ลูกรักเป็นเด็กสมาธิสั้นหรือไม่ สังเกตได้อย่างไร

เด็กสมาธิสั้นเป็นปัญหาสุขภาพที่สร้างความกังวลให้กับพ่อแม่ เนื่องจากสามารถส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของเด็กได้ไม่น้อย โดยเด็กอาจมีพัฒนาการและพฤติกรรมผิดไปจากที่ควรจะเป็นตามช่วงอายุ แต่หากได้รับการรักษาและดูแลอาการอย่างเหมาะสม เด็กจะสามารถปรับตัวและใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติจนเข้าสู่วัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่

โรคสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder: ADHD) เป็นโรคความผิดปกติทางสมองที่ยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดที่แน่ชัด แต่อาจเกิดจากหลายปัจจัย เช่น พันธุกรรม สภาพแวดล้อมเป็นพิษในขณะตั้งครรภ์ การสูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์ในขณะตั้งครรภ์ คลอดก่อนกำหนด น้ำหนักแรกเกิดน้อย หรือความเสียหายบริเวณโครงสร้างภายในสมอง

เด็กสมาธิสั้น

โดยเด็กสมาธิสั้นจะแสดงพฤติกรรมใน 2 รูปแบบหลัก ๆ คือ ขาดสมาธิในการจดจ่อหรือตั้งใจทำสิ่งใด และอยู่ไม่นิ่งพร้อมความหุนหันพลันแล่น โดยผู้ป่วยเด็กอาจมีพฤติกรรมรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง หรือในบางรายก็ปรากฏพฤติกรรมทั้ง 2 รูปแบบร่วมกัน ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิต การเรียน การทำงาน หรือการเข้าสังคมได้

สัญญาณของเด็กสมาธิสั้นที่พ่อแม่ควรรู้

เด็กสมาธิสั้นมักเริ่มแสดงอาการในช่วงอายุ 3–6 ปี ส่วนใหญ่จะสังเกตเห็นความผิดปกติและวินิจฉัยได้ในช่วงอายุ 6–12 ปี เนื่องจากเป็นช่วงที่เด็กทำกิจกรรมในโรงเรียน โดยเด็กแต่ละคนจะมีพฤติกรรมแตกต่างกันออกไป เด็กบางคนก็มีพฤติกรรมที่น่าสงสัยแต่อาจไม่ใช่อาการแสดงของโรคสมาธิสั้น อาจเป็นเพียงพัฒนาการตามช่วงวัยเท่านั้น และพฤติกรรมเหล่านั้นจะดีขึ้นหรือหายไปเมื่อเวลาผ่านไป

แต่หากเป็นเด็กสมาธิสั้นจะยังแสดงอาการและพฤติกรรมอยู่เรื่อย ๆ แต่อาจเปลี่ยนแปลงไปตามเวลาและพัฒนาการตามวัย โดยพฤติกรรมของเด็กซึ่งอาจเป็นสัญญาณของโรคสมาธิสั้น ได้แก่

ด้านการขาดสมาธิจดจ่อตั้งใจ

เด็กที่ขาดสมาธิอาจแสดงออกผ่านพฤติกรรมต่าง ๆ อาทิ

  • ไม่ตั้งใจฟัง ไม่สนใจในขณะที่มีคนพูดด้วย
  • ไม่ทำอะไรไปตามขั้นตอน ชอบทำอะไรง่าย ๆ รวบรัด
  • ไม่ชอบทำอะไรเป็นเวลานาน ๆ มักเปลี่ยนไปทำกิจกรรมอย่างอื่นแทน
  • ไม่ชอบเรียนรู้เรื่องที่ต้องใช้เวลา เช่น การอ่านเรื่องยาว ๆ
  • มองข้ามเรื่องสำคัญ ไม่ใส่ใจรายละเอียด จนเกิดความผิดพลาดบ่อย ๆ
  • มักลืมอุปกรณ์เครื่องใช้หรือสิ่งของจำเป็น เช่น ลืมดินสอ ยางลบ ปากกา หนังสือ ตอนมาโรงเรียน
  • มักลืมสิ่งที่ต้องทำหรือที่ได้รับมอบหมาย เช่น ลืมทำการบ้าน ลืมการนัดหมาย
  • วอกแวกง่ายเมื่อมีสิ่งเร้ามากระตุ้น หรือมีความคิดอื่นมากระตุ้นในขณะทำกิจกรรมใด ๆ อยู่
  • จัดลำดับความสำคัญไม่เป็น เรียงลำดับสิ่งที่ควรทำไม่ได้
  • บริหารจัดการเวลาได้ไม่ดี ไม่สามารถทำงานเสร็จตามกำหนดการ
  • หลีกเลี่ยงและไม่ชอบงานที่ต้องใช้ความพยายามมาก ๆ เช่น การทำการบ้าน การเขียนรายงานหรือเรียงความ
  • มีปัญหากับการทำงานตามกำหนด การเรียน การเล่น รวมถึงกิจกรรมอะไรก็ตามที่ต้องทำตามกฎระเบียบหรือกรอบคำสั่ง

ด้านการตื่นตัว อยู่ไม่นิ่ง และหุนหันพลันแล่น

ตัวอย่างของเด็กสมาธิสั้นที่มีพฤติกรรมตื่นตัว อยู่นิ่งไม่ได้ และหุนหันพลันแล่น เช่น 

  • พูดมาก พูดไม่หยุด
  • นั่งนิ่งอยู่กับที่นาน ๆ ไม่ได้ 
  • ว่องไว เคลื่อนไหวรวดเร็ว ตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา
  • มีปัญหาเกี่ยวกับการรอ ไม่ชอบการรอคอย
  • ลุกออกจากที่นั่งในสถานการณ์ที่ควรนั่ง เช่น ขณะกำลังอยู่ในชั้นเรียน ขณะอยู่ที่ทำงาน
  • ลุกลี้ลุกลน กระสับกระส่าย จนมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่อสถานการณ์
  • ไม่สามารถทำกิจกรรมหรืองานอดิเรกได้เงียบ ๆ ตามลำพัง
  • พูดโต้ตอบสวนขึ้นมาในขณะที่อีกฝ่ายยังพูดหรือถามไม่จบ ไม่รอให้ผู้อื่นพูดจบแล้วค่อยพูด
  • พูดแทรกหรือรบกวนในขณะที่ผู้อื่นกำลังพูดหรือทำกิจกรรมใด ๆ อยู่

การสังเกตพฤติกรรมของเด็กควรคำนึงถึงด้วยว่า พฤติกรรมเหล่านั้นเกิดขึ้นเป็นประจำเรื่อย ๆ มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของเด็กในด้านการเรียน การเล่น การปรับตัว และการเข้ากับเพื่อนด้วยหรือไม่ หากพบพฤติกรรมที่รู้สึกว่าลูกเข้าข่ายเป็นเด็กสมาธิสั้น ผู้ปกครองควรไปพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำในการดูแลลูกเพิ่มเติม

การรักษาเด็กสมาธิสั้นทำได้โดยให้เด็กรับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง การทำกลุ่มบำบัดพฤติกรรมต่าง ๆ และการดูแลด้วยความเข้าใจจากคนในครอบครัวและบุคคลรอบข้าง แม้โรคสมาธิสั้นไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การรักษาควบคุมอาการจะช่วยให้เด็กมีสมาธิจดจ่อกับสิ่งต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น และมีอาการตื่นตัวหุนหันพลันแล่นลดลง เอื้อต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้านต่าง ๆ ในอนาคตของเด็กต่อไป