ยาต้านเชื้อเอชไอวี

ยาต้านเชื้อเอชไอวี

ยาต้านเชื้อเอชไอวี (Pre-Exposure Prophylaxis: PrEP) คือ ยาสำหรับใช้ในผู้ที่เสี่ยงต่อการรับเชื้อเอชไอวี และมีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ กลุ่มชายรักชาย และกลุ่มหญิงชาย ที่เสี่ยงติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนที่ติดเชื้อหรือไม่ทราบว่าติดเชื้อหรือไม่

ยาต้านเชื้อเอชไอวี

ทั้งนี้ยาดังกล่าวมีฤทธิ์ยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อไปทั่วร่างกายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะต้องใช้ใช้ยาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพราะหากรับประทานยาไม่ต่อเนื่องจะทำให้ประสิทธิภาพลดลง ปัจจุบันมียาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวีที่ได้รับการรับรองอยู่ 2 ชนิด ได้แก่

  • Tenofovir (TDF) ขนาด 300 มก.
  • Emtricitabine (FTC) ขนาด 200 มก.

โดยยาทั้ง 2 ชนิดนี้จะอยู่ในรูปของยาสูตรผสมที่ต้องรับประทานคู่กันเพื่อเสริมประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี

เกี่ยวกับยาต้านเชื้อเอชไอวี

กลุ่มยา ยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวี
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ 
สรรพคุณ ป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยาเม็ด


คำเตือนการใช้ยาต้านเชื้อเอชไอวี

  • ห้ามใช้ยาดังกล่าวหากมีการใช้ยาอื่นที่มีส่วนประกอบของยาเอ็มตริไซตาบีน (Emtricitabine) ยาเทโนโฟเวียร (Tenofovir) ยาลามิวูดีน (Lamivudine) หรือยาอะดีโฟเวียร์ (Adefovir)
  • ห้ามใช้ยาดังกล่าวสำหรับลดความเสี่ยงการติดเชื้อเอชไอวีในกรณีที่ผู้ป่วยติดเชื้อแล้วและพบว่ามีผลเลือดเป็นบวก (HIV-Positive)
  • ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาชนิดนี้ หากผู้ป่วยมีโรคประจำตัวหรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น โรคตับ โรคไต ภาวะมวลกระดูกต่ำ หรือมีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี เป็นต้น
  • การใช้ยาชนิดนี้อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างภาวะเลือดเป็นกรดแลคติก (Lactic Acidosis) โดยเฉพาะผู้หญิงและผู้ที่มีโรคตับ น้ำหนักตัวเกิน หรือใช้ยาต้านไวรัสเอชไอวีเป็นเวลานาน ๆ ดังนั้น ก่อนใช้ยาควรปรึกษาแพทย์เพื่อความปลอดภัย
  • ผู้หญิงที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ หากตั้งครรภ์ ทารกอาจติดเชื้อได้ ดังนั้น ควรใช้ยาอย่างต่อเนื่องเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก
  • ยาดังกล่าวไม่ได้รับการรับรองให้ใช้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี หากต้องใช้กับเด็กควรให้เด็กมีน้ำหนักตัวอย่างน้อยประมาณ 17 กิโลกรัมขึ้นไป
  • ระหว่างใช้ยานี้ ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน หรือการใช้มีดโกน และแปรงสีฟันร่วมกันเพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้

ปริมาณการใช้ยาต้านการติดเชื้อเอชไอวี

  • ผู้ใหญ่ อายุ 18 ปีขึ้นไปรับประทานยา วันละ 1 ครั้ง ประกอบด้วย ยาทีโนโฟเวียร์ วันละ 300 มิลลิกรัม และยาเอ็มตริไซตาบีน วันละ 200 มิลลิกรัม หากผู้ป่วยมีปัญหาในการกลืนยา อาจใช้วิธีละลายยาในน้ำเปล่า น้ำส้ม หรือน้ำองุ่น แต่ควรรับประทานโดยทันที

การใช้ยาต้านเชื้อเอชไอวี

ยาต้านเชื้อเอชไอวีเป็นยาที่ต้องใช้ภายใต้คำสั่งของแพทย์เท่านั้น และไม่ควรปรับขนาดยาด้วยตนเองเพราะอาจทำให้ได้รับเกินขนาดหรือน้อยกว่าปริมาณที่ร่างกายต้องการ ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับยาจะต้องเป็นมีผลตรวจเลือดที่ไม่พบว่ามีการติดเชื้อเอชไอวี เนื่องจากยาดังกล่าวจะทำได้เพียงป้องกันไม่ให้ติดเชื้อเท่านั้น หากได้รับเชื้อหรือติดเชื้อแล้วจะไม่สามารถใช้ยาดังกล่าวได้

ในการใช้ยาเพื่อให้ได้ประโยชน์จากยามากที่สุด ควรรับประทานยาอย่างต่อเนื่องและตรงเวลา และควรไปรับยาเพิ่มก่อนที่ยาจะหมด นอกจากนี้ ขณะรับการรักษาด้วยยาดังกล่าวผู้ป่วยควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด โดยควรได้รับการตรวจเลือด ตรวจการทำงานของตับและไต ความสมบูรณ์ของมวลกระดูกอย่างสม่ำเสมอ หากมีภาวะไวรัสตับอักเสบบีเกิดขึ้นควรปรึกษาแพทย์ก่อนเพื่อความปลอดภัย

ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงว่าจะได้รับเชื้อเอชไอวีไม่ควรใช้ยาดังกล่าวหากอยู่ในระหว่างการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร เนื่องจากยาดังกล่าวอาจปนเปื้อนในน้ำนม หรือส่งผลต่อทารกในครรภ์ได้ แต่หากจำเป็นต้องใช้ยาดังกล่าวควรปรึกษาแพทย์ถึงประโยชน์และความเสี่ยงที่จะได้รับจากการใช้ยาต้านเชื้อเอชไอวี

การเก็บรักษายา ผู้ป่วยควรเก็บยาไว้ในอุณหภูมิห้อง ห่างไกลจากความชื้นและความร้อน หากไม่ได้ใช้ควรปิดบรรจุภัณฑ์ให้สนิท ห้ามปล่อยให้อากาศเข้าเพราะอาจส่งผลต่อคุณภาพของยาได้

ผลข้างเคียงจากการใช้ยาต้านเชื้อเอชไอวี

เช่นเดียวกับยาชนิดอื่น ๆ ยาต้านเชื้อเอชไอวีมีผลข้างเคียงที่ต้องระมัดระวัง เนื่องจากเป็นยาที่ต้องใช้ต่อเนื่องในระยะยาว ดังนั้น หากผู้ป่วยมีสัญญาณของอาการแพ้ยา เช่น ผื่นลมพิษ หายใจลำบาก หน้าบวม ริมฝีปาก ลิ้น และคอบวม ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน นอกจากนี้ การใช้ยายังอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่พบได้ทั่วไปดังนี้

  • ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ มีอาการซึมเศร้าหรือรู้สึกเหนื่อย
  • มีปัญหาในการนอนหลับ เช่น นอนไม่หลับ หรือฝันแปลก ๆ
  • ปวดท้อง
  • น้ำหนักลด
  • มีผื่นขึ้นตามตัว

อีกทั้งการใช้ยาดังกล่าวอาจส่งผลให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรดแลกติก ดังนั้น จึงควรสังเกตอาการผิดปกติอย่างใกล้ชิด ควรรีบพบแพทย์ทันทีหากมีอาการอื่น ๆ เช่น

  • ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนแรง
  • มีอาการชา หรือเย็นที่แขนและขา
  • หายใจผิดปกติ
  • ปวดท้องคลื่นไส้ อาเจียน
  • หัวใจเต้นเร็วหรือผิดปกติ
  • ปวดกระดูกอย่างเฉียบพลัน
  • มีปัญหาเกี่ยวกับไต เช่น ปัสสาวะไม่ออก หรือติดขัด มีอาการบวมที่เท้าและข้อเท้า
  • มีปัญหาเกี่ยวกับตับ ได้แก่ ไข้ต่ำ ๆ ปวดท้อง คลื่นไส้ สูญเสียความอยากอาหาร ปัสสาวะมีสีเข้ม อุจจาระมีสีเหมือนโคลน และมีอาการของดีซ่าน

นอกจากนี้ ยาดังกล่าวอาจทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงในการติดเชื้ออื่น ๆ หรือเป็นโรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง ได้ เนื่องจากยาชนิดนี้จะเข้าไปเปลี่ยนแปลงการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ดังนั้น หากมีอาการดังต่อไปนี้ควรรีบแจ้งแพทย์เพื่อความปลอดภัย

  • พบสัญญาณของการติดเชื้อ เช่น มีไข้ เหงื่อออกในเวลากลางคืน ต่อมน้ำเหลืองบวม มีแผลในปาก ท้องเสีย ปวดท้อง น้ำหนักลดผิดปกติ
  • เจ็บหน้าอก โดยเฉพาะเวลาหายใจ ไอแห้ง ๆ หายใจมีเสียงหวีด หรือหายใจถี่
  • มีอาการของเริมที่ปาก หรือเริมที่อวัยวะเพศ
  • อัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติ รู้สึกวิตกกังวลหรือหงุดหงิดง่าย รู้สึกเจ็บปวด หรือมีปัญหาเกี่ยวกับการทรงตัว และการเคลื่อนที่ของดวงตา
  • มีปัญหาในการพูด กลืนอาหาร ปวดหลังส่วนล่างอย่างรุนแรง มีปัญหาเกี่ยวกับระบบขับถ่าย
  • มีอาการบวมที่คอ ประจำเดือนผิดปกติ หรือเกิดภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ