หัดเยอรมันป้องกันได้ เสริมภูมิคุ้มกันร่างกายด้วยวัคซีน

หัดเยอรมันอาจเป็นโรคไม่รุนแรงสำหรับคนส่วนใหญ่ แต่เป็นอันตรายต่อสตรีมีครรภ์และทารก เพราะสามารถนำไปสู่ภาวะแท้ง ทารกเสียชีวิตหลังการคลอด หรือเกิดความผิดปกติแต่กำเนิด โดยการป้องกันโรคอย่างมีประสิทธิภาพ คือ การฉีดวัคซีนหัดเยอรมันแต่เนิ่น ๆ เพื่อสร้างภูมิต้านทานโรคให้แก่ร่างกายและลดการแพร่กระจายของเชื้อนี้

หัดเยอรมัน

วัคซีนหัดเยอรมันสำคัญอย่างไร ?

หัดเยอรมันเป็นโรคติดต่อจากการติดเชื้อไวรัสที่แพร่กระจายและติดต่อได้ง่ายเมื่อสัมผัสกับสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อโดยตรง หรือเชื้ออาจแพร่กระจายอยู่ในอากาศ ทำให้ผู้ที่คลุกคลีกับผู้ติดเชื้อสามารถได้รับเชื้อผ่านการไอ จาม หรือหายใจรดกัน รวมไปถึงการเดินทางไปต่างประเทศหรือเขตที่มีการระบาดของโรคก็อาจทำให้เสี่ยงติดเชื้อได้ด้วย โดยผู้ป่วยมักมีอาการ เช่น มีไข้ต่ำถึงปานกลาง มีตุ่มนูนหรือผื่นแดง เป็นต้น ซึ่งอาการมักดีขึ้นเองภายใน 7-10 วัน

แม้โดยทั่วไปอาการป่วยของหัดเยอรมันมักไม่ค่อยรุนแรง แต่เมื่อเกิดโรคนี้กับสตรีมีครรภ์และทารกยิ่งควรระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาการของโรคอาจมีความรุนแรงและก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย โดยเฉพาะหากคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ได้รับเชื้อในช่วงไตรมาสแรกหรือ 20 สัปดาห์แรก ซึ่งเชื้อสามารถถูกส่งผ่านไปสู่ทารกและเสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพได้ตั้งแต่แรกคลอดอย่างต้อกระจกตา หูหนวก สมองได้รับความเสียหาย หัวใจทำงานผิดปกติ พิการแต่กำเนิด หรือเสียชีวิตได้ ดังนั้น การฉีดวัคซีนหัดเยอรมันจะช่วยป้องกันการเกิดโรคนี้ก่อนจะสายเกินแก้

วัคซีนหัดเยอรมันมีกี่ชนิด ?

ในปัจจุบันวัคซีนหัดเยอรมันมีหลายรูปแบบ แต่ชนิดที่ได้รับความนิยมเป็นวัคซีนแบบผสม เนื่องจากช่วงเวลาในการฉีดวัคซีนแต่ละโรคใกล้เคียงกัน วัคซีนแบบผสมจึงช่วยให้ไม่ต้องไปพบแพทย์บ่อยและลดจำนวนเข็มในการฉีด อีกทั้งค่าใช้จ่ายโดยรวมมักต่ำกว่าการฉีดวัคซีนแยกแต่ละโรค โดยวัคซีนหัดเยอรมันแบบวัคซีนรวม ได้แก่ วัคซีนรวมเอ็มเอ็มอาร์ (MMR) ซึ่งเป็นวัคซีนรวมที่ป้องกันโรคหัด คางทูม และหัดเยอรมันในเข็มเดียวกัน ทางสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทยก็แนะนำให้วัคซีนชนิดนี้เป็นวัคซีนพื้นฐานที่ควรฉีดด้วย ส่วนวัคซีนอีกชนิดหนึ่ง คือ วัคซีนรวมเอ็มเอ็มอาร์วี (MMRV) ซึ่งเป็นชนิดที่เพิ่มการป้องกันโรคอีสุกอีใสเข้ามาด้วย และมักจะใช้ฉีดเสริมหรือทดแทนวัคซีนรวมเอ็มเอ็มอาร์ในบางกรณี

แม้การป้องกันโรคของวัคซีนรวมทั้ง 2 ชนิดนี้มีประสิทธิภาพครอบคลุมโรคตามที่ระบุไว้เหมือนกัน แต่การใช้วัคซีนรวมเอ็มเอ็มอาร์วีในทารกอายุ 12-47 เดือนมักทำให้เด็กมีไข้สูงและเสี่ยงต่อการชักใน 5-12 วันหลังการฉีด ซึ่งเสี่ยงมากกว่าการฉีดวัคซีนรวมแบบเอ็มเอ็มอาร์แยกกับวัคซีนอีสุกอีใสชนิดเดี่ยว ดังนั้น พ่อแม่หรือผู้ปกครองควรปรึกษาแพทย์ถึงประโยชน์และความเสี่ยงที่อาจได้รับก่อนเลือกฉีดวัคซีนแต่ละชนิด

เมื่อใดที่ต้องฉีดวัคซีนหัดเยอรมัน ?

สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทยและกระทรวงสาธารณสุขแนะนำให้เด็กไทยทุกคนควรฉีดวัคซีนรวมเอ็มเอ็มอาร์ โดยแบ่งออกเป็น 2 เข็ม ดังนี้

  • เข็มแรก ให้เริ่มฉีดตอนเด็กอายุ 9-12 เดือน หรืออาจฉีดได้หลังจากอายุ 12 เดือน
  • เข็มถัดมา ให้ฉีดกระตุ้นตอนเด็กอายุ 2.5-7 ปี หากเกิดการระบาดของโรคหลังจากฉีดเข็มแรกไปแล้ว สามารถฉีดเข็มที่ 2 ได้ก่อนเด็กอายุถึง 2.5 ปี แต่ต้องให้ห่างจากเข็มแรกอย่างน้อย 3 เดือน

สำหรับเด็กที่อายุน้อยกว่า 12 เดือนและผู้ใหญ่ที่ต้องเดินทางออกนอกประเทศก็ควรฉีดวัคซีนรวมเอ็มเอ็มอาร์เพื่อป้องกันไว้ก่อนเช่นกัน หากเป็นผู้ใหญ่อายุ 18 ปีขึ้นไปที่ไม่เคยฉีดวัคซีนเอ็มเอ็มอาร์มาก่อนควรได้รับวัคซีนนี้อย่างน้อย 1 เข็ม หรือถ้าเป็นไปได้ก็ควรฉีดให้ครบตามเกณฑ์ทั้ง 2 เข็ม

ส่วนเด็กบางรายที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีกใสมาก่อน แพทย์อาจแนะนำให้ฉีดวัคซีนรวมเอ็มเอ็มอาร์วีแทน โดยเริ่มฉีดได้ตั้งแต่เด็กมีอายุ 1-12 ปี ซึ่งใช้จำนวนเข็มและช่วงเวลาในการฉีดเช่นเดียวกันกับวัคซีนรวมเอ็มเอ็มอาร์

การฉีดวัคซีนหัดเยอรมันก่อนการตั้งครรภ์

โรคหัดเยอรมันส่งผลรุนแรงต่อคุณแม่ที่ตั้งครรภ์และทารก ดังนั้น ผู้ที่วางแผนจะมีบุตรควรได้รับการวัคซีนหัดเยอรมันก่อนการตั้งครรภ์ หากไม่แน่ใจว่าได้รับวัคซีนป้องกันโรคนี้ครบตามเกณฑ์แล้วหรือไม่ อาจต้องตรวจจากประวัติทางการแพทย์และตรวจเลือด ซึ่งคุณแม่สามารถขอคำแนะนำจากแพทย์ได้ถึงช่วงเวลาที่เหมาะสมในการฉีดวัคซีน

โดยทั่วไป การฉีดวัคซีนหัดเยอรมันควรทิ้งช่วงห่างจากการตั้งครรภ์อย่างน้อย 1 เดือน เพราะวัคซีนอาจเป็นอันตรายต่อทารกหากฉีดในขณะตั้งครรภ์ ระหว่างนี้ผู้ที่กำลังวางแผนตั้งครรภ์จึงควรคุมกำเนิดหลังฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 เดือน สำหรับกรณีที่เพิ่งทราบว่าตนเองตั้งครรภ์และไม่ได้รับวัคซีนป้องกันหัดเยอรมันมาก่อน ควรรอจนกว่าคลอดบุตรเรียบร้อยแล้ว โดยแพทย์อาจให้ฉีดวัคซีนนี้หลังจากคลอดบุตรผ่านไปแล้ว 6 เดือน

ไม่ควรฉีดวัคซีนหัดเยอรมันให้บุคคลกลุ่มใดบ้าง ?

แม้ว่าการฉีดวัคซีนหัดเยอรมันจะช่วยป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่มีบุคคลบางกลุ่มที่ไม่ควรรับการฉีดวัคซีนนี้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ ดังนั้น ก่อนรับวัคซีนจึงควรแจ้งแพทย์เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพเสมอ เพื่อความปลอดภัยของตนเอง

โดยตัวอย่างบุคคลในกลุ่มเสี่ยงที่ไม่ควรรับวัคซีนหัดเยอรมัน ได้แก่

  • ผู้ที่เคยมีประวัติการแพ้วัคซีนหัดเยอรมันอย่างรุนแรง หรือแพ้ส่วนผสมใด ๆ ในวัคซีน เช่น ยานีโอมัยซิน เป็นต้น
  • สตรีที่กำลังตั้งครรภ์
  • ผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีหรือโรคเอดส์
  • ผู้ที่รับประทานยาบางชนิดในปริมาณสูงมาก เช่น ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ เป็นต้น
  • ผู้ที่ได้รับการรักษาหรือรับประทานยาที่ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน เช่น ยาเคมีบำบัด การฉายแสง เป็นต้น
  • ผู้ป่วยโรคมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเม็ดเลือดขาว เป็นต้น
  • ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องจากโรคต่าง ๆ ที่ส่งผลให้ระดับสารภูมิต้านทานต่ำมากอย่างโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวมัลติเพิลมัยอิโลมา และมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดอื่น ๆ

ผลข้างเคียงของวัคซีนหัดเยอรมัน

วัคซีนหัดเยอรมันอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้เช่นเดียวกับยาต่าง ๆ แต่เมื่อเทียบกับผลดีและผลเสีย การฉีดวัคซีนย่อมเป็นทางเลือกที่ดีกว่าปล่อยให้ป่วยด้วยหัดเยอรมันในภายหลัง อีกทั้งยังไม่ค่อยทำให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ทั้งนี้ ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนรวมเอ็มเอ็มอาร์และเอ็มเอ็มอาร์วีอาจแตกต่างกันเล็กน้อย โดยอาการต่าง ๆ จะลดลงเมื่อฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ซึ่งผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นมีตั้งแต่อาการป่วยเล็กน้อยไปจนถึงรุนแรง ดังนี้

  • ผลข้างเคียงเล็กน้อยอย่างมีไข้ มีผื่น ต่อมบริเวณแก้มและคอบวม ซึ่งมักจะเกิดขึ้นภายใน 6-14 วันหลังการฉีดวัคซีน และอาการเหล่านี้จะลดลงเมื่อฉีดวัคซีนเข็มที่ 2
  • ผลข้างเคียงปานกลาง เช่น ชักจากไข้ขึ้น ปวดบริเวณที่ฉีดวัคซีน มีอาการข้อติดชั่วคราว เกล็ดเลือดต่ำชั่วคราว และอาจเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกผิดปกติ เป็นต้น
  • ผลข้างเคียงร้ายแรง ซึ่งพบได้ค่อนข้างน้อย เช่น อาการแพ้ หูหนวก มีอาการชักเป็นประจำ รู้สึกตัวน้อยลง โคม่า หรือสมองได้รับความเสียหายถาวร เป็นต้น

หากพบอาการป่วยข้างต้นหลังฉีดวัคซีน ควรรีบแจ้งแพทย์ทันที โดยเฉพาะเมื่อเกิดอาการแพ้ที่ทำให้ใบหน้าและคอบวม เกิดผื่น หัวใจเต้นแรง วิงเวียนศีรษะ อ่อนแรง หรือหายใจลำบาก