เจลล้างมือ ความสะอาดฉบับพกพา

เจลล้างมือ เป็นผลิตภัณฑ์ทําความสะอาดมือแบบไม่ต้องล้างน้ำที่มีคุณสมบัติช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์และแบคทีเรีย โดยส่วนประกอบสำคัญของเจลล้างมือจะประกอบด้วยแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นแตกต่างกันออกไป เช่น เอทานอล (Ethanol) ไอโซโพรพานอล (Isopropanol) 1-โพรพานอล (n-propanol) เบนซาลโคเนียมคลอไรด์ (Benzalkonium Chloride) สำหรับส่วนผสมอื่นจะเป็นน้ำ น้ำหอม และกลีเซอรีน (Glycerine) นอกจากนี้ ยังมีเจลล้างมือชนิดที่ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ซึ่งใช้ทำความสะอาดมือกันทั่วไปเช่นเดียวกัน แต่เป็นที่นิยมน้อยกว่า

เจลล้างมือ

เจลล้างมือที่มีความเข้มข้นของเอทานอลอย่างน้อย 60% จะมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียได้เป็นส่วนใหญ่ เชื้อแบคทีเรียดื้อยาอย่างเชื้อเอ็มอาร์เอสเอ (MRSA) เชื้อรา เชื้อไวรัสบางชนิด เช่น เชื้อไข้หวัดใหญ่ เชื้อไวรัสเฮอร์พีส์ ซิมเพล็กซ์ที่ทำให้เกิดโรคเริม ไวรัสโรต้า หรือเชื้อเอชไอวี

ทำไมต้องใช้เจลล้างมือ

เจลล้างมือเป็นผลิตภัณฑ์ทําความสะอาดมือสำหรับใช้ในกรณีไม่สะดวกในการล้างมือด้วยน้ำและสบู่ ซึ่งเป็นวิธีทำความสะอาดที่มีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงจากการรับเชื้อโรคที่มือไปสัมผัสโดนโดยไม่รู้ตัว ซึ่งอาจทำให้เชื้อเข้าสู่ร่างกายและนำไปสู่การเกิดโรคได้ในภายหลัง ปัจจุบันจึงมักพบเห็นเจลล้างมือตามโรงพยาบาล สถานพยาบาล สถานที่มีคนอยู่อย่างหนาแน่น หรือบางคนอาจพกติดตัวไว้ในกระเป๋า อย่างไรก็ตาม หากมือเลอะคราบสกปรก ปนเปื้อนเลือดหรือของเหลวในร่างกายจากคนอื่นอย่างเห็นได้ชัดก็ควรหลีกเลี่ยงที่จะใช้เจลล้างมือ แต่ควรใช้การล้างมือด้วยน้ำและสบู่แทน

การศึกษาหลายชิ้นระบุว่า เจลล้างมือที่มีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ระหว่าง 60-95% ค่อนข้างมีประสิทธิภาพในการกำจัดเชื้อโรคได้มากกว่าสูตรที่มีแอลกอฮอล์ต่ำกว่าหรือไม่มีแอลกอฮอล์ผสมอยู่เลย  ขณะที่เจลล้างมือสูตรไม่มีแอลกอฮอล์ไม่สามารถป้องกันหรือยับยั้งเชื้อโรคบางชนิด และอาจทำให้เชื้อโรคเหล่านั้นดื้อต่อสารทำความสะอาดในเจลล้างมือมากขึ้น รวมถึงอาจทำให้เกิดการระคายเคืองกับผิวหนังมากกว่าสูตรผสมแอลกอฮอล์ เจลล้างมือส่วนใหญ่จึงมักใช้แอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบสำคัญ

เจลล้างมือจำเป็นจริงหรือไม่ ?

ความสะดวกสบายในการใช้งานและคุณสมบัติในการป้องกันเชื้อโรคของเจลล้างมือที่มักพบเห็นในโฆษณาทำให้คนนิยมใช้อย่างแพร่หลาย บางคนใช้จนกลายเป็นความเคยชินในชีวิตประจำวัน แท้จริงแล้วเจลล้างมือที่ใช้กันอยู่เป็นประจำมีความจำเป็นหรือใช้ทดแทนการล้างมือได้มากน้อยแค่ไหน

การล้างมือ และการใช้เจลล้างมือมีความสำคัญทั้งคู่ โดยการล้างมือจัดเป็นวิธีทำความสะอาดหลักที่ควรใช้เป็นวิธีแรก และการใช้เจลล้างมือเป็นเสมือนวิธีเสริมในบางสถานการณ์ที่ไม่สะดวกจะใช้น้ำและสบู่ อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพในการขจัดเชื้อโรคและความปลอดภัยของส่วนผสมในเจลล้างมือยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในหลายด้าน ซึ่งในทางการแพทย์ยังแนะนำว่า เจลล้างมืออาจเป็นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพในการลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อในกรณีที่ไม่สะดวกในการล้างมือด้วยน้ำ แต่ยังไม่สามารถทดแทนการล้างมือได้

ข้อดีและข้อควรระวังของการใช้เจลล้างมือ

ข้อดีของเจลล้างมือ

  • สะดวกสบายในการล้างมือโดยไม่ต้องใช้น้ำ พกพาได้ง่าย หยิบใช้ได้สะดวกตามต้องการ เนื่องจากเจลล้างมือถูกผลิตออกมาหลายรูปแบบ เพื่อตอบสนองการใช้งานที่แตกต่างกัน
  • ทำความสะอาดได้อย่างรวดเร็ว โดยใช้เวลาต่อครั้งเพียง 20- 30 วินาที ซึ่งน้อยกว่าการล้างมือแบบปกติ และมีขั้นตอนไม่ซับซ้อน
  • ป้องกันการแห้งกร้านของผิวหน้ง เนื่องจากมักมีสารให้ความชุ่มชื่นและอาจก่อให้เกิดการระเคืองน้อยกว่าการใช้สบู่และน้ำ
  • ประสิทธิภาพในการปกป้องและยับยั้งเชื้อโรคดีกว่าผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดทั่วไป

ข้อควรระวังหรือความเสี่ยงบางประการในการใช้เจลล้างมือ

  • ประสิทธิภาพของเจลล้างมืออาจลดลงเมื่อใช้ไม่ถูกวิธี เช่น ใช้แอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นต่ำกว่า 60% หรือถูเจลล้างมือไม่ทั่วถึง
  • ปริมาณในการใช้เจลล้างมือควรมีความเหมาะสม ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป หากระหว่างการใช้เจลล้างมือแล้วพบว่าเนื้อเจลแห้งในเวลาไม่ถึง 15 วินาที บ่งชี้ให้เห็นว่า เจลล้างมือที่ใช้มีปริมาณน้อยเกินไป และอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพในการกำจัดเชื้อโรค
  • เจลล้างมือไม่สามารถช่วยกำจัดสารเคมีได้่ เช่น ยาฆ่าแมลง โลหะหนัก รวมถึงเชื้อโรคบางชนิดอย่างเชื้อโนโรไวรัส (Norovirus)
  • ควรระมัดระวังการใช้เจลล้างมือกับเด็กเล็ก เพราะอาจเกิดอันตรายได้ง่ายจากการกลืนโดยไม่ตั้งใจ
  • กรณีที่มือสกปรกมาก มีความเปียกชื้นสูง หรือมีความมัน เช่น หลังการเล่นกีฬา ทำสวน หรือจับอาหาร เจลล้างมืออาจไม่มีประสิทธิภาพในการขจัดเชื้อโรคได้เพียงพอ

การใช้เจลล้างมืออย่างถูกต้อง

วิธีการใช้เจลล้างมือมักเป็นสิ่งที่หลายคนละเลยและคิดว่าเพียงแค่ถูมือไปมาก็สามารถปกป้องความสะอาดของมือได้อย่างทั่วถึง แต่ในความเป็นจริงอาจหลงเหลือเชื้อโรคและสิ่งสกปรกอยู่ อาจทำให้ประสิทธิภาพในการปกป้องเชื้อโรคของเจลล้างมือลดลง ซึ่งขั้นตอนการใช้เจลล้างมือที่ถูกต้อง มีดังนี้

  • กดหรือเทเจลล้างมือลงบนฝ่ามือ
  • ฝ่ามือถูฝ่ามือ-แบมือและถูฝ่ามือด้านในทั้ง 2 ข้างด้วยกันในลักษณะหมุนเป็นวงกลม
  • ฝ่ามือถูหลังมือและนิ้วถูซอกนิ้ว-นำมือข้างใดข้างหนึ่งซ้อนทับอีกข้าง โดยให้นิ้วแต่ละนิ้วอยู่ระหว่างกัน ถูกขึ้นลงบริเวณด้านหลังมือและซอกนิ้ว จากนั้นทำสลับกันกับอีกข้าง
  • ประกบฝ่ามือถูซอกนิ้ว-เอาฝ่ามือทั้ง 2 ข้างประสานกันในลักษณะที่แต่ละนิ้วคั่นกัน และถูขึ้นลง
  • หลังนิ้วมือถูฝ่ามือ-งอนิ้วมือทั้ง 2 ข้าง และเกี่ยวเข้ากับมืออีกข้าง โดยให้ปลายนิ้วทั้ง 2 มือสัมผัสกับฝ่ามือของแต่ละข้าง ถูไปมาจนรู้สึกว่ามือสะอาด
  • ถูนิ้วหัวแม่มือ-กางนิ้วหัวแม่โป้งก่อนใช้ฝ่ามืออีกข้างหุ้มนิ้วหัวแม่มือและถูขึ้นลง ทำให้สะอาดทั้งสองด้าน
  • ถูปลายนิ้วด้วยฝ่ามือ-แบมือข้างหนึ่ง แล้วใช้ปลายนิ้วมืออีกข้างถูที่ฝ่ามือเป็นลักษณะหมุนตามเข็มนาฬิกาและหมุนทวนเข็มนาฬิกา แล้วสลับข้างทำวิธีเดียวกัน