ICU ห้องดูแลผู้ป่วยหนัก

ICU (Intensive Care Units หรือ ไอซียู) คือ ห้องดูแลผู้ป่วยหนัก เป็นพื้นที่พิเศษที่จัดไว้เพื่อรักษาดูแลอาการผู้ที่ป่วยหนัก หรือมีอาการสาหัสเสี่ยงต่อการเสียชีวิตโดยเฉพาะ โดยมีทีมแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังดูแลอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด และคอยบริหารจัดการให้อุปกรณ์ทางการแพทย์ต่าง ๆ สามารถทำงานเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยได้ทันท่วงที

ICU

นอกจากห้อง ICU จะเกี่ยวข้องกับชีวิตของผู้ป่วยแล้ว ยังเป็นแหล่งรวมความเป็นห่วง ความหวัง และความตึงเครียดของญาติไปจนถึงบุคคลที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยด้วย ดังนั้น ทั้งเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และเหล่าผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วย จึงต้องมีการสื่อสารระหว่างกัน เพื่อช่วยเหลือสนับสนุนให้ผู้ป่วยพ้นจากภาวะวิกฤตนี้ให้เร็วที่สุด

ICU เป็นอย่างไร ?

ICU มีไว้เพื่อรักษาดูแลอาการผู้ป่วยให้พ้นจากภาวะวิกฤตที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิต ให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นและสามารถย้ายไปพักฟื้นรักษาตัวในแผนกรักษาเฉพาะทางต่าง ๆ ต่อไปได้ บางโรงพยาบาลอาจมีห้อง ICU เฉพาะในแต่ละแผนก เช่น ICU ของแผนกกุมารแพทย์ จะดูแลรักษาเฉพาะผู้ป่วยเด็กที่มีอาการหนัก หรือบางโรงพยาบาลอาจมีห้อง ICU แห่งเดียว แต่แบ่งโซนการรักษาออกเป็นแผนกตามอาการของผู้ป่วย

ผู้ป่วยที่ถูกส่งตัวมารักษาใน ICU จะได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง โดยมีอุปกรณ์ที่จำเป็น เช่น สายยางและสายไฟต่าง ๆ ถูกต่อพ่วงเข้ากับเตียงผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก เพื่อช่วยประคับประคองและรักษาอาการให้ระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายผู้ป่วยสามารถทำงานต่อไป จนกว่าผู้ป่วยจะฟื้นตัวได้ในที่สุด ในระหว่างนี้ ผู้ป่วยอาจได้รับยาบรรเทาอาการปวด หรือยาระงับประสาทที่มีฤทธิ์ทำให้ง่วงนอน เนื่องจากการต่อเครื่องมือและอุปกรณ์ช่วยชีวิตเหล่านี้ อาจสร้างความเจ็บปวดและทำให้ผู้ป่วยไม่สบายตัว

อุปกรณ์ที่ใช้ในห้อง ICU ได้แก่

  • เครื่องช่วยหายใจ เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถหายใจได้ ประกอบด้วยสายยางที่อาจสอดเข้าไปทางปาก จมูก หรือรูเล็ก ๆ บริเวณลำคอ ซึ่งแพทย์เป็นผู้ผ่าสร้างช่องเพื่อให้สามารถสอดท่อช่วยหายใจเข้าไปได้
  • เครื่องมือเฝ้าระวังอาการ เป็นอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้เพื่อตรวจการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายผู้ป่วย เช่น ตรวจอัตราการเต้นของหัวใจ ตรวจความดันโลหิต ตรวจระดับออกซิเจนในเลือด เป็นต้น
  • สายยางที่ต่อเข้ากับเส้นเลือดและตัวปั๊ม ใช้เพื่อส่งสารเหลว สารอาหารที่จำเป็น และให้ยาเข้าสู่ร่างกายผู้ป่วยผ่านทางกระแสเลือด
  • สายยางให้อาหาร ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ สายยางจะถูกสอดเข้าทางจมูก ทางช่องเล็ก ๆ บริเวณหน้าท้องเพื่อใส่สายให้อาหาร หรืออาจให้อาหารชนิดเข้มข้นทางเส้นเลือด  
  • สายสวนและท่อระบายของเสีย ผู้ป่วยอาจได้รับการใส่สายสวนปัสสาวะ เพื่อระบายปัสสาวะ ใส่ท่อระบายอุจจาระผ่านลำไส้บริเวณหน้าท้อง ใส่ท่อระบายเลือดจากแผล หรือระบายของเหลวจากร่างกาย

ทำไมต้องเข้า ICU ?

ผู้ป่วยที่ถูกส่งตัวเข้ามารักษาในห้อง ICU คือ ผู้ที่มีอาการป่วยรุนแรง เสี่ยงอันตรายต่อชีวิต จึงจำเป็นต้องได้รับการรักษาดูแลอาการอย่างใกล้ชิด หรือผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัด และการดูแลเฝ้าระวังอาการในห้อง ICU จะเป็นประโยชน์แก่ผู้ป่วยจนกว่าผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้น

ผู้ป่วยในห้อง ICU ส่วนใหญ่มักเผชิญปัญหาอวัยวะใดอวัยวะหนึ่ง หรือหลาย ๆ ส่วน ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ หรือผู้ป่วยอาจไม่สามารถหายใจได้ด้วยตนเอง ซึ่งสาเหตุสำคัญส่วนใหญ่ ได้แก่

  • ประสบอุบัติเหตุรุนแรง เช่น อุบัติเหตุบนท้องถนน ตกจากที่สูง ศีรษะถูกกระแทกอย่างแรง ถูกไฟไหม้อย่างรุนแรง
  • ภาวะอาการป่วยที่รุนแรงและกะทันหัน เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน เส้นเลือดในสมองแตกหรือตีบตัน
  • ภาวะติดเชื้อร้ายแรง เช่น ติดเชื้อในกระแสเลือด ปอดอักเสบรุนแรง
  • การผ่าตัดใหญ่ แพทย์อาจวางแผนการดูแลเฝ้าระวังอาการให้ผู้ป่วยอยู่ในห้อง ICU เพื่อเป็นประโยชน์ในการฟื้นตัว หรือในกรณีฉุกเฉินที่ผู้ป่วยเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือเผชิญกับผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายในระหว่างหรือหลังการผ่าตัด

การตัดสินใจเกี่ยวกับการรักษา

ด้านอำนาจในการตัดสินใจเกี่ยวกับการเข้ารับการรักษา หากผู้ป่วยเป็นผู้ที่บรรลุนิติภาวะแล้ว (อายุ 20 ปีบริบูรณ์) โดยที่ยังคงมีสติรู้สึกตัว และสามารถสื่อสารได้ในระหว่างเข้ารับการรักษา ผู้ป่วยจะมีอำนาจการตัดสินใจเลือกการรักษาทั้งหมดได้ด้วยตนเอง

แต่หากผู้ป่วยหมดสติ หรือไม่มีสติสัมปชัญญะอย่างสมบูรณ์ในขณะนั้น ผู้ป่วยจะไม่สามารถตัดสินใจหรืออนุญาตให้ทำการรักษาในขั้นตอนต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง

ดังนั้น หากผู้ป่วยรู้ตัวก่อนว่าต้องเข้ารับการรักษาฉุกเฉินในห้อง ICU ควรมอบอำนาจให้ผู้ที่ไว้ใจได้ในการตัดสินใจเกี่ยวกับขั้นตอนวิธีการรักษา หรือแจ้งให้ผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจแทนโดยชอบทราบก่อนล่วงหน้าว่าขั้นตอนใดที่ไม่ต้องการให้แพทย์ทำการรักษาเมื่อถึงเวลาป่วยจนถึงภาวะวิกฤต ซึ่งตามกฎหมายได้เรียงลำดับผู้มีสิทธิ์ตัดสินใจแทนตามลำดับ ดังนี้

  • คู่สมรส  
  • บุตรที่บรรลุนิติภาวะแล้ว
  • บิดา มารดา
  • ญาติระดับใด ๆ ก็ตาม
  • ผู้ที่ได้รับเสนอชื่อโดยบุคคลที่ดูแลผู้ป่วยนั้นอยู่ประจำ
  • บุคลากรทางการแพทย์ที่กฎหมายกำหนด

ถึงที่สุดแล้ว หากเป็นกรณีฉุกเฉินที่ไม่มีผู้มีอำนาจตัดสินใจ แพทย์อาจตัดสินใจรักษาตามวิธีการที่เหมาะสม หรือปรึกษากับญาติของผู้ป่วยถึงวิธีการรักษาที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยมากที่สุด รวมถึงความเสี่ยงและผลข้างเคียงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้

การพักฟื้นหลังออกจากห้อง ICU

เมื่อผู้ป่วยพ้นจากสภาวะวิกฤต แพทย์จะย้ายผู้ป่วยออกจากห้อง ICU แล้วส่งต่อผู้ป่วยให้ไปรักษาที่แผนกรักษาเฉพาะทางต่าง ๆ ตามอาการป่วย จนกว่าผู้ป่วยจะฟื้นตัวและสามารถกลับไปพักรักษาตัวที่บ้านได้ต่อไป

ผู้ป่วยจำนวนมากสามารถฟื้นตัวได้ดีหลังออกจาก ICU แต่ผู้ป่วยบางรายอาจต้องเผชิญกับอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นเป็นผลตามมา เนื่องจากร่างกายยังไม่สามารถปรับสภาพได้ดีหลังหมดฤทธิ์ยา และยังไม่ฟื้นตัวได้เต็มที่ เช่น

  • แขนขาอ่อนแรง กล้ามเนื้อตึง
  • เมื่อยล้า หมดแรง
  • ไม่อยากอาหาร น้ำหนักลด
  • มีปัญหาเกี่ยวกับการนอน
  • มีภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล หรือมีความเครียดหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนใจ
  • มีปัญหาเกี่ยวกับกระบวนการคิด เช่น ความจำไม่ดี คิดอะไรไม่ออกเท่าที่ควรหรืออย่างที่เคย

โดยปัญหาเหล่านี้อาจส่งผลยาวนานหลายเดือน ผู้ป่วยจึงควรได้รับการรักษาดูแลและติดตามผลการรักษาอย่างเหมาะสมจนกว่าอาการจะดีขึ้นหรือหายไป ด้วยการช่วยเหลือสนับสนุนของญาติและบุคคลใกล้ชิดอย่างสม่ำเสมอ ภายใต้คำแนะนำของแพทย์

อย่างไรก็ตาม แม้ผู้ป่วยบางรายจะสามารถออกจาก ICU ได้ในเวลาไม่กี่วัน แต่บางรายอาจต้องใช้เวลารักษาตัวใน ICU นานหลายวัน หลายเดือน หรือมีอาการทรุดหนักลงจนเสียชีวิตได้เช่นกัน

การเยี่ยมผู้ป่วยในห้อง ICU

แม้ผู้ป่วยในห้อง ICU บางรายอาจไม่รู้สึกตัว ไม่ได้สติ หรือมีอาการหนัก แต่ญาติสามารถเข้าเยี่ยมผู้ป่วยได้ตามช่วงเวลาที่เหมาะสมตามที่แพทย์อนุญาต โดยญาติหรือบุคคลใกล้ชิดอาจมีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยมีกำลังใจที่ดีขึ้นและอาจส่งผลต่อการรักษาและการฟื้นตัวของผู้ป่วยได้

อย่างไรก็ดี การเข้าเยี่ยมผู้ป่วย ICU ญาติและบุคคลใกล้ชิดต้องปฏิบัติตามแนวทางดังต่อไปนี้

  • เวลาเยี่ยม ผู้มาเยี่ยมต้องเข้าเยี่ยมตามช่วงเวลาที่โรงพยาบาลกำหนดไว้เท่านั้น โดยที่ทางแพทย์อาจจำกัดจำนวนคนมาเยี่ยม เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนผู้ป่วย ป้องกันการเกิดภาวะติดเชื้อ หรือกระทบต่อกระบวนการรักษาภายในห้อง
  • สุขอนามัย ผู้มาเยี่ยมต้องล้างมือให้สะอาดทั้งก่อนและหลังเข้าเยี่ยม ไม่นำของมาเยี่ยมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้ป่วย เช่น ดอกไม้ เข้ามาในห้อง ICU และผู้มาเยี่ยมต้องมีสุขภาพดี ไม่มีอาการเจ็บป่วยใด ๆ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการติดเชื้อทั้งต่อตัวผู้ป่วยเองและผู้ที่มาเยี่ยม
  • เครื่องมือและอุปกรณ์ช่วยชีวิต ผู้มาเยี่ยมอาจพบเห็นสายยางและสายไฟระโยงระยาง รวมถึงเครื่องมือต่าง ๆ บริเวณรอบ ๆ ตัวและรอบเตียงผู้ป่วย ผู้มาเยี่ยมสามารถถามเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลถึงการทำงานของอุปกรณ์แต่ละชนิดที่เกี่ยวข้องกับอาการของผู้ป่วยได้ โดยผู้มาเยี่ยมต้องระมัดระมังไม่ไปแตะต้องอุปกรณ์จนก่อให้เกิดความเสียหายหรือกระทบต่อการทำงานของอุปกรณ์นั้น ๆ
  • ทำความเข้าใจสถานการณ์ เมื่อมาเยี่ยมผู้ป่วย ผู้มาเยี่ยมอาจได้พบกับผู้ป่วยในสภาพที่ต่างไปจากปกติ ผู้ป่วยอาจหมดสติ มีท่าทีสับสนมึนงง มีร่องรอยบาดแผล รอยช้ำ หรือตัวบวมตามสาเหตุของการเจ็บป่วย ซึ่งอาจสร้างความไม่สบายใจแก่ผู้ที่พบเห็น อีกทั้งยังต้องเผชิญกับบรรยากาศรอบ ๆ ห้องที่เต็มไปด้วยเสียงเครื่องมือต่าง ๆ ที่กำลังทำงานเพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วย ดังนั้น ผู้มาเยี่ยมควรมีสติ เข้าใจสถานการณ์ และช่วยเหลือให้กำลังใจผู้ป่วยอย่างมีความหวังเสมอ
  • ขอคำแนะนำ ผู้มาเยี่ยมต้องสอบถามแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลให้ดีถึงสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำก่อนเข้าเยี่ยมผู้ป่วย สิ่งใดควรนำมาเยี่ยมหรือไม่ควรนำมา ควรพูดคุยกับแพทย์ผู้ดูแลเป็นระยะ ซักถามถึงข้อข้องใจเกี่ยวกับอาการและการรักษาผู้ป่วย รวมถึงสอบถามถึงสภาวะในปัจจุบันของผู้ป่วย เพื่อให้สามารถวางแผนจัดการรับมือในขั้นต่อไปได้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้ ทีมแพทย์และเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลล้วนมีภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ ผู้มาเยี่ยมควรปรึกษาพูดคุยตามความเหมาะสม

สิ่งที่ควรทำในการเข้าเยี่ยมผู้ป่วย

  • ให้ผู้ป่วยได้พักผ่อนและรับการรักษาอย่างเต็มที่ ไม่ส่งเสียงดังรบกวนผู้ป่วยและการทำงานของเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ หากผู้ป่วยกำลังรู้สึกตัวตื่น ควรพูดกับผู้ป่วยด้วยเสียงเบา ๆ พูดคุยกับผู้ป่วยด้วยบทสนทนาสั้น ๆ ให้กำลังใจให้ผู้ป่วยมีความหวัง พูดให้ผู้ป่วยฟังว่าเรื่องนี้จะผ่านพ้นไปในเร็ววัน และพูดถึงแต่เรื่องราวที่ดี
  • หลีกเลี่ยงการพูดถึงสิ่งที่สร้างความไม่สบายใจ เช่น เรื่องการเงิน หรือปัญหาภายในครอบครัว
  • ไม่ถามคำถามกับผู้ป่วยที่ไม่สามารถพูดคุยโต้ตอบได้ หากต้องการสื่อสาร ให้ใช้กระดานช่วยให้ผู้ป่วยขีดเขียนข้อความลงในนั้นเพื่อแสดงความประสงค์ต่าง ๆ ของผู้ป่วยแทนการพูดคุย โดยผู้มาเยี่ยมควรมีความอดทน และพยายามทำความเข้าใจในสิ่งที่ผู้ป่วยต้องการสื่อสาร
  • สร้างบรรยากาศรอบข้างให้ผู้ป่วยรู้สึกอยู่ในสถานการณ์ปกติ เช่น ให้ผู้ป่วยรับรู้วันเวลาในปัจจุบัน อธิบายถึงเสียงรอบข้างภายในห้อง ICU เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถปรับตัวได้ และคลายความเครียดหรือความวิตกกังวลลง
  • หากแพทย์อนุญาต ผู้มาเยี่ยมสามารถแสดงความรักความเป็นห่วงและให้กำลังใจผู้ป่วยได้ด้วยการจับมือหรือสัมผัสตัวผู้ป่วยเบา ๆ
  • อาจเสนอให้ผู้ป่วยฝึกสื่อสารด้วยภาษากาย เช่น การใช้นิ้วหัวแม่มือชูขึ้นแทนคำว่า ดี เอานิ้วลงแทนคำว่า เจ็บ เป็นต้น
  • อ่านหนังสือ บทกลอน หรือเปิดเพลงให้ผู้ป่วยฟัง หากแพทย์มีความเห็นว่าเรื่องราวหรือบทเพลงดังกล่าวมีความเหมาะสมและสามารถทำได้เท่านั้น
  • หากผู้มาเยี่ยมมีสภาวะอารมณ์ที่ไม่มั่นคง โกรธ สับสน เสียใจ กระวนกระวาย ควรทำจิตใจให้สงบ เช่น การยึดเหนี่ยวจิตใจทางศาสนา หรือขอความช่วยเหลือและคำปรึกษาแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ อย่างนักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์ เป็นต้น
  • จัดตารางเวลาญาติหรือบุคคลใกล้ชิดให้สลับผลัดเปลี่ยนกันมาเยี่ยมผู้ป่วย เพื่อไม่ให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งเหน็ดเหนื่อยอ่อนแรงจนเกินไปจากการคอยมาเยี่ยมดูแลผู้ป่วย
  • คนในครอบครัวหรือบุคคลใกล้ชิดของผู้ป่วยควรสื่อสารอัพเดทอาการป่วยให้ผู้อื่นทราบเป็นระยะ และควรให้กำลังใจซึ่งกันและกัน โดยควรดูแลตนเอง พักผ่อนอย่างเต็มที่ รับประทานอาหารอย่างเหมาะสม เพื่อให้ตนมีสุขภาพแข็งแรง สามารถอยู่ช่วยเหลือดูแลเป็นกำลังใจให้ผู้ป่วยจนผู้ป่วยพ้นจากภาวะอันตรายได้ต่อไป