคเบาหวานอยู่แล้ว เนื่องจากรกสร้างฮอร์โมนเพิ่มขึ้นระหว่างที่ตั้งครรภ์ ซึ่งการตั้งครรภ์แฝดสามจะมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นด้วย
  • ทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้า ทารกอาจเจริญเติบโตอย่างไม่เหมาะสมเมื่อเทียบกับอายุครรภ์ ทำให้เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดหรือมีน้ำหนักตัวน้อยว่าเกณฑ์ โดยพบได้เกือบครึ่งหนึ่งของการตั้งครรภ์แฝด
  • ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด ตามปกติแล้วรกควรจะลอกตัวออกจากโพรงมดลูกหลังจากทารกคลอด แต่อาจเกิดภาวะบางอย่างทำให้รกลอกตัวออกมาก่อนคลอด ซึ่งมีโอกาสเกิดได้สูงขึ้นเมื่อตั้งครรภ์เด็กมากกว่า 1 คน
  • คลอดก่อนกำหนด คุณแม่แฝดสามมีโอกาสคลอดก่อนกำหนดมากกว่าการตั้งครรภ์ลูกคนเดียว โดยมักเกิดขึ้นเมื่ออายุครรภ์น้อยกว่า 37 สัปดาห์ ซึ่งทารกอาจยังมีสุขภาพไม่แข็งแรงเต็มที่ การทำงานของปอด สมอง หรือหัวใจอาจมีปัญหา รวมทั้งอาจทำให้เด็กมีน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์ด้วย

การดูแลครรภ์แฝดสามแตกต่างกับครรภ์ปกติหรือไม่ ?

การดูแลสุขภาพในขณะตั้งครรภ์แฝดสามก็คล้ายกับการดูแลครรภ์ทั่วไป แต่ต้องเพิ่มความเอาใจใส่และเฝ้าระวังมากกว่าปกติ เนื่องจากมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้สูงกว่าการตั้งครรภ์เดี่ยว เมื่อเข้ารับการฝากครรภ์ แพทย์จะตรวจสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์มากเป็นพิเศษ โดยพิจารณาตามปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพของคุณแม่แต่ละคน เช่น อาจต้องตรวจอัลตราซาวด์ถี่ขึ้นและการตรวจแต่ละครั้งมักนานกว่าครรภ์ปกติ หรือต้องตรวจเลือดบ่อยครั้ง เพื่อตรวจหาภาวะโลหิตจางและความผิดปกติทางพันธุกรรมอื่น ๆ เป็นต้น

ส่วนการดูแลสุขภาพคุณแม่และทารกในครรภ์ แพทย์จะแนะนำให้รับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ เลี่ยงการสูบบุหรี่ และไปพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นหัวใจสำคัญในการดูแลครรภ์ให้มีสุขภาพดีสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ทุกราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการตั้งครรภ์แฝดสามที่ต้องใส่ใจมากเป็นพิเศษ

นอกจากนี้ ยังมีข้อควรระวังอื่น ๆ เพื่อดูแลเด็กแฝดสามในครรภ์ให้แข็งแรงสมบูรณ์ ดังนี้

  • คุณแม่ควรเลือกฝากครรภ์กับแพทย์ที่มีประสบการณ์ เพราะจะช่วยให้คุณแม่และลูกน้อยได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม ในช่วงแรกแพทย์อาจนัดตรวจถี่กว่าปกติ อาจนัดทุก 2 สัปดาห์จนกระทั่งอายุครรภ์ครบ 24 สัปดาห์ และปรับเป็นสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าทุกอย่างจะเรียบร้อยจนกระทั่งคลอด
  • คุณแม่ควรรับประทานอาหารให้ได้พลังงาน น้ำ โปรตีน แคลเซียม หรือสารอาหารจำเป็นอื่น ๆ อย่างเพียงพอต่อทั้งตัวคุณแม่และทารกแฝดสามในครรภ์ เพื่อสุขภาพของคุณแม่และการเจริญเติบโตของทารกด้วย โดยทั่วไปคุณแม่ควรได้รับพลังงานประมาณ 2,700 กิโลแคลอรี่ต่อวัน เพราะจำนวนทารกในครรภ์มากกว่าการตั้งครรภ์เดี่ยว ซึ่งคุณแม่สามารถปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลเกี่ยวกับปริมาณพลังงานที่เหมาะสมตามสถานการณ์ของคุณแม่แต่ละราย
  • คุณแม่ที่ตั้งครรภ์แฝดสามสามารถออกกำลังกายได้ตามปกติ และควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แต่ควรปรึกษาแพทย์ถึงวิธีที่เหมาะสมก่อนทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยทั้งตัวคุณแม่และทารกในครรภ์
  • หากคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ต้องการเดินทางด้วยเครื่องบิน ควรตรวจสอบเงื่อนไขของแต่ละสายการบินให้ดีก่อนเดินทาง เพราะสายการบินแต่ละแห่งมีข้อห้ามแตกต่างกัน ส่วนใหญ่คุณแม่ตั้งครรภ์แฝดสามที่มีอายุครรภ์ไม่เกิน 32 สัปดาห์และไม่มีภาวะแทรกซ้อนสามารถเดินทางด้วยเครื่องบินได้ แต่ต้องมีใบรับรองแพทย์ที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางได้ แต่หากอายุครรภ์มากกว่านั้นมักไม่สามารถเดินทางได้ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับคุณแม่และทารก ส่วนการตั้งครรภ์เดี่ยวที่มีอายุครรภ์มากกว่าสัปดาห์ที่ 36 ขึ้นไป แม้ไม่มีภาวะแทรกซ้อนก็มักถูกห้ามเดินทางด้วยเครื่องบินเช่นกัน
  • ในส่วนของวิธีคลอด แพทย์มักแนะนำให้คุณแม่ครรภ์แฝดสามคลอดด้วยการผ่าคลอด เพื่อลดความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ