โคม่า

ความหมาย โคม่า

โคม่า คือ ภาวะที่ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัวหรือสูญเสียการรับรู้สิ่งรอบข้างเป็นเวลานาน ซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉินที่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือ เพื่อรักษาชีวิตและการทำงานของสมองผู้ป่วย โดยภาวะโคม่าอาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การบาดเจ็บของสมอง โรคหลอดเลือดสมอง เนื้องอกในสมอง หรือภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษ เป็นต้น ทั้งนี้ ผู้ป่วยมักมีอาการดีขึ้นภายใน 2-3 สัปดาห์ แต่หากเวลาผ่านไปนานแล้วยังคงไม่รู้สึกตัว แพทย์อาจประเมินว่าผู้ป่วยได้เข้าสู่สภาพผักอย่างเรื้อรัง

อาการของภาวะโคม่า

โคม่าเป็นภาวะฉุกเฉินที่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือที่ถูกต้องอย่างทันท่วงที และแม้ผู้ป่วยโคม่าจะอยู่ในภาวะไม่รู้สึกตัวและไม่ตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นภายนอก แต่ระบบอื่น ๆ ในร่างกายอย่างการหายใจและการไหลเวียนเลือดยังคงทำงานอยู่ จึงไม่จัดเป็นผู้เสียชีวิต

2001 โคม่า rs

โดยอาการบ่งชี้ของภาวะโคม่า ได้แก่

  • ตาของผู้ป่วยปิดสนิท รูม่านตาไม่ตอบสนองต่อแสง
  • การหายใจผิดปกติ ซึ่งผู้ป่วยบางรายจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจในกรณีที่ไม่สามารถหายใจได้เอง
  • นอนนิ่ง ลักษณะคล้ายคนนอนหลับ แต่จะไม่ตื่นหรือไม่มีการตอบสนองใด ๆ แม้มีสิ่งเร้าภายนอกมากระตุ้น เช่น แขนขาไม่ขยับ หรือร่างกายไม่ตอบสนองต่อความเจ็บปวด เป็นต้น

ทั้งนี้ ภาวะโคม่าแบ่งออกเป็นหลายประเภท ได้แก่

ภาวะสมองขาดออกซิเจน
สมองได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งมักเกิดจากภาวะหัวใจขาดเลือด การบาดเจ็บที่สมอง การจมน้ำ การได้รับสารพิษ หรือการใช้ยาเกินปริมาณ โดยหากสมองขาดออกซิเจนแม้เพียง 2-3 นาที ก็อาจทำให้เซลล์สมองตายได้

ภาวะสมองผิดปกติจากการได้รับสารพิษ
เป็นภาวะที่สมองเกิดอาการผิดปกติอย่างเฉียบพลัน ร่วมกับมีอาการมึนงงและเพ้อ อาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น โรคประจำตัวเรื้อรัง การติดเชื้อ หรือการทำงานของอวัยวะล้มเหลว เป็นต้น

ภาวะอัมพาตทั้งตัว
เป็นความผิดปกติของระบบประสาทที่พบได้ค่อนข้างน้อย ผู้ป่วยแทบจะไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายส่วนต่าง ๆ ได้เลย ยกเว้นเพียงกล้ามเนื้อดวงตา ทั้งนี้ ผู้ป่วยยังคงรู้สึกตัวดี และมีสภาวะจิตใจที่เป็นปกติ

สภาพผักเรื้อรัง
เป็นภาวะไม่รู้สึกตัวขั้นรุนแรง ผู้ป่วยจะสูญเสียการรับรู้สิ่งรอบข้าง และไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ แต่ระบบหายใจ ระบบไหลเวียนเลือด รวมถึงวงจรการตื่นและการนอนหลับยังคงทำงานเป็นปกติ

ภาวะสมองตาย
เป็นภาวะที่สมองหยุดทำงาน ซึ่งอาจเกิดจากการบาดเจ็บเรื้อรังที่สมอง หรืออาการบาดเจ็บที่สมองลุกลามและรุนแรงมากขึ้น

ภาวะโคม่าจากการให้ยา
เป็นภาวะโคม่าที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวจากการได้รับยาสลบ เพื่อป้องกันภาวะสมองบวมหลังจากเกิดการบาดเจ็บที่สมอง ซึ่งเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นภายใต้การดูแลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด

ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจค่อย ๆ ฟื้นตัวจากภาวะโคม่า และสามารถรับรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้ดีขึ้นจนกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ โดยระยะเวลาที่ผู้ป่วยแต่ละรายใช้ในการฟื้นตัวอาจไม่เท่ากัน บางรายอาจเริ่มรู้สึกตัวภายใน 2-3 สัปดาห์ แต่ผู้ป่วยบางรายอาจเสี่ยงอยู่ในสภาพผัก ซึ่งเป็นภาวะที่ผู้ป่วยไม่มีการตอบสนองใด ๆ ต่อสิ่งเร้าภายนอก หรือมีสภาวะที่รับรู้ได้เพียงเล็กน้อย (Minimally Conscious State)

สาเหตุของภาวะโคม่า

สาเหตุหลักที่มักก่อให้เกิดภาวะโคม่า ได้แก่

การบาดเจ็บที่ศีรษะ
ศีรษะที่ได้รับบาดเจ็บอาจส่งผลให้สมองบวมหรือมีเลือดออก โดยสมองที่บวมขึ้นอาจไปกดทับก้านสมองและทำลาย Reticular Activating System หรือ RAS ซึ่งมีส่วนสำคัญในการควบคุมการรับรู้และความตื่นตัว ทั้งนี้ เนื้อเยื่อสมองที่บวมขึ้นนั้นอาจไม่ได้เกิดจากแรงกระแทกที่สมองเสมอไป แต่ในบางครั้งอาจเกิดจากสมองขาดออกซิเจน ภาวะแร่ธาตุไม่สมดุล หรือการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน

การขาดออกซิเจน
ออกซิเจนเป็นสิ่งสำคัญต่อการทำงานของสมอง ซึ่งการขาดออกซิเจนหรือหากร่างกายมีปริมาณออกซิเจนในเนื้อเยื่อต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ อย่างการจมน้ำหรือภาวะช็อก นอกจากนี้ ภาวะหัวใจหยุดเต้นอาจส่งผลให้เลือดและออกซิเจนไม่ไหลเวียนไปเลี้ยงสมอง ซึ่งผู้ป่วยภาวะหัวใจหยุดเต้นส่วนใหญ่ที่ได้รับการช่วเหลือให้ฟื้นคืนชีพด้วยวิธีปั๊มหัวใจหรือ CPR จึงมักอยู่ในภาวะโคม่า

การได้รับสารพิษ
หากได้รับสารพิษที่เป็นอันตรายต่อร่างกายจากสิ่งแวดล้อมภายนอก หรือหากอวัยวะภายในร่างกายอย่างตับหรือไตทำงานผิดปกติจนไม่สามารถกำจัดของเสียออกนอกร่างกายได้อย่างถูกวิธี อาจส่งผลให้ร่างกายเกิดภาวะเป็นพิษจากสารนั้น ๆ จนเกิดภาวะโคม่าตามมาได้

การดื่มแอลกอฮอล์และการใช้ยา
การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากเกินไปและการใช้ยาเกินปริมาณ อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบประสาทและสมอง จนเกิดภาวะโคม่าตามมาได้

การเจ็บป่วยด้วยโรคและภาวะต่าง ๆ
โรคหลอดเลือดสมอง การติดเชื้อที่สมอง โรคเบาหวาน และอาการชัก อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะโคม่าได้ โดยโรคหลอดเลือดสมอง เป็นภาวะที่เลือดไม่สามารถไหลเวียนไปเลี้ยงสมองได้ ซึ่งอาจเกิดจากเส้นเลือดแดงอุดตัน หรือเส้นเลือดแตก โรคเบาหวานเกิดจากการมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินไปหรือต่ำเกินไป ซึ่งผู้ป่วยโรคเบาหวานอาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะโคม่าสูงกว่าปกติ ส่วนการติดเชื้อที่ระบบประสาทส่วนกลาง อย่างโรคสมองอักเสบหรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ อาจเป็นต้นเหตุที่ทำให้สมอง ไขสันหลัง หรือเนื้อเยื่อสมองเกิดการอักเสบและบวมขึ้น หากการติดเชื้ออยู่ในขั้นรุนแรงก็อาจส่งผลให้เกิดภาวะโคม่าตามมา และอาการชักที่เกิดขึ้นไม่นานจะไม่รุนแรงจนเกิดภาวะโคม่า แต่หากมีอาการชักอย่างต่อเนื่องนานเกิน 30 นาที หรือชักอย่างซ้ำ ๆ อย่างน้อย 2 ครั้ง อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของสมอง จนทำให้ผู้ป่วยหมดสติเป็นเวลานานและเกิดภาวะโคม่าได้เช่นกัน

การวินิจฉัยภาวะโคม่า

ผู้ป่วยภาวะโคม่าเป็นผู้ที่กำลังหมดสติ จึงไม่สามารถสื่อสารกับแพทย์ได้ ดังนั้น แพทย์จึงจำเป็นต้องสอบถามถึงอาการผิดปกติของผู้ป่วยจากคนในครอบครัวหรือเพื่อนแทน โดยแพทย์จะซักประวัติจากคนใกล้ชิดผู้ป่วยเกี่ยวกับอาการผิดปกติก่อนที่ผู้ป่วยจะหมดสติอย่างอาเจียนหรือปวดศีรษะ ลักษณะของการหมดสติที่หมดสติในทันทีหรือค่อย ๆ หมดสติ รวมถึงประวัติทางการแพทย์อย่างโรคที่เคยเป็น ยาที่กำลังรับประทาน และพฤติกรรมการใช้ชีวิตก่อนเกิดภาวะโคม่า และแพทย์อาจพิจารณาร่วมกับการวินิจฉัยด้วยวิธีอื่น ๆ ดังนี้

การตรวจร่างกาย
ในขั้นแรกแพทย์จะตรวจการเคลื่อนไหว ปฏิกิริยาตอบสนองทางร่างกายที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของจิตใจ การตอบสนองต่อความรู้สึกเจ็บปวด และการตอบสนองต่อแสงของรูม่านตา ด้วยการใช้เทคนิคต่าง ๆ อย่างการส่งเสียงดัง การออกแรงกดที่มุมกระดูกขากรรไกรล่างหรือฐานเล็บ หรือการใช้น้ำเย็นจัดหรือน้ำอุ่นทดสอบในรูหู นอกจากนี้ แพทย์อาจตรวจรูปแบบการหายใจและหาร่องรอยฟกช้ำตามร่างกายด้วย เพื่อหาสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยหมดสติและเกิดภาวะโคม่า

การตรวจทางห้องปฏิบัติการ
แพทย์จะนำตัวอย่างเลือดของผู้ป่วยไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจนับจำนวนเม็ดเลือดและตรวจดูสารต่าง ๆ ที่อยู่ในเลือด ไม่ว่าจะเป็นแร่ธาตุ กลูโคส คาร์บอนมอนอกไซด์ ตัวยาบางชนิด หรือแอลกอฮอล์ ซึ่งอาจบ่งชี้ถึงสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยตกอยู่ในภาวะโคม่า นอกจากนี้ แพทย์อาจใช้เข็มขนาดเล็กเจาะบริเวณไขสันหลังแล้วเก็บตัวอย่างของเหลวในไขสันหลังไปส่งตรวจในห้องปฏิบัติการ เพื่อหาสัญญาณของการติดเชื้อในระบบประสาทด้วย

การสแกนสมอง
แพทย์สามารถประเมินตำแหน่งของสมองที่ได้รับบาดเจ็บได้จากการฉายภาพของสมอง โดยการใช้ซีทีสแกนซึ่งเป็นเทคนิคที่แพทย์นิยมใช้หาสาเหตุของภาวะโคม่า ซึ่งทำโดยการฉายรังสีเอกซเรย์บริเวณศีรษะแล้วใช้คอมพิวเตอร์สร้างเป็นภาพแสดงลักษณะของสมอง เทคนิคนี้สามารถแสดงให้เห็นภาวะเลือดออกในสมอง โรคหลอดเลือดสมอง และเนื้องอกในสมองได้

นอกจากซีทีสแกน แพทย์อาจใช้เทคนิคอื่น ๆ เพื่อตรวจสมองของผู้ป่วย อย่าง MRI Scan และการตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าสมอง โดย MRI Scan เป็นการใช้คลื่นวิทยุร่วมกับคลื่นสนามแม่เหล็กแรงสูงในการถ่ายภาพสมอง ซึ่งเป็นเทคนิคที่แพทย์มักใช้เพื่อตรวจดูเนื้อสมองและโครงสร้างสมองส่วนที่อยู่ลึก ส่วนการตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าสมองทำได้โดยการแปะขั้วไฟฟ้าขนาดเล็กบนศีรษะ แล้วส่งกระแสไฟฟ้าแรงต่ำผ่านขั้วไฟฟ้าเพื่อบันทึกคลื่นไฟฟ้าสมอง วิธีนี้เป็นเทคนิคที่นิยมใช้เพื่อตรวจสอบว่าอาการชักเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะโคม่าหรือไม่

การรักษาภาวะโคม่า

โคม่าเป็นภาวะฉุกเฉินที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ถูกนำตัวมาโรงพยาบาลจำเป็นต้องได้รับการกู้ชีพในห้องฉุกเฉิน และต้องรักษาตัวอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะพ้นจากภาวะโคม่าแล้วสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ ส่วนคนใกล้ชิดผู้ป่วยถือเป็นบุคคลสำคัญที่ช่วยเสริมพลังใจและสามารถช่วยดูแลผู้ป่วยจนกว่าอาการจะดีขึ้นได้ จึงควรศึกษาหลักการดูแลผู้ป่วยภาวะโคม่าเอาไว้ด้วย

โดยแนวทางรักษาภาวะโคม่า มีดังนี้

การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะเริ่มจากการประเมินระดับความรู้สึกตัวของผู้ป่วย โดยใช้แบบวัดความรู้สึกตัวของกลาสโกล์ว (Glasgow Coma Scale) ซึ่งเป็นการประเมินการตอบสนองใน 3 ด้าน ได้แก่ การลืมตา การพูดโต้ตอบ และการเคลื่อนไหว แล้วให้คะแนนตามระดับความรุนแรงจากน้อยไปมาก ดังนี้

การลืมตา

1 คะแนน ไม่ลืมตา
2 คะแนน ลืมตาเมื่อรู้สึกเจ็บ
3 คะแนน ลืมตาเมื่อได้ยินเสียงเรียก
4 คะแนน ลืมตาได้เองโดยไม่ต้องมีสิ่งกระตุ้น

การพูดโต้ตอบ

1 คะแนน ไม่สามารถพูดหรือออกเสียงได้
2 คะแนน พูดได้ แต่ไม่เป็นคำ
3 คะแนน พูดเป็นคำ แต่ไม่เป็นประโยค
4 คะแนน พูดสับสน
5 คะแนน พูดรู้เรื่อง

การเคลื่อนไหว

1 คะแนน ไม่มีการตอบสนองใด ๆ
2 คะแนน แขนขาเหยียดเกร็ง เมื่อรู้สึกเจ็บ
3 คะแนน แขนงอเข้า ขาเหยียดเกร็ง เมื่อรู้สึกเจ็บ
4 คะแนน ชักแขนขาหนี เมื่อรู้สึกเจ็บ
5 คะแนน รู้ตำแหน่งที่รู้สึกเจ็บ
6 คะแนน เคลื่อนไหวตามคำสั่งได้ถูกต้อง

โดยทั่วไป ผู้ป่วยโคม่ามักมีคะแนนรวมอยู่ที่ 8 คะแนน หรือน้อยกว่านั้น หากยิ่งได้คะแนนน้อย แสดงว่าสมองได้รับความเสียหายรุนแรง และมีโอกาสฟื้นขึ้นมาน้อยลง เมื่อประเมินระดับความรู้สึกตัวของผู้ป่วยแล้ว แพทย์จะวางแผนรักษาเพื่อช่วยให้ระบบต่าง ๆ ของร่างกายสามารถทำงานได้ตามปกติ โดยเฉพาะระบบหายใจและระบบไหลเวียนโลหิต หากผู้ป่วยหายใจเองได้ลำบาก แพทย์อาจพิจารณาให้ใส่เครื่องช่วยหายใจ และให้เลือดในกรณีที่ผู้ป่วยเสียเลือดมาก นอกจากนี้ แพทย์อาจจำเป็นต้องผ่าตัดหรือให้ยาเพื่อลดอาการบวมของสมองควบคู่ไปด้วย ส่วนผู้ป่วยที่มีภาวะช็อกจากน้ำตาลต่ำหรือมีการอักเสบที่สมอง แพทย์อาจตัดสินใจฉีดกลูโคสหรือฉีดยาปฏิชีวนะเข้าทางเส้นเลือดดำให้ทันที และเมื่อผู้ป่วยมีอาการทรงตัว แพทย์จะรักษาอาการผิดปกติหรือโรคอันเป็นต้นเหตุที่ก่อให้เกิดภาวะโคม่าต่อไ

นอกจากนี้ ขณะผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล แพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น การให้สารอาหาร การป้องกันการติดเชื้อ การป้องกันการเกิดแผลกดทับด้วยการพลิกตัวผู้ป่วย และการขยับข้อต่อส่วนต่าง ๆ เพื่อป้องกันการเกิดข้อติดแข็ง เป็นต้น

การดูแลผู้ป่วย

โดยปกติผู้ป่วยมักพ้นจากภาวะโคม่าภายใน 2-3 สัปดาห์ แต่บางรายอาจอยู่ในภาวะโคม่านานเป็นปี หากผู้ป่วยยังไม่รู้สึกตัว คนใกล้ชิดควรเข้าไปพูดคุยหรือสัมผัสตัวผู้ป่วย อย่างการจับมือหรือลูบผิวเบา ๆ รวมถึงเปิดเพลงที่ผู้ป่วยชอบให้ฟัง เพราะมีงานวิจัยที่พบว่าการกระตุ้นจากภายนอกอาจช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวขึ้นมาได้

ส่วนผู้ป่วยที่เพิ่งกลับมารู้สึกตัว อาจมีอาการมึนงงและตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอกได้ช้า ซึ่งจำเป็นต้องใช้เวลาสักระยะในการปรับตัว ทั้งนี้ ผู้ป่วยจะสามารถฟื้นฟูร่างกายของตนเองได้มากน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ก่อให้เกิดภาวะโคม่าและระดับความเสียหายของสมองด้วย โดยผู้ป่วยบางรายอาจหายเป็นปกติโดยสมบูรณ์ แต่หากร่างกายยังไม่สามารถทำงานได้เป็นปกติหรือผู้ป่วยได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจ อาจต้องเข้ารับการทำกายภาพบำบัดหรือทำแบบประเมินทางจิตวิทยาต่อไป

ภาวะแทรกซ้อนของโคม่า

ผู้ป่วยบางรายที่ได้รับการรักษาอาการผิดปกติหรือโรคอันเป็นสาเหตุของภาวะโคม่า อาจค่อย ๆ รู้สึกตัวและมีความสามารถในการรับรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้ดีขึ้น จนสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ แต่ผู้ป่วยบางราย โดยเฉพาะผู้ที่สมองเกิดความเสียหายอย่างรุนแรง อาจเสี่ยงพิการตลอดชีวิตหรืออยู่ในสภาพผักเรื้อรัง รวมถึงมีโอกาสเกิดภาวะสมองตายด้วย ซึ่งการคำนวณวันเวลาที่ผู้ป่วยจะฟื้นขึ้นมาหรือการคาดการณ์ว่าผู้ป่วยจะสามารถฟื้นฟูร่างกายของตนเองได้อย่างสมบูรณ์หรือไม่นั้นทำได้ยาก โดยโอกาสที่ผู้ป่วยจะกลับมารู้สึกตัวขึ้นอยู่กับระดับความเสียหายของสมองและสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะโคม่าเป็นหลัก

การป้องกันภาวะโคม่า

การป้องกันภาวะโคม่าทำได้โดยหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่าง ๆ อย่างการดูแลรักษาสุขภาพให้ห่างไกลจากโรค และระมัดระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุขึ้น นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคใด ๆ ที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะโคม่า โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดสมอง ควรปรับพฤติกรรมของตนเองให้ส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดีและรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ส่วนคนใกล้ชิดหรือผู้ที่ดูแลบุคคลในกลุ่มเสี่ยงต่อภาวะโคม่า ควรหมั่นสังเกตอาการของผู้ป่วย หากมีอาการผิดปกติให้รีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที