อาหารคอเลสเตอรอลสูง ข้อควรรู้และตัวอย่างอาหารที่ควรเลี่ยง

อาหารคอเลสเตอรอลสูง เป็นกลุ่มอาหารที่ผู้ที่มีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงควรทำความรู้จักและหลีกเลี่ยง เนื่องจากการเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสมถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการควบคุมระดับคอเลสเตอรอลในเลือด เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะหัวใจขาดเลือด และโรคหลอดเลือดสมอง

คอเลสเตอรอล คือไขมันชนิดหนึ่งที่พบได้ในเซลล์ต่าง ๆ ของร่างกาย มีหน้าที่หลายอย่าง เช่น เป็นส่วนสำคัญในการสร้างฮอร์โมนและวิตามินดี โดยร่างกายจะได้รับไขมันชนิดนี้หลัก ๆ จากการผลิตของตับและการรับประทานอาหารที่มีคอเลสเตอรอล อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นส่วนสำคัญของร่างกาย แต่การมีไขมันนี้มากเกินไปก็อาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้เช่นกัน

อาหารคอเลสเตอรอลสูง

อาหารคอเลสเตอรอลสูงที่ควรหลีกเลี่ยง

แม้การมีระดับคอเลสเตอรอลในร่างกายสูงจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ แต่การรับประทานอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูงก็ไม่ใช่สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงเสมอไป เนื่องจากสาเหตุหลัก ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มของระดับคอเลสเตอรอลในร่างกายมักเกี่ยวข้องกับการได้รับไขมัน 2 ชนิดมากเกินไป ได้แก่ ไขมันอิ่มตัว และไขมันทรานส์

นอกจากนี้ หากเลือกรับประทานอาหารที่มีคอเลสตอลรอลสูงให้ถูกชนิดและในปริมาณที่เหมาะสม การรับประทานอาหารที่มีคอเลสเตอรอลก็ยังอาจช่วยให้ร่างกายได้รับประโยชน์อยู่เช่นกัน

ดังนั้น อาหารคอเลสเตอรอลสูงที่ควรจำกัดปริมาณการรับประทาน หรือควรหลีกเลี่ยงก็จะเป็นกลุ่มอาหารที่มีทั้งคอเลสเตอรอลสูงและมีไขมันอิ่มตัวกับไขมันทรานส์อยู่ด้วย โดยตัวอย่างอาหารในกลุ่มนี้ก็เช่น

1. สัตว์เนื้อแดง

แม้สัตว์เนื้อแดง เช่น เนื้อวัว และเนื้อหมู จะเป็นกลุ่มอาหารที่มีสารอาหารที่ดีต่อร่างกายมากมายหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นโปรตีน ธาตุเหล็ก วิตามินบี 12 และสารอื่น ๆ อีกมากมาย แต่อาหารในกลุ่มนี้ก็ยังเป็นอาหารที่มีคอเลสเตอรอลและไขมันอิ่มตัวที่ค่อนข้างสูง

ดังนั้น อาหารกลุ่มนี้ก็ยังเป็นอาหารที่ผู้ที่ต้องการควบคุมระดับคอเลสเตอรอลสามารถรับประทานได้ แต่ก็ให้จำกัดปริมาณการรับประทานให้เหมาะสม และพยายามเลือกเนื้อส่วนที่ไม่ติดมันเป็นหลัก หรืออาจจะปรึกษาแพทย์ผู้รักษาก่อนถึงปริมาณการรับประทานที่เหมาะสม เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ 

2. เครื่องในสัตว์

แม้เครื่องในสัตว์ เช่น ตับสัตว์ จะมีสารอาหารที่มีประโยชน์อยู่หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นโปรตีน ธาตุเหล็ก และสังกะสี แต่อาหารกลุ่มนี้ก็ถือเป็นกลุ่มอาหารที่มีปริมาณคอเลสเตอรอลที่ค่อนข้างสูงเช่นกัน ดังนั้น ผู้ที่มีระดับคอเลสเตอรอลสูงควรจะจำกัดปริมาณการรับประทานอาหารชนิดนี้ให้เหมาะสม หรือหากเป็นไปได้ก็ควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาก่อน

3. อาหารทอด

อาหารทอดเป็นกลุ่มอาหารที่มักมีปริมาณไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์อยู่ค่อนข้างสูง ซึ่งอาจส่งผลให้ระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (Low–Density Lipoprotein: LDL) และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจได้

นอกจากนี้ อาหารทอดยังเป็นกลุ่มอาหารที่ให้พลังงานสูงอีกด้วย ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้รับประทานได้รับพลังงานที่มากเกินไปได้ หากรับประทานในปริมาณที่มากเกินไป

4. อาหารแปรรูป

อาหารแปรรูป เช่น ไส้กรอก ส่วนใหญ่มักมีส่วนผสมของเนื้อสัตว์ส่วนที่ติดมันอยู่ค่อนข้างเยอะ ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้รับประทานได้รับคอเลสเตอรอลและไขมันอิ่มตัวจากการรับประทานได้

นอกจากนี้ อาหารแปรรูปยังเป็นกลุ่มอาหารที่มีเกลือ หรือโซเดียมสูงอีกด้วย ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อร่างกายผู้รับประทานได้ หากร่างกายได้รับมากจนเกินไป

5. ของหวาน

อาหารในกลุ่มของหวาน เช่น เค้ก คุกกี้ และไอศกรีม เป็นกลุ่มอาหารพลังงานสูงที่มักพบคอเลสเตอรอลและไขมันอิ่มตัวอยู่มาก

นอกจากนี้ อาหารกลุ่มนี้ยังมีน้ำตาลเป็นส่วนผสมในปริมาณสูงอีกด้วย ซึ่งอาจส่งผลให้ระดับไขมันชนิดไม่ดี อย่างไขมันไตรกลีเซอไรด์ ในร่างกายเพิ่มขึ้นได้

ตัวอย่างอาหารคอเลสเตอรอลสูงที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย

ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่า การเลือกชนิดอาหารคอเลสตอลรอลสูงให้ถูก และรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม ก็ยังอาจมีส่วนช่วยให้ร่างกายได้รับประโยชน์จากสารอาหารดี ๆ อยู่เช่นกัน

โดยตัวอย่างอาหารคอเลสเตอรอลสูงที่สามารถรับประทานได้ในปริมาณที่เหมาะสมก็เช่น

  • ไข่ แม้ไข่จะเป็นอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง แต่ไข่ก็มีไขมันอิ่มตัวที่ต่ำ อีกทั้งยังเป็นแหล่งของสารอาหารดี ๆ อีกมาก ไม่ว่าจะเป็นโปรตีน วิตามินบี วิตามินดี วิตามินเอ ลูทีน ซีลีเนียม ธาตุเหล็ก อีกทั้งยังมีพลังงานต่ำ ดังนั้น ผู้ที่มีระดับไขมันในเลือดสูงก็อาจจะรับประทานไข่ได้ในปริมาณประมาณ 3 ฟอง/อาทิตย์
  • สัตว์ทะเลเปลือกแข็ง เช่น ปู หอย และกุ้ง เป็นกลุ่มอาหารที่ให้คอเลสเตอรอลสูง แต่อาหารกลุ่มนี้จะมีปริมาณไขมันอิ่มตัวที่ต่ำ อีกทั้งยังเป็นแหล่งของโปรตีน วิตามินบี ธาตุเหล็ก และซีลีเนียมอีกด้วย

ทั้งนี้ แม้อาหารเหล่านี้จะมีสารอาหารดี ๆ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่การรับประทานที่มากเกินไปก็ยังสามารถส่งผลให้ร่างกายได้รับปริมาณคอเลสเตอรอลที่มากเกินไปได้อยู่เช่นกัน ดังนั้น ผู้ที่ต้องการรับประทานอาหารเหล่านี้ก็ยังคงควรจำกัดปริมาณการรับประทานให้เหมาะสมอยู่ และหากเป็นไปได้ก็ควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาก่อน เพื่อความปลอดภัยต่อร่างกาย

สุดท้ายนี้ นอกจากการเรียนรู้วิธีการรับประทานอาหารคอเลสเตอรอลสูงที่ถูกต้องแล้ว การควบคุมระดับคอเลสเตอรอลในร่างกายก็ยังมีอีกหลายสิ่งที่ควรทำควบคู่ไปด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหารที่มีใยอาหารให้มากขึ้น การออกกำลังกาย การควบคุมน้ำหนักตัว การหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และการหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่