Bromhexine (บรอมเฮกซีน)

Bromhexine (บรอมเฮกซีน)

Bromhexine (บรอมเฮกซีน) เป็นยาช่วยละลายความเหนียวข้นของเสมหะในระบบทางเดินหายใจให้ลดน้อยลง ทำให้ง่ายต่อการขจัดออกจากร่างกายด้วยการไอ ซึ่งเป็นกลไกธรรมชาติของร่างกายในการขจัดสิ่งสกปรก โดยกลไกการออกฤทธิ์ของยาจะไปเพิ่มน้ำในสารคัดหลั่งจนทำให้ขนของเซลล์ (Cilia) โบกพัดเอาเสมหะและสิ่งสกปรกออกจากระบบทางเดินหายใจ

ยา Bromhexine เป็นยาที่หาซื้อได้เองและแพทย์สั่ง ซึ่งควรรับประทานตามวิธีที่ระบุบนฉลากยาหรือใช้ตามที่แพทย์สั่ง โดยไม่ควรใช้ติดต่อกันเกิน 14 วันโดยไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์ หากรับประทานติดต่อกัน 14 วันแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษาเพิ่มเติม

Bromhexine

เกี่ยวกับยา Bromhexine

กลุ่มยา ยาละลายเสมหะ
ประเภทยา ยาที่สามารถหาซื้อได้เอง  ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ ช่วยละลายเสมหะในระบบทางเดินหายใจ บรรเทาอาการไอจากโรคหวัด ไอมีเสมหะ
กลุ่มผู้ป่วย เด็กและผู้ใหญ่
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร Category A จากการศึกษาในมนุษย์ ไม่พบความเสี่ยงในการทำให้เกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์เมื่อใช้ในช่วงสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์ รวมทั้งไม่มีหลักฐานทางการศึกษาที่แสดงว่า มีความเสี่ยงเมื่อใช้ในช่วงหลังเดือนที่สามเป็นต้นไป โอกาสที่จะเกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์มีน้อย แต่ไม่แนะนำให้ผู้ที่ให้นมบุตรรับประทานยานี้ เว้นแต่แพทย์จะสั่งจ่าย เนื่องจากยังไม่พบข้อมูลว่าตัวยาสามารถดูดซึมผ่านน้ำนมแม่และก่อให้เกิดอันตรายต่อทารกได้หรือไม่
รูปแบบของยา ยาเม็ด ยาน้ำ

คำเตือนของการใช้ยา Bromhexine 

เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้ป่วยควรแจ้งประวัติการแพ้ยาและอาการแพ้อื่น ๆ แก่แพทย์ก่อนการใช้ยา เพราะส่วนผสมบางตัวในยาอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการแพ้ได้ ผู้ที่มีอาการหรือมีประวัติของโรคต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยาทุกครั้ง

  • มีอาการของภาวะปอดติดเชื้อ เช่น ไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส หายใจลำบากแม้ในขณะพัก ไอเป็นเลือด
  • โรคหืดรุนแรงที่ไม่สามารถควบคุมอาการได้ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
  • ปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน เช่น เอชไอวี (HIV) และผู้ที่ใช้ยาเคมีบำบัดและยารักษาโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง
  • แผลในกระเพาะอาหาร
  • โรคกาแลคโตซีเมีย (Galactosemia)
  • โรคไตและตับ 

ปริมาณการใช้ยา Bromhexine 

Bromhexine ใช้รักษาโรคทางเดินหายใจในผู้ป่วยที่มีเสมหะมากและเหนียวข้น ซึ่งมีปริมาณการใช้ที่แตกต่างกันออกไปตามช่วงอายุ ดังนี้

ยาละลายเสมหะสำหรับผู้ใหญ่ 

การรับประทานยาบรอมเฮกซีนสำหรับเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป และผู้ใหญ่ 

  • รับประทานยาในปริมาณ 8 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง หากอาการไม่ดีขึ้นหลังรับประทานครบ 7 วัน อาจเพิ่มปริมาณได้ถึง 16 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง

ยาละลายเสมหะสำหรับเด็ก

การรับประทานยาบรอมเฮกซีนสำหรับเด็ก มีปริมาณที่แนะนำให้รับประทานโดยทั่วไป ดังนี้

  • อายุ 2-5 ปี รับประทานยาครั้งละ 2 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง หรือครั้งละ 4 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง รวมรับประทานสูงสุดไม่เกิน 8 มิลลิกรัมต่อวัน
  • อายุ 6-11 ปี รับประทานยาในปริมาณ 4-8 มิลลิกรัม โดยแบ่งรับประทานวันละ 3 ครั้ง รวมรับประทานสูงสุดไม่เกิน 24 มิลลิกรัมต่อวัน

การใช้ยา Bromhexine

ก่อนการใช้ยาทุกครั้งควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรให้ทราบหากเคยมีประวัติการแพ้ยา มีโรคประจำตัว หรือกำลังใช้ยา สมุนไพร และวิตามินเสริมตัวใดอยู่ในช่วงนั้น เพื่อป้องกันการเกิดอาการแพ้ยา ซึ่งผู้ป่วยควรใช้ยาภายใต้คำแนะนำของแพทย์ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นเด็ก พร้อมทั้งอ่านฉลากอย่างละเอียดก่อนการใช้ยา เพื่อประสิทธิภาพของยาสูงสุด

ยาชนิดนี้ควรรับประทานพร้อมอาหารหรือหลังอาหาร หากลืมรับประทานยา ให้รับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้รอบเวลาถัดไปที่ต้องใช้ยา ให้ข้ามไปรับประทานยารอบถัดไปในปริมาณปกติ

การเก็บยาควรเก็บในที่มีอุณหภูมิไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส ห่างจากความร้อน ความชื้น แสงแดด และเก็บไว้ในที่ที่พ้นจากมือเด็ก รวมถึงไม่ควรนำยาที่หมดอายุมารับประทาน เพราะอาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้

ปฏิกิริยาระหว่าง Bromhexine กับยาอื่น 

Bromhexine อาจทำปฏิกิริยากับยาปฏิชีวนะ เช่น อะม็อกซี่ซิลลิน(Amoxicillin) อิริโทรมัยซิน (Erythromycin) และเซฟูรอกซิม (Cefuroxime) ซึ่งการรับประทานยาบรอมเฮกซีนอาจทำให้เกิดการดูดซึมยาปฏิชีวนะในเสมหะมากขึ้น จึงควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบก่อนเสมอหากใช้ยา อาหารเสริมหรือสมุนไพรชนิดใดอยู่

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Bromhexine

หลังการรับประทานยาอาจทำให้ผู้ป่วยเกิดความผิดปกติขึ้นได้ในบางราย เช่น ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออกมาก เวียนศีรษะ

หากมีผื่นขึ้น คันที่ผิวหนัง บวมบริเวณใบหน้า ดวงตา ริมผีปาก และลิ้น หายใจลำบาก ควรรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณของอาการแพ้อย่างรุนแรง (Anaphylaxis)