รู้จักอันตรายจากยาฆ่าแมลงและวิธีล้างผักผลไม้ให้ปลอดภัย

ยาฆ่าแมลงหรือวัตถุอันตรายทางการเกษตรเป็นสารเคมีที่ใช้ควบคุม กำจัด ทำลาย หรือขับไล่สัตว์ แมลง รวมถึงวัชพืชที่สร้างความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตรในขั้นตอนการเพาะปลูก รวมถึงป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในการเก็บรักษา การขนส่ง และการจำหน่าย

ในปัจจุบันทางกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานต่าง ๆ ได้มีการควบคุมความปลอดภัยของการใช้ยาฆ่าแมลงที่อาจส่งผลกระทบต่อทั้งสุขภาพของผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม เพราะหากรับประทานผักผลไม้ที่มียาฆ่าแมลงหรือสารพิษตกค้างก็อาจทำให้เกิดอันตรายมากกว่าที่คิด

ยาฆ่าแมลง

15 อันดับยาฆ่าแมลงที่ตกค้างในอาหาร

แม้ยาฆ่าแมลงจะช่วยป้องกันความเสียหายที่เกิดจากศัตรูพืชและช่วยให้ผักผลไม้คงอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์น่ารับประทาน แต่หากใช้มากเกินไปหรือล้างไม่สะอาด ก็อาจทำให้มีสารพิษตกค้างที่ส่งผลให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศเรื่องสารพิษตกค้างในอาหารที่พบมากที่สุด 15 อันดับ ได้แก่

  1. คลอร์ไพริฟอส พบได้ในพริกแห้ง เครื่องเทศที่มีลักษณะเป็นเมล็ด พริกสด กล้วย ลิ้นจี่ เนื้อโคหรือเนื้อกระบือ เป็นต้น
  2. คลอโรทาโลนิล พบได้ในมะเขือเทศ ผักคะน้า ฝักถั่วเหลืองสด ผักกาดขาว เป็นต้น
  3. คาร์บาริล พบได้ในทุเรียน ลำไย ข้าวฟ่าง ผลไม้ตระกูลส้ม พริกหวาน มะม่วง เป็นต้น
  4. คาร์เบนดาซิม พบได้ในพริกแห้ง หอมแดง องุ่น เงาะ ต้นหอม กุยช่าย หอมหัวใหญ่ เป็นต้น
  5. คาร์โบซัลแฟน พบได้ในพริกแห้ง กระเจี๊ยบเขียว ผักตระกูลกะหล่ำ มะเขือเทศ เมล็ดงา เป็นต้น
  6. แคปแทน พบได้ในองุ่น ถั่วเหลือง ถั่วลิสง มะม่วง ปาล์มน้ำมัน เป็นต้น
  7. ไซเพอร์เมทริน พบได้ในพริกแห้ง พริกสด ลิ้นจี่ ลำไย ทุเรียน ผักตระกูลกะหล่ำ เป็นต้น 
  8. 2, 4-ดี พบได้ในเครื่องในและเนื้อสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนม ข้าวสาร ข้าวโพด ข้าวฟ่าง สับปะรด เป็นต้น
  9. เดลทาเมทริน พบได้ในเมล็ดกาแฟ ผักคะน้า ผักกาดขาว ผักกวางตุ้ง ต้นหอม เป็นต้น
  10. ไดคลอร์วอส พบได้ในผลไม้ตระกูลส้ม เมล็ดธัญพืช เครื่องเทศ เนื้อสัตว์ปีก เป็นต้น 
  11. ไดโคฟอล พบได้ในเครื่องในโคและกระบือ มะเขือเทศ แตงกวา ถั่วเขียว เป็นต้น
  12. ไดไทโอคาร์บาเมต พบได้ในพริกแห้ง ต้นหอม ผักคะน้า องุ่น มะม่วง มะเขือเทศ เป็นต้น
  13. ไดเมโทเอต พบได้ในผลไม้ตระกูลส้ม เครื่องเทศที่มีลักษณะเป็นเมล็ด มะเขือเทศ แตงไทย เป็นต้น 
  14. ไดแอซินอน พบได้ในเครื่องเทศที่มีลักษณะเป็นเมล็ดและราก เนื้อสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนม เป็นต้น 
  15. ไตรอาโซฟอส พบได้ในถั่วเหลืองสด ถั่วฝักยาว ถั่วเขียว เมล็ดทานตะวัน หอมหัวใหญ่ เป็นต้น

ยาฆ่าแมลงและผลกระทบต่อสุขภาพ

การรับประทานผักผลไม้ รวมถึงอาหารที่มียาฆ่าแมลงหรือสารพิษตกค้างยังอาจทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย ปวดศีรษะ หน้ามืด หายใจไม่ออก มีอาการชา หรือรุนแรงถึงขั้นหมดสติได้ และในปัจจุบันยังคงเป็นที่ถกเถียงกันถึงความปลอดภัยจากการใช้ยาฆ่าแมลง แม้จะมีการควบคุมไม่ให้ใช้เกินจากปริมาณที่กำหนดที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคแล้วก็ตาม แต่ผู้ที่ทำการเกษตรโดยใช้ยาฆ่าแมลงปริมาณมาก และผู้ที่อาศัยใกล้บริเวณที่มีการใช้ยาฆ่าแมลงในระยะยาวอาจทำให้เกิดปัญหาต่อระบบทางเดินหายใจ ระบบสืบพันธุ์ ระบบประสาท ส่งผลต่อการทำงานของต่อมไร้ท่อ เสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งบางชนิดได้มากขึ้น นอกจากนี้ การศึกษายังได้ระบุว่าทารกในครรภ์ของหญิงที่อาศัยในบริเวณที่มีการใช้ยาฆ่าแมลงนั้นเสี่ยงต่อการเป็นโรคสมาธิสั้นและโรคออทิสติกได้

ล้างผักผลไม้อย่างไรให้ปลอดภัยจากยาฆ่าแมลง

การล้างผักผลไม้ให้สะอาดก่อนนำไปรับประทานหรือปรุงอาหารอาจช่วยทำให้ปริมาณยาฆ่าแมลงหรือสารพิษที่ตกค้างลดน้อยลงไปได้ ซึ่งผู้บริโภคสามารถปฏิบัติได้ตามวิธีดังต่อไปนี้ 

  1. แช่ด้วยเบกกิ้งโซดา 1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำอุ่น 20 ลิตร นาน 15 นาที แล้วนำไปล้างด้วยน้ำสะอาด จะช่วยลดปริมาณสารพิษตกค้างได้ประมาณ 90-95 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ ควรล้างเบกกิ้งโซดาออกให้สะอาด เพราะถ้าร่างกายได้รับในปริมาณมากเกินไปอาจส่งผลให้ท้องเสียได้
  2. แช่ด้วยน้ำส้มสายชู ที่มีกรดน้ำส้มความเข้มข้น 5 เปอร์เซ็นต์ ผสมกับน้ำเปล่าในอัตราส่วน 1:10 นาน 10-15 นาที แล้วนำไปล้างด้วยน้ำสะอาด จะช่วยลดปริมาณสารพิษตกค้างได้ประมาณ 60-84 เปอร์เซ็นต์ แต่อาจทำให้ผักผลไม้มีกลิ่นของน้ำส้มสายชูติดมาด้วย อีกทั้งยังอาจทำให้ผักบางชนิดอย่างผักกาดเขียวหรือผักกาดขาวมีรสชาติเปลี่ยนไป
  3. นำไปต้มหรือลวกน้ำร้อน จะช่วยลดปริมาณสารพิษตกค้างได้ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ แต่อาจสูญเสียคุณค่าทางอาหารบางชนิดอย่างไนอาซิน วิตามินซี หรือวิตามินบี 1 ไปกับน้ำและความร้อนได้
  4. ปอกเปลือก หรือลอกใบชั้นนอกของผักที่มีใบซ้อนกันออกอย่างผักกะหล่ำปลี แล้วนำไปล้างด้วยน้ำสะอาด จะช่วยลดปริมาณสารพิษตกค้างได้ประมาณ 27-72 เปอร์เซ็นต์
  5. แช่ด้วยน้ำยาล้างผัก โดยใช้ความเข้มข้นประมาณ 0.3 เปอร์เซ็นต์ แล้วนำไปล้างด้วยน้ำสะอาด จะช่วยลดปริมาณสารพิษตกค้างได้ประมาณ 25-70 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ ควรปฏิบัติตามฉลากข้างผลิตภัณฑ์ด้วยความระมัดระวัง เพราะบางครั้งน้ำยาล้างผักอาจซึมเข้าไปในเนื้อผักผลไม้และทำให้เกิดอันตรายได้
  6. ล้างโดยใช้น้ำไหลผ่าน โดยเด็ดใบผักใส่ตะแกรงแล้วเปิดน้ำให้แรงพอประมาณเป็นเวลา 2 นาที สามารถใช้มือคลี่ใบออกและถูหรือขัดใบผักหรือเปลือกผลไม้ร่วมด้วย จะช่วยลดปริมาณสารพิษตกค้างได้ประมาณ 25-63 เปอร์เซ็นต์ แต่อาจใช้เวลานานและใช้น้ำในปริมาณมาก
  7. แช่ด้วยด่างทับทิม ปริมาณ 20-30 เกล็ดผสมน้ำ 4 ลิตร นาน 10 นาที แล้วนำไปล้างด้วยน้ำสะอาด จะช่วยลดปริมาณสารพิษตกค้างได้ประมาณ 35-43 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าใช้ด่างทับทิมในปริมาณมากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อระบบทางเดินอาหาร หากสูดดมไอระเหยในปริมาณมากอาจทำให้เกิดปัญหาต่อระบบทางเดินหายใจ และหากเข้าตาก็อาจทำให้ตาบอดได้ จึงควรใช้ด้วยความระมัดระวัง
  8. แช่ด้วยเกลือป่น 1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำ 4 ลิตร นาน 10 นาที จะช่วยลดปริมาณสารพิษตกค้างได้ประมาณ 27-38 เปอร์เซ็นต์ แต่อาจทำให้ผักผลไม้บางชนิดมีรสเค็มติดไปด้วย

การล้างผักผลไม้แต่ละวิธีมีข้อดีและข้อจำกัดที่ต่างกันออกไป ควรเลือกตามความสะดวก เวลา และปริมาณผักผลไม้ที่มี นอกจากนี้ การรับประทานผักปลอดสารพิษหรือผักผลไม้ออแกนิคก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดี รวมถึงการรับประทานผักผลไม้ที่หลากหลาย ไม่ซ้ำ ๆ กันเกินไป และเปลี่ยนแหล่งหรือร้านที่ซื้อบ้าง เพื่อลดความเสี่ยงจากสารพิษตกค้างที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย