โลหิตจาง ควรดูแลตัวเองอย่างไรดี ?

โลหิตจาง คือ ภาวะที่ร่างกายมีจำนวนเม็ดเลือดแดงต่ำกว่าปกติ ส่งผลให้ลำเลียงออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้น้อยลง ผู้ป่วยมักมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ผิวซีด รู้สึกเย็นตามมือและเท้า วิงเวียนศีรษะ และหน้ามืดโดยเฉพาะเมื่อลุกยืนกะทันหันหรือทำกิจกรรมที่ต้องออกแรง ซึ่งการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตเพียงไม่กี่อย่างอาจช่วยบรรเทาอาการและส่งเสริมสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วยโลหิตจางให้ดีขึ้นได้

โลหิตจาง

นอกจากการรักษาภาวะโลหิตจางด้วยวิธีทางการแพทย์ ผู้ป่วยควรดูแลสุขภาพของตนเองควบคู่ไปด้วย โดยเลือกบริโภคอาหารที่มีส่วนช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง หลีกเลี่ยงปัจจัยทางสภาพแวดล้อมที่อาจส่งผลให้ปริมาณเม็ดเลือดแดงลดน้อยลง และหมั่นออกกำลังกายอย่างเหมาะสมตามข้อจำกัดทางสุขภาพของตนเอง

อาหารสำหรับผู้ป่วยโลหิตจาง

ผู้ป่วยโลหิตจางควรเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพและอุดมไปด้วยสารอาหารที่ช่วยเสริมสร้างปริมาณเม็ดเลือดแดง ได้แก่

  • ธาตุเหล็ก เป็นสารอาหารหลักที่ช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง ซึ่งปริมาณธาตุเหล็กที่บุคคลแต่ละกลุ่มควรได้รับอาจแตกต่างกันไป ผู้หญิงอายุ 19-50 ปีต้องการธาตุเหล็กประมาณ 18 มิลลิกรัมต่อวัน ส่วนผู้ชายต้องการประมาณ 8 มิลลิกรัมต่อวัน ทั้งนี้ หญิงที่ตั้งครรภ์จะต้องการธาตุเหล็กมากเป็นพิเศษ โดยควรได้รับวันละประมาณ 27 มิลลิกรัมต่อวัน ทว่าหญิงที่อยู่ในช่วงให้นมบุตรต้องการธาตุเหล็กเพียง 9 มิลลิกรัมต่อวันเท่านั้น อาหารที่เป็นแหล่งของธาตุเหล็กมีหลายชนิด ทั้งเนื้อแดง เครื่องในสัตว์ ไข่แดง ผักใบเขียว ผลไม้แห้ง และพืชตระกูลถั่ว                 
  • วิตามินบี 12 พบมากในเนื้อแดง ปลา ไข่ นมและผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากนม เช่น โยเกิร์ต ชีส เป็นต้น
  • กรดโฟลิค หรือวิตามินบี 9 ผู้หญิงที่อยู่ในช่วงมีประจำเดือน กำลังตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตรนั้นต้องการกรดโฟลิคในปริมาณมากกว่าคนทั่วไป ซึ่งสารอาหารชนิดนี้พบมากในผักใบเขียว ขนมปังหรือซีเรียลที่เสริมวิตามินบี และพืชตระกูลถั่วทั้งหลาย
  • วิตามินเอ อาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินเอ ได้แก่ ผักใบเขียว มันเทศ แครอท พริกหวานสีแดง รวมถึงผลไม้บางชนิด เช่น แตงโม แคนตาลูป เป็นต้น
  • ทองแดง สารอาหารชนิดนี้ไม่ได้ช่วยร่างกายสร้างเม็ดเลือดแดงโดยตรง แต่ทำงานร่วมกับธาตุเหล็กเพื่อช่วยให้้กระบวนการสร้างเม็ดเลือดแดงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ พบได้มากในตับ พืชตระกูลถั่ว ผลเชอร์รี่ สัตว์ปีก และสัตว์น้ำจำชนิดมีเปลือก เช่น หอย กุ้ง ปู เป็นต้น

ผู้ป่วยโลหิตจางควรออกกำลังกายอย่างไร

คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าการออกกำลังกายอาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยโลหิตจาง เนื่องจากผู้ป่วยอาจมีปริมาณเม็ดเลือดแดงไม่เพียงพอต่อการนำออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ทำให้รู้สึกเหนื่อยง่ายและหายใจไม่ทัน ทว่าการออกกำลังกายที่ไม่หนักจนเกินไปและอยู่ในขอบเขตที่เหมาะสมกับข้อจำกัดของร่างกายนั้น นอกจากจะไม่อันตรายแล้วยังส่งผลดีต่อสุขภาพโดยรวม ผู้ป่วยโลหิตจางจึงควรหันมาออกกำลังกายโดยปฏิบัติตามหลักพื้นฐานดังนี้

  • ปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มต้นออกกำลังกาย เพื่อวางแผนการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับสุขภาพ
  • เลือกออกกำลังกายที่ตนเองชื่นชอบและทำได้ง่าย โดยมีเป้าหมายในการเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง
  • หยุดพักระหว่างออกกำลังกายเป็นระยะ ๆ หรือเมื่อรู้สึกเหนื่อย
  • โดยทั่วไปควรออกกำลังกายวันละ 30-60 นาทีติดต่อกัน อย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ แต่ผู้ที่ไม่เคยออกกำลังกายมาก่อน ควรเริ่มด้วยการออกกำลังกาย 10-15 นาทีติดต่อกัน จากนั้นค่อย ๆ เพิ่มเวลาให้นานขึ้น 5 นาที ทุก ๆ 2-4 สัปดาห์จนเท่ากับการออกกำลังกายในระดับปกติ
  • ควรเพิ่มการออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อ เช่น เล่นเวท แพลงกิ้ง อย่างน้อย 2 วันต่อสัปดาห์ โดยทำวันละ 1-3 เซต เซตละ 10-15 ครั้ง

ทั้งนี้ ผู้ป่วยโลหิตจางควรตรวจสอบความพร้อมของร่างกายก่อนออกกำลังกาย และคำนึงถึงข้อควรระวังต่อไปนี้

  • ไม่ควรออกกำลังกายหากมีความดันโลหิตขณะพักสูงกว่า 180/110 มิลลิเมตรปรอท
  • หยุดออกกำลังกายและรีบไปพบแพทย์ทันที หากรู้สึกเจ็บหน้าอก หายใจหอบ เหนื่อย และอ่อนเพลียอย่างมาก
  • การออกกำลังกายอย่างหนักและการมีภาวะขาดน้ำอาจทำให้โรคโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงรูปเคียวมีอาการรุนแรงขึ้นได้ ผู้ป่วยโรคนี้จึงไม่ควรออกกำลังกายหนักเกินไปและคอยควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงเมื่อมีภาวะโลหิตจาง

ผู้ป่วยโลหิตจางควรหลีกเลี่ยงสารเคมี สารพิษ เชื้อโรค และสภาพแวดล้อมที่เป็นอันตรายต่อเม็ดเลือดแดง เพราะอาจทำให้เม็ดเลือดแดงมีปริมาณน้อยลงกว่าเดิม โดยควรระมัดระวัง ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงหรือจำกัดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผู้หญิงไม่ควรดื่มเกินวันละ 1 แก้ว ส่วนผู้ชายไม่ควรดื่มเกินวันละ 2 แก้ว (1 แก้วเทียบเท่ากับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ประมาณ 10 กรัม)
  • หลีกเลี่ยงสารเคมีหรือสารพิษที่ส่งผลให้เม็ดเลือดแดงถูกทำลาย เช่น สารตะกั่ว สารหนู ยาแดพโซน  ยาเพนิซิลลิน เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงอากาศหนาวจัด เพราะอาจกระตุ้นให้เม็ดเลือดแดงแตกตัวได้
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในบริเวณที่มีคนพลุกพล่าน เลี่ยงการใกล้ชิดผู้ป่วยโรคหวัด และล้างมือเป็นประจำ เพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ

อย่างไรก็ตาม ภาวะโลหิตจางนั้นมีหลายชนิดและอาจมีแนวทางการรักษาที่แตกต่างกันไป ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการปรับพฤติกรรมและชีวิตประจำวันให้เหมาะสมกับภาวะโลหิตจางแต่ละประเภท เพื่อจะได้ดูแลตนเองอย่างถูกวิธีและส่งผลดีต่อสุขภาพยิ่งขึ้น