รู้จัก Gaslighting ทริคการหลอกปั่นหัว และแนวทางการรับมือ

Gaslighting เป็นการควบคุมทางจิตใจอย่างรุนแรงรูปแบบหนึ่ง โดยใช้คำพูดและการกระทำเพื่อหลอกลวงและชี้นำให้อีกฝ่ายเกิดความสงสัย ไม่มั่นใจ และสับสนในความคิดและความทรงจำของตัวเอง เพื่อควบคุมบุคคลนั้นให้ทำตามที่ตนต้องการได้ง่ายขึ้น การ Gaslighting อาจส่งผลให้เหยื่อมีความมั่นใจในตัวเองต่ำ และเกิดความผิดปกติทางจิตใจ เช่น วิตกกังวล และซึมเศร้าตามมา 

Gaslighting เกิดขึ้นบ่อยในความสัมพันธ์แบบคู่รัก แต่อาจพบในรูปแบบความสัมพันธ์อื่น ๆ เช่น ครอบครัว เพื่อน และเพื่อนร่วมงานได้เช่นกัน หากสงสัยว่าพฤติกรรมใดเข้าข่าย Gaslighting และหากเราตกอยู่ในสภาวะเหยื่อของการ Gaslighting ควรจะรับมืออย่างไร บทความนี้ได้รวบรวมข้อมูลเหล่านี้เอาไว้แล้ว

รู้จัก Gaslighting ทริคการหลอกปั่นหัว และแนวทางการรับมือ

Gaslighting มีลักษณะอย่างไร

ผู้ที่ Gaslighting คนอื่นมักมีจุดประสงค์เพื่อให้รู้สึกว่าตัวเองมีอำนาจในการควบคุม โดยอาศัยหลอกล่อให้เหยื่อเห็นด้วยและคล้อยตาม เช่น ยืนกรานปฏิเสธว่าไม่เคยพูดหรือทำสิ่งที่ถูกกล่าวหา และโกหกบ่อยเป็นนิสัย 

แม้จะถูกจับได้ว่าเป็นเรื่องโกหก แต่ผู้ที่ Gaslighting มักจะเบี่ยงประเด็นโดยตั้งคำถามกลับหรือพลิกเรื่องราวโดยกล่าวโทษเหยื่อแทน เช่น “คุณคิดไปเอง ผมไม่ได้ทำ” และ “เพราะคุณเป็นต้นเหตุของปัญหา ฉันเลยต้องทำแบบนี้”

นอกจากนี้ ผู้ที่ Gaslighting คนอื่นอาจใช้คำพูดที่แสดงถึงความหวังดีเพื่อให้สถานการณ์ราบรื่น เช่น “คิดมากเกินไปแล้ว ฉันแค่ล้อเล่นเอง” “คุณก็รู้ว่าฉันรักคุณมากแค่ไหน ฉันไม่ทำร้ายคุณหรอก ที่ทำแบบนี้เพราะเป็นห่วงและรักคุณนะ” คำพูดเช่นนี้จะทำให้เหยื่อไม่รู้สึกว่ากำลังถูก Gaslighting และเข้าใจว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และยอมให้ถูก Gaslighting ซ้ำ ๆ โดยไม่รู้ตัว

ผู้ที่มีพฤติกรรม Gaslighting ผู้อื่นมักมีโรคทางจิตเวช เช่น โรคต่อต้านสังคม โรคหลงตัวเอง และภาวะบุคลิกภาพผิดปกติชนิดก้ำกึ่ง (Borderline Personality Disorder) แต่บางครั้งการ Gaslighting อาจเกิดขึ้นโดยที่ผู้กระทำไม่รู้ตัวว่ากำลังทำเช่นนั้น หรืออาจทำตามพฤติกรรมที่พบเห็นหรือเคยถูกกระทำจากคนในครอบครัว

สัญญาณของการถูก Gaslighting

สัญญาณเหล่านี้อาจบ่งบอกว่าคุณกำลังตกเป็นเหยื่อของการ Gaslighting เช่น

  • ตั้งคำถามเกี่ยวกับความคิดและการตัดสินใจของตนเองตลอดเวลา
  • วิตกกังวล ว้าเหว่ ไม่มั่นใจในตัวเอง คิดว่าตัวเองดีไม่พอ ผิดหวังในตัวเอง 
  • รู้สึกว่าทุกอย่างเป็นความผิดของคุณ กลัวคนอื่นผิดหวังในตัวคุณ และอยากขอโทษอยู่ตลอด
  • สูญเสียความเป็นตัวตน ทำตามความต้องการของคนอื่นมากกว่านึกถึงตัวเอง
  • รู้สึกว่าตัวเองคิดมาก อ่อนไหวง่าย หงุดหงิดง่าย 
  • รู้สึกว่ามีบางอย่างไม่ถูกต้อง แต่ไม่สามารถอธิบายได้
  • รู้สึกว่าจะเกิดเรื่องไม่ดีขึ้นเมื่ออยู่ใกล้คนที่ Gaslighting หรืออาจรู้สึกถูกคุกคามและไม่ปลอดภัยโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • แก้ต่างให้คนที่ Gaslighting และเมื่อเพื่อนหรือคนในครอบครัวตั้งข้อสังเกตว่าเขามีพฤติกรรมไม่ปกติ
  • โกหกบ่อยขึ้น หรือแยกตัวเองจากคนที่รัก เพราะไม่อยากให้เกิดความขัดแย้ง
  • หมดความสนใจในสิ่งที่ชอบ 

สัญญาณเหล่านี้อาจชัดเจนขึ้นเมื่อคนที่ Gaslighting ทักเกี่ยวกับพฤติกรรมของคุณบ่อย ๆ เช่น “ช่วงนี้จำผิดบ่อยจัง พูดเพราะเป็นห่วงนะ ถ้าไม่หวังดีก็ไม่พูดหรอก” ทั้งนี้ การถูก Gaslighting อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต เช่น รู้สึกไม่มั่นใจในการตัดสินใจ รู้สึกว่าคุณค่าในตัวเองลดลง เกิดความวิตกกังวล ความเหงา และโรคซึมเศร้า

รับมืออย่างไรกับการถูก Gaslighting

หากรู้สึกว่าตัวเองเป็นเหยื่อของการ Gaslighting อาจรับมือด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้

  • สังเกตและรู้ทันพฤติกรรม Gaslighting เช่น สังเกตว่าเป็นพฤติกรรมที่เกิดโดยตั้งใจ เกิดขึ้นบ่อยในหลายสถานการณ์ จนทำให้คุณรู้สึกสงสัยในความคิดของตัวเอง และส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต ซึ่งการรู้ว่าพฤติกรรมเหล่านี้เป็นปัญหา จะช่วยให้เราหาวิธีรับมือ Gaslighting ได้อย่างเหมาะสม
  • ใช้โทรศัพท์มือถืออัดเสียงขณะที่พูดคุยกับคนที่ Gaslighting หรือจดบันทึกเหตุการณ์ทันทีหลังจากคุยเสร็จ เพราะ Gaslighting มักทำให้คุณสงสัยในตัวเอง การเก็บหลักฐานจะช่วยยืนยันความคิดของคุณว่าเหตุการณ์ตอนนั้นเป็นอย่างไร และลดความสงสัยในตัวเองได้
  • รักษาระยะห่าง พูดคุยกับคนที่ Gaslighting เท่าที่จำเป็น หากบุคคลดังกล่าวเริ่มพูดโกหก กล่าวโทษ หว่านล้อม หรือชวนทะเลาะ ให้เดินออกมาจากสถานการณ์นั้นโดยไม่ต้องโต้ตอบใด ๆ
  • ดูแลตัวเอง เช่น ทำงานอดิเรกที่ชอบ เรียนรู้ส่งใหม่ ๆ ทำกิจกรรมผ่อนคลายความเครียด เช่น การฝึกหายใจ และพูดคุยกับคนในครอบครัวหรือเพื่อนที่คุณไว้ใจ ซึ่งจะช่วยให้คุณรู้สึกดีขึ้น
  • จบความสัมพันธ์ หากไม่สามารถแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น การตัดขาดความสัมพันธ์อาจเป็นวิธีที่ทำให้คุณไม่ต้องเผชิญกับ Gaslighting อีก และช่วยป้องกันไม่ให้สุขภาพจิตเสียในระยะยาว

หากคุณหรือคนใกล้ชิดสงสัยว่ากำลังเป็นเหยื่อของ Gaslighting อาจปรึกษานักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ ซึ่งจะแนะนำวิธีจัดการกับความเครียดและช่วยให้คุณรับมือกับสถานการณ์ที่เผชิญอยู่ได้ และหากรู้สึกเครียด วิตกกังวล หรือมีอาการของโรคซึมเศร้า จากการถูก Gaslighting ควรไปพบจิตแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษาต่อไป