วิถีใหม่ในการคลอดลูกช่วงโควิด-19

ตามปกติคุณแม่ตั้งครรภ์คงมีความกังวลเกี่ยวกับการคลอดลูกอยู่ไม่น้อย แล้วยิ่งในช่วงนี้ที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ความกังวลของคุณแม่ก็อาจเพิ่มสูงขึ้นอีกเท่าตัว ทั้งเรื่องผลกระทบด้านสุขภาพต่อตัวคุณแม่เองและลูกน้อยที่กำลังจะลืมตาดูโลกในไม่ช้า เพราะหากเจ้าตัวน้อยมีปัญหาสุขภาพแต่กำเนิดก็อาจส่งผลร้ายในระยะยาวได้

แม้ว่าทางโรงพยาบาลจะปรับเปลี่ยนแนวทางการทำงานต่าง ๆ ภายในห้องคลอดและแผนกสูติ-นรีเวช เพื่อป้องกันคุณแม่ ทารกและผู้ที่ปฏิบัติงานภายในแผนกดังกล่าวไม่ให้ติดเชื้อไวรัสแล้ว แต่ความกังวลก็อาจยังคงอยู่ บทความนี้จึงอยากชวนคุณแม่คุณพ่อมาศึกษาข้อมูลที่ช่วยให้เตรียมตัวก่อนการคลอดและหลังการคลอดในช่วงการระบาดของโควิด–19 เป็นไปอย่างราบรื่นมากที่สุด

วิถีใหม่ในการคลอดลูกช่วงโควิด-19

รู้ขั้นตอนก่อนคลอดลูกช่วงโควิด-19

ในช่วงใกล้คลอด ร่างกายของคุณแม่จะแสดงอาการต่าง ๆ ออกมาให้เห็น โดยอาจรู้สึกถึงแรงดันในมดลูกเพิ่มขึ้น ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง หรือพบตกขาวมีเลือดเจือปน หากคุณแม่เกิดความกังวลใจเกี่ยวกับการเคลื่อนตัวของทารกในครรภ์หรือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจที่เหมาะสม 

สำหรับคุณแม่ที่ฝากครรภ์หรือมีกำหนดคลอดอยู่ก่อนแล้ว เมื่อถึงโรงพยาบาล แพทย์จะสอบถามประวัติความเสี่ยงต่อการสัมผัสโรคโควิด-19และประเมินว่าเป็นผู้สัมผัสที่อยู่ในความเสี่ยงระดับใด หากไม่มีอาการเข้าข่ายหรือน่าเป็นห่วง คุณแม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันและฝากครรภ์หรือเตรียมตัวคลอดได้ตามปกติ 

ในกรณีที่คุณแม่อยู่ในเกณฑ์ของผู้สัมผัสเสี่ยงสูงและไม่มีอาการของโรค แพทย์จะตรวจการติดเชื้อด้วยการป้ายสารคัดหลังในจมูกและลำคอเพื่อส่งตรวจในห้องปฏิบัติการ ในระหว่างนี้ให้คุณแม่กลับบ้านและรอสังเกตอาการที่บ้านเป็นเวลา 14 วัน หากมีอาการไอ เจ็บคอ หายใจขัดหรือมีน้ำมูก คุณแม่จะต้องกลับมาในโรงพยาบาลอีกครั้งโดยอยู่ในห้องแยกหรือห้องความดันลบ และแพทย์จะตรวจการติดเชื้ออีกครั้งด้วยวิธีเดียวกัน หากผลตรวจพบว่าเป็นผู้ตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อโควิด–19 แพทย์จะเฝ้าระวังอาการของทั้งแม่และทารกในครรภ์อย่างใกล้ชิด 

คุณแม่ติดโควิด-19 คลอดตามปกติได้ไหม ? 

ทีมแพทย์จากหลากหลายสาขาเข้ามามีส่วนในการดูแลและเพิ่มความระมัดระวังในการดูแลคุณแม่ติดเชื้อโควิด-19 เป็นกรณีพิเศษ โดยสูติแพทย์หรือพยาบาลผดุงครรภ์จะเตรียมอุปกรณ์ชนิดพิเศษและสวมชุดป้องกัน PPE เตรียมยาเพื่อรับมือในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉิน คุณแม่ที่มีอาการไม่รุนแรงสามารถคลอดทางช่องคลอดได้ตามปกติหรืออาจเป็นการผ่าคลอดตามความเหมาะสมของอาการ 

แต่หากในระหว่างการรักษาโรคโควิด–19 คุณแม่มีอาการที่รุนแรงมากขึ้น อย่างการมีภาวะช็อกจากการติดเชื้อ แพทย์อาจจำเป็นจะต้องยุติการตั้งครรภ์หากอายุครรภ์น้อยกว่า 24 สัปดาห์หรือแนะนำให้ผ่าคลอดในผู้ป่วยที่มีอายุครรภ์มากกว่า 24 สัปดาห์ ทั้งนี้ แพทย์จะทำการคลอดโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วย บุคลากรในโรงพยาบาลและข้อจำกัดด้านทรัพยากรเป็นหลัก 

สิ่งที่คุณแม่ต้องรู้หลังคลอดลูกช่วงโควิด-19 

แพทย์จะตรวจร่างกายทั้งแม่และเด็ก ชั่งน้ำหนักและวัดส่วนสูงของเด็กหลังการคลอดโดยละเอียด คุณแม่สามารถอุ้มหรือสัมผัสทารกได้อย่างใกล้ชิดตามปกติ หากคุณแม่และทารกมีสุขภาพดี ไม่มีภาวะแทรกซ้อนหลังการคลอด แพทย์จะพิจารณาให้ออกจากโรงพยาบาลได้ แต่หากเด็กมีอาการผิดปกติ แพทย์จำเป็นต้องเพิ่มการดูแลเด็กเป็นพิเศษในห้องอภิบาลทารกแรกเกิด โดยอาจยืดเวลาให้อยู่ต่อในโรงพยาบาลอีกสักระยะ 

ในกรณีที่คุณแม่ติดเชื้อโควิด-19 แพทย์จะให้คุณแม่อยู่ในห้องความดันลบและแยกเด็กออกมาเป็นการชั่วคราว โดยแพทย์จะเฝ้าระวังและประเมินความเครียดหรืออาการซึมเศร้าของคุณแม่จนกว่าผลตรวจจะเป็นลบ เนื่องจากคุณแม่ที่ติดเชื้ออาจรู้สึกเครียดหรือวิตกกังวลมากขึ้นเมื่อต้องแยกจากทารก ในส่วนบุคลากรที่ดูแลผู้ป่วยจะต้องใส่ชุดหรืออุปกรณ์ป้องกันจนกว่าจะตรวจไม่พบเชื้อ และอาจทำการประเมินผ่านทางวิดีโอแทน

สำหรับทารกแรกเกิด แพทย์จะตรวจหาการติดเชื้อในทารกแรกเกิดทุกรายด้วยการป้ายสารคัดหลั่งในจมูกเพื่อนำไปตรวจ และแยกการดูแลออกจากทารกคนอื่น ๆ รวมทั้งต้องมีการตรวจติดตามอาการและอาการแสดงของการติดเชื้อในทารกเป็นระยะ เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก หากทารกอยู่ในห้องเดียวกับแม่จะต้องมีม่านกั้นและมีระยะห่างกันอย่างน้อย 6 ฟุต 

นอกจากนี้ แพทย์จะให้คำแนะนำถึงทางเลือกในการให้นมแม่และการปั๊มนม โดยคุณแม่สามารถให้นมบุตรด้วยตนเองได้ แต่จำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือให้สะอาด ระมัดระวังการไอหรือจามระหว่างการให้นม และทำความสะอาดอุปกรณ์อย่างเคร่งครัดเมื่อปั๊มนม หรือสามารถให้ผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงนำนมแม่ไปให้ทารกแทน โดยจะต้องล้างมือให้สะอาด

ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่ยืนยันได้ว่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งต่อผ่านทางน้ำนม อีกทั้งไม่พบข้อมูลว่าทารกและเด็กเล็กเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงต่อการเกิดอาการรุนแรงจากเชื้อไวรัสดังกล่าว รวมถึงภูมิคุ้มกันของผู้ที่ตั้งครรภ์ระยะแรกจะยังคงอยู่ในระดับปกติ ยกเว้นผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือติดเชื้อไวรัสชนิดอื่น อย่างไรก็ตาม คุณแม่ไม่ควรที่จะละเลยการดูแลร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างไม่หักโหม ไม่อยู่ใกล้ผู้ที่ป่วย เว้นระยะห่างกับผู้อื่นอยู่เสมอ เพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ทั้งตัวคุณแม่เองและลูกน้อย