แบบไหนใช่อาการกรดไหลย้อน เป็นแล้วรับมืออย่างไร

อาการกรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease: GERD) อาจสร้างความรำคาญใจและเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตของแต่ละคนอยู่ไม่น้อย หากใครกำลังเผชิญกับภาวะนี้อยู่ มาเรียนรู้วิธีการดูแลตัวเองก่อนที่ภาวะนี้จะกลายเป็นโรคเรื้อรังกันดีกว่า

กรดไหลย้อนมีสาเหตุมาจากการที่หูรูดบริเวณส่วนปลายของหลอดอาหารทำงานได้ไม่ดี ทำให้กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นมายังบริเวณหลอดอาหารจนอาจส่งผลให้หลอดอาหารเกิดการอักเสบ การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตและใช้ยาบางชนิดร่วมด้วยสามารถช่วยบรรเทาอาการกรดไหลย้อนได้

แบบไหนใช่อาการกรดไหลย้อน เป็นแล้วรับมืออย่างไร

อาการกรดไหลย้อนสังเกตได้จากอะไร

แต่ละคนอาจมีอาการกรดไหลย้อนแตกต่างกันไป แต่อาการสำคัญของกรดไหลย้อนที่พบได้ เช่น

  • แสบร้อนกลางอก โดยเฉพาะหลังรับประทานอาหาร และอาการมักจะยิ่งแย่ลงในช่วงกลางคืน หรือขณะเอนตัวนอน
  • รู้สึกขมหรือเปรี้ยวภายในช่องปากหรือลำคอ
  • อาหารบางส่วนไหลย้อนกลับขึ้นมาทางหลอดอาหาร
  • รู้สึกเหมือนมีอะไรติดอยู่ในลำคอ
  • ไอเรื้อรัง 
  • รู้สึกคลื่นไส้หลังรับประทานอาหาร
  • อาเจียน
  • เจ็บคอ มีเสียงแหบ 
  • มีกลิ่นปาก
  • เจ็บหน้าอก

อาการในข้างต้นมักมีความรุนแรงขึ้นหากมีปัจจัยกระตุ้นบางอย่าง ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละคน เช่น หลังจากตั้งครรภ์ ความวิตกกังวล ป่วยเป็นโรคหืด หรือป่วยเป็นโรคลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome) 

นอกจากนี้ อาการกรดไหลย้อนอาจถูกกระตุ้นจากการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มบางชนิด เช่น น้ำอัดลม กาแฟ อาหารที่มีไขมันสูง หัวหอม อาหารที่มีส่วนผสมของมินท์ หรือผักผลไม้ที่มีความเป็นกรดสูง อย่างพืชตระกูลส้ม มะเขือเทศ หรือสับปะรด 

วิธีรับมือกับอาการกรดไหลย้อน

การรับมือกับอาการกรดไหลย้อนด้วยตัวเองทำได้โดย

  • หลีกเลี่ยงอาหารหรือเครื่องดื่มที่กระตุ้นให้เกิดกรดไหลย้อน โดยให้ลองจดบันทึกดูว่าอาการกรดไหลย้อนมักเกิดขึ้นหลังจากรับประทานหรือเครื่องดื่มประเภทไหน เนื่องจากแต่ละคนอาจมีอาหารหรือเครื่องดื่มที่กระตุ้นให้เกิดอาการต่างกัน
  • แต่ละมื้อให้กินอาหารปริมาณน้อยลง แต่กินให้บ่อยขึ้น และควรเคี้ยวอาหารให้ละเอียดก่อนกลืน
  • หลีกเลี่ยงการเอนตัวนอนหลังจากรับประทานอาหารทันที หากจะนอนควรเว้นช่วงเวลาให้ห่างหลังรับประทานอาหารอย่างน้อย 3 ชั่วโมง
  • เวลานอนไม่ควรใช้หมอนหนุนศีรษะให้สูงขึ้น เพราะการใช้หมอนหนุนจะยกเฉพาะส่วนศีรษะขึ้นเท่านั้น และลำตัวเกิดการพับงอ ส่งผลให้ความดันในช่องท้องเพิ่มมากขึ้น แต่ให้ใช้ของแข็งอย่างอิฐหรือไม้รองหัวเตียง เพื่อยกหัวเตียงสูงขึ้นประมาณ 6–10 นิ้วจากพื้นราบหรือระดับที่รู้สึกนอนสบาย
  • คนที่มีน้ำหนักมากหรือเป็นโรคอ้วนควรควบคุมน้ำหนัก เนื่องจากภาวะน้ำหนักเกินอาจส่งผลให้บริเวณช่องท้องได้รับแรงกดมากขึ้น และอาจเพิ่มความเสี่ยงให้กรดไหลย้อนขึ้นมาได้
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เนื่องจากการสูบบุหรี่อาจส่งผลเสียต่อประสิทธิภาพการทำงานของหูรูดบริเวณส่วนปลายของหลอดอาหารได้
  • หลีกเลี่ยงการสวมใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่นจนเกินไป เพื่อลดแรงกดทับบริเวณเอวและหน้าท้อง
  • จัดการกับความเครียดอย่างเหมาะสม เพราะความเครียดเป็นอีกปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการกรดไหลย้อนได้

นอกจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้ว การรับประทานยาก็อาจช่วยให้รับมือกับอาการกรดไหลย้อนได้ดีขึ้น โดยให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอเพื่อจะได้รับประทานยาให้ถูกกับอาการ และควรดื่มน้ำตามมาก ๆ เพื่อช่วยลดอาการกรดไหลย้อน 

โดยตัวยาที่แพทย์หรือเภสัชกรอาจแนะนำให้ใช้ เช่น ยาลดกรด ที่ช่วยปรับสภาพความเป็นกรดในกระเพาะอาหาร หรือยากลุ่ม H2 Blockers ที่ช่วยลดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร รวมไปถึงยากลุ่ม Proton Pump Inhibitors (PPIs) ที่ช่วยให้กระเพาะอาหารผลิตกรดออกมาน้อยลง

อย่างไรก็ตาม คนที่มีอาการกรดไหลย้อนควรได้รับการดูแลจากแพทย์ร่วมด้วย เพราะหากเป็นกรดไหลย้อนอย่างต่อเนื่องหรือเรื้อรังอาจเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนอื่นตามมา โดยเฉพาะคนที่มีปัญหากลืนลำบาก เจ็บขณะกลืน อาเจียนบ่อย อุจจาระปนเลือด เบื่ออาหาร และน้ำหนักลดผิดปกติ