เดสเวนลาแฟ็กซีน

เดสเวนลาแฟ็กซีน

Desvenlafaxine (เดสเวนลาแฟ็กซีน) เป็นยารักษาโรคซึมเศร้า โดยออกฤทธิ์ช่วยปรับสมดุลของสารสื่อประสาทในสมองอย่างสารเซโรโทนิน (Serotonin) และสารนอร์อิพิเนฟริน (Norepinephrine) ช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกดี อารมณ์ดี และมีแรงเพิ่มมากขึ้น นอกจากนั้น ยังอาจนำมาใช้รักษาโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์อีกด้วย

Desvenlafaxine

เกี่ยวกับยา Desvenlafaxine

กลุ่มยา ยารักษาโรคซึมเศร้าในกลุ่มเอสเอ็นอาร์ไอ (SNRIs)
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ รักษาโรคซึมเศร้า
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยารับประทาน
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ Category C จากการศึกษาในสัตว์พบว่า ทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์ หรือไม่มีข้อมูลเพียงพอในการศึกษาทดลองในมนุษย์และสัตว์ ควรใช้ยาเมื่อพิจารณาแล้วว่า มีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อทารกในครรภ์

คำเตือนในการใช้ยา Desvenlafaxine

เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้ป่วยควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาชนิดนี้ รวมถึงยาและสารอื่น ๆ เพราะยาอาจมีส่วนประกอบที่ทำให้เกิดอาการแพ้ยาหรือเกิดผลข้างเคียงอื่น ๆ ตามมาได้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากผู้ป่วยเคยมีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอารมณ์สองขั้วหรือไบโพลาร์ โรคซึมเศร้า มีความคิดฆ่าตัวตาย โรคตับหรือไต ต้อหิน ชักหรือโรคลมชัก ภาวะเลือดออกหรือเลือดแข็งตัวผิดปกติ ระดับโซเดียมในร่างกายต่ำ เป็นต้น
  • ครอบครัวหรือบุคคลใกล้ชิดควรสังเกตการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์และอาการอื่น ๆ ของผู้ป่วยอยู่เสมอ เพราะผู้ป่วยบางรายอาจมีความคิดฆ่าตัวตายเมื่อเริ่มใช้ยา 
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยา วิตามิน หรือสมุนไพรทุกชนิดที่ผู้ป่วยกำลังใช้อยู่ เพราะยาบางชนิดอาจทำปฏิกิริยากับยานี้จนก่อให้เกิดผลข้างเคียง มีอาการง่วงซึม หรือทำให้ยามีประสิทธิภาพลดลง เช่น ยาแก้ปวดชนิดเสพติด ยารักษาโรคความผิดปกติทางอารมณ์ ยารักษาโรคพาร์กินสัน ยาแก้ปวดศีรษะไมเกรนและการติดเชื้อที่รุนแรง ยาป้องกันอาการคลื่นไส้และอาเจียน เป็นต้น และยาต้านการแข็งตัวของเลือดหรือยาในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการมีเลือดออกมากขึ้นในขณะที่ผู้ป่วยรับประทานยา Desvenlafaxine ด้วย   
  • ห้ามใช้ยานี้ในช่วง 7 วัน ก่อนหน้าหรือ 14 วัน หลังจากผู้ป่วยใช้ยาในกลุ่มต้านเอนไซม์เอ็มเอโอไอ เช่น  ยาลีเนโซลิด ยาเมทิลีน บลู หรือยาเซเลกิลีน เป็นต้น เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงได้
  • ในระหว่างการใช้ยาควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจทำให้ง่วงซึมมากขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการขับรถ การใช้เครื่องจักร หรือการทำกิจกรรมที่ต้องอาศัยความตื่นตัวในระหว่างที่ใช้ยา เพราะยาอาจทำให้ความสามารถในการคิดหรือการตอบสนองลดลง เวียนศีรษะ ง่วงซึม และมองเห็นเป็นภาพไม่ชัด
  • ผู้สูงอายุอาจเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงได้สูง โดยเฉพาะอาการเวียนศีรษะเมื่ออยู่ในท่ายืนและมีเลือดอออกผิดปกติ และยังทำให้เกิดภาวะโซเดียมในเลือดต่ำได้บ่อย โดยเฉพาะผู้ที่รับประทานยาขับปัสสาวะร่วมด้วย รวมทั้งอาจส่งผลให้เวียนศีรษะและเกลือแร่ในร่างกายไม่สมดุล ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงของการหกล้มได้
  • ผู้ป่วยเด็กอาจเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงได้ง่ายกว่าปกติโดยเฉพาะอาการเบื่ออาหารและน้ำหนักตัวลดลง จึงควรวัดความสูงและน้ำหนักของผู้ป่วยอยู่เสมอ  
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนการใช้ยาหากผู้ป่วยกำลังตั้งครรภ์ เนื่องจากการใช้ยา Desvenfaxine ในระยะท้าย ๆ ของการตั้งครรภ์อาจทำให้มีเลือดออก และอาจเกิดปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงต่อทารกแรกเกิดด้วย
  • ผู้ป่วยที่ใช้ยานี้ควรปรึกษาแพทย์ถึงความเสี่ยงต่อทารกก่อนการให้นมบุตร
  • ผู้ป่วยที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ห้ามให้ใช้ยานี้

ปริมาณการใช้ยา Desvenlafaxine

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา ซึ่งโดยทั่วไปการใช้ยาในผู้ใหญ่เพื่อรักษาโรคซึมเศร้านั้น แพทย์จะให้รับประทานยา 50 มิลลิกรัม/วัน วันละ 1 ครั้ง อาจต้องปรับลดปริมาณยาในผู้ป่วยที่ไตเสื่อมระดับปานกลางถึงรุนแรง  

การใช้ยา Desvenlafaxine

  • ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ห้ามใช้ยานี้ในปริมาณมากกว่า น้อยกว่า หรือติดต่อกันนานกว่าที่แพทย์แนะนำ หากมีข้อสงสัยใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา
  • รับประทานยานี้พร้อมอาหารหรือไม่ก็ได้
  • ห้ามบด เคี้ยว หรือหักยา ควรกลืนยาลงไปทั้งเม็ด
  • ผู้ป่วยอาจจะต้องรับประทานยานี้เป็นระยะเวลาหลายสัปดาห์กว่าอาการจะดีขึ้น ดังนั้น ห้ามหยุดใช้ยาโดยปราศจากคำแนะนำจากแพทย์ เพราะอาจมีผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นได้ เช่น อารมณ์แปรปรวน ปวดศีรษะ เหนื่อยล้า การนอนหลับเปลี่ยนแปลงไป รู้สึกคล้ายไฟฟ้าช็อต เป็นต้น
  • แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยเริ่มรับประทานยาในปริมาณต่ำแล้วจึงค่อย ๆ เพิ่มปริมาณยา เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียง ผู้ป่วยควรรับประทานยาตามคำสั่งแพทย์ ห้ามเพิ่มปริมาณยา ห้ามรับประทานยาบ่อยครั้งหรือนานกว่ากำหนด เพราะอาจทำให้อาการแย่ลงและเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงได้ และควรรับประทานยาในเวลาเดิมเป็นประจำทุกวัน เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการรักษา ทั้งนี้ ยา Desvenlafaxine ชนิดเม็ดบางยี่ห้อเคลือบด้วยสารที่ไม่ละลายในร่างกายหรือร่างกายดูดซึมไม่ได้ เศษยาบางส่วนจึงอาจปะปนอยู่ในอุจจาระ ซึ่งเป็นผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นเป็นปกติ และไม่ส่งผลให้ประสิทธิภาพของยาลดลง
  • หากผู้ป่วยใช้ยาต้านเศร้าตัวอื่นอยู่ก่อนแล้วเปลี่ยนมาใช้ยานี้ แพทย์จะค่อย ๆ ลดปริมาณของยาตัวเดิม เพื่อป้องกันอาการถอนยา   
  • ห้ามให้ผู้อื่นใช้ยานี้ และห้ามใช้ยาของผู้อื่น
  • ผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการตรวจเลือดบ่อยครั้งในขณะที่ใช้ยานี้
  • หากผู้ป่วยลืมรับประทานยา ให้รับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ หากใกล้ถึงช่วงเวลาของยารอบถัดไป ให้ข้ามไปรับประทานยาตามเวลาปกติ โดยห้ามเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
  • หากผู้ป่วยสงสัยว่าตนเองรับประทานยาเกินกว่าปริมาณที่กำหนดควรรีบไปพบแพทย์ทันที
  • เก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ให้ห่างจากความชื้น ความร้อน และแสงแดด โดยเก็บยาให้ห่างจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง รวมถึงปรึกษาวิธีการเก็บรักษาและการกำจัดยาที่ถูกต้องจากแพทย์และเภสัชกรด้วย

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Desvenlafaxine

ยา Desvenlafaxine มักส่งผลให้เกิดผลข้างเคียง เช่น เวียนศีรษะ ง่วงซึม ปากแห้ง มองไม่ชัด วิตกกังวล เหงื่อออกมากขึ้น คลื่นไส้ เบื่ออาหาร ท้องผูก นอนไม่หลับ ความต้องการทางเพศลดลง ถึงจุดสุดยอดได้ยาก เป็นต้น นอกจากนั้น ยายังอาจเพิ่มความดันโลหิตให้สูงขึ้น จึงควรตรวจวัดความดันโลหิตเป็นประจำ และควรแจ้งให้แพทย์ทราบเมื่อมีระดับความดันโลหิตสูงขึ้น หากอาการเหล่านี้ไม่หายไปหรือมีอาการแย่ลง ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมต่อไป

ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรหยุดใช้ยาและไปพบแพทย์ทันที หากเกิดอาการที่รุนแรงดังต่อไปนี้

  • มีอาการแพ้ยา แต่มักน้อยมาก เช่น ผื่นคันหรือลมพิษ หายใจลำบาก อาการบวมที่ใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น และลำคอ เป็นต้น 
  • ชัก
  • ฟกช้ำหรือเลือดออกได้ง่าย ปัสสาวะหรืออุจจาระปนเลือด ไอเป็นเลือด
  • ปวดตา ตาบวม รูม่านตาขยาย มองเห็นวงรอบดวงไฟ
  • ไอ แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก มีปัญหาในการหายใจ
  • อาเจียนออกมามีลักษณะคล้ายกากกาแฟ 
  • มีระดับโซเดียมในร่างกายต่ำ อาจทำให้เกิดอาการ เช่น ปวดศีรษะ สับสน อ่อนแรงอย่างมาก มีปัญหาด้านความจำ รู้สึกว่าร่างกายเสียสมดุล หลอน เป็นต้น
  • มีอาการของเซโรโทนิน ซินโดรม เช่น สับสน กระสับกระส่าย ประสาทหลอน มีไข้ หัวใจเต้นเร็ว กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง คลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสีย เป็นต้น ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน แต่มักพบได้ยาก 

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรให้ทราบทันที หากมีอาการแย่ลงหรือมีอาการผิดปกติอื่นเกิดขึ้น เช่น มีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์และพฤติกรรม วิตกกังวล ตื่นตระหนก ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ รู้สึกหงุดหงิด ก้าวร้าว กระสับกระส่าย อารมณ์ดีหรือเศร้ามากกว่าปกติ มีความคิดฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตัวเอง รวมถึงพบผลข้างเคียงหรือความผิดปกติอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้