เมารถ

ความหมาย เมารถ

เมารถ (Motion Sickness) เป็นภาวะที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันขณะเดินทางด้วยยานพาหนะต่าง ๆ อย่างรถยนต์ รถไฟ เรือ หรือเครื่องบิน ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการกระสับกระส่าย เวียนศีรษะ เหงื่อออก คลื่นไส้ หรืออาเจียน โดยภาวะนี้สามารถพบได้ในคนทุกเพศทุกวัย

โดยปกติ อาการเมารถมักหายไปได้เองโดยไม่จำเป็นต้องรักษา แต่ผู้ป่วยบางรายอาจเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ หรือรู้สึกคลื่นไส้อย่างต่อเนื่องแม้จะลงจากยานพาหนะสักพักแล้วก็ตาม จึงอาจจำเป็นต้องใช้ยาบางชนิดเพื่อช่วยบรรเทาอาการเหล่านี้ หรือไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม

เมารถ

อาการของเมารถ

เมารถมักเกิดขึ้นอย่างฉับพลันและมีลักษณะอาการที่แตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละคน โดยตัวอย่างอาการที่อาจเกิดขึ้น เช่น 

  • รู้สึกไม่สบายท้อง คลื่นไส้ อาเจียน 
  • เหงื่อออก 
  • เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ
  • เบื่ออาหาร
  • ผิวซีด
  • เหนื่อยล้า
  • ปริมาณน้ำลายเพิ่มมากขึ้น
  • มีอาการหายใจตื้น  
  • สูญเสียการทรงตัว 

สาเหตุของเมารถ

ร่างกายของคนเราสามารถรักษาความสมดุลได้จากสัญญาณที่ส่งมาจากอวัยวะต่าง ๆ อย่างดวงตา หูชั้นใน หรือฝ่าเท้า ทำให้ระบบประสาทรับรู้ว่าส่วนใดของร่างกายกำลังสัมผัสกับพื้นอยู่ แต่เมื่อใดที่สัญญาณจากดวงตาไม่สัมพันธ์กับสัญญาณที่เกี่ยวกับการทรงตัวจากหูชั้นใน ส่งผลให้สมองเกิดความสับสนในสัญญาณเหล่านี้จนทำให้มีอาการเมารถในที่สุด โดยอาจเป็นผลมาจากการนั่งรถยนต์ที่เหวี่ยงตัวนานเกินไป การนั่งเรือที่โคลงเคลงไปมาตามคลื่นน้ำ การโดยสารเครื่องบิน รวมถึงการเล่นเครื่องเล่นบางชนิด  

แม้ว่าอาการเมารถจะเกิดขึ้นได้ในคนทุกเพศทุกวัย แต่คนบางกลุ่มอาจเสี่ยงต่อการเกิดอาการนี้ได้ง่ายกว่าปกติ โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุ 2-12 ปี ที่จะมีแนวโน้มในการเมารถมากที่สุด รวมถึงสตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยที่มีอาการปวดศีรษะจากไมเกรน หรือผู้ที่ได้รับการบาดเจ็บที่สมอง 

การวินิจฉัยเมารถ

ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะรับรู้ได้ด้วยตนเองว่ากำลังมีอาการเมารถอยู่จากอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างอยู่บนยานพาหนะหรือรับรู้ได้จากการถูกเหวี่ยงตัวจากเครื่องเล่นต่าง ๆ จึงอาจไม่จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์โดยตรง แต่หากมีความผิดปกติหรือมีอาการเกิดขึ้นซ้ำ ๆ ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง ซึ่งอาจมีการตรวจบริเวณดวงตาหรือภายในหู รวมถึงซักประวัติทางสุขภาพก่อนจะพิจารณาการรักษาที่เหมาะสม

การรักษาเมารถ

ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการดีขึ้นเองโดยไม่จำเป็นต้องรักษา แต่หากอาการยังคงอยู่อาจผ่อนคลายตัวเองโดยการสูดลมหายใจเข้าออกลึก ๆ นับเลขในใจ หรือลองหลับตาลงสักพัก หากอยู่บนเรือควรมองไปที่ไกล ๆ อย่างเส้นขอบฟ้า หากอยู่บนรถยนต์ควรมองตรงไปที่กระจกหน้ารถ สูดอากาศบริสุทธิ์จากภายนอกยานพาหนะเพื่อให้รู้สึกดียิ่งขึ้น รับประทานขิงเพื่อบรรเทาอาการคลื่นไส้หรือใช้เปปเปอร์มินต์เพื่อให้รู้สึกผ่อนคลาย รวมถึงเข้ารับการฝังเข็มและกดจุดเพื่อแก้อาการคลื่นไส้

นอกจากนี้ อาจใช้ยาบางชนิดเพื่อบรรเทาอาการจากเมารถ อย่างยาสโคโปลามีนในรูปแบบพลาสเตอร์สำหรับแปะหลังใบหู โดยควรใช้ก่อนออกเดินทาง 4 ชั่วโมง ยาไดเมนไฮดริเนตที่เป็นยาต้านฮิสตามีนชนิดหนึ่งเพื่อช่วยบรรเทาอาการแพ้และแก้เมารถ โดยควรรับประทานก่อนออกเดินทางอย่างน้อย 30 นาที รวมถึงยาไซไคลซีน ยาเมคลิซีน และยาโปรเมทาซีนด้วย ทั้งนี้ ผู้ใช้ยาควรปฏิบัติตามคำแนะนำจากแพทย์และเภสัชกรอย่างเคร่งครัด เพราะยาอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงอย่างอาการง่วงซึมหรือปากแห้ง

ภาวะแทรกซ้อนของเมารถ

อาการเมารถมักไม่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อน แต่ถ้าผู้ป่วยอาเจียนติดต่อกันนานอาจส่งผลให้ร่างกายขาดน้ำและเกิดภาวะเกลือแร่ในร่างกายไม่สมดุล ซึ่งหากละเลยและไม่เข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพที่รุนแรง อย่างความดันโลหิตต่ำ หมดสติ หรือหัวใจเต้นผิดปกติ นอกจากนี้ ยังมีภาวะซึมเศร้าและโรควิตกกังวลที่อาจเกิดขึ้นได้เช่นกัน

การป้องกันเมารถ

ผู้ที่เสี่ยงต่อการเมารถหรือประสบปัญหาเมารถเป็นประจำอาจป้องกันและลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะดังกล่าวได้จากคำแนะนำดังนี้

  • ควรเลือกที่นั่งบนรถยนต์หรือเรือให้เหมาะ เช่น ที่นั่งกลางตัวรถ ที่นั่งชั้นล่างสุด และที่นั่งแถวหน้า หรือเป็นผู้ขับขี่ยานพาหนะแทนการเป็นผู้โดยสาร
  • หากโดยสารด้วยเครื่องบิน ควรจองที่นั่งบริเวณปีกหรือที่นั่งติดหน้าต่าง
  • เปิดกระจกหรือช่องระบายอากาศ เพื่อให้ได้อากาศบริสุทธิ์และให้อากาศถ่ายเท
  • หลีกเลี่ยงการอ่านหนังสือหรือใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขณะเดินทาง
  • สวมแว่นกันแดดก่อนการเดินทางทุกครั้ง
  • รับประทานยาแก้เมารถก่อนออกเดินทางประมาณ 30 นาที
  • พักผ่อนให้เพียงพอก่อนออกเดินทางและหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่ เพราะอาจทำให้ร่างกายขาดน้ำ ปวดศีรษะ หรือวิตกกังวลอันนำไปสู่ภาวะเมารถ
  • ไม่ปล่อยให้ท้องว่างทั้งก่อนและในระหว่างการเดินทาง โดยควรหลีกเลี่ยงของทอดหรืออาหารที่เป็นกรด