เด็กทารกอายุ 5 เดือน กับพัฒนาการการเจริญเติบโตในแต่ละด้าน

เด็กทารกวัย 5 เดือน นั้นยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีพัฒนาการเพิ่มขึ้นหลายด้าน เช่น เริ่มนั่งเองได้บ้างแล้ว มองเห็นสิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้น หรือเริ่มพยายามออกเสียงเลียนแบบ เป็นต้น แล้วยังมีพัฒนาการด้านใดอีกบ้าง รวมถึงคุณพ่อคุณแม่จะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการของลูกน้อยในวัยนี้ให้เติบโตสมวัยได้อย่างไร สามารถศึกษาได้จากบทความนี้

2003 เด็กทารกอายุ 5 เดือน rs

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเมื่อเด็กทารกมีอายุ 5 เดือน

  • การเจริญเติบโตของร่างกาย เด็กทารกในวัยนี้จะมีน้ำหนักตัวและความยาวของร่างกายเพิ่มขึ้น โดยเด็กผู้ชายจะมีน้ำหนักตัวประมาณ 7 กิโลกรัม และมีความยาวประมาณ 63 เซนติเมตร ส่วนเด็กผู้หญิงจะหนักประมาณ 6 กิโลกรัม และมีความยาวประมาณ 62 เซนติเมตร ดังนั้น หากการเจริญเติบโตของลูกน้อยเป็นไปตามเกณฑ์ดังกล่าว ก็อาจบอกได้ว่าเป็นเด็กทารกที่มีสุขภาพดี แต่ตัวเลขทั้งหมดนี้เป็นเพียงค่าเฉลี่ยเท่านั้น เด็กทารกบางคนอาจมีสุขภาพแข็งแรงดีแม้มีน้ำหนักหรือขนาดตัวไม่ตรงตามเกณฑ์ดังกล่าว
  • การใช้กล้ามเนื้อ เจ้าตัวเล็กในวัย 5 เดือนนั้นอาจนั่งตัวตรงได้นานขึ้น หรืออาจนั่งโดยไม่ต้องคอยจับได้บ้างเล็กน้อย แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ควรใช้หมอนช่วยประคองไว้ด้วย และเด็กบางคนอาจพลิกตัวมาอยู่ในท่านอนคว่ำเองได้แล้ว ดังนั้น จึงไม่ควรปล่อยให้เด็กนอนบนเตียงหรือบนที่สูง เพราะเด็กอาจกลิ้งตกลงมาจนรับบาดเจ็บได้ และผู้ปกครองอาจสังเกตเห็นว่าเด็กจะขยับขาหรือโยกขาไปด้วยในขณะที่พลิกตัว นั่นอาจแสดงถึงความพร้อมที่จะเริ่มคลานได้ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า 

นอกจากการนั่งและการเคลื่อนที่แล้ว ด็กทารกอาจหยิบจับสิ่งของได้อย่างแข็งแรงขึ้น โดยเด็กอาจถือขวดนมได้เอง ใช้มือทั้งสองข้างดึงสิ่งของให้เข้ามาใกล้ตัว หรือเคลื่อนย้ายสิ่งของด้วยมือของตนเองได้ด้วย

การกิน เจ้าตัวเล็กในวัย 5 เดือนจะมีความซับซ้อนมากกว่าที่เคย เพราะจากที่ให้เด็กดูดนมจากเต้า อาจต้องเปลี่ยนเป็นการให้ดูดนมจากเต้าและปั๊มนมเก็บไว้ด้วย หรือจากที่เคยให้เด็กดื่มนมผง อาจต้องเปลี่ยนเป็นให้ดื่มทั้งนมผงและกินอาหารเด็กร่วมด้วย  

ในการให้เด็กดื่มนมแม่ ควรให้เด็กดื่มจนอิ่ม และให้ดื่มทุก 3-4 ชั่วโมง แต่หากเป็นนมแม่ที่ปั๊มเก็บไว้ โดยปกติแล้วเด็กวัยนี้จะดื่มนมแม่ประมาณ 740 มิลลิลิตร หรือประมาณ 25 ออนซ์ต่อวัน ดังนั้น จึงควรปั๊มนมไว้ให้เท่าปริมาณดังกล่าว และแบ่งให้พอดีตามจำนวนครั้งที่ให้เด็กกินในแต่ละวัน หากไม่มั่นใจว่าเด็กดื่มนมเพียงพอหรือไม่ สามารถดูได้จากปริมาณปัสสาวะของเด็ก โดยเด็กในวัยนี้ควรเปลี่ยนผ้าอ้อมประมาณ 4-5 แผ่นต่อวัน  

หากให้ลูกดื่มนมที่ชงจากนมผง ทารกในวัยนี้หลายคนอาจดื่มนมวันละประมาณ 720 มิลลิลิตร หรือประมาณ 24 ออนซ์ โดยเด็กอาจดื่มนมเป็นช่วง ๆ ประมาณ 6 ครั้งต่อวัน

ส่วนกรณีที่ผู้ปกครองและแพทย์ตัดสินใจให้เจ้าตัวน้อยกินอาหารอื่นนอกเหนือจากนมแม่และนมผง อย่างข้าว ธัญพืช ผัก หรือผลไม้ อาจเริ่มให้ลูกกินอาหารประมาณมื้อละ 30 มิลลิลิตรหรือประมาณ 1 ออนซ์ หากเด็กดูชอบกินอาหาร อาจค่อย ๆ เพิ่มปริมาณขึ้น จนถึงประมาณมื้อละ 90 มิลลิลิตรหรือประมาณ 3 ออนซ์ โดยให้เด็กกินแค่ 1 มื้อต่อวัน

นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่อาจให้เด็กจิบน้ำได้บ้างเล็กน้อย แต่โดยปกติแล้ว แพทย์มักแนะนำให้รอจนเด็กกินอาหารเสริมชนิดอื่น ๆ นอกจากนมได้ก่อนจึงค่อยให้เด็กดื่มน้ำ และต้องระวังอย่าให้เด็กดื่มน้ำมากเกินไป เพราะเด็กอาจอิ่มน้ำจนทำให้เด็กดื่มนมได้น้อยหรือมีปัญหาขาดสารอาหารได้

  • การนอน เด็กน้อยในวัยนี้อาจนอนวันละประมาณ 15 ชั่วโมง โดยแบ่งเป็นนอนตอนกลางคืนประมาณ 10 ชั่วโมง ซึ่งเด็กบางคนอาจตื่นกลางดึกได้ และนอนตอนกลางวันเป็นช่วง ๆ 2-3 ครั้ง รวมแล้วประมาณ 5 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาในการนอนของเด็กอาจไม่เท่ากัน ซึ่งขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการนอนของตัวเด็กเองด้วย
  • การมองเห็น เด็กทารกวัย 5 เดือนนั้นสามารถมองเห็นได้ดีขึ้นในระยะทางที่ต่างกัน และเด็กสามารถใช้ตาทั้งสองข้างมองจุดเดียวกันได้โดยไม่มีอาการตาเหล่แล้ว นอกจากนี้ ถึงแม้เด็กวัยนี้จะยังคงชอบสีที่เป็นสีหลัก อย่างสีแดง สีน้ำเงิน หรือสีเหลือง แต่เด็กอาจแยกแยะสีได้ดีขึ้น โดยอาจแยกความแตกต่างของสีเดียวกันที่มีความเข้มต่างกันได้
  • การสื่อสาร ถึงแม้เจ้าตัวเล็กจะยังไม่เข้าใจความหมายของคำพูดก็ตาม แต่ก็อาจทำเสียงอ้อแอ้ที่คล้ายคำพูดได้มากขึ้น หรือเริ่มออกเสียงคำสั้น ๆ ที่มีการผสมของสระและพยัญชนะได้ รวมทั้งอาจเริ่มรับรู้ถึงเสียงต่าง ๆ อย่างเสียงสุนัขเห่า หรือเสียงรถยนต์สตาร์ทเครื่องได้ นอกจากนี้ ทารกวัย 5 เดือนอาจหันไปหาเมื่อมีคนเรียกชื่อหรือเมื่อพูดคำสั่งง่าย ๆ กับเด็กอีกด้วย

เทคนิคการดูแลเด็กทารกอายุ 5 เดือน

การที่เด็กเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้นทำให้พ่อแม่ต้องดูแลและใส่ใจมากขึ้นตามไปด้วย โดยมีตัวอย่างวิธีการต่าง ๆ ที่อาจมีประโยชน์สำหรับการดูแลเด็กทารกวัย 5 เดือน ดังนี้

  • เปิดเพลงให้เด็กฟัง เนื่องจากวัยเด็กเป็นวัยที่ชอบเสียงเพลง โดยเด็กอาจตอบสนองด้วยการยิ้ม ปรบมือ หรือพยายามออกเสียงตามไปด้วย
  • เด็กในวัยนี้อาจตั้งใจมองที่ปากของผู้พูด รวมถึงอีกไม่นานเด็กอาจพยายามเลียนแบบวิธีการพูดของผู้ปกครองด้วย ดังนั้น จึงควรพูดโต้ตอบกับเด็ก เพราะอาจช่วยให้เด็กฝึกพูดได้
  • ให้เด็กเล่นของเล่นง่าย ๆ อย่างบล็อกตัวต่อแบบนิ่ม หรือเครื่องดนตรีแบบเขย่า และเมื่อให้ของแต่ละชิ้นกับเด็ก ควรบอกชื่อของสิ่งนั้นด้วย เพื่อเป็นการสอนคำศัพท์ให้เด็กอีกทางหนึ่ง
  • เด็กทารกวัย 5 เดือนอาจพร้อมที่จะเรียนรู้เรื่องการมีอยู่ของสิ่งของแล้ว โดยคุณพ่อคุณแม่อาจใช้วิธีเล่นจ๊ะเอ๋กับเด็ก หรือซ่อนของบางอย่างและนำออกมาให้เด็กเห็น เพื่อให้เจ้าตัวน้อยเริ่มเรียนรู้ว่าของชิ้นนั้นยังคงมีอยู่แม้ตนเองจะมองไม่เห็นมันก็ตาม
  • เด็กวัยนี้สามารถหยิบจับสิ่งของได้บ้างแล้ว ดังนั้น ควรนำโมบายที่แขวนไว้เหนือเปลเด็กออก เพื่อป้องกันเด็กพยายามคว้าจนอาจเกิดอันตรายตามมาได้ นอกจากนี้ ควรเก็บสิ่งของภายในบ้านให้ไกลมือเด็ก อย่างของมีคม สารเคมี หรือปิดรูปลั๊กไฟให้เรียบร้อย เพราะของบางอย่างภายในบ้านอาจทำให้เกิดอันตรายต่อตัวเด็กได้

ปัจจัยที่อาจมีผลต่อพัฒนาการ และปัญหาสุขภาพของทารกวัย 5 เดือน

พ่อแม่บางคนอาจกังวลเกี่ยวกับการเจริญเติบโตของเด็ก อย่างลูกอาจผอมหรืออ้วนเกินไปหรือไม่ ลูกโตขึ้นจะสูงเท่าไหร่ หรืออาจนำลูกของตัวเองไปเปรียบเทียบกับเด็กคนอื่น อย่างไรก็ตาม ทารกแต่ละคนมีรูปร่างและขนาดตัวแตกต่างกันออกไป อีกทั้งสิ่งที่มีผลกับพัฒนาการของเด็กก็มีหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น สุขภาพโดยรวมของเด็ก ปริมาณและคุณภาพของอาหารที่เด็กรับประทาน การทำงานของฮอร์โมนที่ควบคุมการเจริญเติบโต และพันธุกรรมที่ส่งต่อมาจากพ่อแม่ เป็นต้น

นอกจากเรื่องพัฒนาการของเด็กแล้ว ปัญหาสุขภาพก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องใส่ใจไม่แพ้กัน โดยปัญหาที่ผู้ปกครองของเด็กวัย 5 เดือนมักเป็นกังวลมีหลายอย่าง เช่น หากเด็กเป็นไข้ อาเจียน ท้องผูก หรือท้องเสียควรทำอย่างไรดี เด็กวัยนี้เริ่มมีฟันขึ้นแล้วหรือยัง เด็กวัยนี้ถ่ายบ่อยแค่ไหน เป็นต้น ทั้งนี้ หากพ่อแม่มีความกังวลเกี่ยวกับพัฒนาการของเด็ก หรือเกิดความผิดปกติใด ๆ ขึ้นกับเด็ก ควรรีบพาเด็กไปพบกุมารแพทย์เพื่อหาทางรักษาที่เหมาะสมต่อไป