สัญญาณของโรคหัวใจขาดเลือดที่ไม่ควรมองข้าม

โรคหัวใจขาดเลือด (Heart Attack) เกิดขึ้นเมื่อเลือดสูบฉีดภายในหัวใจลดลงหรือเลือดขาดการไหลเวียนจนกล้ามเนื้อหัวใจได้รับเลือดไม่เพียงพอ โรคนี้ถือเป็นโรคอันตรายเนื่องจากผู้ป่วยอาจไม่ทันระวังหรือไม่รู้ตัวว่าตนเองกำลังมีอาการของโรคนี้อยู่ และอาจทำให้เสี่ยงต่อการชีวิตได้ 

แม้ว่าอาการเจ็บหน้าอกที่ลุกลามไปยังกราม คอ หรือหัวไหล่เป็นอาการที่พบได้ทั่วไปในผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือด แต่ก็ยังมีอาการอื่น ๆ ที่เป็นสัญญาณของโรคนี้เช่นกัน หากเรารู้ลักษณะอาการและวิธีรับมือเอาไว้ก่อน อาจช่วยให้ตนเองหรือคนใกล้ตัวที่มีอาการของโรคหัวใจขาดเลือดได้รับการรักษาอย่างทันท่วง

สัญญาณของโรคหัวใจขาดเลือดที่ไม่ควรมองข้าม

อาการของโรคหัวใจขาดเลือดที่ควรรู้

อาการของโรคหัวใจขาดเลือดที่เราทุกคนไม่ควรมองข้าม คือ

  • เจ็บหน้าอกจากโรคหัวใจขาดเลือด (Angina Pectoris) โดยผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บแน่นกลางอกหรือบริเวณใต้อกคล้ายถูกกดหรือถูกรัด อาการเจ็บอาจลุกลามไปในบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ไหล่ข้างซ้าย แขนข้างซ้ายหรือแขนทั้ง 2 ข้าง  ขากรรไกร คอ หลังส่วนบน หรือลิ้นปี่ 
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • หายใจไม่อิ่ม หายใจลำบาก เหนื่อยง่ายผิดปกติหรืออ่อนเพลียโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • ระบบย่อยอาหารทำงานผิดปกติ เช่น เรอ คลื่นไส้ แสบร้อนกลางอก อาเจียน หรืออาหารไม่ย่อย 
  • ปวดหัวหรือเวียนหัว ปวดฟัน
  • เหงื่อออกมาก
  • ขา ข้อเท้าหรือเท้าบวม  

เมื่อมีอาการโรคหัวใจขาดเลือดต้องทำอย่างไร

หากตนเองหรือคนใกล้ตัวมีอาการโรคหัวใจขาดเลือด ควรนำตัวส่งห้องฉุกเฉินอย่างเร่งด่วน หรือโทรเรียกรถพยาบาลได้ที่เบอร์สายด่วน 1669 โดยในระหว่างรอรถพยาบาลมาถึง ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดควรให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • ผู้ที่ให้ความช่วยเหลือควรตั้งสติให้ได้มากที่สุด คลายเสื้อของผู้ป่วยให้หลวม ตรวจดูการหายใจและตรวจดูว่าผู้ป่วยหมดสติอยู่หรือไม่ 
  • กรณีที่ผู้ป่วยหายใจได้ตามปกติ ให้จัดท่าผู้ป่วยให้อยู่ในท่านอนตะแคง จับแขนที่อยู่ด้านบนของลำตัวข้ามหน้าอกมาวางมือไว้ที่แก้มอีกข้างหนึ่ง ส่วนแขนอีกข้างเหยียดตรงออกไปด้านหน้า จากนั้นค่อย ๆ จับเข่าข้างที่อยู่ด้านบนให้งอขึ้นไปให้ตรงกับตำแหน่งของศอกข้างที่เหยียดตรง
  • หากผู้ป่วยมียาไนโตรกลีเซอริน (Nitroglycerin) ที่แพทย์จ่ายให้ ให้ผู้ป่วยอมยาไวใต้ลิ้นทันทีเมื่อมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก โดยห้ามเคี้ยวหรือกลืน หากอาการเจ็บหน้าอกไม่ดีขึ้นหลังใช้ยา ให้อมยาซ้ำอีก 1 เม็ด โดยเว้นจากเม็ดแรกประมาณ 5 นาที และอมติดต่อกันได้ไม่เกิน 3 เม็ด
  • กรณีที่ผู้ป่วยหยุดหายใจ คลำไม่เจอชีพจรและหมดสติ ให้จับผู้ป่วยนอนราบและเริ่มทำ CPR หรือนวดหัวใจด้วยการวางสันมือซ้อนกันบนกระดูกหน้าอกและประสานนิ้วกัน ก่อนจะกดลงบนหน้าอกประมาณ 15 ครั้ง แล้วสลับมาเป่าปาก 2 ครั้งเพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ขึ้นในระหว่างรอรถพยาบาล

แม้จะได้รับการรักษาแล้ว หัวใจของผู้ป่วยอาจเกิดความเสียหายหลังอาการของโรคหัวใจขาดเลือดกำเริบได้ ผู้ป่วยจึงควรดูแลร่างกายและหัวใจให้แข็งแรงโดยการควบคุมน้ำหนัก ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ กินอาหารที่ดีต่อหัวใจ พบแพทย์อย่างสม่ำเสมอเพื่อรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง เลิกสูบบุหรี่ และดูแลสุขภาพจิตให้ไม่เครียดหรือวิตกกังวลเพื่อไม่ให้หัวใจทำงานหนักจนเกินไป