สิวฮอร์โมน เรียนรู้สาเหตุและวิธีจัดการให้อยู่หมัด

สิวฮอร์โมน (Hormonal Acne) เป็นสิวที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย โดยปกติแล้ว สิวเป็นปัญหาผิวที่พบได้บ่อยในวัยรุ่น เกิดจากการอุดตันที่รูขุมขนซึ่งมีปัจจัยมาจากไขมัน เส้นขน เซลล์ผิวที่ตายแล้ว และแบคทีเรีย เพราะวัยรุ่นเป็นวัยที่มีฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลง ซึ่งเมื่ออายุมากขึ้น แนวโน้มในการเกิดสิวจะลดลง

อย่างไรก็ตาม บางคนอาจยังมีปัญหาสิวที่ไม่หายขาดแม้อายุจะพ้นวัยรุ่นไปแล้ว โดยเฉพาะผู้หญิงในช่วงที่มีประจำเดือน และเมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน เนื่องจากเป็นช่วงที่ระดับฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดสิวฮอร์โมนในวัยผู้ใหญ่ได้ หากสงสัยว่าปัจจัยใดทำให้เกิดสิวฮอร์โมน และจะรับมือกับสิวฮอร์โมนอย่างไร หาคำตอบได้ในบทความนี้

สิวฮอร์โมน เรียนรู้สาเหตุและวิธีจัดการให้อยู่หมัด

สาเหตุและลักษณะของสิวฮอร์โมน

เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น ร่างกายจะสร้างฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgens) เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นกลุ่มฮอร์โมนเพศชายที่กระตุ้นให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้น จึงทำให้เกิดการอุดตันของรูขุมขนและเกิดเป็นสิวได้ง่ายขึ้น โดยแต่ละคนอาจเกิดสิวลักษณะต่างกัน เช่น สิวอุดตันและสิวอักเสบชนิดรุนแรง อย่างสิวซีสต์ ทั้งนี้ สิวฮอร์โมนในวัยรุ่นมักเกิดบริเวณทีโซน (T-Zone) ซึ่งได้แก่ บริเวณหน้าผาก จมูก และคาง

นอกจากนี้ สิวฮอร์โมนอาจเกิดขึ้นในผู้ใหญ่ที่อายุมากกว่า 25 ปี ซึ่งบางคนอาจเพิ่งเริ่มเป็นสิวหลังจากพ้นวัยรุ่นมาแล้ว แต่โดยส่วนใหญ่มักเป็นคนที่มีปัญหาสิวตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นและเป็นต่อเนื่องจนถึงวัยผู้ใหญ่ สิวฮอร์โมนในผู้ใหญ่มักไม่หายขาด และอาจเป็นได้จนถึงอายุ 30–50 ปี โดยมักเป็นสิวบริเวณแก้ม รอบปาก คาง และแนวกราม

สิวฮอร์โมนในผู้ใหญ่เกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งมักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากสภาวะร่างกายหรือโรคบางอย่างกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนและทำให้เกิดสิวตามมา เช่น ช่วงก่อนมีประจำเดือน การตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสแรก  การเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ความเครียด และผู้ที่มีกลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ (PCOS)

รับมือสิวฮอร์โมนอย่างไรดี

การดูแลตนเองเมื่อเป็นสิวฮอร์โมนในเบื้องต้น อาจใช้วิธีปรับพฤติกรรมและหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่ก่อให้เกิดการอุดตันและระคายเคือง หากอาการยังไม่ดีขึ้น การใช้ยาตามอาการและความรุนแรงของสิวอาจช่วยรักษาสิวฮอร์โมนได้ดีขึ้น

  1. การดูแลตัวเอง

ผู้ที่มีสิวฮอร์โมนควรมีวินัยในการดูแลผิวให้สะอาด และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • ล้างหน้าวันละ 2 ครั้งในตอนเช้าและก่อนนอนด้วยผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยน ไม่เข้านอนโดยที่ยังไม่ล้างเครื่องสำอางบนใบหน้า
  • หลีกเลี่ยงการใช้ครีมบำรุงผิวที่มีส่วนผสมของน้ำมัน ลาโนลิน (Lanolin) ซิลิโคน (Silicone) และน้ำมันแร่ (Mineral Oil) ซึ่งอาจทำให้เกิดการอุดตันผิวและเป็นสาเหตุของเกิดสิวตามมา 
  • ทาครีมกันแดดทุกวันเพื่อป้องกันผิวคล้ำเสียและแห้งกร้านจากแสงแดด โดยเลือกครีมกันแดดที่ไม่มีส่วนผสมของน้ำมันและสารที่ก่อให้เกิดการอุดตันผิว
  • หลีกเลี่ยงการขัดหรือสครับผิวหน้าอย่างรุนแรงหรือบ่อยครั้ง เพราะจะทำให้ผิวที่เป็นสิวเกิดการระคายเคืองมากขึ้น
  • ไม่บีบ แกะ หรือสัมผัสผิวบริเวณที่เป็นสิว เพราะอาจทำให้เกิดการอักเสบรุนแรงขึ้นและทิ้งรอยแผลเป็นซึ่งรักษาได้ยาก
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นระบบไหลเวียนเลือดและอาจช่วยลดการอักเสบของผิวได้
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารประเภทเนื้อแดง อาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลสูง นอกจากนี้มีงานวิจัยบางชิ้นระบุว่าผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมอาจกระตุ้นให้เกิดสิว แต่ยังมีข้อมูลไม่เพียงพอที่จะสรุปได้ว่าการรับประทานผลิตภัณฑ์นมเกี่ยวข้องกับการเกิดสิวได้จริง จึงต้องรอการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป
  • ทำกิจกรรมผ่อนคลายความเครียด เช่น ฟังเพลงสบาย ๆ ทำสมาธิ เล่นโยคะ ซึ่งอาจช่วยให้สิวฮอร์โมนหายเร็วขึ้น
  1. การใช้ยา

ยาที่ใช้ในการรักษาสิวฮอร์โมนมีหลายชนิด ได้แก่

  • ยาทาผิวที่หาซื้อได้ทั่วไป เช่น เบนโซอิล เพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) และเรตินอยด์ (Retinoids) หรือยากลุ่มวิตามินเอ ซึ่งจะช่วยรักษาสิวฮอร์โมนในผู้ที่มีอาการไม่รุนแรงนัก แต่ผู้ที่ตั้งครรภ์หรือวางแผนตั้งครรภ์ไม่ควรใช้เรตินอยด์ เพราะอาจส่งผลต่อทารกในครรภ์ได้
  • ยาคุมกำเนิด (Oral Contraceptives) ที่มีส่วนผสมของฮอร์โมนเพศหญิง เช่น เอทินิลเอสตราไดออล (Ethinylestradiol) ผสมกับดรอสไพริโนน (Drospirenone) นอร์เจสทิเมท (Norgestimate) หรือนอร์อิทินโดรน (Norethindrone) ซึ่งจะช่วยปรับระดับฮอร์โมนที่ไม่สมดุลในช่วงที่สภาวะร่างกายเปลี่ยนแปลง เช่น ช่วงตกไข่ได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคลิ่มเลือดอุดตัน ความดันโลหิตสูง มะเร็งเต้านม และผู้ที่สูบบุหรี่ ไม่ควรใช้ยาคุมกำเนิด
  • ยาต้านแอนโดรเจน (Anti Androgen Drug) ซึ่งช่วยยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนแอนโดรเจนและปรับสมดุลฮอร์โมนในร่างกาย

ทั้งนี้ ยาแต่ละชนิดมีวิธีการใช้ ผลข้างเคียง และข้อควรระวังที่แตกต่างกัน จึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยารักษาสิวฮอร์โมนทุกชนิด โดยเฉพาะผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา

สิวฮอร์โมนเป็นปัญหาผิวที่พบได้ทั้งในวัยรุ่นและผู้ใหญ่ โดยพบได้บ่อยในผู้หญิง ซึ่งสิวฮอร์โมนมักไม่หายขาด และเป็นซ้ำได้อีกเมื่อระดับฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลง เช่น เมื่อรู้สึกเครียด มีประจำเดือน หรือเมื่อเข้าสู่ภาวะหมดประจำเดือน หากใช้วิธีการดูแลตนเองในเบื้องต้นแล้วยังไม่สามารถควบคุมปัญหาสิวได้ ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนัง ซึ่งจะช่วยวินิจฉัยอาการและแนะนำวิธีรักษาที่เหมาะสมกับแต่ละคน