เรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับการร้องไห้ที่คุณอาจไม่เคยรู้

การร้องไห้เป็นพฤติกรรมปกติที่เกิดขึ้นได้ตลอดชีวิตของเรา เกิดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่เรายังเป็นทารก เพราะเป็นวัยที่ยังไม่สามารถบอกความต้องการโดยใช้คำพูดได้ การร้องไห้จึงเป็นการส่งสัญญาณให้พ่อแม่ได้รับรู้ อย่างไรก็ตาม เมื่อหลายคนเติบโตเป็นผู้ใหญ่กลับพยายามหลีกเลี่ยงการร้องไห้ เพราะเข้าใจว่าการร้องไห้เป็นเรื่องน่าอายและบ่งบอกถึงความอ่อนแอ 

การร้องไห้สามารถเกิดขึ้นได้กับหลายสถานการณ์ในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นตอนที่เรารู้สึกยินดี เช่น เมื่อให้กำเนิดลูกน้อย หรือตอนที่เรารู้สึกเศร้าสะเทือนใจ เช่น เมื่อสูญเสียสิ่งที่รัก การร้องไห้จึงเป็นสิ่งที่เราคุ้นเคย แต่ก็อาจยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับการร้องไห้อีกมากมายที่คุณไม่เคยรู้ เช่น น้ำตาของเรานั้นมีประโยชน์หลายด้าน จึงได้มีการรวบรวมข้อมูลน่ารู้ และการตอบคำถามยอดฮิตเกี่ยวกับการร้องไห้และน้ำตาเอาไว้ในบทความนี้

เรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับการร้องไห้ที่คุณอาจไม่เคยรู้

ที่มาของน้ำตาและการร้องไห้

น้ำตาผลิตจากต่อมน้ำตา (Lacrimal Glands) ซึ่งอยู่ด้านในเปลือกตาบนและล่างของดวงตาทั้งสองข้าง น้ำตาไม่ได้ผลิตออกมาเมื่อเราร้องไห้จากการเจอเรื่องที่กระทบต่ออารมณ์และความรู้สึกเท่านั้น ในภาวะปกติ ร่างกายจะผลิตน้ำตาเพื่อรักษาความชุ่มชื้นให้ดวงตา เมื่อเรากะพริบตา น้ำตาจะกระจายตัวและหล่อเลี้ยงดวงตาของเรา จากนั้นจะไหลกลับสู่รูเปิดบริเวณหัวตาบนและล่าง แล้วไหลรวมกันไปยังท่อระบายน้ำตาซึ่งเชื่อมต่อไปยังบริเวณจมูก

น้ำตามีองค์ประกอบ 3 ชั้น ได้แก่ ชั้นเมือกซึ่งเป็นชั้นในสุด ช่วยให้น้ำตายึดติดกับดวงตา ชั้นน้ำที่อยู่ตรงกลาง ช่วยให้ความชุ่มชื้นและกำจัดเชื้อแบคทีเรียในดวงตา และชั้นไขมันซึ่งอยู่ด้านนอกสุด ทำหน้าที่เคลือบป้องกันไม่ให้ชั้นอื่นระเหยและช่วยให้มองเห็นสิ่งต่าง ๆ ผ่านน้ำตาได้

หลายคนเข้าใจว่าการร้องไห้เป็นการหลั่งน้ำตารูปแบบเดียวที่ร่างกายผลิตน้ำตาออกมา แต่ความจริงแล้วร่างกายผลิตน้ำตาออกมา 3 ชนิด ซึ่งแต่ละชนิดมีประโยชน์แตกต่างกัน ได้แก่

  • น้ำตาที่ให้ความชุ่มชื้น (Basal Tears) เป็นน้ำตาที่หล่อเลี้ยงดวงตาให้ชุ่มชื้นอยู่ตลอดเวลา และปกป้องดวงตาจากฝุ่นละอองหรือสิ่งสกปรกจากภายนอก
  • น้ำตาที่เกิดจากการตอบสนองของร่างกาย (Reflex Tears) เมื่อสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองเข้าสู่ดวงตาหรือร่างกายได้รับการกระตุ้นจากปัจจัยอื่น เช่น ฝุ่นควันเข้าตา การหั่นหัวหอม และการอาเจียน ซึ่งทำให้เราร้องไห้ออกมา
  • น้ำตาที่เกิดจากสภาวะอารมณ์ (Emotional Tears) เป็นน้ำตาที่เราคุ้นเคยมากที่สุด เกิดขึ้นเมื่อเรารู้สึกดีใจ เสียใจ โกรธ หรือกลัวจนร้องไห้ออกมา เชื่อกันว่าประกอบด้วยฮอร์โมนที่แตกต่างจากน้ำตาชนิดอื่น และเป็นสิ่งที่คนและสัตว์ใช้สื่อความรู้สึกไปยังกลุ่มของตัวเองอีกด้วย

คำถามยอดฮิตเกี่ยวกับการร้องไห้และน้ำตา

หลายคนอาจมีข้อสงสัยเกี่ยวกับน้ำตาและการร้องไห้ ซึ่งคำถามเหล่านี้มีคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจ ดังนี้

1. ทำไมน้ำตามีรสเค็ม

น้ำตาผลิตจากน้ำจากในร่างกาย ซึ่งประกอบด้วยแร่ธาตุต่าง ๆ เช่น โซเดียม (Sodium) หรือเกลือ โพแทสเซียม (Potassium) และคลอไรด์ (Chloride) จึงทำให้น้ำตาที่ไหลออกมามีรสเค็ม

2. ทำไมเราจึงร้องไห้เมื่อหั่นหัวหอม

หลายคนคงมีประสบการณ์แสบตาและน้ำตาไหลโดยไม่มีสาเหตุเมื่อหั่นหัวหอม ซึ่งความจริงแล้วหัวหอมจะดูดซึมธาตุซัลเฟอร์ (Sulfur) จากดิน เกิดเป็นสารอะมิโนซัลไฟด์ (Amino Sulfides) เพื่อสร้างแก๊สป้องกันศัตรูพืชต่าง ๆ เมื่อแก๊สดังกล่าวผสมกับเอนไซม์ที่เกิดจากการหั่นหัวหอม จะเกิดเป็นกรดซัลฟินิค (Sulfenic Acids) และทำปฏิกิริยากับเอนไซม์จากหัวหอม จึงเกิดเป็นแก๊สที่มีชื่อว่า Syn-Propanethial-S-oxide ซึ่งก่อให้เกิดอาการระคายเคืองต่อดวงตา จึงทำให้เราน้ำตาไหลได้นั่นเอง

3. ผู้หญิงร้องไห้บ่อยกว่าผู้ชายจริงหรือ

นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่าฮอร์โมนโพรแลคติน (Prolactin) ที่ทำหน้าที่กระตุ้นการสร้างและหลั่งน้ำนมในผู้หญิงอาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการผลิตน้ำตาในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน ซึ่งเป็นฮอร์โมนหลักในกลุ่มฮอร์โมนเพศชายอาจยับยั้งการหลั่งน้ำตาได้ 

นอกจากนี้ ผู้ชายอาจมีท่อน้ำตาที่เล็กกว่าผู้หญิง จึงทำให้ผู้ชายร้องไห้น้อยกว่าผู้หญิง อย่างไรก็ตาม สาเหตุของการร้องไห้เกิดจากปัจจัยที่แตกต่างกัน จึงไม่อาจสรุปได้อย่างชัดเจนว่าผู้หญิงร้องไห้บ่อยกว่าผู้ชาย

4. การร้องไห้มีประโยชน์ต่อสภาวะจิตใจหรือไม่

การร้องไห้เป็นวิธีระบายความเศร้าเสียใจอย่างหนึ่ง ซึ่งอาจช่วยให้ยอมรับเหตุการณ์ร้ายที่เกิดขึ้นได้ และอาจช่วยเพิ่มความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ ความใกล้ชิด และความผูกพันกับคนรอบข้างอีกด้วย เมื่อเราร้องไห้เป็นระยะเวลาหนึ่ง ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนออกซิโทซิน (Oxytocin) ที่เกี่ยวข้องกับความผ่อนคลายและทำให้อารมณ์สงบนิ่ง และฮอร์โมนเอนดอร์ฟิน (Endorphin) ที่หลั่งออกมาเมื่อเรามีความสุข จึงอาจช่วยบรรเทาความเจ็บปวดและความเหนื่อยล้าทั้งร่างกายและจิตใจ 

นอกจากนี้ การสะอื้นขณะร้องไห้ทำให้เราสูดลมหายใจเข้าไปในปริมาณมาก จึงอาจช่วยปรับอุณหภูมิของสมองและร่างกาย และอาจช่วยให้สภาวะจิตใจดีขึ้นได้

5. มีน้ำตาน้อยเกินไปอาจบ่งบอกโรคอะไรบ้าง

ภาวะน้ำตาน้อยกว่าปกติอาจเกิดขึ้นได้จากโรคตาแห้ง ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น

  • สภาพแวดล้อมที่มีลมแรงและอากาศแห้ง 
  • การใช้สายตาต่อเนื่องเป็นเวลานาน 
  • โรคและภาวะที่เกี่ยวกับดวงตา เช่น กระจกตาถลอก (Corneal Abrasion) แผลที่กระจกตา (Corneal Ulcer) การติดเชื้อในดวงตา และความผิดปกติด้านการมองเห็น (Vision Disturbances) 
  • โรคที่อาจเกี่ยวข้องกับการผลิตน้ำตาได้น้อยกว่าปกติ เช่น กลุ่มอาการโจเกรน (Sjogren's Syndrome) และรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis) 
  • รับประทานยาบางชนิด เช่น ยาต้านฮีสตามีน (Antihistamines) และผู้ที่รับการรักษาโรคมะเร็ง
  • อายุที่มากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือน

หากมีอาการตาแห้งเป็นเวลานานหรือเป็นบ่อยโดยไม่ทราบสาเหตุ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจและรับการรักษาอย่างเหมาะสม

6. ร้องไห้บ่อยเกินไปเป็นเรื่องผิดปกติหรือไม่

ในปัจจุบันไม่มีนิยามหรือตัวชี้วัดที่แน่ชัดว่า การร้องไห้อย่างไรจึงเรียกว่าร้องไห้บ่อย แต่ในกรณีที่ร้องไห้บ่อยโดยไม่ทราบสาเหตุ ร้องไห้บ่อยกว่าปกติ และไม่สามารถควบคุมตัวเองให้หยุดร้องไห้ได้ ควรปรึกษาแพทย์เพราะอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกความผิดปกติของสุขภาพจิต เช่น โรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวล

นอกจากนี้ การร้องไห้บ่อยอาจเกิดจากภาวะควบคุมการหัวเราะไม่ได้ (Pseudobulbar Affect: PBA) ซึ่งทำให้ผู้ป่วยร้องไห้ หัวเราะ และโมโหอย่างควบคุมไม่ได้ ผู้ป่วยไม่สามารถแสดงสีหน้าให้ตรงกับอารมณ์ และการแสดงอารมณ์ต่าง ๆ อาจไม่ตรงกับสถานการณ์ในขณะนั้น

ทั้งนี้ เชื่อกันว่าภาวะนี้เกิดจากการได้รับการกระทบกระเทือนต่อสมองส่วนที่ควบคุมการแสดงอารมณ์ และอาจพบในผู้ที่มีโรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน และโรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษา

น้ำตาและการร้องไห้ไม่ได้เป็นเพียงเครื่องหมายของความอ่อนแออย่างที่เราเข้าใจ แต่น้ำตาที่ร่างกายผลิตออกมามีประโยชน์ในการปกป้องดวงตาจากสิ่งสกปรก คงความชุ่มชื้นให้ดวงตา และช่วยให้เราได้ระบายความรู้สึกเศร้าเสียใจได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม หากสังเกตว่าตัวเองและคนรอบข้างมีความผิดปกติเกี่ยวกับดวงตา หรือสงสัยว่าการร้องไห้อาจเกี่ยวข้องกับโรคต่าง ๆ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำและรักษาต่อไป