รูขุมขนกว้าง จัดการอย่างไร

รูขุมขนกว้าง คือ ลักษณะรูขุมขนบนใบหน้าที่มีขนาดใหญ่กว่าปกติ เกิดจากต่อมผลิตไขมันใต้ผิวหนังขยายขนาดใหญ่ขึ้นกว่าปกติ หรือโครงสร้างของการเกิดเส้นขนใต้ผิวหนังผิดปกติ โดยที่ผิวหนังบริเวณรอบ ๆ รูขุมขนกว้างจะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง อักเสบ หรือเป็นก้อนแข็งแต่อย่างใด

รูขุมขนกว้างมักเกิดขึ้นบนใบหน้าบริเวณแก้ม หน้าผาก เหนือปาก หูชั้นนอก หรือตามลำตัว เช่น บริเวณแผ่นหลัง ขนาดความกว้างของรูขุมขนมักขึ้นอยู่กับระดับฮอร์โมนด้วย โดยเฉพาะฮอร์โมนเอสโตรเจน โดยมักพบอาการนี้ได้มากในผู้ใหญ่วัยกลางคน รูขุมขนกว้างอาจสัมพันธ์กับการเกิดสิว เนื่องจากรูขุมขนกว้างเกิดจากการขยายขนาดของต่อมผลิตไขมัน เมื่อมีไขมันเพิ่มมากขึ้นก็มีแนวโน้มที่จะเกิดสิวตามมา

รูขุมขนกว้าง

แม้ว่ารูขุมขนกว้างเป็นเพียงอาการที่ปรากฏบนผิวหนัง และไม่ได้ทำให้เกิดความเจ็บปวด แต่ก็อาจสร้างความวิตกกังวลและความไม่มั่นใจแก่ผู้ที่กำลังเผชิญอาการนี้ได้เช่นกัน จึงมีคนมากมายพยายามหาวิธีรักษารับมือปัญหานี้ อย่างไรก็ดี การดูแลจัดการกับรูขุมขนกว้างควรเป็นไปอย่างถูกต้องเหมาะสม ภายใต้คำแนะนำจากแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเสมอ

สาเหตุของการเกิดรูขุมขนกว้าง

มีแนวคิดที่ว่าการอุดตันของรูขุมขนหรือการติดเชื้อ จะกระตุ้นทำให้เกิดรูขุมขนกว้าง เนื่องจากมีกระบวนการอักเสบของเนื้อเยื่อที่คล้ายกับการเกิดสิวซีสต์ ซึ่งอาจทำให้เกิดร่องรอยแผลเป็นบริเวณผิวหนังได้ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้ที่มีรูขุมกว้างมักจะเคยมีประวัติหรือกำลังมีสิวชนิดรุนแรง แต่สาเหตุของการเกิดรูขุมขนกว้างยังคงไม่เป็นที่ปรากฏแน่ชัด อาจเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม หรือเชื้อชาติ เช่น บางกรณีศึกษาพบว่าผู้หญิงชาวบราซิลมีลักษณะรูขุมขนกว้างมากกว่าในผู้หญิงชาวจีน เป็นต้น

รูขุมขนกว้าง รักษาได้หรือไม่ ?

ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีทางการแพทย์ที่ใช้รักษารูขุมขนกว้างโดยเฉพาะ เพราะรูขุมขนกว้างไม่สามารถรักษากำจัดให้หายขาดหมดไปได้ แต่ที่ทำได้ คือ ดูแลให้รูขุมขนที่กว้างนั้นดูมีขนาดเล็กลง

การรักษาบริเวณพื้นผิวอย่างการจี้เนื้อเยื่อด้วยไฟฟ้า (Electrodesiccation) การจี้เนื้อเยื่อด้วยสารเคมีหรือความร้อน (Cauterization) การทำให้เนื้อเยื่อติดกัน (Coagulation) การกรอผิวให้ถึงชั้นหนังแท้ (Dermabrasion) หรือแม้แต่การทำเลเซอร์ผิวหนังด้วยคาร์บอนไดออกไซด์เลเซอร์ (Carbon Dioxide Laser Surgery) ก็ส่งผลในเชิงรักษาได้น้อยมาก เนื่องจากรูขุมขนกว้างมักเกิดในชั้นผิวส่วนที่ลึกลงไป

แนวทางรับมือ จัดการรูขุมขนกว้าง

แม้ยังไม่มีการพิสูจน์ที่แน่ชัดว่าสิวเกี่ยวข้องกับการเกิดรูขุมขนกว้าง แต่ก็มีแนวโน้มความสัมพันธ์ระหว่างกัน รวมทั้งปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดสิวหรือปัญหาบนใบหน้าและผิวหนังบริเวณต่าง ๆ ด้วย ดังนั้น การดูแลจัดการและลดโอกาสในการเกิดรูขุมขนกว้าง จึงอาจทำได้โดยการดูแลผิวหน้าและผิวหนังทั่วไป ไม่ให้เผชิญกับความเสี่ยงที่จะนำไปสู่ปัญหารูขุมขนกว้างต่อไปได้ เช่น

การทำความสะอาดผิวหน้า

ควรล้างหน้าด้วยน้ำอุ่น และเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ล้างหน้าที่ถนอมผิว หรืออาจมีส่วนผสมของน้ำมัน ประมาณวันละ 1-2 ครั้ง ไม่ล้างหน้าบ่อย ๆ และหลีกเลี่ยงการขัดผิวหน้า เพื่อป้องกันไม่ให้ผิวหน้าแห้งเสีย การล้างทำความสะอาดผิวหน้าช่วยลดสิ่งสกปรกอุดตันในรูขุมขน และเป็นทางออกหนึ่งที่มีส่วนช่วยไม่ให้รูขุมขนกว้างหรือขยายใหญ่ขึ้นไปอีก แต่ก็เป็นวิธีที่มีผลเพียงชั่วคราว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพผิวตามธรรมชาติของแต่ละบุคคลด้วย คนที่มีผิวหน้ามันย่อมมีแนวโน้มในการเกิดปัญหาผิวหน้าจากการอุดตันของน้ำมันและสิ่งสกปรกมากขึ้น

การบำรุงผิวและการแต่งหน้า

เลือกใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวเพื่อป้องกันปัญหาผิวแห้ง หรือที่เรียกว่ากลุ่มมอยส์เจอไรเซอร์ ส่วนผู้ที่มีผิวมันควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีส่วนผสมของน้ำมัน ด้านการแต่งหน้า บางคนใช้เครื่องสำอางเพื่อปกปิดรูขุมขนกว้างและร่องรอยต่าง ๆ บนใบหน้า การเลือกใช้เครื่องสำอางก็มีผลต่อสภาพผิวหน้าด้วยเช่นกัน ดังนั้น ควรเลือกใช้ครีมบำรุง ครีมรองพื้น และเครื่องสำอางที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และมีฉลากระบุว่า non-comedogenic หรือไม่ทำให้เกิดสิวอุดตันนั่นเอง

ตัวอย่างการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับผู้ที่มีรูขุมขนกว้าง ได้แก่

  • ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของเรตินอยด์ (Retinoids) ซึ่งเป็นสารอนุพันธ์ของวิตามินเอ จะมีส่วนช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการอุดตันในรูขุมขน ทำให้รูขุมขนดูเล็กลง และยังมีผลต่อการรักษาสิวด้วย
  • ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่สังกะสีและแมกนีเซียม เพื่อช่วยรักษาสมดุลความมันของผิว และทำให้รูขุมขนดูเล็กลง
  • ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของสารที่อ่อนโยนต่อผิว เช่น ลาเวนเดอร์หรือโรสแมรี่ ที่ช่วยลดการระคายเคืองผิว และป้องกันไม่ให้รูขุมขนขยายกว้างขึ้น
  • ป้องกันและรักษาสิวด้วยผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารที่ช่วยควบคุมความมันและกำจัดเชื้อแบคทีเรียอย่างเบนโซอิล เพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) และสารที่ช่วยผลัดเซลล์ผิวอย่างกรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid)
  • เลือกใช้เครื่องสำอางหรือผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และมีการระบุว่าไม่ทำให้เกิดสิวอุดตัน

การรักษาเฉพาะจุด

แม้ผู้ที่มีผิวแห้งมีแนวโน้มที่จะมีรูขุมขนกว้างแต่มองเห็นได้ไม่ชัดเจน ในขณะที่ผู้มีผิวมันมีแนวโน้มที่จะมีรูขุมขนกว้างกว่าและสังเกตเห็นได้ชัดเจนกว่า อย่างไรก็ตาม ผิวหน้าในแต่ละจุดของแต่ละคนย่อมมีความมันไม่เท่ากัน ทำให้บางจุดอาจมองเห็นรูขุมขนกว้างได้ชัดเจนกว่าบริเวณอื่น ๆ ดังนั้น อาจใช้ผลิตภัณฑ์หรือครีมมาสก์ใบหน้าเฉพาะจุด เพื่อเพิ่มความเรียบเนียนสม่ำเสมอกันของผิวหน้า เช่น มาสก์จมูก แก้ม หน้าผาก มาสก์ทิ้งไว้ตามเวลาที่ระบุบนฉลากของผลิตภัณฑ์แต่ละชนิด แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด นอกจากนั้น สามารถใช้กระดาษซับหน้ามันซับทำความสะอาดใบหน้าในระหว่างวัน เพื่อลดความมันบนใบหน้าซึ่งจะนำไปสู่การอุดตันและการอักเสบของผิวหน้าได้ต่อไป

รับมือกับแสงแดด

แม้แสงแดดจะมีส่วนช่วยในการสังเคราะห์วิตามินดีที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย แต่การสัมผัสแสงแดดมากจนเกินไปสามารถทำให้ความนุ่มนวลของผิวลดลงจนกลายเป็นผิวแห้งเสีย และทำให้รูขุมขนกว้างขึ้นได้ ยิ่งสภาพอากาศเมืองไทยที่เป็นประเทศในโซนอากาศร้อนชื้น ยิ่งทำให้คนไทยมีโอกาสเผชิญกับแสงแดดและความร้อนที่ทำร้ายผิวได้มากขึ้น ดังนั้น ในทุก ๆ วัน ควรทาครีมกันแดดหรือใช้ผลิตภัณฑ์ที่ระบุค่า SPF 30 เป็นอย่างต่ำ สวมเครื่องแต่งกายปกปิดผิว หรือสวมหมวกปีกกว้างเมื่อต้องออกแดด และหลีกเลี่ยงการตากแดดในช่วงเวลาที่แดดจ้า เช่น ช่วง 10 โมงเช้า ไปจนถึง 4 โมงเย็น เป็นต้น

รับประทานอาหารให้ถูกสุขลักษณะ

หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารไขมันสูงหรือขนมขบเคี้ยวที่ไม่มีประโยชน์ เพราะอาจทำให้เกิดไขมันสะสมจนทำให้ผิวเกิดการอุดตันหรืออักเสบ ควรรับประทานอาหารที่ถูกหลักโภชนาการในปริมาณที่เหมาะสม โดยเน้นรับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ ขนมที่มีประโยชน์ ผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติที่ไม่ปรุงแต่งสิ่งเจือปน และอาหารจำพวกผักผลไม้

ไม่นอนหลับในขณะที่ยังแต่งหน้าอยู่

ควรล้างหน้าให้สะอาดและชำระล้างเครื่องสำอางออกให้หมดทุกครั้งก่อนเข้านอน ต้องระมัดระวังไม่ให้นอนหลับไปพร้อมกับเครื่องสำอาง เพราะจะทำให้รูขุมขนเกิดการอุดตันของน้ำมันและสิ่งสกปรก

ผลข้างเคียงจากการรักษารูขุมขนกว้าง

แม้จะยังไม่มีรายงานผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่ความพยายามในการรักษาอาการรูขุมขนกว้าง อาจนำไปสู่ภาวะติดเชื้อ หรือการเกิดรอยแผลเป็นขึ้นได้ กรณีที่มักพบได้บ่อย คือ รูขุมขนเกิดการอุดตันจนเกิดการอักเสบและติดเชื้อในเนื้อเยื่อบริเวณข้างเคียงไปด้วย และเนื่องจากการรักษาหรือการทำหัตถการต่าง ๆ อาจมีความผิดพลาดหรือมีผลข้างเคียงทำให้ผิวบริเวณนั้นเกิดรอยแผลเป็น หรือมีรูขุมขนกว้างขึ้นมาใหม่จากเนื้อเยื่อเดิมที่เหลืออยู่ ดังนั้น หากกำลังเผชิญปัญหารูขุมขนกว้าง ควรศึกษาแนวทางการรักษาดูแลผิวหน้าให้ดีก่อนจะเลือกทำการรักษาด้วยวิธีที่อาจมีความเสี่ยงสูง