เสาวรสกับประโยชน์ด้านการแพทย์

เสาวรส เป็นพืชท้องถิ่นของทวีปอเมริกาและมีอยู่หลากหลายสายพันธุ์ ส่วนใหญ่นิยมรับประทานผลสด บางส่วนนำไปใช้ทำขนม อาหาร หรือเครื่องดื่ม นอกจากนี้ เชื่อกันว่าเสาวรสบางสายพันธุ์มีคุณสมบัติเป็นยารักษาโรคหรือภาวะต่าง ๆ เช่น โรคนอนไม่หลับ  โรคในระบบทางเดินอาหารที่เกี่ยวข้องกับความวิตกกังวลหรือความกระวนกระวายใจ และบรรเทาอาการติดสารเสพติด  

เสาวรสกับประโยชน์ด้านการแพทย์

อีกทั้งยังใช้รักษาโรคลมชัก โรคฮิสทีเรีย โรคหอบหืด โรคสมาธิสั้น อาการวัยทอง อาการทางประสาท ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคความดันโลหิตสูง อาการปวด ใช้ทาผิวหนังเพื่อรักษาโรคริดสีดวงทวาร ผิวหนังไหม้จากแสงแดด หรือบรรเทาอาการปวดบวมจากการอักเสบ

ประโยชน์ของเสาวรสที่เคยได้ยินมานั้นเชื่อถือได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งจากฐานข้อมูลที่ครอบคลุมเกี่ยวกับการแพทย์ทางธรรมชาติ (Natural Medicines Comprehensive Database) ที่มีการแบ่งระดับความน่าเชื่อถือของการใช้การรักษาทางเลือกจากธรรมชาติเป็น 7 ระดับ ได้ระบุประสิทธิภาพในการใช้เสาวรสรักษาโรคตามหลักฐานต่าง ๆ ไว้ดังต่อไปนี้

การรักษาที่อาจได้ผล

โรควิตกกังวล การศึกษาบางส่วนพบหลักฐานระบุว่าเสาวรสอาจช่วยบรรเทาโรควิตกกังวล โดยเพิ่มสารสื่อประสาทในสมองที่เรียกว่า กรดแกมมาอะมิโนบิวทีริกหรือกาบา (Gamma-Aminobutyric Acid: GABA) ซึ่งจะลดการทำงานของสมองให้น้อยลง จึงอาจช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย ระงับอาการวิตกกังวล และนอนหลับได้ดีขึ้น

จากการศึกษาประสิทธิภาพของสารสกัดจากเสาวรสเปรียบเทียบกับยาออกซาซีแพม (Ooxazepam) ซึ่งเป็นยาที่ใช้รักษาอาการวิตกกังวลและคลายเครียดในผู้ป่วยโรคกังวลทั่วไป จำนวน 36 คน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกได้รับสารสกัดจากเสาวรส 45 หยดต่อวันควบคู่กับยาหลอกชนิดเม็ด และอีกกลุ่มได้รับยาออกซาซีแพม 30 มิลลิกรัมต่อวันควบคู่กับยาหลอก 45 หยดต่อวัน ผลปรากฏว่า ทั้ง 2 กลุ่มให้ผลดีต่อการรักษาเช่นเดียวกันและไม่พบความแตกต่างระหว่างกลุ่มอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ กลุ่มที่ได้รับยาออกซาซีแพมอาจให้ผลการรักษาที่รวดเร็วกว่า แต่มักเกิดผลข้างเคียงมากตามมา การศึกษาชี้ว่าสารสกัดจากเสาวรสน่าจะมีประสิทธิภาพเช่นเดียวกับยาออกซาซีแพม และอาจเป็นประโยชน์ต่อการรักษาโรคกังวลทั่วไป แต่กลุ่มการทดลองในครั้งนี้ค่อนข้างน้อย ควรทำการศึกษาในกลุ่มการทดลองที่ใหญ่ขึ้น

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยอีกชิ้นที่ศึกษาประสิทธิภาพของสารสกัดจากเสาวรสเปรียบเทียบกับยาหลอกในผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัด 60 คน กลับให้ผลในทางตรงกันข้าม โดยให้กลุ่มแรกรับประทานสารสกัดจากเสาวรส 500 มิลลิกรัม และอีกกลุ่มรับประทานยาหลอก ซึ่งการวัดผลจะทำก่อนการทดลองและวัดอีกครั้งหลังรับประทานสารสกัดหรือยาในช่วง 10 นาที 30 นาที 60 นาที และ 90 นาทีถัดมา เพื่อดูฤทธิ์ของสารสกัดจากเสาวรสและความวิตกกังวลในผู้ป่วย ผลพบว่าทั้ง 2 กลุ่มมีผลลัพธ์ในด้านต่าง ๆ คล้ายคลึงกันก่อนเข้ารับการผ่าตัด กลุ่มที่รับประทานสารสกัดจากเสาวรสมีคะแนนด้านความกังวลต่ำกว่ากลุ่มที่รับประทานยาหลอก แต่ไม่พบความแตกต่างในด้านจิตใจอย่างมีนัยสำคัญหลังการผ่าตัด จึงอาจบอกได้ว่าสารสกัดจากเสาวรสอาจไม่ช่วยระงับความวิตกกังวลในผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดจากการศึกษาในครั้งนี้

ถอนพิษยาในกลุ่มโอปิเอต (Opiates) โดยปกติแล้วยาโคลนิดีน (Clonidine) ใช้เป็นยารักษาหลักสำหรับถอนพิษหรือบรรเทาอาการของผู้ป่วยที่เกิดจากการขาดยาในกลุ่มโอปิเอตหรือยาแก้ปวดที่นิยมใช้อย่างแพร่หลาย แต่ด้วยข้อจำกัดบางประการและขาดประสิทธิภาพในการควบคุมอาการทางจิตของยาโคลนิดีน จึงมีการค้นคว้าหาวิธีการรักษาใหม่ที่อาจเป็นประโยชน์มากกว่า ซึ่งสารสกัดจากเสาวรสเชื่อกันว่าออกฤทธิ์ต่อสมองและช่วยบรรเทาอาการวิตกกังวล จึงกลายเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับใช้บรรเทาอาการของผู้ป่วยที่มีอาการขาดยากลุ่มโอปิเอต

จากการศึกษาประสิทธิภาพของสารสกัดจากเสาวรสในการรักษาเสริมแก่ผู้ป่วยที่เสพติดยากลุ่มโอปิเอต จำนวน 65 คน เป็นระยะเวลา 14 วัน โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ได้รับยาโคลนิดีนสูงสุดไม่เกิน 0.8 มิลลิกรัม เสริมด้วยสารสกัดจากเสาวรส จำนวน 60 หยด และอีกกลุ่มได้รับยาโคลนิดีนสูงสุดไม่เกิน 0.8 มิลลิกรัมเช่นกัน เสริมด้วยยาหลอก ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มแบ่งรับประทานวันละ 3 ครั้ง จากนั้นวัดผลก่อนการได้รับยา วันที่ 1, 2, 3, 4, 7 และวันที่ 14  ผลพบว่าผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่มมีอาการแสดงออกทางร่างกายดีขึ้นเหมือนกัน แต่กลุ่มที่ได้รับยาโคลนิดีนควบคู่กับสารสกัดจากเสาวรสมีประสิทธิภาพในบรรเทาอาการทางจิตได้ดีกว่ากลุ่มที่ได้รับยาโคลนิดีนควบคู่กับยาหลอก จึงคาดว่าสารสกัดจากเสาวรสอาจนำมาใช้เป็นการรักษาเสริมในผู้ป่วยที่มีขาดยากลุ่มโอปิเอต ทั้งนี้ กลุ่มผู้ป่วยมีจำนวนน้อยและควรศึกษาเพิ่มเติมในกลุ่มผู้ป่วยที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อช่วยยืนยันผลการรักษาให้แน่ชัด

บรรเทาอาการของโรคทางจิตเวช จัดเป็นกลุ่มโรคใหญ่ที่ประกอบไปด้วยหลายโรค ส่วนใหญ่มักจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีปัญหาในการควบคุมอารมณ์และการกระทำ ซึ่งต้องรักษาด้วยการใช้ยาและการบำบัดไปพร้อมกัน แต่การรักษาแผนปัจจุบันยังเป็นที่ถกเถียงถึงประสิทธิภาพในการรักษาและความปลอดภัย ทำให้เกิดการแพทย์แผนทางเลือกอื่น ๆ ขึ้นมา รวมถึงการใช้สารสกัดจากเสาวรส

จากการศึกษาเกี่ยวกับความปลอดภัยและประสิทธิภาพของสารสกัดจากเสาวรสร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นในเด็กอายุ 6-12 ปี จำนวน 115 ที่มีอาการทางจิตเวช เช่น สับสน กระสับกระส่าย วิตกกังวล ซึมเศร้า ขาดสมาธิ และถูกกระตุ้นได้ง่าย โดยใช้วิธีสังเกตอาการเป็นระยะเวลา 2 ปี ผลพบว่า จากการประเมินของผู้ปกครองระบุว่าเด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสนใจ การเข้าสังคม ภาวะกังวลหรือซึมเศร้า เป็นต้น สำหรับการประเมินโดยแพทย์ลงความเห็นว่าเด็กประมาณ 81.6-93.9% ไม่มีอาการของโรคหรือมีอาการเล็กน้อย จึงคาดว่าสารสกัดจากเสาวรสก็อาจเป็นประโยชน์ในการใช้เป็นการรักษาเสริมในผู้ป่วยที่มีอาการของโรคทางจิตเวช

การศึกษาที่ยังมีหลักฐานไม่เพียงพอต่อการบ่งบอกประสิทธิภาพ

โรคนอนไม่หลับ ด้วยคุณสมบัติทางยาของเสาวรสที่เชื่อว่าช่วยให้รู้สึกสงบ ลดความวิตกกังวล นอนหลับได้ง่ายขึ้น และยังมีผลการทดลองในสัตว์อีกหลายชิ้นที่ระบุว่าอาจมีส่วนช่วยบรรเทาความผิดปกติด้านการนอน ซึ่งจากการศึกษาประสิทธิภาพของชาเสาวรสต่อการนอนในอาสาสมัคร อายุ 18-35 ปี จำนวน 41 คนเป็นระยะเวลา 7 วัน โดยให้ดื่มชาเสาวรสวันละ 1 แก้ว เปรียบเทียบกับยาหลอกในรูปแบบชา จากนั้นมีการตรวจสุขภาพการนอนหลับ ผลพบว่า อาสาสมัครจำนวน 10 คน นอนหลับดีขึ้นและมีคะแนนในการประเมินด้านต่าง ๆ สูงกว่ายาหลอกอย่างมีนัยสำคัญ การศึกษานี้แนะนำว่า การดื่มชาเสาวรสที่มีความเข้มข้นไม่มากในระยะเวลาสั้น ๆ อาจช่วยให้ผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพแข็งแรงนอนหลับได้ง่ายขึ้นและมีคุณภาพในการนอนดีขึ้น แต่ควรมีการศึกษาหรือค้นคว้าเพิ่มเติม เนื่องจากกลุ่มการทดลองในการศึกษาครั้งนี้มีขนาดเล็ก

โรคหอบหืด เสาวรสเป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยสารไบโอฟลาโวนอยด์ (Bioflavonoid) ซึ่งเป็นสารอนุมูลอิสระชนิดหนึ่งที่ช่วยเสริมสร้างให้ร่างกายแข็งแรง จึงอาจเป็นผลดีต่อการรักษาและบรรเทาอาการโรคหอบหืด

จากการศึกษาประสิทธิภาพของสารสกัดจากเปลือกของผลเสาวรสพันธุ์สีม่วงในผู้ป่วยโรคหอบหืด โดยให้รับประทานสารสกัดวันละ 150 มิลลิกรัมต่อวัน เปรียบเทียบกับยาหลอก เป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ จากนั้นจึงวัดผลโดยดูจากอาการของผู้ป่วยและการตรวจสมรรถภาพปอด ผลพบว่า ผู้ป่วยในกลุ่มที่ได้รับสารสกัดจากเปลือกของผลเสาวรสมีอาการส่วนใหญ่ของโรคลดลงในระดับปานกลางเมื่อเทียบกับก่อนการทดลอง โดยความถี่ของอาการไอและหายใจหอบลดลงอย่างมีนัยสำคัญ สำหรับผู้ป่วยกลุ่มที่รับประทานยาหลอกไม่มีอาการดีขึ้นแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ผลการตรวจสมรรถภาพปอดที่เป็นตัวบ่งบอกความรุนแรงของโรคกลับไม่พบการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มที่ได้รับสารสกัดจากเปลือกของผลเสาวรส นอกจากนี้ ยังไม่มีรายงานผลข้างเคียงจากการศึกษา จึงพอจะคาดเดาได้ว่าสารสกัดจากเสาวรสค่อนข้างปลอดภัยและช่วยบรรเทาอาการจากโรค ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคหอบหืดที่ต้องการรับประทานสารสกัดจากเปลือกของผลเสาวรสควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง และไม่ควรหยุดรับประทานยาที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เพราะยังเป็นเพียงเป็นทางเลือกในการรักษาที่ยังไม่สามารถสรุปผลได้อย่างชัดเจน

ความปลอดภัยในการรับประทานเสาวรส

การรับประทานเสาวรสในปริมาณปกติที่พบจากในอาหารค่อนข้างมีความปลอดภัย สำหรับการรับประทานในรูปแบบอื่นอย่างชาหรือมีวัตถุประสงค์เพื่อการรักษาโรคควรใช้ติดต่อกันน้อยกว่า 2 เดือน ทั้งนี้ ยังมีข้อควรระวังบางประการ ดังนี้

  • การรับประทานเสาวรสอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น วิงเวียนศีรษะ รู้สึกสับสน กล้ามเนื้อทำงานผิดปกติ ระดับความรู้สึกตัวเปลี่ยนแปลงไป หลอดเลือดอักเสบ บางรายพบรายงานว่ามีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ง่วงซึม หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดปกติ
  • การใช้เสาวรสกับผิวหนังยังไม่มีข้อมูลยืนยันความปลอดภัย ก่อนการใช้จึงควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ
  • หญิงตั้งครรภ์ไม่ควรรับประทานเสาวรส เนื่องจากสารเคมีบางตัวในเสาวรสอาจทำให้มดลูกหดตัว
  • ผู้หญิงที่อยู่ในช่วงให้นมบุตรควรหลีกเลี่ยงในการรับประทานเสาวรส เพราะยังไม่มีข้อมูลยืนยันความปลอดภัยเพียงพอหรือหากต้องการรับประทานควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง
  • ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดควรหยุดรับประทานเสาวรสอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เนื่องจากเสาวรสอาจมีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งอาจไประงับฤทธิ์ยาสลบหรือยาตัวอื่นต่อสมองในช่วงผ่าตัดและหลังจากผ่าตัด