อกหัก ช้ำรัก เยียวยาแผลใจอย่างไรดี ?

อาการอกหักหรือความเสียใจจากความผิดหวัง การเลิกรา การสูญเสีย หรือการไม่ได้รับความรักจากคนที่เรารักตอบ อาจเป็นเรื่องเจ็บปวดและทุกข์ระทมเกินกว่าจะข้ามผ่านไปได้ง่าย ๆ โดยนอกจากความปวดร้าวทางจิตใจและอารมณ์เศร้าหมองที่เกิดขึ้นแล้ว ผู้ที่เผชิญกับปัญหาอกหักอาจมีอาการทางร่างกายบางอย่างอีกด้วย ซึ่งการทำความเข้าใจเกี่ยวกับสภาวะอกหักและเรียนรู้วิธีเยียวยาสภาพจิตใจตนเองอาจช่วยให้ก้าวผ่านช่วงเวลาที่เจ็บปวดนี้ไปได้ง่ายยิ่งขึ้น

1804 อกหัก rs (1)

อกหัก ส่งผลต่อสุขภาพอย่างไร ?

จากการศึกษาและงานวิจัยบางส่วนพบว่า การรู้สึกอกหักและความเจ็บปวดทางจิตใจที่เกิดขึ้นอาจส่งผลต่อสมองจนนำไปสู่อาการทางร่างกายได้ ดังนี้

  • รู้สึกเจ็บปวดทางร่างกาย ผลการสแกนสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าแบบพิเศษในการศึกษาบางชิ้นพบว่า การผิดหวังในความรัก การถูกปฏิเสธ การอกหัก และการเลิกรากับคนรัก กระตุ้นให้สมองทำงานแบบเดียวกันกับขณะที่มีอาการบาดเจ็บทางร่างกาย เมื่ออกหัก หลายคนจึงอาจรู้สึกคล้ายเจ็บปวดทางร่างกายไปด้วย แต่โดยทั่วไปความเจ็บปวดทางร่างกายจะรุนแรงเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่ง แล้วค่อย ๆ บรรเทาลงเมื่อเวลาผ่านไป อย่างไรก็ตาม อาการต่าง ๆ จากการอกหักก็สามารถคงอยู่ได้นานเป็นวัน เป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือนได้เช่นกัน
  • ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ความเครียด ความเหงา และอารมณ์ซึมเศร้าส่งผลต่อสุขภาพร่างกายได้ โดยอาจทำให้กินไม่ได้นอนไม่หลับ ซึ่งอาจทำให้ภูมิคุ้มกันลดลงจนร่างกายอ่อนแอและเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยได้ง่าย บางรายที่เครียดอย่างรุนแรงอาจมีอาการแน่นหน้าอก หัวใจเต้นเร็ว และปวดท้องด้วย นอกจากนี้ ยังมีบางกรณีที่พบได้น้อยมาก คือ ผู้ที่อกหักอาจมีอาการของภาวะหัวใจสลายโดยจะมีอาการเจ็บหน้าอกร่วมกับหายใจลำบาก ซึ่งเกิดขึ้นได้จากการเผชิญสถานการณ์ที่เครียดจัดอย่างการสูญเสียคนรักไป
  • มีอาการเหมือนถอนยา อาการอกหักกระตุ้นให้เกิดกลไกในสมองแบบเดียวกับอาการถอนยาจากการใช้สารเสพติด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการคิด การจดจ่อ และการดำเนินชีวิตประจำวัน คนรอบข้างจึงควรทำความเข้าใจว่าสภาวะทางจิตใจของผู้ที่อยู่ในช่วงอกหักนั้น ย่อมไม่สมบูรณ์และเศร้าซึมผิดปกติได้เป็นเรื่องธรรมดา
  • เฝ้านึกถึงแต่เรื่องความผิดหวัง เมื่ออกหัก สมองจะเกิดความคิดวนเวียนเกี่ยวกับคนรักหรือคนที่หักอกเราขึ้นมาอย่างควบคุมไม่ได้ หรือบางครั้งก็ทำให้คิดถึงแต่ภาพความทรงจำตอนที่อยู่ด้วยกัน บทสนทนาบางอย่าง หรือความทรงจำใด ๆ ที่มีร่วมกันขึ้นมาโดยอัตโนมัติ ซึ่งจะยิ่งทำให้รู้สึกเจ็บปวดและโศกเศร้าคล้ายการเปิดบาดแผลออกมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า คนที่อกหักจึงอาจต้องใช้เวลานานกว่าจะพาตัวเองออกจากความคิดความทรงจำเก่า ๆ ได้ แต่เมื่อรู้แล้วว่าสมองของเราเป็นตัวสั่งการให้คิดถึงคนรักเก่าหรือคนที่ทำให้ผิดหวังเองโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ หลายคนอาจพยายามควบคุมตัวเอง เพื่อหลีกเลี่ยงและคิดหรือพูดถึงคนรักเก่าให้น้อยลงด้วย

วิธีเยียวยาตัวเองจากอาการอกหัก

การทำใจให้ลืมและก้าวผ่านบาดแผลเจ็บปวดจากการอกหักนั้นอาจต้องใช้เวลา แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด เพียงต้องมุ่งมั่นและพยายามดึงตัวเองออกมาจากความทุกข์ โดยอาจลองทำตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

อย่าจมปลัก แต่ให้ลุกขึ้นมาและก้าวต่อไป การคิดวนเวียนถึงเรื่องราวที่ผ่านไปแล้วไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นมา แต่ควรเปิดใจเผชิญหน้ากับความจริง ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นและจบไปแล้ว เพราะแม้ความจริงจะทำให้รู้สึกเจ็บปวด แต่ก็ทำให้รู้ว่าไม่ควรคาดหวังหรือให้ความหวังตัวเอง ซึ่งนั่นจะช่วยให้เข้มแข็งขึ้นได้ในที่สุด

ปล่อยวาง แล้วกลับมารักตัวเองอีกครั้ง พยายามมีความสุขด้วยตนเอง เพื่อช่วยให้ไม่รู้สึกโดดเดี่ยวและซึมเศร้าจนเกินไป ไม่จำเป็นต้องตามตื๊อขอคืนดีกับคนรักเก่าหากรู้สึกว่าเป็นความสัมพันธ์ที่สิ้นหวังเกินเยียวยา และไม่ควรรีบคบหรือคุยกับใครคนใหม่ แต่ควรใช้เวลาระหว่างนี้ไปกับการทำสิ่งต่าง ๆ ที่ช่วยให้มีความสุขอย่างเต็มที่ รวมทั้งสำรวจตัวเองและทบทวนปัญหาที่เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ครั้งก่อน เพื่อจะได้มีความสัมพันธ์ครั้งใหม่ที่มั่นคงและเข้ากันได้จริง ๆ

ร้องไห้ให้พอ แต่อย่าลืมกลับมาหัวเราะให้ได้ด้วย งานวิจัยหลายชิ้นชี้ว่า การร้องไห้อาจช่วยให้รู้สึกดีขึ้นได้หลังจากระบายความเศร้าและความเสียใจออกมาเป็นน้ำตา เช่นเดียวกับการหัวเราะที่จะส่งผลให้สมองหลั่งสารเคมีแห่งความสุขอย่างเอ็นโดรฟินออกมา ทั้งยังช่วยเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจและช่วยให้เลือดสูบฉีดได้ดียิ่งขึ้น

พาตัวเองออกมา อยู่ให้ห่างจากคนรักเก่า ในยุคสมัยที่แทบทุกคนล้วนมีช่องทางโซเชียลมีเดียเป็นของตัวเอง หลายคนอาจยังวนเวียนติดตามความเคลื่อนไหวบนโลกอินเทอร์เน็ตของอีกฝ่ายไม่ห่าง ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวจะยิ่งทำให้ไม่สามารถก้าวผ่านอดีตไปได้ ทั้งนี้ ควรเลิกติดต่อหรือเว้นระยะห่างกับคนรักเก่าให้มาก ใช้เวลาพูดคุยและทำกิจกรรมกับครอบครัวหรือเพื่อน ๆ แทน เพื่อหลีกเลี่ยงการจดจ่อและจมปลักนึกถึงแต่เรื่องเก่าซ้ำไปซ้ำมา

ดูแลสุขภาพกายให้ดี เพื่อช่วยเสริมสร้างสุขภาพจิตให้เข้มแข็ง ควรหันมาออกกำลังกายด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น วิ่ง ว่ายน้ำ เดิน ปั่นจักรยาน เป็นต้น เพราะจะช่วยเพิ่มระดับสารเซโรโทนินและสารนอร์อิพิเนฟรินที่ช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองและปรับอารมณ์ให้ดีขึ้นได้ รวมทั้งควรหลีกเลี่ยงการกินของหวานและอาหารไขมันสูงทั้งหลายเพื่อให้ช่วยเยียวยาความเจ็บปวดทางใจ เพราะนอกจากจะไม่ได้ผลแล้ว อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพโดยรวมด้วย ซึ่งควรเลือกกินอาหารที่มีคุณประโยชน์ครบถ้วนและมีรสชาติดี เพื่อช่วยให้รู้สึกดีขึ้นแทน

อย่าปล่อยให้ตัวเองว่าง พยายามหากิจกรรมทำตลอดเวลา เพื่อมุ่งความสนใจไปที่สิ่งอื่นและป้องกันการเกิดความคิดฟุ้งซ่าน เช่น จัดห้องใหม่ ทำงานอดิเรกที่ชื่นชอบ หรือทำกิจกรรมที่สนุกสนานอย่างการไปดูภาพยนตร์และชมคอนเสิร์ต เป็นต้น

สร้างสังคมใหม่ ๆ หากคุณและคนรักเก่ามีเพื่อนกลุ่มเดียวกัน ย่อมเป็นเรื่องยากที่จะไม่รับรู้หรือได้ยินเรื่องราวของอีกฝ่าย ในช่วงแรกที่ยังทำใจไม่ได้และยังรู้สึกเจ็บปวดอยู่ อาจลองหากลุ่มเพื่อนใหม่ ๆ หรือเข้าร่วมกิจกรรมที่จะได้ทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ เช่น เรียนดำน้ำ เรียนศิลปะ หรือเรียนดนตรี เป็นต้น

ใช้ชีวิตอย่างมีความหวัง ไม่มีสิ่งใดเป็นจุดจบของทุกอย่าง ตราบใดที่ยังมีความหวัง แม้จะเป็นเรื่องที่น่าเศร้าเมื่อต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก หรือห่างเหินจากคนที่คุ้นเคยและเคยมีความทรงจำร่วมกันมา แต่นั่นก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีต ซึ่งเป็นธรรมดาของชีวิตคนเราที่เมื่อได้พบพานก็ย่อมมีการจากลาเสมอ ดังนั้น การมีชีวิตโดยจดจ่ออยู่กับปัจจุบันและคาดหวังถึงสิ่งที่ดีกว่าในอนาคตจึงเป็นเรื่องสำคัญ ให้พึงระลึกไว้ว่าสักวันหนึ่งจะกลับมามีความสุขเหมือนเดิมได้ โดยจะสามารถใช้ชีวิตด้วยตนเองได้อย่างมีความสุขและไม่เศร้าเสียใจอย่างในวันนี้ที่เผชิญอยู่

อย่าปิดกั้นตัวเองจากความรัก การอกหักหรือผิดหวังอาจทำให้บางคนฝังใจและกลัวการมีความสัมพันธ์กับผู้อื่น ซึ่งการเยียวยาแผลใจที่ถูกต้องควรเป็นการรักษาเพื่อให้สามารถเปิดใจมีความรักที่ดีได้อีกครั้ง ไม่ใช่การปิดใจและปฏิเสธความสัมพันธ์ครั้งใหม่ เพราะการรักษาจิตใจตัวเองอย่างถูกวิธีย่อมส่งผลดีมากกว่าการตั้งแง่และปิดตัวเองจากความสุขที่จะเข้ามาในอนาคต