ออทิสติก (Autistic)

ความหมาย ออทิสติก (Autistic)

ออทิสติก (Autistic) หรือที่รู้จักกันในชื่อกลุ่มอาการออทิสติก (Autism Spectrum Disorders: ASD) คือภาวะระบบประสาททำงานซับซ้อน ผู้ที่เป็นออทิสติกจะมีความสามารถเกี่ยวกับการปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในสังคม พัฒนาการทางภาษา และทักษะการสื่อสารที่แตกต่างจากคนปกติ ซึ่งผู้ป่วยแต่ละคนจะมีลักษณะและความรุนแรงของอาการต่างกัน

อาการออทิสติกมักแสดงให้เห็นในช่วงขวบปีแรก แต่เด็กบางคนอาจมีพัฒนาการตามปกติในปีแรก และเริ่มแสดงอาการออทิสติกในภายหลังเมื่ออายุได้ 18–24 เดือน ออทิสติกเป็นโรคที่ยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด อย่างไรก็ตาม การดูแลเด็กออทิสติกจะช่วยให้เด็กใช้ชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น และลดปัญหาเมื่อต้องเข้าเรียน ทำงาน หรือเข้าสังคม

ออทิสติก

อาการของออทิสติก

เด็กที่ป่วยเป็นออทิสติกจะแสดงทักษะการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น รวมถึงมีพฤติกรรมทั่วไป ดังนี้

ทักษะด้านการเข้าสังคม

เด็กออทิสติกจะมีปัญหาด้านการสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้าง คล้ายกับว่าอยู่ตัวคนเดียวในโลก โดยลักษณะการเข้าสังคมของเด็กออทิสติกจะมีลักษณะดังต่อไปนี้

  • ไม่สังสรรค์หรือแสดงความคิดเห็นใดๆ เพื่อแลกเปลี่ยนพูดคุยกับผู้อื่น
  • ไม่เล่นหรือแบ่งปันของเล่นกับเด็กอื่น รวมทั้งไม่รู้วิธีเล่นกับผู้อื่น
  • ไม่เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของผู้ที่คุยด้วย
  • ขาดการสร้างสัมพันธภาพกับผู้คนรอบข้าง

ทักษะด้านการสื่อสาร

เด็กออทิสติกจะไม่สามารถสื่อสารผ่านการพูด อ่าน เขียน หรือเข้าใจสิ่งที่ผู้อื่นสื่อสารได้ บางครั้งเด็กอาจลืมถ้อยคำหรือทักษะอื่น ๆ ซึ่งเด็กจะแสดงปัญหาด้านการสื่อสาร ดังนี้

  • ไม่เข้าใจการสื่อสารด้วยภาษาท่าทาง เช่น ชี้นิ้ว โบกมือ
  • ขาดความรู้เรื่องทิศทาง
  • ไม่สามารถแปลสัญลักษณ์และเรียนรู้ภาษาได้ช้า
  • อ่านออกแต่ไม่เข้าใจความหมายของคำ หรือที่เรียกว่าความบกพร่องทางการเรียนรู้ด้านคำพูด (Hyperlexia)

นอกจากนี้ เด็กอาจพูดเลียนแบบซ้ำไปซ้ำมาซึ่งเป็นอาการพูดเลียน (Echolalia) พูดคุยโต้ตอบเป็นเพลง อาละวาดเพื่อแสดงความไม่พอใจ และไม่สามารถสื่อสารเพื่อบอกความต้องการของตัวเองได้

พฤติกรรมทั่วไป

เด็กออทิสติกมักแสดงพฤติกรรมต่อไปนี้

  • ไม่สามารถทำกิจกรรมที่มีลำดับขั้นตอนหลายอย่าง หรือเปลี่ยนไปทำกิจกรรมอื่นได้ยาก
  • โบกมือไปมา ทุบตี หรือกลอกตาไปมา
  • หงุดหงิดง่าย 
  • ไวต่อเสียงดัง จึงพยายามหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีเสียงดัง
  • ชอบอาหารเป็นบางอย่าง
  • แสดงความสนใจสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงอย่างเดียว เช่น เล่นของเล่นแค่ส่วนใดส่วนหนึ่งของของเล่นนั้น หรือเอาแต่พูดเฉพาะเรื่องที่ตัวเองชอบ

ทั้งนี้ ลักษณะอาการและความรุนแรงของผู้ป่วยออทิสติกแต่ละคนจะแตกต่างกัน คนที่มีอาการไม่รุนแรงอาจสามารถสื่อสารและทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้ดีกว่าคนที่มีอาการรุนแรง ซึ่งอาจมีปัญหาในการช่วยเหลือตัวเองและทำกิจกรรม 

นอกจากนี้ ผู้ป่วยออทิสติกบางคนอาจจัดอยู่กลุ่มอาการซาวองต์ (Savant Syndrome) ซึ่งเป็นกลุ่มอาการที่พบได้ยาก ผู้ป่วยจะมีความสามารถพิเศษและมีพรสววรค์เฉพาะด้านที่คนอื่นไม่มี เช่น คณิตศาสตร์ ดนตรี ศิลปะ และภาษา

สาเหตุของออทิสติก

ปัจจุบันยังไม่มีการระบุสาเหตุหรือปัจจัยที่ก่อให้เกิดออทิสติกที่แน่ชัด เบื้องต้นสันนิษฐานว่าโรคนี้เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของยีน บางรายอาจเสี่ยงเป็นออทิสติกได้สูงหากบุคคลในครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นออทิสติก และงานวิจัยพบว่าหากพ่อแม่มีอายุมากทั้งคู่หรือมีช่วงอายุห่างจากลูกตัวเองมาก เด็กที่เกิดมาจะเสี่ยงเป็นออทิสติกมากขึ้น 

นอกจากนี้ การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ขณะตั้งครรภ์ การใช้ยาต้านอาการชัก หรือโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน การติดเชื้อหัดเยอรมัน และโรคฟีนิลคีโตนูเรียแล้วไม่ได้รับการรักษา อาจเกี่ยวข้องกับอาการออทิสติกในเด็กเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการกล่าวว่าการฉีดวัคซีนเสริมภูมิต้านทานโรคต่าง ๆ จะก่อให้เกิดอาการออทิสติกในเด็ก แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ที่พิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าวัคซีนทำให้เด็กเป็นออทิสติกได้

การวินิจฉัยออทิสติก

แพทย์จะถามเกี่ยวกับพัฒนาการของเด็ก เช่น การสื่อสาร การใช้ภาษา การสบตามองหน้า การเล่นของเล่น และพฤติกรรมต่าง ๆ เมื่อเล่นหรืออยู่กับผู้อื่น แพทย์อาจสังเกตพฤติกรรมของเด็กในสถานการณ์ต่าง ๆ เพื่อดูพัฒนาการของเด็ก และอาจสอบถามพ่อแม่เพื่อประกอบการวินิจฉัยว่าสิ่งที่เด็กแสดงออกมาในแต่ละเหตุการณ์นั้นถือเป็นพฤติกรรมปกติหรือไม่

สำหรับทารกและเด็กเล็กอาการป่วยเป็นออทิสติกอาจไม่แสดงออกมาอย่างชัดเจน แพทย์จะดูอาการเบื้องต้นว่ามีปัญหาด้านพัฒนากาหรือไม่ ซึ่งอาการของเด็กที่มีพัฒนาการช้าจะมีลักษณะดังต่อไปนี้

  • ไม่พูดอ้อแอ้ ชี้มือ หรือแสดงท่าทางใด ๆ เมื่อเด็กอายุ 12 เดือน
  • ไม่พูดออกมาแม้แต่คำเดียว เมื่อเด็กอายุ 16 เดือน
  • ไม่พูดคำสั้น ๆ ที่ติดต่อกัน 2 คำออกมา หรือเอาแต่พูดเลียนแบบคำสั้น ๆ ซ้ำไปซ้ำมา เมื่อเด็กอายุ 24 เดือน
  • ไม่สามารถสื่อสารเป็นภาษาหรือเข้าสังคมได้
  • ไม่สบตาเมื่อพูดคุย หรือไม่มีการโต้ตอบเกี่ยวกับเรื่องที่คุยกัน

แพทย์อาจใช้แบบทดสอบความฉลาดและพัฒนาการในการพิจารณาว่าการเติบโตทางพัฒนาการที่ช้ากว่าปกตินั้นส่งผลต่อความสามารถในการคิดและตัดสินใจของเด็กหรือไม่ จากนั้นจะประเมินทางกายภาพ ซึ่งประกอบด้วย

  • การตรวจร่างกาย แพทย์จะพิจารณาพัฒนาการทางร่างกายของเด็กว่าเติบโตเป็นปกติหรือไม่ โดยดูจากขนาดศีรษะ น้ำหนักตัว และส่วนสูง นอกจากนี้ แพทย์จะตรวจร่างกายเพื่อหาลักษณะผิดปกติทางโครโมโซมที่แสดงออกทางร่างกายร่วมด้วย
  • การทดสอบการได้ยิน ปัญหาการได้ยินอาจทำให้เด็กมีพัฒนาการช้า รวมทั้งมีปัญหาเกี่ยวกับทักษะการเข้าสังคมและความสามารถทางภาษา
  • การทดสอบพิษจากสารตะกั่ว (Lead Poisoning) เด็กที่มีพัฒนาการช้ามักหยิบสิ่งของเข้าปากที่อาจเป็นอันตรายต่อร่างกายอย่างดินหรือเศษชิ้นส่วนต่าง ๆ พฤติกรรมดังกล่าวคล้ายกับพฤติกรรมของผู้ที่ชอบกินของแปลก (Pica) หากแพทย์ตรวจพบพิษจากสารตะกั่วในร่างกาย ก็สามารถวินิจฉัยได้ว่าพฤติกรรมดังกล่าวเป็นผลจากการที่เด็กมีพัฒนาการช้า

นอกจากนี้ ยังมีการทดสอบอื่น ๆ ที่แพทย์ต้องทำการทดสอบเพิ่มเติมในกรณีที่เด็กมีประวัติทางการแพทย์อย่างอื่นที่จำเพาะเจาะจง ได้แก่

การตรวจโครโมโซม (Chromosomal Analysis)

หากเด็กหรือบุคคลในครอบครัวมีประวัติทางการแพทย์ที่แสดงให้เห็นว่ามีความบกพร่องทางสติปัญญา (Intellectual Disability) เช่น เด็กหรือบุคคลในครอบครัวป่วยเป็นภาวะโครโมโซมเอกซ์เปราะ (Fragile X Syndrome) ซึ่งทำให้เด็กมีพัฒนาการด้านความฉลาดต่ำกว่าเด็กทั่วไปและมีพฤติกรรมเข้าข่ายอาการออทิสติก แพทย์อาจต้องวิเคราะห์โครโมโซมของเด็กประกอบกัน

การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (Electroencephalograph: EEG)

หากเด็กเคยเกิดอาการชัก เช่น เด็กอาจเคยมีประวัติเป็นลมชักชนิดเหม่อ (Absence Seizure) ซึ่งเด็กอาจสติหลุดหรือไม่รู้สึกตัวไปสักประมาณ 15 วินาที และเกิดขึ้นหลายครั้งในหนึ่งวัน หรือมีพัฒนาการถดถอย (Developmental Regression) โดยการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองจะแสดงลักษณะคลื่นไฟฟ้าภายในสมองของเด็กที่ทำงานผิดปกติ

การตรวจด้วยเอ็มอาร์ไอ (Magnetic Resonance Imaging: MRI)

เครื่องตรวจเอ็มอาร์ไอจะช่วยตรวจสอบบริเวณสมองที่มีปัญหา โดยแพทย์จะทำการตรวจนี้หากสมองของเด็กมีลักษณะที่แตกต่างไปจากโครงสร้างสมองปกติ

การรักษาออทิสติก

แม้อาการออทิสติกจะไม่มียาหรือวิธีทางการแพทย์ที่รักษาให้หายขาด แต่เด็กออทิสติกสามารถได้รับการดูแลอย่างถูกวิธีจากพ่อแม่และทีมดูแลเด็กออทิสติก อันประกอบไปด้วยแพทย์ นักจิตวิทยานักแก้ไขการพูด  นักกิจกรรมบำบัด และคุณครูสอนเด็กพิเศษ ซึ่งจะช่วยให้เด็กพัฒนาทักษะการเข้าสังคมและการสื่อสารให้ดีขึ้นและใช้ชีวิตปกติได้  หลังจากนั้น จึงพัฒนาการเรียนรู้ด้านวิชาการต่อไปโดยขอความร่วมมือจากครู

การรักษาออทิสติกให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่สามารถระบุระยะเวลาได้อย่างแน่ชัด เพราะการรักษาให้ประสบผลสำเร็จนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยที่แตกต่างกันไปของผู้ป่วย เช่น ความรุนแรงของโรค ความผิดปกติซ้ำซ้อนที่เกิดกับเด็ก อาการเจ็บป่วยทางกายของเด็ก อายุที่เด็กเริ่มเข้ารับการรักษา รูปแบบการเลี้ยงดู หรือสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็ก เป็นต้น 

นอกจากนี้ แพทย์ต้องเฝ้าระวังอาการของเด็กร่วมด้วย เนื่องจากเด็กอาจมีความผิดปกติด้านพฤติกรรมเพิ่มขึ้นมาระหว่างรับการรักษา แพทย์จึงต้องปรับวิธีการรักษาให้เหมาะสมตลอดช่วงอายุของเด็กอยู่เสมอ

การบำบัดอาการออทิสติก ตั้งแต่กระตุ้นพัฒนาการเด็ก ปรับพฤติกรรม และเสริมสร้างด้านการเรียนรู้ มีขั้นตอนดังนี้

การกระตุ้นพัฒนาการเด็ก

การกระตุ้นพัฒนาการของเด็กนั้นมีหลายขั้นตอน ประกอบด้วย การกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้งห้า การจับมือเด็กให้ทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง การหันตามเสียงเรียก และการสอนให้รู้จักตัวเองและบุคคลในครอบครัว โดยการกระตุ้นพัฒนาการเด็กนั้นจะช่วยให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลในครอบครัวเป็นอันดับแรก โดยใช้วิธีดังนี้

  • พ่อแม่ควรเล่นกับลูกอย่างการอุ้มเด็ก กอด เล่นปูไต่ หรือจั๊กจี้มือ โดยทำเช่นนี้ซ้ำ ๆ ทุกวัน เพื่อให้เด็กซึมซับความอบอุ่นและคุ้นเคยจากพ่อแม่และสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับคนในครอบครัว 
  • ฝึกให้เด็กสบตา กระซิบเรียกชื่อเด็กข้างหูด้วยเสียงของคนที่ใกล้ชิดเด็ก เพื่อกระตุ้นทักษะการเข้าสังคมและการสื่อความหมาย
  • สอนให้เด็กเรียนรู้ความแตกต่างของกลิ่นและรสของอาหาร โดยเริ่มจากสิ่งที่เด็กชอบกิน ให้เด็กเรียกชื่ออาหารและความรู้สึกหลังจากได้ชิมและดมไปทีละอย่าง
  • จับมือเด็กให้หัดทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องการทำด้วยตัวเอง โดยจะช่วยให้เด็กเกิดความมั่นใจมากขึ้น เนื่องจากเด็กออทิสติกชี้บอกความต้องการของตัวเองไม่ได้ และมักจับมือของคนอื่นให้ช่วยทำแทน
  • สอนให้เด็กหันตามเสียงที่เรียกชื่อตัวเอง ช่วยให้เด็กสื่อความหมายได้และมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นมากขึ้น
  • สอนให้เด็กรู้จักตัวเองและบุคคลในครอบครัวว่าเป็นใครบ้าง เพื่อช่วยแยกความแตกต่างของแต่ละคนที่เด็กอยู่ร่วมภายในครอบครัว

การฝึกกิจวัตรประจำวัน

เริ่มต้นต้องสอนให้เด็กรู้จักของใช้ต่าง ๆ ก่อน จากนั้นจึงสอนให้เด็กทำความสะอาดร่างกายแต่ละส่วน โดยสอนไปทีละขั้น สำหรับการฝึกขับถ่ายนั้น เริ่มจากเลิกใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูปและเปลี่ยนกางเกงเมื่อขับถ่ายออกมา ทั้งนี้ เพื่อให้เด็กได้สัมผัสความสกปรกจากการขับถ่ายเลอะเทอะ ผู้ปกครองต้องสังเกตว่าเด็กมักขับถ่ายตอนไหน แล้วค่อยฝึกเด็กในตอนนั้น โดยใช้คำง่าย ๆ อย่าง “อึ” หรือ “ฉี่” ในการสอน 

ส่วนการสอนให้เด็กแต่งตัวควรใช้เสื้อผ้าที่ทำจากผ้ายืด เพราะทำให้เด็กสวมใส่ได้ง่าย เป็นการสร้างแรงจูงใจให้เด็กอยากแต่งตัวเอง นอกจากนี้ ควรสอนให้เด็กใช้ช้อนตักอาหาร เนื่องจากเด็กออทิสติกมักใช้มือหยิบอาหารเข้าปาก และสอนให้เด็กฝึกควบคุมการเคลื่อนไหวร่างกายของตัวเองได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

การเล่นและรับรู้อารมณ์

ควรให้เด็กที่พูดไม่ได้สื่อสารด้วยท่าทางก่อน และสอนให้เด็กรู้จักแยกแยะสีหน้าอารมณ์ในแบบต่าง ๆ เพื่อให้เด็กเข้าใจความรู้สึกของผู้คนมากขึ้น ที่สำคัญควรฝึกให้เด็กเล่นของเล่น เพราะเมื่อเด็กเล่นของเล่นเป็น ก็จะช่วยให้มีปฏิสัมพันธ์กับสังคมภายนอกและปรับอารมณ์ให้ดีขึ้นด้วย

อรรถบำบัด (Speech Therapy)

ผู้เชี่ยวชาญด้านการแก้ไขการพูดจะสอนให้เด็กเปล่งเสียงและพูดออกมา โดยอรรถบำบัดจะช่วยให้เด็กเรียนรู็ภาษาและสื่อสารกับผู้อื่นได้

พฤติกรรมบำบัด (Behavior Therapy)

เด็กออทิสติกจะได้รับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่มีปัญหาของตนให้กลับมาเป็นปกติ สามารถปฏิบัติตัวได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้เด็กเข้าใจกฎเกณฑ์และอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้

ดนตรีบำบัด (Music Therapy)

ครูฝึกสอนจะใช้ดนตรีเข้ามาบำบัดร่วมด้วย ทำให้เด็กผ่อนคลาย ไม่รู้สึกกลัวหรือกังวล รวมทั้งกระตุ้นประสาทสัมผัสด้านการฟัง จนเปล่งเสียงและเคลื่อนไหวร่างกายตามจังหวะดนตรี โดยดนตรีบำบัดจะช่วยลดพฤติกรรมก้าวร้าวและเสริมสร้างทักษะการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น

การทำนิวโรฟีดแบค (Neurofeedback)

เด็กจะเรียนรู้วิธีฝึกบำบัดตัวเองด้วยเครื่องเฮโมเอ็นเซปฟาโลแกรม (Hemoencephalogram: HEG) ซึ่งแสดงผลผ่านจอคอมพิวเตอร์ในรูปแบบกระบวนการป้อนกลับ (Feedback) ช่วยให้เด็กมีสมาธิและตั้งใจในการบำบัด

การเรียนรู้ด้านวิชาการ

การเรียนการสอนของเด็กออทิสติกอาจแตกต่างกันตามระดับสติปัญญาและความสามารถในการเรียนรู้ของผู้ป่วย โดยต้องเข้ารับการศึกษาแบบการศึกษาพิเศษที่จัดหลักสูตรที่เหมาะกับเด็กแต่ละคน 

เด็กที่มีความฉลาดทางสติปัญญาต่ำกว่า 70 ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยอาจต้องเรียนตามหลักสูตรเฉพาะบุคคล หรือเน้นวิชาสายอาชีพเป็นหลัก ส่วนเด็กที่มีความเฉลียวฉลาดและมีความสามารถพิเศษเฉพาะด้านอาจให้ส่งเสริมให้เรียนในสิ่งที่ถนัดและชื่นชอบ ควบคู่กับการเรียนวิชาทั่วไปตามความสามารถในการเรียนรู้ของเด็ก

การใช้ยา

การใช้ยาจะพิจารณาตามอาการของเด็กแต่ละคน เพื่อช่วยลดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์และทำให้การทำพฤติกรรมบำบัดทำได้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ภาวะแทรกซ้อนของออทิสติก

เด็กออทิสติกจะเกิดอาการอันเป็นภาวะแทรกซ้อนของโรค ดังนี้

ปัญหาเกี่ยวกับประสาทสัมผัส

เด็กออทิสติกจะมีระบบประสาทสัมผัสที่อ่อนไหวง่าย โดยจะมีปฏิกิริยาตอบโต้สิ่งเร้ารอบตัวที่มากกว่าเด็กทั่วไป เช่น รู้สึกกลัวหรืออารมณ์แปรปรวนได้ง่ายเมื่อได้ยินเสียงดังหรือฟ้าแลบ ในทางตรงข้าม เด็กอาจไม่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าเหล่านั้นเลย เช่น ไม่แสดงอาการร้อน หนาว หรือเจ็บปวด เมื่อมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากระทบหรือทำให้เกิดอาการหรือความรู้สึกนั้น ๆ

อาการชัก

เด็กออทิสติกมักเกิดอาการชักเป็นปกติ โดยอาการนี้จะเริ่มขึ้นในช่วงวัยเด็กหรือช่วงวัยรุ่น

ปัญหาสุขภาพจิต

อาการออทิสติกก่อให้เกิดอาการซึมเศร้า กังวล พฤติกรรมมุทะลุ และอารมณ์แปรปรวน นอกจากนี้ เด็กที่ป่วยเป็นโครโมโซมเอกซ์เปราะ มีแนวโน้มที่จะพัฒนากลายเป็นอาการออทิสติก โดยภาวะโครโมโซมเอกซ์เปราะเกิดจากการติดเชื้อที่โครโมโซมเอกซ์ ซึ่งส่งผลต่อความผิดปกติทางจิตใจด้วย

เนื้องอกทูเบอรัส สเคลอโรซิส (Tuberous Sclerosis)

โรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางพันธุกรรม ถือเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้น้อย โดยทูเบอรัส สเคลอโรซิสทำให้เกิดก้อนเนื้องอกขึ้นมาที่อวัยวะและสมองของเด็ก แม้จะไม่มีสาเหตุแน่ชัดว่าเนื้องอกเกี่ยวข้องกับอาการออทิสติกอย่างไร แต่มีรายงานว่าเด็กออทิสติกมีอัตราการเป็นทูเบอรัส สเคลอโรซิสสูง

นอกจากนี้ยังมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่มากับกลุ่มอาการออทิสติก ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมก้าวร้าว การนอนหลับและรับประทานอาหารที่ผิดปกติ และปัญหาเกี่ยวกับระบบการย่อยอาหาร

การป้องกันออทิสติก

ทางการแพทย์ยังไม่มีวิธีป้องกันออทิสติกหรือกลุ่มอาการออทิสติกไม่ให้เกิดในเด็กได้ เพราะความผิดปกติของยีนที่เป็นปัจจัยสำคัญทำให้เกิดออทิสติก บางรายอาจเกิดการติดเชื้อตั้งแต่เด็กอยู่ในครรภ์หากผู้เป็นแม่ได้รับสารเคมีบางอย่างเข้าไปตอนที่ตั้งท้อง ซึ่งแพทย์ก็ไม่สามารถตรวจได้ว่าทารกในครรภ์จะเป็นออทิสติกหรือไม่เมื่อคลอดออกมา

อย่างไรก็ตาม พ่อแม่ต่างมีบทบาทสำคัญในการช่วยลดปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้ลูกของตนมีแนวโน้มเป็นออทิสติกลดลงได้ โดยปฏิบัติดังนี้

  • รักษาสุขภาพ สตรีมีครรภ์ควรฝากครรภ์ และรับการตรวจสุขภาพกับแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ควรรับประทานอาหารให้ครบถ้วนตามหลักโภชนาการและออกกำลังกาย รวมทั้งรับประทานวิตามินรืออาหารเสริมตามคำแนะนำของแพทย์
  • งดใช้ยาขณะตั้งครรภ์ ขณะตั้งครรภ์ไม่ควรรับประทานยาเอง แต่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้เป็นแม่ต้องรับประทานยาต้านโรคชัก
  • เลี่ยงสารเสพติดทุกชนิด งดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ขณะตั้งครรภ์
  • ปรึกษาแพทย์เมื่อป่วย ในกรณีที่คุณแม่บางรายป่วยหรือได้รับการวินิจฉัยว่าป็นโรคเซลิแอค (Celiac Disease) หรือโรคฟีนิลคีโตนูเรีย ( Phenylpyruvic Oligophrenia: PKU) ควรปรึกษาแพทย์และทำตามคำแนะนำในการรักษาอย่างเคร่งครัด