ม้ามแตก

ความหมาย ม้ามแตก

ม้ามแตก (Ruptured Spleen) เป็นภาวะที่เปลือกหุ้มม้ามแตกหรือฉีกขาด ทำให้มีเลือดไหลออกมาในช่องท้อง ก่อให้เกิดอาการปวดท้องอย่างรุนแรง ถือว่าเป็นภาวะฉุกเฉินที่ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาโดยด่วน เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ 

ม้ามแตกมักมีสาเหตุมาจากโดนกระแทกอย่างรุนแรงทั้งจากอุบัติเหตุ การเล่นกีฬา หรือการต่อสู้ ม้ามเป็นอวัยวะในช่องท้อง อยู่บริเวณชายโครงด้านซ้ายใกล้กับกระเพาะอาหาร ทำหน้าที่ต่อสู้กับการติดเชื้อต่าง ๆ และกรองเซลล์เม็ดเลือดเก่าด้วย

ม้ามแตก

อาการของม้ามแตก

ผู้ป่วยม้ามแตกมักมีอาการปวดท้องรุนแรงโดยเฉพาะด้านซ้าย และอาจปวดที่หัวไหล่ซ้ายร่วมด้วย รู้สึกเจ็บขณะหายใจ รวมถึงกดแล้วเจ็บบริเวณท้องข้างซ้ายส่วนบนด้วย ทั้งนี้ บางรายอาจมีอาการของความดันโลหิตต่ำอันเนื่องมาจากเสียเลือดมากได้ เช่น วิงเวียนคล้ายจะหมดสติ สับสน เป็นลม  มีสัญญาณของภาวะช็อกอย่างกระสับกระส่าย อ่อนเพลียมาก คลื่นไส้ และผิวซีด เป็นต้น  

สาเหตุของม้ามแตก

ม้ามแตกเกิดขึ้นเมื่อร่างกายด้านซ้ายได้รับการบาดเจ็บ โดยผู้ป่วยมักจะมีอาการทันทีหลังได้รับบาดเจ็บ แต่บางรายก็อาจใช้เวลาเป็นวันหรือสัปดาห์หลังได้รับบาดเจ็บ จึงค่อยมีอาการ โดยสาเหตุอาจมาจาก

  • การกระแทกอย่างรุนแรงจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ รถจักรยานยนต์ หรือรถจักรยาน 
  • การเล่นกีฬาที่มีการปะทะร่างกายกันอย่างฟุตบอล 
  • การถูกทำร้ายร่างกาย 

นอกจากนี้ ปัญหาสุขภาพบางประการอาจส่งผลให้ม้ามบวมโตและเปลือกหุ้มม้ามบางลง จนทำให้ผู้ป่วยม้ามแตกได้ โดยอาจมีสาเหตุมาจากโรคโมโนนิวคลิโอซิส โรคมาลาเลีย โรคตับ หรือมะเร็งต่อมน้ำเหลืองบางชนิด 

การวินิจฉัยม้ามแตก

ในเบื้องต้นแพทย์สอบถามประวัติทางการแพทย์ และตรวจร่างกายโดยกดบริเวณท้องเพื่อตรวจสอบขนาดม้ามและตรวจท้อง และตรวจเลือดเพื่อประเมินปัจจัยต่าง ๆ ของภาวะม้ามแตกอย่าง เม็ดเลือด จำนวนเกล็ดเลือดหรือการแข็งตัวของเลือด นอกจากนั้น แพทย์อาจให้ผู้ป่วยเข้ารับการตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้อง หรือใช้เข็มฉีดยาดูดของเหลวออกมาจากท้อง ซึ่งหากตรวจพบเลือดปะปนอยู่ด้วย ผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการรักษาโดยด่วน แต่หากผลการวินิจฉัยยังไม่แน่ชัด แพทย์อาจให้ผู้ป่วยทำการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือทำ CT Scan บริเวณช่องท้อง โดยใช้สารทึบรังสีเพื่อช่วยให้เห็นภาพจากภายในช่องท้องได้ชัดขึ้น หรือนำวิธีการสร้างภาพอวัยวะภายในอื่น ๆ มาใช้เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการทั้งหมด

การรักษาม้ามแตก

โดยปกติแล้ว การรักษาม้ามแตกจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการบาดเจ็บ ผู้ป่วยที่มีอาการเพียงเล็กน้อยอาจรักษาได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่าตัด แพทย์อาจให้นอนรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเพื่อสังเกตอาการ สัญญาณชีพ หรือปริมาณเลือดอย่างใกล้ชิด ซึ่งอาจต้องให้เลือดแก่ผู้ป่วยในระหว่างนั้น ทั้งนี้ อาจต้องตรวจประเมินเป็นระยะเพื่อพิจารณาว่าควรสังเกตอาการต่อไป หรือควรได้รับการผ่าตัด

ผู้ป่วยที่มีเลือดออกภายในปริมาณมากหรือผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตต่ำหรือสัญญาณชีพไม่คงที่อาจต้องเข้ารับการผ่าตัดเพื่อซ่อมแซมม้าม ซึ่งหากเป็นรอยฉีกขาดขนาดเล็ก แพทย์อาจเย็บแผล หรือใช้วิธีอุดหลอดเลือดแดง (Arterial Embolization) โดยใส่วัสดุพิเศษผ่านท่อขนาดเล็กเข้าไปอุดหลอดเลือดเพื่อยับยั้งการไหลของเลือด ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงมักไม่จำเป็นต้องผ่าตัดม้ามออก แต่หากบาดเจ็บอย่างรุนแรงและมีเลือดออกมากอาจต้องผ่าตัดเอาม้ามออกทั้งหมด 

ภาวะแทรกซ้อนของม้ามแตก

ภาวะแทรกซ้อนหลักของม้ามแตก คือ การมีเลือดออกในช่องท้องมาก ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ และผู้ป่วยอาจมีโอกาสเกิดเลือดออกหลังจากม้ามแตกไปแล้วระยะหนึ่ง ส่งผลให้ภาวะเนื้อเยื่อม้ามตาย ทำให้ต้องเข้ารับการผ่าตัดม้ามภายหลัง 

นอกจากนี้ การผ่าตัดม้ามออกจะทำให้ผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันลดน้อยลง ซึ่งจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อรุนแรงเพิ่มขึ้น อย่างภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด โดยผู้ป่วยเด็กเล็กจะมีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะในช่วงสองปีแรกหลังการตัดม้าม ส่วนผู้ป่วยที่ผ่าตัดม้ามออกไปเพียงบางส่วน ความเสี่ยงในการติดเชื้อก็จะลดน้อยลง 

การป้องกันม้ามแตก

ม้ามแตกจากการบาดเจ็บโดยอุบัติเหตุต่าง ๆ อาจป้องกันได้ยาก แต่หากมีสติ ระมัดระวังตัว ใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายในระหว่างทำกิจกรรมใด ๆ หรือขับขี่ยานพาหนะเป็นประจำก็อาจช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุเหล่านี้ได้ สำหรับผู้ที่มีม้ามโตจากปัญหาทางสุขภาพอย่างโรคโมโนนิวคลิโอซิส ควรหลีกเลี่ยงการยกของหนัก กิจกรรมที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บโดยเฉพาะกีฬาที่มีการกระแทก เช่น ฟุตบอล อเมริกันฟุตบอล และมวยไทย เป็นต้น