รู้จักอีลาสติน ตัวช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้แก่ผิว

อีลาสติน (Elastin) คือโปรตีนที่ร่างกายผลิตขึ้นเพื่อให้ความยืดหยุ่นให้แก่เนื้อเยื่อในอวัยวะต่าง ๆ เช่น ผิวหนัง ปอด หลอดเลือดใหญ่ กระดูกอ่อน และเส้นเอ็น หากเนื้อเยื่อในร่างกายขาดอีลาสตินอาจก่อให้เกิดอาการหรือโรคบางอย่าง เช่น ริ้วรอย ผิวหย่อนคล้อย โรคหลอดเลือดแดงแข็ง ถุงลมโป่งพอง และกลุ่มอาการวิลเลียม (Williams Syndrome)

อีลาสตินมักทำงานควบคู่กับคอลลาเจนเพื่อสร้างความแข็งแรงและช่วยให้ผิวหนังและอวัยวะต่าง ๆ สามารถยืดและหดตัวกลับสู่สภาพเดิมได้ โดยร่างกายสามารถผลิตอีลาสตินได้เองตามธรรมชาติ อีกทั้งการกินอาหารบางชนิด เช่น ถั่ว ปลา ผักใบเขียว ผลไม้รสเปรี้ยวและผลไม้ตระกูลเบอร์รียังสามารถช่วยเพิ่มอีลาสตินให้แก่ร่างกายได้อีกด้วย

อีลาสติน

ประโยชน์ของอีลาสติน

อีลาสติน (Elastin) มีหน้าที่และประโยชน์ต่ออวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายดังนี้

ผิวหนัง

ผิวหนังของมนุษย์มีหลายชั้น โดยอีลาสตินสามารถพบได้ในผิวหนังชั้นหนังแท้ (Dermis) ซึ่งอยู่ถัดจากผิวหนังชั้นนอกสุด อีลาสตินจะช่วยให้ผิวหนังสามารถยืดและหดตัวขณะทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ขณะยิ้มหรือขณะกินอาหาร หากมีปริมาณอีลาสตินในผิวหนังเยอะ ผิวหนังจะหดตัวกลับสู่สภาพเดิมได้อย่างรวดเร็วเมื่อยืดออก หากอีลาสตินมีปริมาณน้อย อาจส่งผลให้ผิวหนังเหี่ยวย่น มีริ้วรอยและยืดหยุ่นน้อยลง 

หลอดเลือดแดง

หลอดเลือดแดงทำหน้าที่ลำเลียงเลือดจากหัวใจเพื่อส่งไปทั่วร่างกาย โดยอีลาสตินจะช่วยให้ผนังหลอดเลือดแดงสามารถยืดและหดตัว ซึ่งช่วยให้หัวใจสามารถสูบฉีดเลือดได้ง่ายขึ้น หากมีปริมาณอีลาสตินในหลอดเลือดแดงน้อย อาจส่งผลให้หลอดเลือดขาดความยืดหยุ่นหรือแข็งตัว ทำให้ประสิทธิภาพในการสูบฉีดเลือดลดลง และอาจทำให้ความดันเลือดเพิ่มขึ้นได้

นอกจากนี้ การมีปริมาณอีลาสตินในหลอดเลือดแดงน้อย อาจก่อให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง ซึ่งเป็นสาเหตุให้หลอดเลือดแดงตีบและอาจนำไปสู่ลิ่มเลือดอุดตัน หัวใจวาย หรือโรคหลอดเลือดสมองได้

ปอด

อีลาสตินมีประโยชน์ต่อการทำงานของปอดและการหายใจ โดยอีลาสตินในเนื้อเยื่อของปอดจะช่วยให้ปอดสามารถขยายตัวหรือหดตัวเพื่อรองรับอากาศจากการหายใจได้ดียิ่งขึ้น หากปริมาณของอีลาสตินในปอดมีน้อย อาจส่งผลให้เกิดโรคถุงลมโป่งพองรวมถึงอาการต่าง ๆ เช่น ไอ หายใจไม่ทั่วท้อง หายใจมีเสียงหวีด อ่อนเพลีย และมีเสมหะเป็นระยะเวลานาน

เนื้อเยื่ออ่อน

อีลาสตินอาจพบได้ในเนื้อเยื่ออ่อน ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อที่แทรกตัวอยู่รอบอวัยวะ ทำหน้าที่คอยพยุง ป้องกัน หรือเชื่อมต่ออวัยวะและเนื้อเยื่อต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น เส้นเอ็นและกระดูกอ่อน อีลาสตินอาจช่วยเพิ่มความแข็งแรงและยืดหยุ่นให้แก่เนื้อเยื่ออ่อน อีกทั้ง อาจช่วยให้เนื้อเยื่ออ่อนสามารถยึดกล้ามเนื้อ กระดูก และข้อต่อไว้กับที่ได้ดียิ่งขึ้น 

ระบบย่อยอาหาร

อีลาสตินอาจพบได้ในอวัยวะต่าง ๆ ในระบบย่อยอาหาร เช่น หลอดอาหาร กระเพาะอาหารและลำไส้ อีลาสตินอาจช่วยให้กล้ามเนื้อในระบบทางเดินอาหารสามารถบีบและคลายตัวเพื่อเคลื่อนอาหารเข้าสู่กระบวนการย่อย อีกทั้งยังช่วยให้กระเพาะอาหารมีความยืดหยุ่น สามารถขยายเพื่อรองรับอาหารและหดตัวกลับสู่ขนาดเดิมเมื่ออาหารถูกย่อย

วิธีป้องกันการสูญเสียอีลาสติน

ร่างกายเกิดการสูญเสียอีลาสตินเนื่องจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น อายุที่เพิ่มมากขึ้น การสูบบุหรี่ มลพิษทางอากาศ แสงแดด และกระบวนการซ่อมแซมบาดแผลของร่างกาย ดังนั้น เพื่อลดความเสี่ยงของปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการสูญเสียอีลาสตินและชะลอการเกิดริ้วรอยตีนกา ผิวหย่อนคล้อย หรือหน้าแก่ก่อนวัยอันควร อาจทำได้โดยการป้องกันการสูญเสียอีลาสตินด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น

  • ทาครีมกันแดดเป็นประจำ ซึ่งควรใช้ครีมกันแดดที่มีปริมาณค่า SPF 30 ขึ้นไป
  • ทามอยส์เจอไรเซอร์เป็นประจำและใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่มีส่วนผสมของกรดเฟอรูลิก (Ferulic acid) วิตามินซี วิตามินเอ  วิตามินอี และอีลาสติน โดยส่วนผสมเหล่านี้อาจช่วยฟื้นฟูผิว ลดเลือนริ้วรอยและช่วยให้ผิวดูอ่อนเยาว์มากขึ้น
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากการออกกำลังกายอาจช่วยเพิ่มการเผาผลาญในเซลล์ผิวและช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือด ซึ่งสามารถช่วยให้ผิวแข็งแรงขึ้นได้
  • งดสูบบุหรี่ เนื่องจากสารนิโคตินและสารเคมีอื่น ๆ ในบุหรี่ปกติและบุหรี่ไฟฟ้า อาจเข้าไปสลายอีลาสตินในผิวหนังและอาจก่อให้เกิดริ้วรอยก่อนวัยอันควรได้

นอกจากนี้ การกินอาหารเสริมอีลาสตินหรือการใช้สมุนไพรต่าง ๆ เช่น ว่านหางจระเข้ ชาเขียวและขิง อาจช่วยเพิ่มปริมาณอีลาสตินได้ แต่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มกินอาหารเสริมทุกครั้ง เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพที่อาจตามมา