ยาละลายเสมหะ (Mucolytic)

ยาละลายเสมหะ (Mucolytic)

ยาละลายเสมหะ (Mucolytic) เป็นยารักษาอาการไอมีเสมหะจากโรคในระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัด โรคหอบหืด โรคหลอดลมโป่งพอง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) โรคซิสติก ไฟโบรซิส (Cystic Fibrosis) หรือโรคปอดบวม โดยตัวยาจะออกฤทธิ์ลดความเหนียวข้นของเสมหะ ทำให้ผู้ป่วยไอเอาเสมหะออกมาง่ายขึ้น 

ตัวอย่างยาละลายเสมหะรูปแบบยาเม็ด ยาแคปซูล ยาน้ำ หรือยาพ่นที่มีใช้ในปัจจุบันก็เช่น ยาบรอมเฮกซีน (Bromhexine) ยาแอมบรอกซอล (Ambroxol) ยาคาร์โบซิสเทอีน (Carbocysteine) หรือยาอะเซทิลซิสเทอีน (Acetylcysteine) โดยยาบางชนิดอาจหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป แต่ยาบางชนิดต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น

ยาละลายเสมหะ (Mucolytic)

คำเตือนและข้อควรระวังในการใช้ยาละลายเสมหะ

เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้ป่วยควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาละลายเสมหะชนิดต่าง ๆ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อร่างกายได้ 
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนการใช้ยา หากผู้ป่วยเคยมีประวัติทางสุขภาพใด ๆ โดยเฉพาะแผลในกระเพาะอาหาร โรคตับ และโรคไต
  • ผู้ป่วยที่มีแผลในกระเพาะอาหารไม่ควรใช้ยาละลายเสมหะ เพราะอาจทำให้อาการแย่ลงได้ ยกเว้นอยู่ในการดูแลของแพทย์
  • สตรีมีตั้งครรภ์ วางแผนจะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ถึงประโยชน์และความเสี่ยงก่อนการใช้ยานี้ เพื่อความปลอดภัยของทั้งตัวมารดาและเด็ก
  • ยาละลายเสมหะแต่ละชนิดอาจจำกัดการใช้ยาในเด็กบางช่วงอายุหากปราศจากคำแนะนำจากแพทย์ เช่น ยาคาร์โบซิสเทอีนซึ่งไม่ควรใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี  
  • ผู้ป่วยควรใช้ยาละลายเสมหะแต่ละรูปแบบตามที่ระบุบนฉลากหรือตามคำสั่งของแพทย์และเภสัชกร หากมีข้อสงสัยใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ 

 ผลข้างเคียงจากการใช้ยาละลายเสมหะ

การใช้ยาละลายเสมหะอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่รุนแรงได้ เช่น เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ ง่วงซึม ท้องไส้ปั่นป่วน คลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเสีย หากอาการไม่ดีขึ้นหรืออาการแย่ลงควรไปปรึกษาแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ ในกรณีที่พบอาการรุนแรงดังต่อไปนี้ ควรหยุดใช้ยาแล้วไปพบแพทย์ทันที 

  • มีสัญญาณของอาการแพ้ยา เช่น ผื่นคัน หายใจลำบาก อาการบวมบริเวณใบหน้า ตา หรือปาก
  • มีสัญญาณของเลือดออกในกระเพาะอาหาร เช่น อุจจาระปนเลือดหรือสีเหมือนยางมะตอย อาเจียนเป็นเลือดหรืออาเจียนออกมาคล้ายกากกาแฟ 
  • มีสัญญาณของการติดเชื้อราในช่องปาก เช่น เจ็บคอ น้ำมูกไหล หรือมีคราบสีขาวในปาก 

อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยใช้ยาแล้วพบผลข้างเคียงหรือความผิดปกตินอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น ควรไปปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อวางแผนการรักษาและดูแลตัวเองเพิ่มเติมเช่นกัน

ปริมาณการใช้ยาละลายเสมหะ

ชนิดของยา ปริมาณ และระยะเวลาในการใช้ยาจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยตัวอย่างการใช้ยาละลายเสมหะชนิดต่าง ๆ จะมีดังนี้ 

1. ยาบรอมเฮกซีน (Bromhexine) 

รูปแบบยา : ยาเม็ด และยาน้ำเชื่อม 

ปริมาณการใช้ยาเม็ดในผู้ใหญ่และเด็กอายุ 12 ปีขึ้นจะอยู่ที่ 8 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง ในช่วง 7 วันแรกอาจเพิ่มปริมาณได้ถึง 16 มิลลิกรัม 

สำหรับเด็กอายุ 6–11 ปี จะอยู่ที่ 4–8 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 24 มิลลิกรัม/วัน ส่วนเด็กอายุ 2–5 ปี จะอยู่ที่ 2 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง หรือ 4 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 8 มิลลิกรัม/วัน 

2. ยาแอมบรอกซอล (Ambroxol)

รูปแบบยา : ยาเม็ด และยาอม 

ปริมาณการใช้ยาและข้อมูลอื่น ๆ ของยานี้สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่บทความยาแอมบรอกซอล

3. ยาคาร์โบซิสเทอีน (Carbocysteine) 

รูปแบบยา : ยาเม็ด ยาแคปซูล ยาผง ยาน้ำเชื่อม และยาน้ำแขวนตะกอน 

ปริมาณการใช้ยาและข้อมูลอื่น ๆ ของยานี้สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่บทความยาคาร์โบซิสเทอีน

4. ยาอะเซทิลซิสเทอีน (Acetylcysteine)

รูปแบบยา : ยาแคปซูล ยาผง ยาเม็ดฟู่ และยาฉีด

ปริมาณการใช้ยาและข้อมูลอื่น ๆ ของยานี้สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่บทความยาอะเซทิลซิสเทอีน