ยานัตถุ์ ใช้ไม่ระวังอาจเสี่ยงโทษ

ยานัตถุ์ เป็นยาแผนโบราณที่นิยมใช้มาอย่างยาวนาน เพราะเชื่อกันว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพและเป็นยาที่ใช้สูดเพื่อความเพลิดเพลินรูปแบบหนึ่ง ยานัตถุ์จัดเป็นยาสามัญประจำบ้านตามประกาศพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 ของกระทรวงสาธารณสุข แต่ต้องเป็นสูตรที่ไม่มีส่วนผสมของยาเสพติดให้โทษ ยาอันตราย หรือยาควบคุมพิเศษเท่านั้น

ในประเทศไทยนิยมใช้ยานัตถุ์ชนิดผงละเอียด ซึ่งประกอบไปด้วยสมุนไพรนานาชนิดตามสัดส่วนต่างกัน มีขั้นตอนการทำโดยนำส่วนผสมทั้งหมดมาอบให้แห้งสนิท บดเป็นผงละเอียด และแต่งกลิ่นตามเอกลักษณ์ของแต่ละยี่ห้อ ทั้งนี้ การใช้ยานัตถุ์จะต้องเป่าหรือสูดเข้าจมูก หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า นัดยานัตถุ์

ยานัตถุ์

ด้วยลักษณะของยานัตถุ์ที่ไม่มีควันและมีส่วนผสมของสมุนไพรหลายชนิด คนส่วนใหญ่จึงเข้าใจว่าไม่มีอันตรายเหมือนกันทุกสูตร แต่ยานัตถุ์ที่มีส่วนผสมของใบยาสูบนั้นอาจอันตรายกว่าที่คิด เพราะประกอบไปด้วยสารเสพติดและสารเคมีอันตรายไม่น้อยไปกว่าบุหรี่หรือผลิตภัณฑ์จากยาสูบชนิดอื่น ๆ และเพิ่มความเสี่ยงด้านสุขภาพตามมามากมาย เช่น

  • โรคมะเร็ง
    ยานัตถุ์ที่มีส่วนผสมของยาสูบล้วนประกอบไปด้วยสารก่อมะเร็ง โดยเฉพาะสารกลุ่ม Tobacco-Specific Nitrosamines (TSNAs) ที่อาจกระตุ้นให้เกิดโรคมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งช่องปาก มะเร็งจมูกและช่องโพรงจมูก มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งตับอ่อน เป็นต้น
  • โรคหรือภาวะต่าง ๆ เกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด
    เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน โรคหลอดเลือดในสมอง เป็นต้น
  • อันตรายต่อทารก
    การนัดยานัตถุ์ในระหว่างตั้งครรภ์อาจส่งผลให้ทารกคลอดก่อนกำหนด มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพร้ายแรงอย่างโรคไหลตายหรืออาการหลับไม่ตื่น รวมทั้งทำให้ระบบประสาทของทารกพัฒนาช้าหรือเสียชีวิตในครรภ์ได้
  • ปัญหาช่องปากและโรคเหงือก
    เช่น ฟันเหลือง ลมหายใจเหม็นเปรี้ยว ฟันผุหรือเป็นรู เป็นแผลในช่องปาก ติดเชื้อที่เหงือก บางรายอาจถึงขั้นต้องถอนฟัน ทั้งยังอาจทำให้กรามและกระดูกมีปัญหา ส่งผลให้มีใบหน้าผิดรูปไปจากเดิมได้
  • เสพติดสารนิโคติน
    การใช้ยาสูบทุกรูปแบบล้วนนำไปสู่อาการเสพติด
    สารนิโคตินได้ทั้งนั้น ไม่เว้นแม้แต่การใช้ยานัตถุ์ที่มีส่วนผสมของยาสูบ ซึ่งอาจนำไปสู่การใช้สารเสพติดในรูปแบบอื่นได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะบุหรี่ เพราะสารนิโคตินจะออกฤทธิ์ให้สมองหลั่งสารโดปามีนและสารที่คล้ายอะดรีนาลีนออกมา ส่งผลให้ผู้เสพรู้สึกตื่นตัว เกิดความพึงพอใจจนทำให้อยากเสพมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่เมื่อฤทธิ์ของนิโคตินหมดลง ผู้เสพจะมีอาการแย่ลง หมดเรี่ยวแรง เหนื่อยง่าย และหดหู่ สุดท้ายจึงกลับมาใช้สารเหล่านี้บ่อยขึ้น

การใช้ยานัตถุ์ที่มีส่วนประกอบของยาสูบติดต่อกันเป็นเวลานานส่งผลเสียต่อสุขภาพมากกว่าเป็นผลดี เพราะเมื่อสูดดมทางจมูกหรือปาก สารเหล่านี้จะซึมผ่านเนื้อเยื่ออ่อน และผ่านเข้าสู่กระแสเลือดได้

ยานัตถุ์ ไม่ใช่ทางออกของการเลิกบุหรี่

บริษัทผู้ผลิตมักระบุคุณสมบัติของยานัตถุ์ที่มีส่วนผสมของยาสูบว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการเลิกสูบบุหรี่ ซึ่งหลายคนที่ทดลองใช้อาจมีอาการเสพติดบุหรี่เพิ่มขึ้น โดยมีผลวิจัยบางส่วนระบุว่าผู้ที่สูบบุหรี่และใช้ยานัตถุ์เป็นครั้งคราวมีแนวโน้มเลิกบุหรี่ได้ยากขึ้น และแม้ว่าบางรายอาจเลิกสูบบุหรี่ได้ แต่ก็ต้องเผชิญกับผลเสียของการใช้ยานัตถุ์ในระยะยาวตามมา

ในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์หรือผลการศึกษาใดสนับสนุนว่าการใช้ยานัตถุ์ที่มียาสูบเป็นส่วนผสมจะช่วยลดการติดบุหรี่หรือเลิกสูบบุหรี่ได้อย่างเด็ดขาด เพราะผลิตภัณฑ์จากยาสูบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นแบบไร้ควัน มีควัน หรือมีส่วนประกอบของสารเสพติดอื่น ๆ ล้วนเป็นอันตรายต่อร่างกาย และไม่อาจนำมาใช้ทดแทนกันเพื่อลดการเสพติด ทางที่ดีควรเข้ารับการบำบัดหรือรักษาอาการเสพติดบุหรี่อย่างถูกวิธี นอกจากนี้ ในประเทศไทยยังมีศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติหรือสายเลิกบุหรี่ 1600 ซึ่งเป็นอีกทางเลือกที่สะดวกสำหรับผู้ที่ต้องการปรึกษาเกี่ยวกับการเลิกบุหรี่

ลาขาดจากยานัตถุ์ เพื่อสุขภาพที่ดี

การหยุดใช้ยานัตถุ์อาจส่งผลให้เกิดอาการถอนยาคล้ายกับสารเสพติดชนิดอื่น โดยอาจมีอาการซึมเศร้า วิตกกังวล โกรธง่าย กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ น้ำหนักขึ้น เป็นต้น อย่างไรก็ตาม อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นหลังปรึกษาแพทย์และเข้ารับการรักษาหรือบำบัด ซึ่งแพทย์จะช่วยวางแผนการรักษาให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล อาจใช้เพียงวิธีเดียวหรือหลายวิธีร่วมกัน ดังนี้

  • การใช้สารนิโคตินอื่นทดแทน (Nicotine Replacement Therapy: NRT) ผู้ที่มีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์จากอาการขาดสารเสพติด แพทย์อาจให้ใช้สารนิโคตินในรูปแบบอื่นที่ไม่ทำให้เสพติดทดแทน เช่น แผ่นแปะ หมากฝรั่ง ยาดม หรือยาประเภทอื่น ซึ่งจะช่วยให้ได้รับปริมาณสารนิโคตินน้อยลงโดยไม่มีสารอันตรายอื่น ๆ เจือปน
  • การรับประทานยา แพทย์อาจจ่ายยาช่วยลดอาการอยากสารนิโคติน เช่น ยาบูโพรพิออน หรือยาวาเลนนิไคลน โดยการรักษาด้วยวิธีนี้ แพทย์จะพิจารณาจากปัจจัยเสี่ยงและอาการต่าง ๆ ของผู้เสพ ทั้งนี้ ก่อนใช้ยาควรปรึกษาแพทย์ถึงข้อดีและความเสี่ยงจากการใช้ยา
  • การเข้าร่วมหรือขอคำปรึกษากับศูนย์บริการเลิกสารเสพติด ภายในศูนย์นี้มีผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำด้านต่าง ๆ แก่ผู้เสพติด เช่น การปรับตัวหลังการเลิกใช้ยา วิธีรับมือกับอาการถอนยาหรือปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการ ไปจนถึงการปรับปรุงคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น โดยอาจให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคล ทั้งครอบครัว หรือบางรายอาจต้องเข้ากลุ่มผู้เสพติด เพื่อแชร์ประสบการณ์ที่คล้ายคลึงกัน เพราะการได้รับกำลังใจและแรงสนับสนุนจากบุคคลรอบข้างหรือเครือข่ายทางสังคมของกลุ่มคนที่มีอาการเสพติดเหมือนกัน อาจเป็นแรงผลักดันให้การเลิกยาประสบความสำเร็จมากขึ้น

แม้ว่าจะมีการกล่าวอ้างถึงประโยชน์ของยานัตถุ์ในการบรรเทาอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ แต่หากเป็นสูตรที่มีส่วนผสมของยาสูบ สารเสพติดให้โทษ ยาอันตราย หรือยาควบคุมพิเศษ ก็ไม่ควรหลงเชื่อตามสรรพคุณที่กล่าวอ้าง เพราะยานัตถุ์ชนิดดังกล่าวส่งผลเสียต่อร่างกายมากกว่าผลดี ทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงด้านสุขภาพจากการใช้สารเหล่านี้