หัดเยอรมัน

ความหมาย หัดเยอรมัน

หัดเยอรมัน (Rubella/German Measles/Three-day Measles) เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งมักเกิดผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย สามารถพบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่

หัดเยอรมัน

โรคหัดเยอรมันมีความคล้ายคลึงกับโรคหัด (Measles Rubeola) โดยมักมีอาการออกผื่น ไข้ขึ้น ต่อมน้ำเหลืองโตเหมือนกัน แต่เป็นการติดเชื้อไวรัสคนละชนิดและมีความรุนแรงของโรคน้อยกว่า ทั้งนี้ ในประเทศไทยอาจมีชื่อเรียกอื่นว่า โรคเหือด หรือโรคหัด 3 วัน

อาการของโรคหัดเยอรมัน

อาการที่สามารถสังเกตเห็นได้ในช่วงแรกค่อนข้างมีอาการคล้ายกับการติดเชื้อไวรัสทั่วไป ซึ่งหลังจากได้รับเชื้อประมาณ 1-2 วัน ผู้ป่วยมักจะเริ่มมีอาการดังนี้

  • มีไข้ต่ำถึงปานกลาง (ประมาณ 37.2-37.8 องศาเซลเซียส)
  • ต่อมน้ำเหลืองโต โดยเฉพาะบริเวณคอ ท้ายทอย และหลังหู
  • มีตุ่มนูน ผื่นแดงหรือสีชมพูขึ้นที่ใบหน้าก่อนจะลามลงมาตามผิวหนังส่วนอื่น ๆ เช่น แขน ขา และจะค่อย ๆ หายไปภายใน 3 วัน โดยผื่นมักมีลักษณะอยู่กระจายตัว ไม่กระจุกตัวเป็นกลุ่ม และเมื่อผื่นหายมักไม่ค่อยทิ้งรอยแผลจากผื่นทิ้งไว้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการคันตามผิวหนังร่วมด้วย

อาการอื่น ๆ ที่สามารถพบได้ทั่วไป และมักเกิดขึ้นกับวัยรุ่นและผู้ใหญ่ เช่น

  • ปวดศีรษะ
  • ไม่อยากอาหาร
  • เยื่อบุตาอักเสบจนทำให้ตาแดง
  • คัดจมูก น้ำมูกไหล
  • ต่อมน้ำเหลืองตามร่างกายมีอาการบวม
  • ปวดข้อ และข้อต่อบวม

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเพียงเล็กน้อย หรืออาจไม่มีอาการของโรคได้เช่นกัน อาการของโรคที่เกิดในเด็กจะร้ายแรงน้อยกว่าเมื่อเกิดขึ้นในผู้ใหญ่ที่ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรค ทั้งนี้อาการของโรคจะคงอยู่ไม่นานประมาณ 2-3 วัน ยกเว้นในกรณีที่ต่อมน้ำเหลืองมีอาการบวมอาจเป็นอยู่นานหลายสัปดาห์ ดังนั้น หากพบอาการคล้ายกับที่กล่าวมาข้างต้นควรรีบไปพบแพทย์ โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ที่อาจส่งผ่านเชื้อไปยังทารในครรภ์ได้

สาเหตุของหัดเยอรมัน

โรคหัดเยอรมันเกิดจากการติดเชื้อไวรัสชื่อ รูเบลลา ไวรัส (Rubella Virus) ที่อยู่ในน้ำมูกหรือน้ำลายของผู้ป่วย ซึ่งสามารถแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่นได้ง่ายโดยการไอ จาม สูดเอาเชื้อที่อยู่ในอากาศเมื่อมีการติดต่อกับผู้ที่มีเชื้อชนิดนี้ รวมไปถึงการใช้สิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสจากผู้ป่วย หากเป็นหญิงตั้งครรภ์จะสามารถส่งผ่านเชื้อให้ทารกได้โดยทางกระแสเลือด

ระยะการฟักตัวของโรคจะอยู่ในช่วง 14-23 วัน โดยเฉลี่ยประมาณ 16-18 วัน ผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ตั้งแต่มีเชื้อในร่างกายแม้ไม่มีอาการแสดงออกไปจนถึงหลังอาการผื่นขึ้นตามร่างกายหายไปประมาณ 2-3 สัปดาห์

การวินิจฉัยหัดเยอรมัน

หากแพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยมีการติดเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคหัดเยอรมัน ขั้นแรกจะมีการสอบถามข้อมูลและตรวจร่างกายภายนอกทั่วไป เช่น อาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย ตรวจตามร่างกายว่ามีผื่นขึ้นหรือไม่ มีการติดต่อกับผู้ป่วยโรคนี้หรือผู้ที่มีผื่นขึ้นหรือไม่ จากนั้นจึงมีการตรวจน้ำลายและการตรวจเลือด เพื่อช่วยยืนยันผลการติดเชื้ออีกครั้ง  

การตรวจน้ำลายและการตรวจเลือด (Saliva & Blood Test) เป็นการตรวจหาสารภูมิต้านทานหรือแอนติบอดี (Antibodies) ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นเมื่อร่างกายมีสิ่งแปลกปลอม สารพิษ หรือเชื้อโรค โดยแพทย์จะเก็บตัวอย่างน้ำลายภายในช่องปากหรือตัวอย่างเลือดของผู้ป่วย ซึ่งจะช่วยตรวจหาสารภูมิต้านทานจำเพาะต่อโรคหัดเยอรมัน คือ สารภูมิต้านทานชนิดเอ็ม (IgM Antibody) และชนิดจี (IgG Antibody) เนื่องจากสารภูมิต้านทานในร่างกายมีอยู่หลายชนิดในร่างกาย แต่จำเป็นต้องได้รับการตรวจ 2 ครั้ง โดยครั้งแรกตรวจเมื่อมีอาการ และตรวจอีกครั้งห่างจากครั้งแรก 2-3 สัปดาห์

  • หากตรวจไม่พบสารภูมิต้านทานชนิด จี แสดงว่าบุคคลนั้นมีแนวโน้มว่าไม่น่าจะเคยได้รับเชื้อไวรัสหรือได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมัน แต่ไม่สามารถป้องกันเชื้อได้
  • หากตรวจพบสารภูมิต้านทานชนิด จี แต่ตรวจไม่พบตรวจพบสารภูมิต้านทานชนิด เอ็ม แสดงว่าผู้ป่วยเคยติดเชื้อไวรัสหรือได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมันมาก่อน
  • หากตรวจพบสารภูมิต้านทานชนิด เอ็ม โดยอาจพบสารภูมิต้านทานชนิด จี หรือไม่พบก็ได้ แสดงว่าเกิดการติดเชื้อไวรัสขึ้นมาใหม่ ซึ่งระดับของโปรตีนชนิดนี้จะเพิ่มมากขึ้นในระยะเวลา 7-10 วันหลังการติดเชื้อ และค่อย ๆ ลดระดับลง
  • ในกรณีที่ตรวจไม่พบสารภูมิต้านทานใด ๆ ในเลือด แสดงว่ายังไม่เคยเกิดการติดเชื้อขึ้นและยังไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมันเช่นกัน ซึ่งอาจมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคขึ้นได้ในอนาคตหากได้รับเชื้อ
  • สำหรับในทารกแรกเกิด หากตรวจพบสารภูมิต้านทานชนิด เอ็ม แสดงว่าได้รับเชื้อในขณะที่มารดาตั้งครรภ์

การรักษาหัดเยอรมัน

โรคหัดเยอรมันไม่มีวิธีการรักษาแบบเฉพาะเจาะจง แต่เป็นการรักษาตามอาการเป็นหลัก โดยทั่วไปอาการของโรคจะไม่ร้ายแรงและมักดีขึ้นได้เองภายใน 7-10 วัน แพทย์อาจให้มีการดูแลรักษาได้เองจากที่บ้าน เพื่อช่วยบรรเทาให้อาการดีขึ้น

ในรายที่มีไข้ขึ้นสูง แพทย์จะให้รับประทานยาในกลุ่มยาแก้ปวด เช่น ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ยาไอบูโปรเฟน (Ibuprofen) หรือยาไทลินอล (Tylenol) เพื่อช่วยลดไข้ บรรเทาอาการปวด หรือปวดเมื่อย แต่ผู้ป่วยที่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปี อาจให้รับประทานเป็นยาพาราเซตามอลแบบน้ำ และควรหลีกเลี่ยงยาแอสไพริน (Aspirin) หรือควรมีการปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา หากไข้ไม่ลดก็อาจมีการเช็ดตัว เพื่อช่วยลดอุณหภูมิของร่างกายลง

นอกจากนี้ อาจเป็นการดูแลตนเองทั่วไป ซึ่งแพทย์จะแนะนำตามอาการผู้ป่วยแต่ละราย เช่น พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำและบรรเทาอาการไอ รวมไปถึงควรมีการหลีกเลี่ยงในการสัมผัสกับผู้ที่ติดเชื้อที่อาจส่งผลให้อาการแย่ลง ทั้งนี้ ควรมีการหยุดเรียนหรือทำงานสักระยะ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไปสู่ผู้อื่น

หากผู้ป่วยที่เป็นหญิงตั้งครรภ์ แพทย์อาจให้การรักษาด้วยการให้สารภูมิต้านทานที่เรียกว่า ไฮเปอร์ฮีมูน กลอบูลิน (Hyperimmune Globullin) เพื่อใช้ต้านไวรัสและบรรเทาอาการของโรคให้ดีขึ้น แต่ยังคงมีความเสี่ยงที่ทารกจะได้รับเชื้อจากมารดาได้ อาจต้องมีการพบแพทย์เป็นเป็นระยะควบคู่ไปด้วย

ภาวะแทรกซ้อนของหัดเยอรมัน

โรคหัดเยอรมันเป็นการติดเชื้อไวรัสที่มีความรุนแรงระดับปานกลางและไม่ค่อยพบภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรง เนื่องจากผู้ที่เคยป่วยเป็นโรคหัดเยอรมันแล้วหรือได้รับการฉีดวัคซีนหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม (Measles-Mumps-Rubella: MMR) จะทำให้มีภูมิต้านทานโรคนี้ไปตลอดชีวิต แต่ในบางรายก็อาจมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้ เช่น โรคข้ออักเสบที่นิ้ว ข้อมือ และหัวเข่าที่พบเฉพาะในผู้หญิงอาจมีอาการอยู่ประมาณ 1 เดือน การติดเชื้อที่หูจนกลายเป็นหูน้ำหนวก การอักเสบของสมองจนพัฒนาเป็นโรคไข้สมองอักเสบ หรือโรคหัดเยอรมันแต่กำเนิดในทารกเมื่อมารดาติดเชื้อในขณะตั้งครรภ์

โรคหัดเยอรมันแต่กำเนิด (Congenital Rubella Syndrome)

หากมารดาเกิดการติดเชื้อในระหว่างการตั้งครรภ์ อาจมีโอกาสทำให้ทารกในครรภ์เป็นโรคหัดเยอรมันแต่กำเนิด (Congenital Rubella Syndrome) โดยการส่งผ่านเชื้อผ่านทางกระแสเลือด ทำให้ทารกที่คลอดออกมาเกิดความพิการหรือความผิดปกติของร่างกาย เช่น พัฒนาการช้า มีความความบกพร่องทางสติปัญญา หูหนวก เป็นโรคต้อกระจกหรือโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด การทำงานของตับ ม้ามและไขกระดูกมีปัญหา ขนาดศีรษะเล็กและสมองไม่พัฒนา ในบางรายอาจพัฒนาความผิดปกติหรือโรคอื่น ๆ ขึ้นในตอนโตขึ้น เช่น โรคเบาหวานชนิดที่ 1 ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนออกมาเกินปกติหรือน้อยผิดปกติ อาการสมองบวมจนอาจทำให้สูญเสียการควบคุมร่างกายและเสียสติ

นอกจากนี้ ทารกจะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคหัดเยอรมันแต่กำเนิดเพิ่มมากขึ้นเมื่อเกิดการติดเชื้อในขณะที่อายุครรภ์น้อย โดยเฉพาะในช่วง 20 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ ดังนี้  

  • การติดเชื้อในช่วง 10 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ - ทารกมีความเสี่ยงในการเป็นโรคหัดเยอรมันแต่กำเนิดสูงถึง 90% และมักจะเกิดความผิดปกติในการทำงานหลายส่วนของร่างกาย
  • การติดเชื้อในช่วงสัปดาห์ที่ 11-16 ของการตั้งครรภ์ - ความเสี่ยงของการเป็นโรคหัดเยอรมันแต่กำเนิดในทารกจะลดลงมาอยู่ที่ 10-20% และแนวโน้มในการเกิดความผิดปกติก็น้อยลงเช่นกัน
  • การติดเชื้อในช่วงสัปดาห์ที่ 17-20 ของการตั้งครรภ์ - โอกาสในการเกิดโรคหัดเยอรมันแต่กำเนิดในทารกค่อนข้างพบได้น้อย และมีรายงานพบเพียงอาการหูหนวกที่เคยตรวจพบ
  • หากการติดเชื้อเกิดหลังสัปดาห์ที่ 20 ของการตั้งครรภ์เป็นต้นไปจะไม่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคหัดเยอรมันแต่กำเนิดในทารก และทางรักษาที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด คือ การป้องกันการติดเชื้อในช่วงแรกของการตั้งครรภ์

การป้องกันโรคหัดเยอรมัน

โรคหัดเยอรมันสามารถป้องกันได้ด้วยการหลีกเลี่ยงในการคลุกคลีกับผู้ป่วย ซึ่งเสี่ยงต่อการรับเชื้อมาได้โดยง่าย และควรมีการฉีดวัคซีนหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม หรือเรียกสั้น ๆ ว่าวัคซีนรวมเอ็มเอ็มอาร์ (MMR) ตามเกณฑ์ที่กำหนด

ตามแผนกระทรวงสาธารณสุขจะมีการฉีดวัคซีนรวมเอ็มเอ็มอาร์ทั้งหมด 2 เข็ม โดยเริ่มฉีดเข็มแรกเมื่อเด็กมีอายุระหว่าง 9-12 เดือน และฉีดกระตุ้นอีกครั้งเมื่อเด็กอายุ 2½ ปี แต่ในบางรายที่มีเงื่อนไขพิเศษ เช่น เดินทางไปต่างประเทศ อยู่ในพื้นที่มีการระบาดของโรค หรือสัมผัสกับโรค แพทย์อาจมีคำแนะนำให้ฉีดวัคซีนเร็วขึ้นภายในช่วง 6 เดือนแรก และฉีดเข็มที่ 2 ภายในอายุ 2½ ปี แต่ควรมีระยะเวลาห่างจากเข็มแรกประมาณ 3 เดือน

ผู้หญิงที่วางแผนจะมีบุตรควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมันอย่างน้อย 1 เดือนก่อนการตั้งครรภ์ แต่หากไม่ได้รับวัคซีนก่อนการตั้งครรภ์ควรมีการฉีดทดแทนหลังคลอด เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรคเมื่อเกิดการตั้งครรภ์ในครั้งต่อไป และเลี่ยงผลกระทบที่อาจเกิดกับทารกขณะอยู่ในครรภ์ สำหรับหญิงที่อยู่ในระหว่างตั้งครรภ์ควรเข้ารับการตรวจเลือดหรือระบบภูมิคุ้มกันโรคตามนัดฝากครรภ์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อเฝ้าระวังความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นได้

แม้ว่าวัคซีนจะเป็นการป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่บุคคลบางกลุ่มควรปรึกษาแพทย์ก่อนการฉีดวัคซีน เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อร่างกายขึ้นได้ เช่น ผู้ที่มีอาการแพ้ยาปฏิชีวนะในกลุ่มนีโอมัยซิน (Neomycin) แพ้เจลาติน (Gelatin) ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผู้ที่มีปัญหาความผิดปกติของเลือด หรืออยู่ในช่วงการรับประทานยาบางชนิดที่ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย

นอกจากนี้ ยังมีรายงานผลข้างเคียงของการฉีดวัคซีนบางราย เช่น อาการบวมแดงหรือระบมบริเวณที่ฉีด มีไข้ต่ำ ปวดตามข้อ แต่ส่วนใหญ่มักไม่ก่อให้เกิดปัญหาร้ายแรง และอาการจะดีขึ้นภายในไม่กี่วัน