ภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ (Hyponatremia)

ความหมาย ภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ (Hyponatremia)

Hyponatremia (ภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ) เป็นภาวะที่มีปริมาณโซเดียมในเลือดต่ำกว่าปกติ ส่งผลให้ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดศีรษะ กล้ามเนื้อกระตุก อ่อนล้าหมดแรง ซึมลง คลื่นไส้อาเจียน ซึ่งอาจเกิดจากการเสียน้ำ ดื่มน้ำมากเกินไป หรือฮอร์โมนผิดปกติ เป็นต้น

โซเดียม คือ แร่ธาตุอิเล็กโทรไลต์ที่ช่วยรักษาสมดุลของน้ำรอบ ๆ เซลล์และภายในเซลล์ มีความสำคัญต่อการทำงานของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ รวมทั้งยังช่วยควบคุมระดับความดันโลหิต ซึ่งผู้ป่วย Hyponatremia จะมีปริมาณโซเดียมในเลือดต่ำกว่า 135 มิลลิอิควิวาเลนท์/ลิตร (ระดับปกติอยู่ที่ 135-145 มิลลิอิควิวาเลนท์/ลิตร)

Hyponatremia

อาการของภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ

ความรุนแรงของอาการ Hyponatremia อาจขึ้นอยู่กับปริมาณและอัตราการลดลงของระดับโซเดียมในเลือด หากโซเดียมค่อย ๆ ลดจำนวนลงทีละน้อย อาจยังไม่มีอาการใด ๆ เกิดขึ้นกับผู้ป่วย หรืออาจมีอาการ เช่น

  • ปวดหัว
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • อ่อนล้า หมดแรง
  • สับสนมึนงง
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง เกร็ง หรือกระตุก
  • กระสับกระส่าย หงุดหงิดง่าย

แต่หากโซเดียมลดลงมาก หรือลดลงอย่างรวดเร็วจนเกินไป อาจทำให้เกิดอาการที่รุนแรงขึ้น เช่น ชัก หมดสติขั้นรุนแรงและไม่ตอบสนองต่อการกระตุ้น

สาเหตุของภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ

Hyponatremia อาจเกิดจากการสูญเสียของเหลว และอิเล็กโทรไลต์ในร่างกายจากหลายสาเหตุ เช่น วิถีการใช้ชีวิต อาการเจ็บป่วย หรือภาวะต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • ภาวะขาดน้ำ

    เป็นสาเหตุให้ร่างกายอาจสูญเสียของเหลวและอิเล็กโทรไลต์ ซึ่งอาจเกิดจากการอาเจียนอย่างหนัก หรือท้องเสียอย่างรุนแรง

  • ดื่มน้ำมากเกินไป

    อาจพบได้ในนักวิ่งมาราธอน หรือนักไตรกีฬา ที่ดื่มน้ำปริมาณมาก ๆ เพื่อทดแทนเหงื่อที่สูญเสียไป ซึ่งการดื่มน้ำมากเกินไปอาจเป็นสาเหตุให้ระดับโซเดียมในเลือดลดลงได้

  • ฮอร์โมนผิดปกติ

    ต่อมหมวกไตทำหน้าที่หลั่งฮอร์โมนเพื่อช่วยรักษาสมดุลของน้ำ โซเดียม และโพแทสเซียมในร่างกาย หากต่อมหมวกไตทำงานผิดปกติ อาจทำให้ระดับไทรอยด์ฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ หรืออาจเกิดกลุ่มอาการของการหลั่งฮอร์โมนต้านการขับปัสสาวะไม่เหมาะสม (Syndrome Of Inappropriate Anti-Diuretic Hormone: SIADH) เป็นเหตุให้ร่างกายเก็บน้ำไว้ แทนที่จะขับปัสสาวะตามปกติ จนส่งผลกระทบต่อปริมาณโซเดียมในเลือดได้

  • มีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ ไต และตับ

    ภาวะหัวใจวาย หรือภาวะอื่น ๆ  ที่มีผลกระทบต่อการทำงานของไตและตับ อาจทำให้ร่างกายไม่สามารถขับน้ำส่วนเกินออกไปได้ และส่งผลให้ระดับโซเดียมในเลือดลดลง

  • การใช้ยาบางชนิด

    ยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคซึมเศร้า ยาระงับปวด และยาขับปัสสาวะ อาจทำให้เสียน้ำในร่างกาย หรือปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ

  • การใช้สารเสพติด

    การใช้ยาอี (Ecstasy) เสี่ยงทำให้ Hyponatremia มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

การวินิจฉัยภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ

แพทย์อาจซักประวัติทางการแพทย์ และสอบถามอาการประกอบการวินิจฉัย เช่น การมีเหงื่อออกมาก และการอาเจียนอย่างต่อเนื่อง

อาการของ Hyponatremia ไม่มีลักษณะจำเพาะ แพทย์จึงไม่สามารถวินิจฉัยได้ชัดเจนจากการตรวจร่างกายหรืออาการที่เกิดขึ้น ดังนั้น อาจต้องส่งตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

  • การตรวจเลือดหาระดับโซเดียม เพื่อทดสอบการทำงานของฮอร์โมนไทรอยด์และฮอร์โมนคอร์ติซอล ซึ่งถูกปล่อยออกมาจากต่อมหมวกไต และตรวจการทำงานของไต
  • การตรวจค่าความเข้มข้นของเลือดและปัสสาวะตรวจหาออสโมแลลิตี (Osmolality) หรือความเข้มข้นของสารที่อยู่ในสารละลาย อาจช่วยระบุสาเหตุของการเกิด Hyponatremia ได้
  • การตรวจปัสสาวะเพื่อหาระดับโซเดียมในปัสสาวะที่อาจบ่งชี้สาเหตุของ Hyponatremia ได้

การรักษาภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ

การรักษา Hyponatremia ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะนี้ โดยในช่วงที่รักษา ผู้ป่วยอาจต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากแพทย์อาจจำเป็นต้องวัดชีพจร ตรวจความดันโลหิต รวมถึงใส่สายสวนปัสสาวะ เพื่อวัดปริมาณการขับออกของเหลว แต่หากผู้ป่วยมีภาวะโซเดียมในเลือดต่ำเฉียบพลัน หรือมีอาการรุนแรง ผู้ป่วยอาจต้องรับการรักษาดังต่อไปนี้

  • ให้โซเดียมเข้าทางหลอดเลือดดำ
  • งดให้ยาที่อาจทำให้ระดับโซเดียมในเลือดลดลง
  • งดให้ของเหลวชั่วคราว และให้ใช้ยาขับปัสสาวะ เพื่อช่วยเพิ่มระดับโซเดียมในเลือด (หากสาเหตุคือการรับน้ำเข้าสู่ร่างกายมากเกินไป)

ภาวะแทรกซ้อนของภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ

การเกิดภาวะแทรกซ้อนของ Hyponatremia จะแตกต่างกันตามระดับความรุนแรงของอาการ หากผู้ป่วยมีอาการที่ไม่รุนแรงมากนัก อาจเกิดผลข้างเคียงจากการป่วย เช่น เสี่ยงต่อการหกล้ม กระดูกหัก มีปัญหาเกี่ยวกับความจำ (ในผู้ป่วยสูงอายุ) เป็นต้น หากอาการรุนแรงมากขึ้น ผู้ป่วยอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น

  • สมองบวม ซึ่งอาจนำไปสู่การชัก หมดสติ หรือเสียชีวิตได้ (ในกรณีที่เกิด Hyponatremia แบบเฉียบพลัน)
  • ระบบประสาทเปลี่ยนแปลงอย่างถาวร หรือชัก (ในกรณีที่เกิด Hyponatremia แบบเรื้อรัง)

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วย Hyponatremia ควรได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย ในบางกรณี หากรักษาในอัตราที่เร็วเกินไป อาจทำให้เกิดภาวะบาดเจ็บของสมองเฉพาะส่วน (Central Pontine Myelinolysis) ซึ่งอาการจะปรากฏขึ้นหลังจากนั้น 2-4 วัน และอาจทำให้ผู้ป่วยเป็นอัมพฤกษ์ได้ พบบ่อยในผู้ป่วยที่ติดแอลกอฮล์ ได้รับการปลูกถ่ายตับ ผู้ป่วยหญิง และผู้ที่มีระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำ (Hypokalaemia)

การป้องกันภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ

มีวิธีต่าง ๆ ที่อาจช่วยป้องกันการเกิด Hyponatremia ได้ เช่น

  • ศึกษาสัญญาณอาการของ Hyponatremia เพื่อเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น เมื่อใช้ยาขับปัสสาวะ หรือเมื่อมีปัญหาสุขภาพที่อาจเพิ่มความเสี่ยงเกิด Hyponatremia
  • เมื่อต้องออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมที่ใช้แรงมาก ไม่ควรดื่มน้ำมากเกินไป ควรดื่มในปริมาณที่พอดี เพื่อทดแทนของเหลวที่สูญเสียไปเท่านั้น  
  • ปรึกษาแพทย์ก่อนว่าควรเลือกเครื่องดื่มเกลือแร่เพื่อดับกระหายแทนน้ำเปล่าหรือไม่ เพราะอิเล็กโทรไลต์จากเครื่องดื่มเกลือแร่อาจไม่จำเป็น หากไม่ได้ออกกำลังกายอย่างหนักมากจริง ๆ
  • ควรได้รับสารน้ำเกลือแร่ทดแทน หากเป็นโรคหรือภาวะที่อาจนำไปสู่ Hyponatremia เช่น อาเจียน หรือท้องเสีย เฉียบพลัน (โดยเฉพาะในเด็กและผู้สูงอายุ)
  • ก่อนใช้ยาขับปัสสาวะ ควรศึกษาผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นอย่างละเอียดก่อน เพราะยาขับปัสสาวะอาจทำให้เกิด Hyponatremia ได้ ผู้ป่วยบางรายอาจต้องตรวจระดับโซเดียมในเลือดหลังเริ่มใช้ยา 2-3 สัปดาห์ โดยเฉพาะผู้ที่เคยมีภาวะ Hyponatraemia มาก่อน
  • หากมีโรคประจำตัว หรืออาการป่วยที่อาจนำไปสู่ Hyponatremia ได้ ควรรับการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิด Hyponatremia ขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม วิธีการข้างต้นไม่อาจนำมาใช้ป้องกัน Hyponatremia ได้เสมอไป ในบางกรณี หากการป่วยมีสาเหตุจากฮอร์โมนภายในร่างกายเปลี่ยนแปลง ก็ไม่อาจป้องกันด้วยวิธีดังกล่าวได้