รู้จักกับการตรวจความเข้มข้นของเลือด

การตรวจความเข้มข้นของเลือด (Hematocrit Test) เป็นการวัดเปอร์เซ็นต์ความเข้มข้นของเซลล์เม็ดเลือดแดงที่มีอยู่ในเลือดทั้งหมด หากจำนวนเซลล์เม็ดเลือดแดงอยู่ในระดับผิดปกติอาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพบางอย่าง เนื่องจากเซลล์เม็ดเลือดแดงมีความสำคัญในการลำเลียงออกซิเจนไปยังอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย 

การตรวจความเข้มข้นของเลือด (Hematocrit Test) มักเป็นส่วนหนึ่งของการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete Blood Count : CBC) ในการตรวจสุขภาพทั่วไป โดยค่าความเข้มของเลือดที่สูงกว่าปกติอาจบ่งบอกถึงภาวะเลือดข้น และทางกลับกันค่าความเข้มของเลือดที่ต่ำกว่าปกติอาจบ่งบอกถึงภาวะเลือดจาง 

รู้จักกับการตรวจความเข้มข้นของเลือด

การตรวจความเข้มข้นของเลือดมีประโยชน์อย่างไร

จำนวนเซลล์เม็ดเลือดแดงในเลือดที่มากหรือน้อยเกินไปอาจบอกได้ถึงความผิดปกติของร่างกาย การตรวจความเข้มข้นของเลือดจะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคบางอย่างได้ง่ายขึ้น เช่น ภาวะเลือดจาง ภาวะเลือดข้น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ภาวะขาดน้ำ โรคไข้เลือดออก และโรคขาดสารอาหาร

นอกจากนี้ การตรวจความเข้มข้นของเลือดยังบอกได้ว่าร่างกายตอบสนองต่อการรักษาได้มากหรือน้อยอย่างไร เช่น ผู้ที่กำลังรับการรักษาโรคมะเร็งด้วยวิธีเคมีบำบัดหรือการฉายรังสีอยู่อาจมีความจำเป็นที่ต้องตรวจความเข้มข้นของเลือด เพื่อระวังการเกิดภาวะโลหิตจาง ซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็ง รวมถึงดูการตอบสนองของร่างกายต่อการรักษาโรคมะเร็งด้วย

การเตรียมตัวและขั้นตอนการตรวจความเข้มข้นของเลือด

การเตรียมตัวก่อนการตรวจความเข้มข้นของเลือดเหมือนกับการตรวจเลือดทั่วไป จึงไม่มีข้อที่ควรระวังเป็นพิเศษและไม่จำเป็นต้องอดอาหาร แต่ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนเข้ารับการตรวจหากเพิ่งได้รับการเปลี่ยนถ่ายเลือด กำลังตั้งครรภ์ หรือมีโรคประจำตัว เพราะอาจเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อระดับความเข้มข้นของเลือด 

ขั้นตอนการตรวจเข้มข้นของเลือดจะเริ่มจากการเก็บตัวอย่างเลือดก่อน ซึ่งจะใช้เวลาไม่เกิน 5 นาที โดยปกติแล้วจะเก็บตัวอย่างเลือดจากเส้นเลือดบริเวณข้อพับแขนหรือหลังมือ เจ้าหน้าที่จะใช้สายรัดรัดบริเวณต้นแขนเพื่อให้เห็นเส้นเลือดชัดขึ้นและเก็บตัวอย่างเลือด เมื่อได้จำนวนเลือดที่ต้องการแล้ว เจ้าหน้าที่จะปลดสายรัดออกแล้วปิดพลาสเตอร์ก็เป็นอันเสร็จสิ้น

หลังจากนั้นตัวอย่างเลือดจะถูกส่งไปที่ห้องปฏิบัติการเพื่อวิเคราะห์ผลความเข้มข้นของเลือด โดยความเข้มข้นของเลือดของวัยผู้ใหญ่จะอยู่ที่ประมาณ 38–50% ในเพศชาย และ 36–45% ในเพศหญิง ส่วนเด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 15 ปี จะมีความเข้มข้นของเลือดไม่คงที่และเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงอายุ หากผลความเข้มข้นของเลือดต่ำหรือสูงกว่านี้อาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าร่างกายมีความผิดปกติ 

การติดตามผลการตรวจความเข้มข้นของเลือด

ระยะเวลาที่ใช้รอผลการตรวจความเข้มข้นของเลือดขึ้นอยู่กับแต่ละโรงพยาบาล ตามปกติแล้วจะใช้เวลาประมาณ 1–2 ชั่วโมง หากผลความเข้มข้นของเลือดผิดปกติ แพทย์อาจให้ตรวจอย่างอื่นเพิ่มเติมขึ้นอยู่กับผลเลือดและดุลยพินิจของแพทย์ เพื่อหาสาเหตุที่ทำให้ความเข้มข้นของเลือดผิดปกติ เช่น ตรวจไขกระดูก หรือตรวจเลือดอย่างอื่นเพิ่มเติม

นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการตรวจความเข้มข้นของเลือดซ้ำในภายหลัง เพื่อติดตามว่าระดับความเข้มข้นของเลือดเป็นปกติหรือมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ซึ่งระยะเวลาที่ต้องกลับมาตรวจซ้ำอาจแล้วแต่บุคคล แต่อย่างน้อยมักจะตรวจปีละ 1 ครั้ง

ความเสี่ยงจากการตรวจความเข้มข้นของเลือด

การตรวจความเข้มข้นของเลือดค่อนข้างปลอดภัยและมีความเสี่ยงน้อย หลังจากการเจาะเลือดอาจรู้สึกเจ็บหรือเกิดรอยช้ำเล็กน้อยตรงบริเวณที่ถูกเจาะเลือด แต่ปกติแล้วอาการเจ็บหรือระคายเคืองจะเป็นอยู่ไม่นานก็หายไป ในกรณีที่มีอาการหน้ามืดหรือเลือดไม่หยุดไหล ควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่หรือแพทย์ทราบ