หัวหอม วัตถุดิบคู่ครัว คู่สุขภาพ

หัวหอม พืชในตระกูลเดียวกับกระเทียมซึ่งได้รับความนิยมไม่น้อยไปกว่ากัน โดยทั้งหอมแดงหรือหอมใหญ่ต่างก็เป็นวัตถุดิบสำคัญในการเพิ่มรสชาติและกลิ่นหอมของอาหารที่ต้องมีคู่ครัวเสมอ และนอกจากประโยชน์ในการนำมาทำอาหารแล้ว หัวหอมยังอาจดีต่อสุขภาพ เพราะประกอบด้วยสารอาหารครบถ้วน มีแคลอรี่ต่ำ วิตามินซีสูง รวมถึงอุดมด้วยสารที่มีคุณสมบัติต้านการอักเสบและต้านอนุมูลอิสระ

หัวหอม

คุณค่าทางโภชนาการของหัวหอมชนิดต่าง ๆ นั้นใช่ว่าจะมีเท่ากัน จากการวิจัยหนึ่งที่เปรียบเทียบสารอาหารที่พบในหัวหอมกว่า 10 ชนิด ปรากฏว่าหอมแดงมีสารประกอบฟีนอลิก (Phenolic) และมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระสูงสุด สารที่จะชะลอการเกิดความเสียหายภายในร่างกาย ส่วนสารต้านอนุมูลอิสระในกลุ่มฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) นั้นพบมากสุดในหัวหอมใหญ่ โดยเป็นสารที่คาดว่าอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด และต้านการอักเสบได้ ซึ่งที่บริเวณเปลือกรอบนอกของหัวหอมจะมีสารนี้เข้มข้นที่สุด เพื่อให้ได้สารอาหารที่มีคุณค่าจึงไม่ควรปลอกเปลือกหัวหอมออกมากเกินไป

สารอาหารมากคุณประโยชน์ที่มีในหัวหอม ทำให้มีการนำมาใช้โดยหวังคุณประโยชน์อื่น ๆ นอกเหนือจากการรับประทานเป็นอาหาร เช่น ช่วยแก้หวัด คัดจมูก รักษาโรคหืด เบาหวาน หัวใจ มะเร็ง ลดการขาดร่วงของผม รวมถึงประโยชน์ด้านสุขภาพผิวในการรักษาและป้องกันการเกิดแผลเป็น ทว่ามีหลักฐานหรือข้อพิสูจน์ใดที่กล่าวสนับสนุนประสิทธิภาพเหล่านี้ของหัวหอมบ้าง

ป้องกันและลดรอยแผลเป็น เป็นสรรพคุณเดียวของหัวหอมที่นับว่าในปัจจุบันมีหลักฐานการวิจัยสนับสนุนอย่างค่อนข้างน่าเชื่อถือ เนื่องจากการศึกษาส่วนใหญ่พบว่าการใช้สารสกัดจากหัวหอมอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการรักษาแผลเป็น โดยคาดว่าเป็นเพราะคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบ ซึ่งมีกลไกช่วยลดกระบวนการสร้างเนื้อเยื่อที่จะทำให้มีแผลเป็นตามมาได้

การศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการลดรอยแผลเป็นชนิดคีลอยด์และรอยแผลเป็นนูนระหว่างสารสกัดจากหัวหอม แผ่นเจลซิลิโคน หรือการใช้การรักษาทั้ง 2 ชนิดร่วมกัน เป็นเวลา 6 เดือน พบว่าการใช้สารสกัดหัวหอมช่วยลดสีของรอยแผลเป็นได้ดีกว่า แต่ไม่ได้ลดอาการคันหรือทำให้แผลเป็นยุบลงนัก ในขณะที่แผ่นเจลซิลิโคนมีประสิทธิภาพมากกว่าในการช่วยให้แผลเป็นยุบตัวลง ส่วนการรักษาที่ให้ผลดีที่สุดก็คือการใช้ทั้งสารสกัดหัวหอมทาและแปะด้วยแผ่นเจลซิลิโคนนั่นเอง

ส่วนด้านการรักษาแผลเป็นจากแผลผ่าตัดต่าง ๆ นั้น การวิจัยหนึ่งทดลองกับแม่ชาวเอเชียจำนวน 16 คนที่เพิ่งได้รับการผ่าคลอด โดยหลังจากนั้น 7 วันให้ใช้เจลที่มีสารสกัดจากหัวหอม 12% หรือยาหลอกทาแผลคนละข้างวันละ 3 ครั้ง นาน 12 สัปดาห์ ผลลัพธ์พบความแตกต่างของความหนาและอาการจากแผลเป็นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเป็นการใช้เจลสารสกัดหัวหอมที่ให้ผลการรักษาดี ทว่าไม่เห็นความแตกต่างของความแดง ความอ่อนนุ่ม และความสวยของแผลทั้ง 2 ข้างที่ใช้การรักษาต่างกันเท่าไร

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพของสารสกัดจากหัวหอมในการรักษาแผลเป็นชนิดต่าง ๆ อย่างหลากหลาย ทั้งการใช้สารสกัดหัวหอมผสมกับตัวยาอื่น ๆ หรือใช้ควบคู่กับวิธีการของแพทย์แผนปัจจุบัน แต่ก็ยังไม่มีการสรุปว่าควรใช้รูปแบบใด ควบคู่กับอะไร จึงจะให้ผลดีที่สุด ผู้ที่ต้องการทดลองสรรพคุณนี้ของหัวหอม ควรคำนึงถึงความปลอดภัยและความเหมาะสมด้วย

แก้ปัญหาผมร่วงเป็นหย่อม ๆ ปัญหาเส้นผมหลุดร่วงอันเกิดจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติที่แม้จะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว แต่ก็สร้างความไม่มั่นใจให้กับผู้ป่วย หัวหอมจะเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกสำหรับเร่งการงอกของเส้นผมที่ง่ายและได้ผลหรือไม่นั้น จากการวิจัยโดยให้ผู้ป่วย 23 คนใช้น้ำคั้นจากหัวหอมดิบทาศีรษะวันละ 2 ครั้ง ในช่วง 2 เดือน ในขณะที่ผู้ป่วยอีก 15 คน ใช้น้ำประปา พบว่าหลังจากใช้น้ำหัวหอมดิบทาหนังศีรษะนาน 4 สัปดาห์ พบผลลัพธ์การรักษาที่ดีใน 73.9% ของผู้ป่วยทั้งหมด และเพิ่มเป็น 86.9% เมื่อผ่านไป 6 เดือน และเมื่อเทียบกันระหว่างชายและหญิง น้ำจากหัวหอมให้ผลการรักษาผู้ป่วยชาย (คิดเป็น 93.7%) ดีกว่าผู้ป่วยหญิง (คิดเป็น 71.4%) อย่างมีนัยสำคัญ แต่ก็ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมที่สามารถยืนยันประสิทธิภาพและความปลอดภัยได้ชัดเจนกว่านี้ ผู้ที่ทดลองใช้กับตัวเองควรใช้อย่างเหมาะสมเท่านั้น

ป้องกันโรคหัวใจ ความเชื่อที่ว่าหัวหอมช่วยป้องกันโรคหัวใจได้นั้นอาจมีที่มาจากข้อมูลในงานวิจัยหนึ่งที่กล่าวว่าอาหารเสริมเควอซิทิน (Quercetin) ซึ่งเป็นสารที่พบในหัวหอม อาจส่งผลดีต่อระดับไขมันในเลือด ระดับความดันโลหิต การตอบสนองต่อระดับน้ำตาลในเลือด และการอักเสบ โดยทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคเบาหวาน โรคหัวใจ และรคหลอดเลือดในสมอง

ต่อมาจึงมีการศึกษาโดยตรงด้วยการให้ชายที่มีพฤติกรรมสูบบุหรี่ รับประทานอาหารเสริมเควอซิทินที่สกัดจากเปลือกหัวหอมวันละ 100 มิลลิกรัม นาน 10 สัปดาห์ ปรากฏว่าการใช้เควอซิทินจากเปลือกหัวหอมทุกวันมีส่วนช่วยลดระดับไขมันในเลือด ระดับน้ำตาลในเลือด และระดับความดันโลหิตได้ ซึ่งเท่ากับว่าอาจเป็นประโยชน์ในการลดโอกาสเสี่ยงของโรคที่เกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดในผู้ที่สูบบุหรี่ได้

เช่นเดียวกับอีกหนึ่งงานวิจัยให้ผลการศึกษาชี้ว่าการรับประทานเควอซิทินชนิดผงที่สกัดจากเปลือกหัวหอม วันละ 162 มิลลิกรัม นาน 6 สัปดาห์ ช่วยลดระดับความดันโลหิตของผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตสูง ซึ่งหากประสิทธิภาพข้อนี้ของเควอซิทินสกัดจากเปลือกหัวหอมได้รับการพิสูจน์เพิ่มเติมว่าใช้ได้ผล นอกจากจะเป็นประโยชน์ในการลดระดับความดันโลหิตแล้ว ก็ยังจะทำให้มีโอกาสเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดลดน้อยลงตามไปด้วย

ดีต่อผู้ป่วยโรคเบาหวาน หัวหอมเป็นหนึ่งในพืชที่มีการกล่าวถึงสรรพคุณลดระดับน้ำตาลในเลือดอย่างแพร่หลาย ทว่าข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนว่าหัวหอมอาจเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคเบาหวานนั้นยังมีน้อยและเป็นการวิจัยขนาดเล็กเท่านั้น

การศึกษาหนึ่งเมื่อนานมาแล้ว พบว่าการรับประทานอาหารที่มีพลังงานจากคาร์โบไฮเดรต 68% จากไขมัน 20% และจากโปรตีน 12% พร้อมทั้งหัวหอมสด 20 กรัม วันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 1 สัปดาห์ แต่สัปดาห์ต่อมาไม่ต้องรับประทานหัวหอม ส่งผลในการลดระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยลงอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้งานวิจัยดังกล่าวไม่พบว่าผู้ป่วยมีการเปลี่ยนแปลงของระดับไขมันในเลือดที่ดีขึ้น

อีกการวิจัยที่เผยแพร่ในปี 2010 ให้ผลสนับสนุนไปในทางเดียวกัน โดยกล่าวว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 ต่างมีระดับน้ำตาลในเลือดลดลงมากหลังจากการรับประทานหัวหอมดิบ 100 กรัม

โดยในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 นั้นพบว่ามีระดับน้ำตาลลดลงประมาณ 89 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ทั้งยังช่วยลดภาวะระดับน้ำตาลในเลือดสูงได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยคิดเป็น 120 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ส่วนผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ก็มีระดับน้ำตาลในเลือดลดลงไป 40 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หลังจากการรับประทานหัวหอมเป็นเวลา 4 ชั่วโมง และช่วยให้ภาวะระดับน้ำตาลในเลือดสูงลดลงถึง 159 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หลังผ่านไป 4 ชั่วโมงเช่นกัน

ทั้งนี้ไม่ว่าหัวหอมจะส่งผลดีต่อผู้ป่วยโรคเบาหวานหรือไม่ ก่อนใช้เป็นยาควรต้องปรึกษากับแพทย์เสมอ เพราะการใช้หัวหอมร่วมกับยารักษาเบาหวานหรือสมุนไพรที่มีสรรพคุณลดน้ำตาล อาจทำให้น้ำตาลในเลือดลดต่ำเกินจนเกิดผลเสียได้

ป้องกันมะเร็ง ประโยชน์ในการป้องกันมะเร็งของหัวหอม มีการศึกษาด้วยการรวบรวมข้อมูลจากงานวิจัยในประเทศอิตาลีและสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งพบว่าผู้ป่วยโรคมะเร็งมีการรับประทานหัวหอมในปริมาณตั้งแต่ 0-14 ส่วนต่อสัปดาห์ ส่วนผู้ที่ไม่มีโรคมะเร็งนั้นพบว่ารับประทานหัวหอมสัปดาห์ละ 0-22 ส่วน โดยผลจากการวิเคราะห์และสังเคราะห์ชี้ว่าการรับประทานหัวหอมในปริมาณปานกลางนั้นดูเหมือนจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งกล่องเสียง และมะเร็งรังไข่ โดยยิ่งรับประทานในปริมาณมากก็ยิ่งป้องกันมะเร็งได้ดี นอกจากนี้ในผู้ที่รับประทานหัวหอมมาก ๆ ยังมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งหลอดอาหารน้อยลงกว่าผู้ที่รับประทานน้อยอีกด้วย

หัวหอมจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกราคาประหยัดและป้องกันมะเร็งต่าง ๆ ข้างต้นได้จริงหรือไม่ คาดว่าคงได้ทราบอย่างแน่ชัดในอนาคต สำหรับผู้ที่สนใจคุณประโยชน์ด้านนี้และอยากลองรับประทานหัวหอม ก็ควรจำกัดปริมาณรับประทานแต่พอดีด้วย นอกจากนี้ การรับประทานอาหารเพื่อช่วยป้องกันมะเร็งเพียงอย่างเดียวนั้นคงเป็นไปได้ยาก การดูแลสุขภาพของตัวเองนั้นถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

แก้หวัด คัดจมูก ตัวช่วยยอดนิยมในการรักษาอาการคัดจมูกอันเกิดโรคหวัด โดยมักแนะนำให้ฝานหัวหอมเป็นแผ่นบาง ๆ หรือทุบพอแตกวางไว้ใกล้ศีรษะขณะนอนหลับ ซึ่งในทางทฤษฎีนั้นมีการคาดว่าสารซัลเฟอร์ในหัวหอมจะช่วยขจัดน้ำมูกและของเหลวออกจากร่างกาย ทำให้หายใจคล่อง

ทว่าจากการที่มีการรวบรวมงานวิจัยที่เกี่ยวข้องในด้านนี้ ผลสรุปไม่พบว่าหัวหอมมีประสิทธิภาพหรือเกี่ยวเนื่องกับโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการคัดจมูก มีน้ำมูก หรือไอ ทั้งนี้ข้อมูลที่นำมาศึกษาก็ยังมีข้อจำกัดอยู่มาก คงต้องรอให้มีการวิจัยประสิทธิภาพของหัวหอมในการรักษาอาการจากหวัดโดยเฉพาะเจาะจงเพิ่มเติม

รักษาอาการจากโรคหืด หัวหอมเป็นหนึ่งในการรักษาทางเลือกยอดนิยมที่เชื่อกัน มีทั้งใช้หัวหอมรักษาอาการไอหรือขยายหลอดลม ซึ่งเป็นอาการจากโรคหืด แต่ในด้านหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่จะช่วยยืนยันได้ยังมีน้อยมาก ไม่มีการวิจัยที่น่าเชื่อถือในคนอย่างชัดเจน และยังการคาดการณ์ว่าผู้ป่วยโรคหืดประมาณ 5-10 เปอร์เซ็นต์อาจมีอาการแพ้ต่อยาและอาหารบางชนิดที่มีสารซัลเฟอร์ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือหัวหอม การจะทดลองใช้หัวหอมเพื่อรักษาโรคนี้จึงควรต้องระมัดระวังความปลอดภัยด้วย

ความปลอดภัยในการใช้หัวหอมเป็นยา

การรับประทานหัวหอมในปริมาณที่พบได้จากอาหารทั่วไปหรือการทาบนผิวหนังจะค่อนข้างมีความปลอดภัย แต่สารซัลเฟอร์ในหัวหอมอาจส่งผลให้ลมหายใจมีกลิ่นหรือน้ำตาไหลได้ ส่วนการรับประทานเพื่อรักษาโรคอย่างปลอดภัย มีการวิจัยชี้ว่าการได้รับสารสกัดไดฟีนิลอะมีน (Diphenylamine) จากหัวหอมสูงสุดวันละ 35 กรัม เป็นเวลาหลายเดือนนั้นดูเหมือนจะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่อยู่ในภาวะต่อไปนี้ควรระมัดระวังในการใช้หัวหอมเป็นยารักษาโรคเป็นพิเศษ

  • หญิงที่ตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตรควรหลีกเลี่ยงการรับประทานหัวหอมในปริมาณมากกว่าปกติที่พบได้จากมื้ออาหาร เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลที่ยืนยันอย่างชัดเจนว่าจะไม่เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์
  • ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการมีเลือดออก โดยหัวหอมอาจมีฤทธิ์ชะลอการแข็งตัวของเลือด ทำให้เป็นที่กังวลว่าการรับประทานหัวหอมมาก ๆ อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการมีเลือดออก ผู้ที่มีปัญหานี้จึงไม่ควรใช้หัวหอมเป็นยารักษาโรคใดก็ตาม
  • หัวหอมอาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลลดต่ำลงได้ ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ต้องการรับประทานหัวหอมในปริมาณสูงโดยหวังสรรพคุณทางยา ควรปรึกษาแพทย์ก่อนและมีการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ
  • ด้วยฤทธิ์ในการชะลอการแข็งตัวของเลือดและลดน้ำตาลในเลือด จึงคาดว่าหัวหอมอาจทำให้เสี่ยงต่อการมีเลือดออกหรือการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดในระหว่างหรือหลังกระบวนการผ่าตัดได้ เพื่อความปลอดภัย ควรหยุดใช้หัวหอมเป็นยารักษาโรคอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนการผ่าตัด
  • หัวหอมอาจมีปฏิกิริยากับยารักษาโรคบางชนิด ควรปรึกษาแพทย์ก่อนหากกำลังใช้ยาแอสไพรินที่อาจส่งผลให้ผู้ที่แพ้หัวหอมยิ่งมีอาการรุนแรงขึ้น ยาลิเทียม ยารักษาโรคเบาหวาน ยาต้านการแข็งตัวของเลือด หรือยาที่ส่งผลต่อตับ เช่น พาราเซตามอล คลอร์ซ็อกซาโซน เอทานอล ทีโอฟิลลีน และยาชาบางชนิด
  • สำหรับผู้ที่ไม่สามารถทนรสชาติหรือกลิ่นของหัวหอมได้ อาจรับประทานอาหารเสริมจากหัวหอม แต่เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลยืนยันถึงปริมาณที่ปลอดภัยในการใช้ จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ทุกกรณี เลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากร้านค้าที่มีความน่าเชื่อถือ และทำตามคำแนะนำบนฉลากอย่างเคร่งครัด