ข้าวบาร์เลย์ เมล็ดพันธุ์ธัญชาติ บำรุงสุขภาพ บำบัดโรค

ข้าวบาร์เลย์ เป็นธัญพืชเก่าแก่ได้รับความนิยมและเปี่ยมไปด้วยประโยชน์ต่อร่างกาย ทั้งอาจช่วยลดไขมันคอเลสเตอรอล ลดระดับน้ำตาลในเลือด เสริมสร้างการทำงานของระบบขับถ่าย ช่วยลดน้ำหนัก และลดความเสี่ยงของโรคมะเร็ง

ข้าวบาร์เลย์

ข้าวบาร์เลย์อุดมไปด้วยสารโภชนาการที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น เส้นใยอาหาร โปรตีน คาร์โบไฮเดรต เบต้ากลูแคน เพนโทแซนส์ เซลลูโลส กรดอะมิโนจำเป็น วิตามินบี ธาตุเหล็ก สังกะสี ทองแดง แมกนีเซียม ซิลิเนียม โครเมียม สารชีวภาพโทโคไตรอีนอล ลิกแนน ไฟโตอีสโตรเจน ฟีนอล กรดไฟติก เป็นต้น นอกจากนี้ ข้าวบาร์เลย์ยังเป็นแหล่งของน้ำตาลมอลโทสซึ่งเป็นสารให้ความหวานตามธรรมชาติ จึงมีการนำข้าวบาร์เลย์ไปบริโภคในหลากหลายรูปแบบ เช่น ซีเรียล แป้งจากข้าวบาร์เลย์ น้ำข้าวบาร์เลย์ หรือเบียร์จากข้าวบาร์เลย์ เป็นต้น

นอกจากเป็นอาหารที่คุ้นเคยกันดี คำกล่าวอ้างถึงสรรพคุณของข้าวบาร์เลย์ในเชิงสุขภาพและการแพทย์นั้น จะเป็นจริงเท็จมากน้อยเพียงใด มีการศึกษาบางส่วนได้พิสูจน์แง่มุมต่าง ๆ ของข้าวบาร์เลย์ไว้ ดังนี้

ลดไขมันคอเลสเตอรอล ข้าวบาร์เลย์อุดมไปด้วยเส้นใยอาหารหลากชนิดรวมถึงเบต้ากลูแคนที่คาดว่าอาจช่วยควบคุมอัตราการย่อยและการดูดซึมคาร์โบไฮเดรตและไขมันได้ ซึ่งทำให้การรับประทานข้าวบาร์เลย์นั้นอาจช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในร่างกายได้ด้วย

จากการศึกษาหนึ่งที่ให้ชาวญี่ปุ่นซึ่งมีไขมันในเลือดสูงจำนวน 44 คน รับประทานข้าวและข้าวบาร์เลย์ที่มีปริมาณเบต้ากลูแคน 7 กรัม ทุกวันเป็นเวลา 12 สัปดาห์ พบว่าระดับคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดีและคอเลสเตอรอลรวมลดต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งยังส่งผลให้ไขมันในช่องท้อง ค่าดัชนีมวลกาย และขนาดรอบเอวของผู้ทดลองลดลงเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้รับประทานข้าวบาร์เลย์ เช่นเดียวกันกับการศึกษาอีกชิ้นหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า การรับประทานเส้นใยอาหารที่ได้จากข้าวบาร์เลย์ปริมาณ 0.4 กรัม 3 กรัม และ 6 กรัม เป็นประจำทุกวันช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลรวมลงถึง 14 เปอร์เซ็นต์ 17 เปอร์เซ็นต์ และ 20 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ ทั้งยังอาจช่วยลดระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์และเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลชนิดที่ดีได้อีกด้วย

นอกจากนี้ องค์การอาหารและยาประเทศสหรัฐอเมริการะบุให้อาหารที่มีส่วนผสมของเส้นใยที่ละลายน้ำได้จากข้าวบาร์เลย์ปริมาณ 0.75 กรัม/ 1 หน่วยบริโภคเป็นส่วนหนึ่งในอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวและคอเลสเตอรอลต่ำที่อาจช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจได้

ลดระดับน้ำตาลในเลือด การรับประทานอาหารที่มีเส้นใยอาหารสูงอย่างข้าวบาร์เลย์ โดยเฉพาะเส้นใยอาหารชนิดที่ละลายน้ำได้ จะช่วยเพิ่มความหนืดของสารภายในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก ซึ่งอาจช่วยลดอัตราการดูดซึมสารอาหารต่าง ๆ รวมทั้งช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ ทั้งนี้ มีการศึกษาจำนวนหนึ่งที่ทดสอบความสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของข้าวบาร์เลย์โดยทดลองในมนุษย์ พบว่าการรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของข้าวบาร์เลย์ซึ่งมีเบต้ากลูแคนอย่างน้อย 4 กรัม ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดหลังมื้ออาหารได้อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาบางส่วนได้ชี้ให้เห็นว่า การรับประทานอาหารเช้าที่มีข้าวบาร์เลย์เป็นส่วนประกอบนั้นส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวานประเภทที่ 2 ลดลงด้วยเช่นกัน

เสริมสร้างการทำงานของระบบขับถ่าย และช่วยลดน้ำหนัก ข้าวบาร์เลย์ 100 กรัม ประกอบด้วยเส้นใยอาหารถึง 15.6 กรัม โดยเส้นใยอาหารชนิดที่ละลายน้ำได้ในข้าวบาร์เลย์อาจส่งผลดีต่อระบบขับถ่าย ทั้งยังปรับสมดุลการทำงานของลำไส้ ช่วยให้เนื้ออุจจาระอุ้มน้ำมากขึ้น ทำให้อุจจาระมีขนาดใหญ่ อ่อนนุ่ม และง่ายต่อการขับถ่าย ซึ่งอาจช่วยป้องกันและบรรเทาอาการท้องผูก รวมถึงอาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดริดสีดวงทวารและโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่ด้วย

นอกจากนี้ ข้าวบาร์เลย์เป็นธัญพืชที่มีแคลอรี่สูงแต่มีไขมันต่ำ ย่อยช้า ทำให้รู้สึกอิ่มท้องนาน หากรับประทานข้าวบาร์เลย์ร่วมกับอาหารเพื่อสุขภาพอื่น ๆ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอก็อาจช่วยลดและควบคุมน้ำหนักได้

ลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง เนื่องจากเส้นใยอาหารของข้าวบาร์เลย์มีส่วนกระตุ้นการขับถ่าย จึงอาจช่วยกำจัดสารพิษที่ตกค้างจากการย่อยอาหารออกจากร่างกาย อีกทั้งข้าวบาร์เลย์ยังมีสารอาหารหลายชนิดที่ส่งผลดีต่อสุขภาพและอาจมีสารชีวภาพที่มีคุณสมบัติต้านมะเร็งได้

จากการศึกษาคุณสมบัติการต้านมะเร็งของข้าวบาร์เลย์ พบว่าสารสกัดจากข้าวบาร์เลย์มีฤทธิ์ยับยั้งการแพร่กระจายเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ของมนุษย์ นอกจากนี้ กรดเฟอรูลิก (Ferulic Acid) ที่พบได้ในพืชหลายชนิดรวมทั้งข้าวบาร์เลย์ยังอาจมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและอาจช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเนื้องอกได้อีกด้วย โดยมีหลักฐานการค้นคว้าบางส่วนที่แนะนำว่าการรับประทานอาหารที่มีเส้นใยอาหารอย่างข้าวบาร์เลย์อาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การศึกษาข้างต้นเป็นเพียงการศึกษาในห้องปฏิบัติการและทดลองในสัตว์เท่านั้น จึงจำเป็นต้องศึกษาประสิทธิผลและความปลอดภัยเพิ่มเติมโดยทดลองกับมนุษย์ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ชัดเจนยิ่งขึ้นและสามารถประยุกต์ใช้เป็นแนวทางรักษาหรือต้านโรคร้ายอย่างมะเร็งได้ในอนาคต

รับประทานข้าวบาร์เลย์อย่างไรให้ปลอดภัย ?

การรับประทานข้าวบาร์เลย์ในปริมาณที่พอเหมาะนั้นค่อนข้างปลอดภัยสำหรับคนส่วนใหญ่ แต่ข้าวบาร์เลย์เป็นธัญพืชที่ประกอบด้วยกลูเตน จึงไม่เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคเซลิแอค (Celiac Disease) หรือโรคแพ้กลูเตน เพราะจะทำให้อาการของโรคกำเริบ

นอกจากนั้น บุคคลในกลุ่มต่อไปนี้ ควรระมัดระวังในการรับประทานข้าวบาร์เลย์เป็นพิเศษ

  • ผู้ที่แพ้ธัญพืช จำพวกข้าว ข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต ข้าวโพด หรือข้าวไรย์ อาจเกิดอาการแพ้ข้าวบาร์เลย์ได้เช่นกัน จึงควรระมัดระวังหรือปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานข้าวบาร์เลย์
  • ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ การรับประทานข้าวบาร์เลย์เป็นอาหารในปริมาณที่พอเหมาะนั้นค่อนข้างปลอดภัย แต่หากรับประทานต้นอ่อนของข้าวบาร์เลย์ในปริมาณมากอาจไม่ปลอดภัยต่อผู้ที่กำลังตั้งครรภ์
  • ผู้ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานข้าวบาร์เลย์ เพราะยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยเพียงพอหากรับประทานข้าวบาร์เลย์ในช่วงที่ให้นมบุตร
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โดยเฉพาะผู้ที่ต้องใช้ยาลดระดับน้ำตาลในเลือด เช่น อินซูลิน ไกลพิไซด์ ไกลเบนคาไมด์ ไพโอกลิตาโซน เป็นต้น ควรระมัดระวังในการรับประทานข้าวบาร์เลย์ เนื่องจากข้าวบาร์เลย์อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำลงมากเกินไป ดังนั้น ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานข้าวบาร์เลย์ เพราะอาจต้องปรับปริมาณยาและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดอยู่เสมอ
  • ผู้ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด ควรหยุดรับประทานข้าวบาร์เลย์อย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนการผ่าตัด เพราะข้าวบาร์เลย์อาจรบกวนการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดทั้งในระหว่างและหลังการผ่าตัด
  • ผู้ที่กำลังใช้ยารักษาโรค ควรเว้นระยะอย่างน้อย 1 ชั่วโมงหลังการรับประทานยาก่อนรับประทานข้าวบาร์เลย์ เนื่องจากเส้นใยอาหารจากข้าวบาร์เลย์อาจส่งผลให้ประสิทธิภาพของยาลดลง