เชอรี่ ผลไม้กินง่ายกับประโยชน์ที่ยิ่งกว่า

เชอรี่หรือเชอร์รี่ (Cherry) เป็นผลไม้สีแดงสดที่คนไทยคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี โดยเฉพาะการรับประทานคู่กับไอศกรีมหรือของหวานประเภทต่าง ๆ แต่หลายคนอาจไม่ทราบว่าเชอรี่นั้นอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระและมีประโยชน์ต่อสุขภาพไม่แพ้ผลไม้ชนิดอื่น ซึ่งอาจช่วยบำรุงสุขภาพหัวใจและการทำงานของสมอง ฟื้นฟูร่างกายหลังการออกกำลังกาย และรักษาโรคนอนไม่หลับด้วย 

โดยปกติ เชอรี่จะแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ เชอรี่รสหวาน (Prunus avium L.) และเชอรี่รสหวานอมเปรี้ยว (Prunus cerasus L.) ซึ่งเชอรี่ทั้ง 2 กลุ่มนั้นอุดมไปด้วยสารอาหารสำคัญที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน เช่น ใยอาหาร วิตามินซี วิตามินเอ โพแทสเซียม แมงกานีส ทองแดง แมกนีเซียม เป็นต้น โดยเชอรี่รสหวานในปริมาณ 100 กรัม จะให้พลังงานอยู่ที่ 63 กิโลแคลอรี่ ซึ่งในปริมาณเดียวกันนี้ เชอรี่รสหวานอมเปรี้ยวจะให้พลังงานเพียง 50 กิโลแคลอรี่     

เชอรี่

คุณประโยชน์ของเชอรี่ 

สารอาหารสำคัญที่กล่าวไปข้างต้นอาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าผลไม้ชนิดอื่น จึงมีงานวิจัยบางส่วนที่ศึกษาเกี่ยวกับคุณสมบัติของเชอรี่ในด้านต่าง ๆ ไว้ ดังนี้

ต่อต้านอนุมูลอิสระ

เป็นที่ทราบกันดีว่าสารต้านอนุมูลอิสระนั้นอาจช่วยลดปริมาณอนุมูลอิสระอันเป็นต้นเหตุของอาการเจ็บป่วยมากมาย โดยสารชนิดนี้มักพบได้ในอาหาร โดยเฉพาะผักและผลไม้ เชอรี่เองก็เป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ จึงมีการศึกษาทดลองให้ผู้สูงอายุ 37 คน ดื่มน้ำเชอรี่รสหวานอมเปรี้ยวในปริมาณ 480 มิลลิลิตร ติดต่อกันนาน 12 สัปดาห์ ผลปรากฏว่า ผู้ทดลองมีค่าความดันโลหิตตัวบน (Systolic) และระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีลดลง ซึ่งอาจเป็นผลมาจากคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบของเชอรี่รสหวานอมเปรี้ยว 

อีกทั้งยังมีการค้นคว้าอีกจำนวนหนึ่งที่เผยให้เห็นว่า การบริโภคเชอรี่รสหวานและเชอรี่รสหวานอมเปรี้ยวอาจป้องกันและลดความเสียหายของเซลล์ที่เกิดจากอนุมูลอิสระ จึงช่วยเสริมสร้างสุขภาพให้ดีขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม ยังต้องขยายผลการศึกษาเพิ่มเติมในมนุษย์ เพื่อยืนยันประสิทธิภาพในด้านนี้และเกิดความเสี่ยงต่อร่างกายน้อยที่สุด

เพิ่มประสิทธิภาพความจำ

ความจำของมนุษย์อาจได้รับผลกระทบเนื่องมาจากสารอนุมูลอิสระ การอักเสบ และภาวะความดันโลหิตสูง ในขณะเดียวกัน เชอรี่นั้นถูกนำไปศึกษาแล้วพบว่าเป็นแหล่งสารต้านอนุมูลอิสระและอาจมีส่วนช่วยลดความดันโลหิตตัวบนได้ จึงถูกคาดการณ์ถึงประสิทธิภาพในการเพิ่มความจำ โดยมีงานวิจัยที่ให้ผู้สูงอายุ 37 คน ดื่มน้ำเชอรี่รสหวานอมเปรี้ยวเป็นประจำ ผลลัพธ์ที่ได้เผยว่า น้ำเชอรี่ดังกล่าวอาจช่วยเพิ่มความจำและความสามารถในการคิดวิเคราะห์ได้ 

เช่นเดียวกันกับงานวิจัยในหนูทดลองที่ได้บริโภคเชอรี่รสหวานอมเปรี้ยวเป็นระยะเวลา 6 สัปดาห์ พบว่าการรับประทานเชอรี่ประเภทนี้อาจช่วยเสริมความทรงจำเพื่อใช้งานและเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ให้ดีขึ้น ลดการอักเสบ และปรับสมดุลของเซลล์ในสมองส่วนฮิปโปแคมปัสด้วย แต่ก็ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาในมนุษย์และติดตามผลในด้านความปลอดภัยเพิ่มเติมต่อไป

ฟื้นฟูร่างกายหลังออกกำลังกาย

เชอรี่นั้นอุดมไปด้วยสารโพลีฟีนอล (Polyphenol) ซึ่งเชื่อว่าอาจเป็นประโยชน์ต่อการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่านักฟุตบอลชายจำนวน 16 คนที่รับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากเชอรี่รสหวานอมเปรี้ยวอาจช่วยฟื้นฟูร่างกายหลังจากออกกำลังในหลาย ๆ รูปแบบ อย่างการออกกำลังกายหลายท่าในระยะสั้น ๆ สลับกันหรือการออกกำลังกายที่เน้นใช้ความเร็วและออกแรงให้เต็มที่ แม้งานวิจัยข้างต้นแสดงถึงคุณสมบัติของเชอรี่ในการฟื้นฟูร่างกายแต่ยังเป็นการศึกษาในกลุ่มเล็ก จึงควรรอหลักฐานยืนยันที่แน่ชัดก่อนนำมาปรับใช้ในอนาคต 

บำรุงสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด

เนื่องจากสารโพลีฟีนอลจากเชอรี่รสหวานอมเปรี้ยวอาจมีคุณสมบัติส่งเสริมการทำงานของเซลล์เยื่อบุผนังหลอดเลือด และลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ จึงมีการค้นคว้าประสิทธิภาพของสารโพลีฟีนอลกับประโยชน์ต่อสุขภาพหัวใจในผู้ป่วยชายโรคความดันโลหิตสูงในระยะแรก 15 คน พบว่า การบริโภคเชอรี่รสหวานอมเปรี้ยวช่วยลดความดันโลหิตตัวบนลงอย่างมาก แต่การศึกษาข้างต้นยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะสนับสนุนประโยชน์ข้อนี้ หากต้องการบริโภคเชอรี่เพื่อวัตถุประสงค์รักษาโรคหรือเป็นยาบำรุง ควรปรึกษาแพทย์ถึงความปลอดภัยและความเสี่ยงก่อนใช้เสมอ

รักษาภาวะนอนไม่หลับ

การรักษาภาวะนอนไม่หลับถือเป็นอีกหนึ่งประสิทธิภาพของเชอรี่ที่มีผู้เชี่ยวชาญสนใจศึกษากันอย่างต่อเนื่อง ดังงานวิจัยหนึ่งในผู้สูงอายุจำนวน 8 คนที่มีปัญหานอนไม่หลับโดยให้ดื่มน้ำเชอรี่เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ ผลลัพธ์พบว่าสารสำคัญจากน้ำเชอรี่ช่วยให้ผู้ทดลองนอนหลับได้นานกว่าเดิมและมีคุณภาพการนอนหลับที่ดีขึ้น จึงอนุมานได้ว่าเชอรี่อาจมีส่วนช่วยบรรเทาภาวะนอนไม่หลับ

นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาหลายชิ้นชี้ให้เห็นว่า เชอรี่รสหวานอมเปรี้ยวอาจช่วยให้การนอนหลับดีขึ้น เพราะอุดมไปด้วยสารเมลาโทนินเข้มข้นที่ช่วยเรื่องการนอนหลับ และยังมีสารฟีโนลิกที่มีคุณสมบัติต้านอนมูลอิสระและต้านการอักเสบ ทั้งนี้ งานวิจัยดังกล่าวเป็นเพียงการศึกษาในกลุ่มเล็ก ๆ เท่านั้น จึงควรรองานวิจัยอื่นเพิ่มเติม หากในอนาคตมีงานวิจัยที่สามารถยืนยันประสิทธิผลในด้านนี้ได้อย่างชัดเจน จึงอาจนำผลไม้ชนิดนี้ไปต่อยอดเพื่อประโยชน์ด้านสุขภาพและใช้ได้อย่างปลอดภัย

ข้อควรระวังในการรับประทานเชอรี่

โดยทั่วไป การรับประทานเชอรี่ทั้ง 2 แบบจากในอาหารมักไม่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย แต่การรับประทานเชอรี่รสหวานในระยะยาวอาจส่งผลต่อร่างกายได้ เช่นเดียวกันกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากเชอรี่ที่ยังไม่มีการศึกษาค้นคว้ามากพอจะยืนยันถึงความปลอดภัยและความเสี่ยงหลังการบริโภค ผู้ที่สนใจรับประทานเพื่อหวังผลในการรักษาปัญหาสุขภาพ จึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรถึงการบริโภคในปริมาณและรูปแบบที่เหมาะสมก่อนเสมอ โดยเฉพาะเด็ก ผู้สูงอายุ คนท้อง และผู้ที่มีโรคประจำตัว 

ยิ่งไปกว่านั้น ผู้บริโภคเชอรี่ น้ำเชอรี่ หรือผลิตภัณฑ์จากเชอรี่ยังควรคำนึงถึงข้อควรระวังต่าง ๆ เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นตามมา เช่น

  • ผู้ที่มีอาการแพ้เชอรี่ไม่ควรรับประทานเชอรี่อย่างเด็ดขาด เพราะอาจเกิดอาการแพ้ที่รุนแรงและเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
  • น้ำเชอรี่อาจมีส่วนผสมของซอร์บิทอล (Sorbitol) หรือสารให้ความหวานชนิดหนึ่งในปริมาณมาก ซึ่งสารดังกล่าวอาจส่งผลให้ผู้บริโภคบางรายปวดท้องและท้องเสียได้
  • สารเควอซิทิน (Quercetin) จากในน้ำเชอรี่อาจไปทำปฏิกิริยากับยาบางชนิดโดยเฉพาะยาต้านการแข็งตัวของเลือด ผู้ที่กำลังใช้ยาจึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนการบริโภคน้ำผลไม้ชนิดนี้

สุดท้ายนี้ แม้เชอรี่จะเป็นผลไม้ที่ค่อนข้างปลอดภัยต่อสุขภาพของทุกคน แต่หากรับประทานแล้วเกิดความผิดปกติต่อร่างกายควรหยุดรับประทานและไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย รวมถึงรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป