โนโรไวรัสกับการติดเชื้อที่ผู้ปกครองควรระวัง

โนโรไวรัส (Norovirus) จัดเป็นหนึ่งในไวรัสที่มักพบการติดเชื้อในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ และเป็นอันตรายต่อสุขภาพเพราะอาจทำให้เกิดอาการของโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน (Acute Gastroenteritis) เช่น ท้องเสีย ปวดท้อง อาเจียน 

โนโรไวรัสเป็นเชื้อที่แพร่กระจายได้ง่ายกว่าที่คิด ยิ่งหากอาการติดเชื้อโนโรไวรัสค่อนข้างรุนแรงอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะขาดน้ำ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ในภายหลังหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ผู้ปกครองจึงควรทราบข้อมูลเกี่ยวกับการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้เพื่อความปลอดภัยของลูกน้อย 

โนโรไวรัสกับการติดเชื้อที่ผู้ปกครองควรระวัง

โนโรไวรัสแพร่กระจายได้อย่างไร

โนโรไวรัสสามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนผ่านทางสารคัดหลั่งต่าง ๆ เช่น น้ำลาย อาเจียน หรืออุจจาระ ทำให้เด็กอาจได้รับโนโรไวรัสเข้าสู่ร่างกายจากการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยหรือผู้ที่มีเชื้ออยู่บนร่างกาย 

นอกจากนี้ ก็ยังสามารถแพร่กระจายผ่านการรับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มที่มีเชื้อโนโรไวรัสปนเปื้อน และการสัมผัสพื้นผิวที่มีไวรัสอยู่แล้วเอามือเข้าปาก ซึ่งไวรัสดังกล่าวสามารถมีชีวิตและแพร่กระจายตามพื้นผิวได้นาน 2–3 วัน

อาการติดเชื้อโนโรไวรัสที่ผู้ปกครองควรสังเกต

เด็กที่ได้รับโนโรไวรัสเข้าสู่ร่างกายจะแสดงอาการในเวลาประมาณ 12–48 ชั่วโมงหลังได้รับเชื้อ และจะมีอาการต่อไปนี้อยู่เป็นเวลาประมาณ 1–3 วัน

ลูกน้อยติดเชื้อโนโรไวรัส ดูแลได้อย่างไรบ้าง

หากเด็กเริ่มแสดงอาการของการได้รับเชื้อโนโรไวรัสเข้าสู่ร่างกาย ผู้ปกครองสามารถดูแลเด็กได้เองที่บ้าน โดยควรให้เด็กได้นอนหลับพักผ่อนอย่างเต็มที่ ทดแทนน้ำที่เสียไปจากการอาเจียนหรืออุจจาระด้วยการให้เด็กดื่มน้ำในปริมาณมาก และควรดื่มเกลือแร่แก้ท้องเสียหรือโออาร์เอส (ORS) ตามปริมาณที่ระบุไว้บนฉลากทุกครั้งหลังอาเจียนหรือหลังขับถ่ายอุจจาระเป็นน้ำ  

นอกจากนี้ ผู้ปกครองควรให้เด็กรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ผ่านการปรุงอย่างถูกสุขลักษณะ เช่น เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไข่ มัน ขนมปัง ข้าวหรือซุป เพื่อเพิ่มพลังงานให้แก่ร่างกายและทดแทนสารอาหารที่เสียไปด้วยเช่นกัน หากเป็นผักผลไม้สดควรล้างทำความสะอาดเสียก่อน 

แต่หากสังเกตเห็นว่าเด็กอาเจียนหรือท้องเสียอย่างรุนแรง มีอาการของโรคติดต่อกันหลายวัน ไม่กินอาหารหรือดื่มน้ำ อาเจียนหรืออุจจาระเป็นเลือด และมีอาการของภาวะขาดน้ำ เช่น ปากและคอแห้ง หัวใจเต้นเร็ว ปวดหัว เวียนหัว อ่อนเพลีย ง่วงซึม ปัสสาวะเป็นสีเข้มหรือปัสสาวะน้อยลง ควรนำตัวส่งโรงพยาบาลเพื่อให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดและสังเกตอาการในโรงพยาบาลอย่างใกล้ชิด

แม้ว่ายังไม่มีวัคซีนป้องกันการติดเชื้อโนโรไวรัสได้โดยตรง แต่ผู้ปกครองควรสอนให้ลูกล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหาร รับประทานอาหารที่ปรุงสุก ล้างผักผลไม้สดก่อนรับประทาน ทำความสะอาดพื้นผิวที่มีคนสัมผัสบ่อย ไม่ใช้ผ้าเช็ดตัวร่วมกับผู้อื่น และหลีกเลี่ยงการให้เด็กอยู่ใกล้ชิดกับคนป่วยหรือผู้ที่มีอาการติดเชื้อโนโรไวรัส เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโนโรไวรัสให้ได้มากที่สุด