เควอซิทิน (Quercetin)

เควอซิทิน (Quercetin)

Quercetin (เควอซิทิน) เป็นสารฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) ชนิดหนึ่งที่มักพบในผักหรือผลไม้ เช่น หัวหอม คะน้า แอปเปิ้ล องุ่น ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ และผลไม้รสเปรี้ยว มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดการอักเสบ การติดเชื้อ และช่วยปกป้องเซลล์ไม่ให้เกิดการอักเสบเสียหายจากปฏิกิริยาของอนุมูลอิสระ จึงอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคร้ายแรงต่าง ๆ ได้

Quercetin ในรูปแบบของอาหารเสริมมักใช้รับประทานเพื่อช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน บรรเทาอาการอักเสบ และเสริมสร้างประสิทธิภาพในการออกกำลังกาย รวมถึงอาจมีสรรพคุณในการช่วยบรรเทาหรือลดความเสี่ยงในการเกิดโรคภูมิแพ้ โรคหลอดเลือดหัวใจ หรือโรคมะเร็งด้วย แต่ยังต้องการการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับประสิทธิภาพของ Quercetin ในมนุษย์อีกมาก

เกี่ยวกับ Quercetin

กลุ่มยา อาหารเสริม
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่สามารถหาซื้อได้เอง
สรรพคุณ ต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบ
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร ยังไม่มีการจัดหมวดหมู่ของยาชนิดนี้จากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาหรือ FDA ซึ่งยาอาจส่งผลกระทบต่อมารดาหรือทารกในครรภ์ได้
รูปแบบของยา ยารับประทาน

คำเตือนในการใช้ Quercetin

เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้ใช้ยาควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากมีประวัติการแพ้ยาหรือส่วนประกอบของ Quercetin รวมถึงยาชนิดอื่น ๆ เพราะอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อร่างกาย
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากวางแผนที่จะตั้งครรภ์ กำลังตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาต่อทารกในครรภ์หรือเด็กแรกแรกคลอดที่ดื่มนมแม่
  • การรับประทาน Quercetin เกินวันละประมาณ 1,000 มิลลิกรัม อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงบางประการ เช่น ปวดหัว ปวดท้อง หรือรู้สึกเสียวแปลบบริเวณแขนและขา
  • ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับไต ไม่ควรรับประทาน Quercetin เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ รวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัวอื่น ๆ ก็ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานยานี้ด้วย

ปริมาณการใช้ Quercetin

Quercetin ในรูปแบบของอาหารเสริมสามารถรับประทานได้อย่างปลอดภัยในคนทั่วไป โดยแนะนำให้รับประทานในปริมาณ 500–1,000 มิลลิกรัม/วัน และแบ่งรับประทานเป็นวันละ 2–3 ครั้ง แต่ไม่ควรรับประทานติดต่อกันเป็นระยะเวลานานเกิน 12 สัปดาห์ เพราะยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่าการรับประทานติดต่อกันเป็นระยะเวลานานเกิน 12 สัปดาห์จะปลอดภัยและไม่ส่งผลกระทบที่ร้ายแรงต่อสุขภาพ

การใช้ Quercetin

โดยปกติคนเราจะได้รับ Quercetin ผ่านการรับประทานอาหารจำพวกผักหรือผลไม้อยู่แล้ว แต่ในกรณีของผู้ที่จำเป็นต้องได้รับ Quercetin ผ่านการรับประทานอาหารเสริม ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของวิตามินซีหรือเอนไซม์จากพืช เช่น โบรมีเลน (Bromelain) เพราะสารอาหารเหล่านี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซึม Quercetin เข้าสู่ร่างกาย 

การรับประทานอาหารเสริมควรรับประทานตามคำแนะนำของแพทย์ เภสัชกร หรือคำแนะนำบนฉลากอย่างเคร่งครัด ไม่ควรรับประทานในปริมาณที่มากเกินไป หรือรับประทานติดต่อกันเป็นเวลานานเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อสุขภาพได้ รวมถึงยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่าการรับประทาน Quercetin ติดต่อกันเป็นเวลานานจะไม่ทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว

การเก็บรักษา Quercetin ควรเก็บตามคำแนะนำบนฉลากเพื่อป้องกันไม่ให้ยาเสื่อมสภาพ รวมถึงไม่ควรรับประทานยาที่เก็บด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะสมหรือเก็บไว้นานจนเกินไป เพราะตัวยาอาจเสื่อมสภาพ ทำให้เมื่อรับประทานไปแล้วไม่ได้ประสิทธิภาพเท่าที่ควร

ปฏิกิริยาระหว่าง Quercetin กับยาอื่น

เควอซิทินอาจทำปฏิกิริยากับยา วิตามิน หรือสมุนไพรบางชนิด ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรือทำให้ยามีประสิทธิภาพลดลง โดยเฉพาะยาต่อไปนี้

  • กลุ่มยาคาร์ดิแอก ไกลโคไซด์ (Cardiac Glycoside) เช่น ยาไดจอกซิน (Digoxin)
  • ยาปฏิชีวนะกลุ่มยาควิโนโลน (Quinolone) เช่น ยานอร์ฟลอกซาซิน (Norfloxacin)
  • ยามิดาโซแลม (Midazolam) เพราะอาจลดความเข้มข้นของยา
  • ยาวาฟาริน (Warfarin) เพราะอาจเพิ่มความเข้มข้นของยา
  • ยาเฟกโซเฟนาดีน (Fexofenadine) เพราะอาจเพิ่มความเข้มข้นของยา
  • ยาไซโคลสปอริน (Cyclosporine) เพราะอาจเพิ่มผลข้างเคียงของยา
  • ยาไดโคลฟีแนค (Diclofenac) เพราะอาจเพิ่มผลข้างเคียงของยา
  • คาเฟอีนและยาที่มีส่วนประกอบของคาเฟอีน เพราะอาจเพิ่มความเข้มข้นของยา
  • ยารักษาโรคเบาหวาน เพราะอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำลงมากจนเกินไป
  • ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง เพราะอาจทำให้ความดันโลหิตลดต่ำลงมากจนเกินไป
  • สมุนไพรหรืออาหารเสริมที่มีฤทธิ์ลดความดันโลหิต เช่น ฟ้าทะลายโจร 

ตัวอย่างยาดังข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่อาจทำปฏิกิริยากับ Quercetin เท่านั้น หากผู้ป่วยกำลังใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์ใด ๆ อยู่ ควรแจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบก่อนเสมอ เพื่อความปลอดภัยต่อร่างกาย

ผลข้างเคียงจากการใช้ Quercetin

การรับประทาน Quercetin ในรูปแบบของอาหารเสริมค่อนข้างปลอดภัยสำหรับคนทั่วไป จากงานวิจัยพบว่าอาจสามารถรับประทานในปริมาณสูงถึง 1,000 มิลลิกรัม/วัน ติดต่อกันนาน 12 สัดาห์โดยไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ร้ายแรงต่อร่างกายเลยทีเดียว

แต่การรับประทาน Quercetin อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงทั่วไป เช่น วิงเวียนศีรษะ ตามัว ปวดท้อง ท้องอืด ท้องผูก ท้องเสีย รู้สึกหนักที่ขา เท้าและข้อเท้าบวม ผิวแดงหรือตกสะเก็ด และหัวใจเต้นช้าหรือเร็ว ซึ่งผลข้างเคียงเหล่านี้สามารถหายได้เองโดยไม่จำเป็นต้องรับการรักษาจากแพทย์

อย่างไรก็ตาม หากอาการเหล่านี้ไม่ยอมหายไปหรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ที่รุนแรง รวมถึงมีสัญญาณของการแพ้ยาเกิดขึ้น เช่น ผื่นคัน ลมพิษ หรือมีอาการบวมที่ใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น และลำคอ ควรรีบไปพบแพทย์โดยทันที