ฝึกลูกนั่งกระโถน ทำอย่างไร และเริ่มต้นตอนไหนดี

ฝึกลูกนั่งกระโถนเพื่อขับถ่ายเป็นการสอนให้ลูกรู้จักสังเกตอาการของตัวเองเมื่อรู้สึกอยากขับถ่าย สอนการดูแลความสะอาด และการช่วยเหลือตัวเองในเบื้องต้นก่อนเข้าโรงเรียน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในพัฒนาการสำคัญของเด็ก แต่ก็อาจเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนักสำหรับเด็กเล็กและพ่อแม่มือใหม่

ช่วงแรกของการฝึกลูกนั่งกระโถนอาจทำให้พ่อแม่รู้สึกปวดหัวไม่น้อย เนื่องจากลูกอาจไม่ให้ความร่วมมือเพราะกลัวการใช้กระโถนหรือขับถ่ายไม่ออก พ่อแม่ควรรู้เทคนิคการฝึกลูกนั่งกระโถน โดยเริ่มฝึกอย่างค่อยเป็นค่อยไปหลังสังเกตเห็นว่าลูกพร้อมแล้วที่จะขับถ่ายได้เองโดยไม่ใช้ผ้าอ้อม ซึ่งบทความนี้ได้รวบรวมเทคนิคฝึกลูกนั่งกระโถนที่พ่อแม่มือใหม่ควรรู้เอาไว้แล้ว

เทคนิคฝึกลูกนั่งกระโถนสำหรับพ่อแม่มือใหม่

เริ่มฝึกลูกนั่งกระโถนเมื่อไรดี

พ่อแม่ส่วนใหญ่มักสังเกตเห็นว่าลูกพร้อมที่จะขับถ่ายเองเมื่อลูกอายุประมาณ 1.5–2 ปี แต่เด็กบางคนอาจมีความพร้อมที่จะเริ่มหลังจากอายุ 3 ปีไปแล้ว การฝึกลูกนั่งกระโถนจึงไม่ควรยึดจากอายุของเด็ก เพราะเด็กแต่ละคนมีความพร้อมต่างกัน พ่อแม่ควรสังเกตความพร้อมและสัญญาณต่าง ๆ ที่ลูกแสดงออกมา เช่น

  • เดินได้เองโดยไม่ล้ม หรือเด็กบางคนอาจเริ่มวิ่งได้แล้ว และสามารถนั่งอยู่กับที่โดยไม่ร้องงอแงได้ประมาณ 3–5 นาที 
  • ขับถ่ายปัสสาวะเป็นเวลา และเว้นช่วงการถ่ายปัสสาวะได้นานอย่างน้อย 1–2 ชั่วโมง หรือไม่ปัสสาวะระหว่างงีบหลับช่วงกลางวัน
  • แสดงท่าทางหงุดหงิดเมื่อผ้าอ้อมเปียกชื้น และพยายามแกะผ้าอ้อมออก
  • แสดงความสนใจหรือเลียนแบบเมื่อเห็นคนในบ้านไม่ใส่ผ้าอ้อม ขับถ่ายในห้องน้ำ และสนใจเกี่ยวกับการใช้ห้องน้ำ
  • แสดงออกทางท่าทางหรือคำพูดเมื่อต้องการขับถ่าย เช่น นั่งยอง ใช้มือกุมท้อง กระสับกระส่าย และพยายามไปแอบเพราะไม่ต้องการให้คนอื่นเห็นขณะขับถ่าย 
  • เข้าใจคำง่าย ๆ เกี่ยวกับการขับถ่าย เช่น ฉี่ อึ และสามารถทำตามคำบอกของพ่อแม่ได้
  • ถอดและใส่กางเกง หรือเปลี่ยนเสื้อผ้าได้เอง
  • ไม่มีท่าทีต่อต้านเมื่อพ่อแม่ฝึกให้นั่งกระโถน

สิ่งที่ควรเตรียมก่อนฝึกลูกนั่งกระโถน

กระโถนเด็กมี 2 รูปแบบหลัก คือแบบนั่งคร่อม และฝารองนั่งบนชักโครกสำหรับเด็ก สำหรับเด็กเล็กที่เพิ่งหัดใช้กระโถนอาจไม่เหมาะกับการใช้ฝารองนั่งชักโครก เพราะต้องนั่งขับถ่ายบนชักโครกที่มีความสูง ทำให้เด็กรู้สึกกลัวและมีโอกาสตกลงมาได้รับบาดเจ็บ

การเริ่มฝึกลูกนั่งกระโถนควรเลือกแบบที่วัสดุแข็งแรงทนทาน เคลื่อนย้ายได้สะดวก และมีขนาดพอเหมาะกับขนาดตัวและความสูงของลูก เมื่อนั่งแล้วเท้าทั้งสองข้างของลูกควรวางบนพื้นพอดี เพื่อให้ลูกรู้สึกมั่นคงและปลอดภัยในการขับถ่าย และให้ลูกมีส่วนร่วมในการเลือกซื้อกระโถนที่มีสีสันหรือลวดลายที่ชอบ และเขียนชื่อของลูกหรือติดสติกเกอร์บ่งบอกความเป็นเจ้าของ จะทำให้ลูกรู้สึกอยากใช้กระโถนมากขึ้น

ควรวางกระโถนไว้ในที่ที่เด็กสามารถเดินหรือวิ่งไปใช้เมื่อต้องการขับถ่ายได้สะดวก กรณีที่ห้องน้ำอยู่ไกล พ่อแม่ไม่จำเป็นต้องวางกระโถนไว้ในห้องน้ำ เพราะเด็กอาจต้องการขับถ่ายทันทีหลังตื่นจากการนอนกลางวันหรือหลังกินอาหาร เมื่อฝึกลูกจนคุ้นเคยกับการใช้กระโถนแล้วจึงค่อยย้ายไปไว้ในห้องน้ำ

พ่อแม่ควรสร้างความคุ้นเคยในการฝึกลูกนั่งกระโถน เช่น ใช้ภาษาง่าย ๆ อธิบายเรื่องการขับถ่ายให้ลูกฟัง โดยหลีกเลี่ยงการใช้คำที่ทำให้ลูกรู้สึกไม่ดี เช่น สกปรก น่ารังเกียจ พ่อแม่อาจเล่านิทานหรือให้ดูการ์ตูนที่สอนเกี่ยวกับการขับถ่าย รวมทั้งสาธิตท่าทางในการใช้กระโถนให้ดู หากในครอบครัวมีเด็กโต อาจให้ลูกคอยสังเกตว่าเด็กโตขับถ่ายเองอย่างไร เพราะเด็กเล็กมักมีพฤติกรรมเลียนแบบคนรอบข้าง

เรื่องที่ควรรู้ในการฝึกลูกนั่งกระโถน

การฝึกลูกนั่งกระโถนต้องใช้เวลา โดยเฉลี่ยมักใช้เวลาประมาณ 3–6 เดือน คุณพ่อคุณแม่ควรค่อย ๆ สอนอย่างใจเย็น หากบังคับหรือดุลูกอาจทำให้ลูกกลัวและไม่ยอมนั่งกระโถนอีก โดยมีเทคนิคการฝึกลูกนั่งกระโถนให้สำเร็จด้วยวิธีง่าย ๆ ดังนี้

  • ในช่วงแรกอาจฝึกลูกนั่งกระโถนโดยไม่ต้องถอดผ้าอ้อมหรือเสื้อผ้าที่สวมอยู่ เมื่อเริ่มชินแล้วจึงค่อยให้ลูกถอดออก โดยให้ลูกสวมกางเกงหรือกระโปรงที่สามารถถอดออกเองได้ง่าย
  • ฝึกให้ลูกนั่งกระโถนให้เป็นเวลา เช่น ทันทีที่ตื่นนอนตอนเช้าหรือหลังนอนกลางวัน และหลังกินอาหารประมาณ 15–30 นาที เพื่อทำให้ลูกเคยชินและฝึกวินัยในการขับถ่าย 
  • คอยสังเกตท่าทางของลูก หากลูกแสดงออกว่าอยากขับถ่าย ควรบอกให้ลูกไปที่กระโถนทันที
  • หากลองให้ลูกนั่งกระโถนประมาณ 3–5 นาทีแล้วลูกยังถ่ายไม่ออก หรืองอแงไม่อยากนั่งกระโถน  ไม่ควรบังคับให้นั่งต่อและควรให้ลูกลุกออกจากกระโถน หากรู้สึกปวดจึงค่อยให้มานั่งที่กระโถนอีกครั้ง
  • เด็กเล็กอาจยังไม่สามารถกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระได้ดี ช่วงแรกอาจยังขับถ่ายเลอะเทอะ หรือฉี่รดที่นอนwww.pobpad.com/รับมืออย่างไรให้เหมาะส พ่อแม่ไม่ควรดุด่าหรือลงโทษลูกหากฝึกนั่งกระโถนไม่สำเร็จ 
  • หากลูกขับถ่ายได้ดีควรชมเชยหรือให้รางวัลเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อสร้างกำลังใจ
  • สอนให้ลูกทำความสะอาดหลังขับถ่ายอย่างถูกต้อง และสวมกางเกงหรือกระโปรงให้เรียบร้อย

พ่อแม่ควรให้ลูกดื่มน้ำให้เพียงพอ กินอาหารที่มีกากใยที่ช่วยกระตุ้นการขับถ่ายและช่วยป้องกันไม่ให้ลูกท้องผูก ซึ่งอาจทำให้รู้สึกเจ็บขณะขับถ่าย 

หากมีข้อสงสัยหรือปัญหาในการฝึกลูกนั่งกระโถน เช่น ลูกรู้สึกปวดท้องแต่ถ่ายไม่ออก หรือกลัวการขับถ่าย ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจและรับคำแนะนำในการดูแลการขับถ่ายของลูกอย่างเหมาะสม