เคล็ดไม่ลับเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ต้านเชื้อโควิด-19

การล้างมือ การสวมหน้ากากอนามัย และการเว้นระยะห่างทางสังคมเป็นข้อปฏิบัติที่จำเป็นและช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 ได้ แต่นอกจากการป้องกันเชื้อจากภายนอกแล้ว การเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายก็สำคัญไม่แพ้กัน โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว อย่างโรคหัวใจ โรคเบาหวาน หรือโรคปอด เพราะอาจเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนจากโรคโควิด-19 ได้สูงกว่าคนทั่วไป

ระบบภูมิคุ้มกันเป็นเสมือนหน่วยรบของร่างกายที่จะทำหน้าที่ต่อสู้กับศัตรู ในที่นี้หมายถึงสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกายอย่างเชื้อไวรัส หากระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรง ร่างกายก็สามารถฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดจากเชื้อและอาจลดการเสียชีวิตได้ ซึ่งการเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันทำได้หลายวิธี โดยในบทความนี้ ได้รวบรวมเคล็ดลับดี ๆ ที่ช่วยสร้างความแข็งแรงให้กับร่างกายและระบบภูมิคุ้มกันมาให้ศึกษากัน

2650-ภูมิคุ้มกัน-โควิด-19

สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน

โดยปกติแล้ว ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรคชนิดต่าง ๆ หลังจากหายป่วยจากโรคติดเชื้อเหล่านั้น เมื่อเกิดการติดเชื้อชนิดเดียวกันซ้ำในครั้งถัดไปก็จะทำให้ร่างกายสามารถตอบสนองต่อเชื้อได้ดีขึ้น เช่น หลายคนที่เคยป่วยจากการได้รับเชื้อไข้หวัดใหญ่ ร่างกายจะจดจำเชื้อดังกล่าว แต่เมื่อหายจากโรคแล้วเกิดการติดเชื้อขึ้นซ้ำ ผู้ป่วยจะมีอาการรุนแรงน้อยลงและฟื้นตัวได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งคล้ายกับการฉีดวัคซีนป้องกันโรค   

แต่สำหรับโรคติดเชื้อโควิด-19 หรือเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่เพิ่งถูกค้นพบอาจทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายต้องใช้เวลาสร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อชนิดใหม่ โดยจะมีทั้งผู้ที่กำจัดเชื้อได้และกำจัดไม่ได้ ทำให้ความรุนแรงของผู้ป่วยแตกต่างกัน ด้วยเหตุนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีอาการผิดปกติหรือมีอาการไม่รุนแรง แต่ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต อีกทั้งยังมีปัจจัยสำคัญที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตในผู้ป่วยคือยังไม่มียารักษาเฉพาะโรค เนื่องจากการผลิตยาและวัคซีนจำเป็นต้องใช้เวลาในการศึกษาทดลอง เพื่อให้ได้มาตรฐานด้านความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ

แม้ว่าระบบภูมิคุ้มกันเพียงอย่างเดียวไม่สามารถป้องกันเชื้อโควิด-19 ได้ แต่การเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายนั้นก็จำเป็นอยู่ เพราะจะช่วยลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนอันตรายอย่างอาการปอดบวมที่อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอหรือมีโรคประจำตัวอื่น ๆ เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ภาวะความดันโลหิตสูง โรคปอด เป็นต้น นอกจากนี้ ภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงอาจช่วยลดความรุนแรงของโรคติดเชื้อ อย่างโรคไข้หวัดและโรคไข้หวัดใหญ่ จึงอาจช่วยลดภาวะแทรกซ้อนอันตรายเมื่อเกิดการติดเชื้อจากทั้งโรคโควิด-19 และโรคติดเชื้ออื่น ๆ

วิธีเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ต้านเชื้อโควิด-19

การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถทำได้ เพียงปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์หรือการใช้ชีวิตให้เหมาะสมและดีต่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น 

รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลาย

เลือกรับประทานอาหารบางประเภท โดยให้เน้นอาหารที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่ช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกัน เช่น  

  • วิตามินซี
    วิตามินซีหรือกรดแอสคอร์บิก (Ascorbic Acid) เป็นสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายหลายด้าน ทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยให้ร่างกายทำงานได้เป็นปกติ ป้องกันความเสียหายของเซลล์ มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ช่วยในการสร้างและการทำงานของเม็ดเลือดขาว จึงส่งผลให้การกำจัดเชื้อหรือสิ่งแปลกปลอมภายในร่างกายมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยจากการศึกษาพบว่าวิตามินซีอาจช่วยลดระยะเวลาและความรุนแรงของโรคไข้หวัดได้ แต่ผลการศึกษาก็ระบุเพิ่มเติมว่าอัตราการลดลงของโรคหวัดจากการใช้วิตามินซีรูปแบบอาหารเสริมในกลุ่มคนทั่วไปนั้นยังไม่แน่ชัด

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยพบว่าการฉีดวิตามินซีเข้าหลอดเลือดดำถูกนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการรักษาอาการปอดบวมอย่างรุนแรงในผู้ป่วยโรคไข้หวัดหมู (Swine Flu) ซึ่งอาการปอดบวมก็อาจเกิดขึ้นในผู้ป่วยโรคโควิด-19 ได้เช่นกัน ในปัจจุบันจึงมีการทดลองใช้วิตามินซีเป็นการรักษาเสริมในผู้ป่วยโรคโควิด-19 ด้วย แต่การรักษาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการทดลองเท่านั้น จึงไม่สามารถยืนยันสรรพคุณของวิตามินซีต่อเชื้อโรคชนิดใหม่นี้ได้

วิตามินซีสามารถพบได้ในผักผลไม้หลายชนิด เช่น ฝรั่ง ส้ม มะนาว ลิ้นจี่ เลมอน สตรอเบอร์รี่ แคนตาลูป มะม่วง มะละกอ สับปะรด มะเขือเทศ บร็อคโคลี่ ดอกกะหล่ำ และผักปวยเล้ง

  • วิตามินดี
    วิตามินดีเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อระบบภูมิคุ้มกัน เมื่อร่างกายขาดวิตามินดีจะส่งผลให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงและอาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อภายในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งโรคโควิด-19 ก็เป็นโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจชนิดหนึ่ง หากเกิดภาวะขาดวิตามินดีก็อาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคนี้ได้เช่นเดียวกัน แม้ว่าในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชี้ว่าวิตามินดีสามารถป้องกันหรือลดความเสี่ยงการติดเชื้อโควิด-19ได้ แต่การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันก็ยังเป็นสิ่งสำคัญอยู่ดี 

โดยจากการศึกษาส่วนหนึ่งที่ให้ผู้เข้าร่วมการทดลองรับประทานอาหารเสริมวิตามินดีติดต่อกันระยะเวลาหนึ่ง พบว่าระบบภูมิคุ้มกันของผู้เข้าร่วมการทดลองมีการตอบสนองที่ดีขึ้น จึงอาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจแบบเฉียบพลันหรือช่วยให้ร่างกายสู้กับเชื้อโรคได้ดีขึ้น

ร่างกายมนุษย์สามารถสังเคราะห์วิตามินดีได้จากการที่ผิวหนังโดนแสงแดดอ่อนในช่วงเช้าก่อนเวลา 10 โมงหรือในช่วงเย็นที่แดดไม่แรง โดยเวลาที่เหมาะสมในการรับแดด คือ 5-30 นาทีต่อครั้ง อย่างน้อย 2 ครั้งต่อสัปดาห์ รวมไปถึงสามารถได้รับจากอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ไข่ไก่ เห็ด ปลาทะเล ถั่วเหลือง อัลมอนด์ นม โยเกิร์ต และชีส อย่างไรก็ตาม ร่างกายคนเราต้องการวิตามินดีในปริมาณที่เล็กน้อยเท่านั้น หากได้รับมากเกินไปอาจส่งผลเสียแทนได้ โดยเฉพาะจากการรับประทานอาหารเสริม

  • สังกะสี
    สังกะสีหรือซิงค์ (Zinc) เป็นแร่ธาตุที่จำเป็นต่อระบบภูมิคุ้มกันและการทำงานของร่างกายหลายส่วน โดยเชื่อกันว่าการได้รับสังกะสีในปริมาณที่เหมาะสมอาจช่วยให้ร่างกายรับมือกับเชื้อโรคและการติดเชื้อได้ดีขึ้น จากการศึกษาภาพรวมเกี่ยวกับสรรพคุณของสังกะสีพบว่า นอกจากคุณสมบัติข้างต้นแล้ว สังกะสีอาจช่วยต้านการอักเสบภายในร่างกาย ซึ่งเชื้อโควิด-19 สามารถกระตุ้นให้เกิดการอักเสบภายในระบบทางเดินหายใจ ดังนั้น การได้รับสังกะสีอย่างเพียงพอก็อาจช่วยลดการอักเสบและความรุนแรงของโรคได้

นอกจากนี้ สังกะสียังอาจช่วยลดความรุนแรงและระยะเวลาการป่วยจากโรคหวัดได้คล้ายวิตามินซี และอาจใช้ในการรักษาโรคอื่น ๆ เช่น เริม ไขมันในเลือดสูง โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ และภาวะติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งโรคเหล่านี้ล้วนเกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันและการอักเสบ

อย่างไรก็ตาม สรรพคุณเหล่านี้เป็นเพียงผลจากการศึกษา ไม่ใช่วิธีการรักษาหลัก และยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะยืนยันแน่ชัดถึงประโยชน์ในการรักษาโรค เพียงแต่อาจช่วยเสริมสุขภาพให้แข็งแรงและช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยสังกะสีสามารถพบได้ในอาหารประเภทเนื้อสัตว์ หอยนางรม ธัญพืชขัดสีน้อย (Whole Grains) พืชตระกูลถั่ว และถั่วเปลือกแข็ง อย่างอัลมอนด์และวอลนัท

โดยส่วนใหญ่แล้ว การรับประทานสารอาหารเหล่านี้จากอาหารค่อนข้างปลอดภัย แต่หากต้องการใช้อาหารเสริมควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ นอกจากนี้ การรับประทานอาหารควรใช้ช้อนกลาง รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ หรืออุ่นซ้ำก่อนรับประทานเสมอเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรายงานที่ยืนยันว่าสารอาหารเหล่านี้ป้องกันการติดเชื้อได้ แต่ถึงอย่างนั้น ระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงอาจช่วยลดระยะเวลาและความรุนแรงของการเจ็บป่วยได้ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญสำหรับผู้มีโรคประจำตัวและผู้สูงอายุ เพราะหากติดเชื้อแล้วมักมีแนวโน้มจะเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงกว่าคนกลุ่มอื่น

ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม

การออกกำลังกายไม่ว่าจะรูปแบบใดก็สามารถสร้างความแข็งแรงให้กับร่างกาย ส่งผลดีต่อการทำงานของร่างกายหลายระบบ ทั้งหัวใจ การไหลเวียนเลือด รวมไปถึงระบบภูมิคุ้มกัน โดยการออกกำลังกายอาจช่วยเพิ่มการกระจายของเม็ดเลือดขาวและแอนติบอดี (Antibody) หรือสารภูมิคุ้มกันในร่างกาย เมื่อมีการกระจายของเม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้นก็อาจช่วยให้พบเชื้อได้เร็วและแสดงอาการได้เร็วขึ้น จึงอาจเข้ารับการรักษาได้ทันท่วงที นอกจากนี้ ยังเชื่อกันว่าอุณหภูมิร่างกายที่เพิ่มสูงในขณะออกกำลังกายอาจช่วยป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อโรคที่อยู่ภายในร่างกาย คล้ายกับกลไกของร่างกายเมื่อเป็นไข้ แตความเชื่อเหล่านี้เป็นเพียงทฤษฎีที่ยังไม่มีการสรุปแน่ชัดของความสัมพันธ์ระหว่างการออกกำลังกายกับการป้องกันโรค

อีกทั้งการออกกำลังกาย โดยเฉพาะการคาร์ดิโอ (Cardio) จะช่วยควบคุมน้ำหนักและเผาผลาญไขมันส่วนเกินที่อาจเป็นสาเหตุของการเจ็บป่วย รวมถึงระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอลงด้วย เพราะจากผลจากงานวิจัยชี้ว่าภาวะไขมันในเลือดสูงมีส่วนทำให้ภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติและเกิดการอักเสบในร่างกาย ซึ่งผู้ที่มีโรคประจำตัว อย่างโรคหัวใจ โรคอ้วน ภาวะดื้อต่ออินซูลิน โรคภูมิแพ้ตัวเอง (Autoimmune Disease) และโรคติดเชื้อที่ทำให้เกิดการอักเสบอย่างเชื้อโควิด-19 ก็อาจมีอาการที่รุนแรงขึ้นได้หากมีปริมาณไขมันมากเกินไป

ดังนั้น การออกกำลังกายอาจช่วยให้ร่างกายแข็งแรงและทนทานต่อเชื้อโรคได้มากขึ้น เราจึงควรออกกำลังกายเป็นประจำ โดยอาจเริ่มจากกิจกรรมที่ทำได้เองที่บ้าน เช่น วิ่งบนลู่วิ่งไฟฟ้า โยคะ เวทเทรนนิ่ง บอดีเวทเทรนนิ่ง หรือออกกำลังกายตามวิดีโอในสื่อออนไลน์ แต่ก็ควรออกกำลังกายอย่างเหมาะสมและไม่หักโหมจนเกินไปเพื่อป้องกันการบาดเจ็บ

นอนหลับให้เพียงพอ

การนอนพักผ่อนที่เพียงพอไม่เพียงช่วยลดความเหนื่อยล้าของร่างกายและสมอง อีกทั้งยังช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้เป็นปกติ เพราะร่างกายจะมีการผลิตและหลั่งสารไซโตไคน์ (Cytokines) ในระหว่างที่เรานอนหลับ โดยสารชนิดนี้มีหน้าที่สำคัญในการต่อสู้กับเชื้อโรคด้วยการช่วยรักษาและเพิ่มการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน แต่หากนอนหลับไม่เพียงพอก็อาจส่งผลให้ปริมาณไซโตไคน์ลดน้อยลง รวมถึงประสิทธิภาพการทำงานของภูมิคุ้มกันที่ต่ำลงด้วย

ดังนั้น ในสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาด นอกจากการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และออกกำลังกายอย่างเหมาะสมแล้ว การนอนหลับพักผ่อนเพื่อฟื้นฟูร่างกายก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เพียงเท่านี้ ระบบภูมิคุ้มกันก็จะแข็งแรง ลดอัตราการเจ็บป่วย และลดความรุนแรงของโรคลง โดยวัยผู้ใหญ่ควรนอนหลับประมาณ 7-9 ชั่วโมงต่อวัน และผู้สูงอายุควรนอนหลับประมาณ 7-8 ชั่วโมงต่อวัน

นอกจากสุขภาพกายแล้วสุขภาพจิตก็สำคัญ ความเครียดและอารมณ์ทางด้านลบอาจส่งผลรบกวนการทำงานของภูมิคุ้มกันและสุขภาพโดยรวมได้ ดังนั้น ควรหากิจกรรมผ่อนคลายความเครียด อย่างอ่านหนังสือ ออกกำลังกาย ดูหนัง ฟังเพลง ทำอาหาร หรือทำสวน 

อย่างไรก็ตาม แม้สุขภาพร่างกายจะแข็งแรง แต่ก็ยังจำเป็นต้องลดความเสี่ยงด้วยการหลีกเลี่ยงที่คนเยอะ สวมหน้ากากอนามัยเมื่อเข้าไปในที่สาธารณะ และล้างมือด้วยสบู่อย่างน้อย 20 วินาทีต่อครั้งหรือแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือเป็นประจำเพื่อป้องกันเชื้อโรค สำหรับผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ควรระมัดระวังตนเองเป็นพิเศษ หรือหากสมาชิกในครอบครัวอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ควรดูแลเอาใจใส่และให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันโรคให้มากขึ้น เพียงเท่านี้ก็จะปลอดภัยจากเชื้อโควิด-19 และเชื้อโรคร้ายชนิดอื่น ๆ แล้ว