ภาวะโภชนาการเกิน ภัยสุขภาพจากการได้รับสารอาหารมากไป

ภาวะโภชนาการเกิน (Overnutrition) คือภาวะที่ร่างกายได้รับสารอาหารมากเกินความต้องการของร่างกาย ทำให้มีไขมันสะสมในร่างกาย น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น และเกิดโรคอ้วน ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังอื่น ๆ เช่น โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็งบางชนิด

ภาวะโภชนาการเกินเป็นหนึ่งในภาวะทุพโภชนาการ (Malnutrition) ซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายได้รับสารอาหารหรือพลังงานในปริมาณมากหรือน้อยเกินความต้องการ ซึ่งโภชนาการเกินพบได้บ่อยในผู้ที่รับประทานอาหารที่ให้พลังงานสูงและไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ และผู้ที่มีพฤติกรรมเนือยนิ่ง (Sedentary Lifestyle) 

ภาวะโภชนาการเกิน ภัยสุขภาพจากการได้รับสารอาหารมากไป

ลักษณะแบบใดที่เรียกว่าภาวะโภชนาการเกิน

ภาวะโภชนาการเกินแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่

1. การได้รับสารอาหารหลักมากกว่าที่ควรได้รับ (Macronutrient Overnutrition)

สารอาหารหลักเป็นกลุ่มสารอาหารที่ให้พลังงานแก่ร่างกาย ประกอบด้วยคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน โดยปกติแล้ว อาหารที่เรารับประทานจะผ่านกระบวนการย่อยและดูดซึมเพื่อนำไปใช้เป็นพลังงาน และส่วนที่เหลือจะถูกเก็บสะสมไว้ในรูปไขมันในเนื้อเยื่อไขมัน (Adipose Tissue) หรือที่เรียกว่าไขมันส่วนเกิน

ไขมันส่วนเกินพบมากที่หน้าท้อง ต้นแขน ต้นขา สะโพก และอาจสะสมที่อวัยวะภายใน เช่น หัวใจ ตับ ตับอ่อน ไต และลำไส้ ทำให้มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นและเป็นโรคอ้วน ซึ่งอาจนำไปสู่โรคเรื้อรัง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน และโรคหลอดเลือดสมอง ในเด็กอาจส่งผลให้เข้าสู่วัยหนุ่มสาวเร็วกว่าปกติด้วย

2. การได้รับสารอาหารรองมากกว่าที่ควรได้รับ (Micronutrient Overnutrition)

สารอาหารรองคือวิตามินและแร่ธาตุ เป็นสารอาหารที่ไม่ให้พลังงาน ร่างกายต้องการในปริมาณน้อย แต่ก็ขาดไม่ได้เพราะมีความจำเป็นต่อร่างกาย โดยทั่วไปการรับประทานอาหารจะช่วยให้เราได้รับวิตามินและแร่ธาตุในปริมาณที่ไม่เป็นอันตราย การได้รับวิตามินและแร่ธาตุมากเกินไปจึงมักเกิดในผู้ที่รับประทานอาหารเสริมวิตามินและแร่ธาตุมากเกินไปหรือรับประทานต่อเนื่องเป็นเวลานาน

การได้รับวิตามินและแร่ธาตุมากเกินกว่าความต้องการของร่างกายอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับชนิดของวิตามินและแร่ธาตุที่รับประทาน ซึ่งอาการที่อาจเกิดก็เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย ตาไม่สู้แสง ปากแห้งแตก ปัสสาวะขุ่น ปัสสาวะบ่อยและมีปริมาณมาก หัวใจเต้นผิดปกติ ระบบเลือดและระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ และเกิดความเสียหายต่อตับ

ภาวะโภชนาการเกินเกิดจากอะไร

ภาวะโภชนาการเกินอาจเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น

  • การรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ เช่น ขนมหวาน น้ำอัดลม อาหารจานด่วนที่ให้พลังงานและไขมันสูง แต่มีโปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุต่ำ 
  • ผู้ที่มีพฤติกรรมเนือยนิ่ง เช่น คนวัยทำงานที่นั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ทั้งวัน เด็กที่ติดเล่นเกมคอมพิวเตอร์ทำให้ไม่ได้ออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย จึงไม่เกิดการเผาผลาญและส่งผลให้ไขมันสะสมในร่างกาย
  • ระดับฮอร์โมนไม่สมดุล ซึ่งส่งผลต่อการควบคุมความหิวและความอิ่มของร่างกาย
  • โรคประจำตัวบางโรค เช่น ไฮโปไทรอยด์ (Hypothyroidism) ที่ทำให้การเผาผลาญช้าลง และโรคกินไม่หยุด (Binge Eating Disorderซึ่งผู้ที่เป็นโรคนี้จะรับประทานอาหารมากผิดปกติ และไม่สามารถควบคุมตัวเองให้หยุดรับประทานได้
  • ปัญหาด้านจิตใจ เช่น ความเครียดเรื้อรัง โรควิตกกังวล และโรคซึมเศร้า
  • การรับประทานอาหารเสริมในปริมาณมากและต่อเนื่องเป็นเวลานาน

การตรวจและประเมินผู้มีภาวะโภชนาการเกิน

การตรวจวินิจฉัยภาวะโภชนาการเกิน แพทย์จะสอบถามอาการ พฤติกรรมการรับประทานอาหาร และโรคประจำตัว รวมทั้งประเมินภาวะอ้วน โดยใช้เกณฑ์การประเมินตามช่วงวัย ดังนี้

เกณฑ์การประเมินโรคอ้วนในเด็ก

การประเมินโรคอ้วนในเด็กจะใช้การชั่งน้ำหนักและวัดส่วนสูง และนำไปเปรียบเทียบกับกราฟน้ำหนักตามเกณฑ์ส่วนสูง โดยแบ่งตามอายุและเพศ หากจุดตัดของส่วนสูงและน้ำหนักอยู่เหนือเส้น +2SD แสดงว่าอยู่ในระดับเริ่มอ้วน คือมีน้ำหนักมากกว่าเด็กที่มีส่วนสูงเท่ากัน และหากจุดตัดอยู่เหนือเส้น +3SD แสดงว่ามีภาวะอ้วนชัดเจน ซึ่งเด็กมีน้ำหนักมากกว่าเด็กที่มีส่วนสูงเท่ากันอย่างมาก

เกณฑ์การประเมินในผู้ใหญ่

การประเมินโรคอ้วนในผู้ใหญ่ที่อายุ 20 ปีขึ้นไปจะใช้ค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index: BMI) โดยคำนวณจากค่าของน้ำหนักตัว (หน่วยเป็นกิโลกรัม) หารด้วยส่วนสูง (หน่วยเป็นเมตร) ยกกำลัง 2 และนำค่าที่ได้มาเทียบกับเกณฑ์ ดังนี้

  • เกณฑ์ปกติ มีค่า BMI ระหว่าง 18.5–22.9      
  • มีภาวะน้ำหนักเกิน มีค่า BMI ระหว่าง 23–24.9
  • มีโรคอ้วนระดับที่ 1 มีค่า BMI ระหว่าง 25–29.9
  • มีโรคอ้วนระดับที่ 2 มีค่า BMI 30 ขึ้นไป

แนวทางการรักษาภาวะโภชนาการเกิน

การรักษาภาวะโภชนาการเกินมักเริ่มจากการปรับพฤติกรรม โดยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ในปริมาณที่พอเหมาะตามพลังงานที่ควรได้รับต่อวัน เช่น ผักผลไม้ ธัญพืชขัดสีน้อย เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ปลาที่อุดมไปด้วยกรดไขมันดี และถั่วต่าง ๆ หลีกเลี่ยงอาหารจานด่วน อาหารขยะ (Junk Food) ขนมหวาน และน้ำหวาน

รวมทั้งออกกำลังกายที่ระดับความหนักปานกลางเฉลี่ยสัปดาห์ละ 150 นาที หรืออย่างน้อยวันละ 30 นาที จะช่วยควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

หากปรับพฤติกรรมแล้วยังไม่ทำให้น้ำหนักตัวลดลงอยู่ในเกณฑ์ปกติ แพทย์อาจจ่ายยาลดน้ำหนักให้ผู้ป่วยซึ่งควรใช้ภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์ และการรักษาด้วยวิธีอื่น เช่น การรักษาโดยการกระตุ้นไฟฟ้า (Electrical Stimulation) และการผ่าตัดลดความอ้วน

ทั้งนี้ ผู้ที่มีโรคประจำตัวที่เป็นปัจจัยให้เกิดภาวะโภชนาการเกิน เช่น ไฮโปไทรอยด์ และโรคทางจิตเวช ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ ก่อนการรับประทานยาหรืออาหารเสริมชนิดใดก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร และรับประทานตามระยะเวลาและปริมาณที่แนะนำเสมอ เพื่อป้องกันการได้รับวิตามินและแร่ธาตุมากเกินความต้องการของร่างกาย

หากปล่อยหากปล่อยภาวะโภชนาการเกินทิ้งไว้อาจทำให้เกิดโรคอ้วนและอาจนำไปสู่โรคเรื้อรังอื่น ๆ ตามมา หากสงสัยว่าตัวเองมีอาการที่เข้าข่ายภาวะโภชนาการเกิน หรือควบคุมน้ำหนักด้วยตัวเองแล้วไม่ได้ผล ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจและรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป ซึ่งจะช่วยดูแลสุขภาพให้แข็งแรงและป้องกันโรคแทรกซ้อนตามมา